THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ขียนโดย Professor Mike Hulme
วันที่ 20 พฤษภาคม 2009
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ https://mikehulme.org/

ศาสตราจารย์ไมค์ ฮูลม์ แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (ปัจจุบันอยู่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) ประเทศอังกฤษให้เหตุผลว่าภาวะโลกร้อนมิใช่ปัญหาด้านเทคนิค แต่เป็นความท้าทายเพื่อแปลความหมายของความสัมพันธ์เสียใหม่

ภาวะโลกร้อนมิใช่ “ปัญหา” ที่กำลังรอ “การแก้ไข” แต่เป็นปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงแนวความคิดของเราที่มีต่อตนเองและสังคมมนุษย์บนโลกใบนี้
.
ข้าพเจ้าได้เขียนหนังสือเรื่อง “ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่เห็นด้วยว่าภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้น” เพื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ที่มาของแนวคิด ความหมายที่มีต่อผู้คนในภูมิภาคต่างๆ และเหตุผลว่าทำไมข้าพเจ้าจึงไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางต่างๆ ในการเข้าถึงแนวคิดเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและวิธีการแก้ปัญหา
.
ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนก็เช่นกัน ภาวะโลกร้อนเป็นความคิดซึ่งก่อให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งในโลกแห่งการเมืองระดับชาติและการทูตในระดับนานาชาติ ก่อให้เกิดการระดมกำลังในโลกธุรกิจ กฎหมาย และการค้าระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดศักยภาพในโลกแห่งองค์ความรู้และนวัตกรรม การพัฒนา ศาสนา และศีลธรรม และก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในโลกของศิลปะ ภาพยนตร์ วรรณกรรม ดนตรี และกีฬา
.
มติของนักวิทยาศาสตร์

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC ได้นำเสนอมติโดยนักวิทยาศาสตร์ที่เห็นพ้องกันว่าสภาพภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อเช่นนั้น

ทว่ายังไม่มีมติใดหรือวิสัยทัศน์โดยนักวิทยาศาสตร์ในระดับปัจเจกใดที่จะทำให้เราเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวมีความหมายเช่นไรต่อเราและลูกหลานของเรา
.
การยอมรับเรื่องภาวะโลกร้อนได้นำเราไปสู่ความเข้าใจที่เหนือกว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าหรือโมเดลทำนายสภาพภูมิอากาศโดยนักอุตุนิยมวิทยาหรือ IPCC

เราต้องการแนวทางใหม่ๆในการพิจารณาปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแนวทางใหม่ๆที่สามารถอธิบายผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ข้าพเจ้ามีเจตนาที่จะนำเสนอเรื่องภาวะโลกร้อนในลักษณะของการอภิปรายและการปรับใช้ เช่นเดียวกับที่จะถือว่าภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพที่สามารถมองเห็นได้และวัดค่าได้

แนวทางในการศึกษาภาวะโลกร้อนสองแนวทางนี้แตกต่างกันมาก
ที่ผ่านมาเราใช้เวลานานและอย่างไม่เต็มใจนักกว่าที่จะตระหนักว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และการกระทำดังกล่าวก็ทำให้ความหมายของวัฒนธรรม สังคม การเมือง และศีลธรรมได้รับการตีความใหม่ตามภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น
.
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมิใช่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นประสบการณ์ที่มนุษย์ในภูมิภาคต่างๆประสบ ภาวะโลกร้อนกลายเป็นแนวคิดที่เดินทางมาไกลจากจุดกำเนิดในสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มาก และเมื่อแนวคิดดังกล่าวปะทะกับวัฒนธรรม การเมือง ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรมสื่อ ศาสนาและความเชื่อ การค้า และการทูตในระหว่างทาง ภาวะโลกร้อนจึงเกิดเป็นแนวความคิดใหม่ที่ดำรงอยู่เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไป
.
ประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการวิจัยสภาพภูมิอากาศมาเป็นเวลา 25 ปี ทำให้ข้าพเจ้ามีความอยากรู้อยากเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับแนวความคิดเรื่องภาวะโลกร้อนนี้และสงสัยว่าทำไมภาวะโลกร้อนจึงกลายเป็น “ผู้ให้กำเนิดปัญหาทั้งปวง” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังสงสัยว่าทำไมการยับยั้งภาวะโลกร้อนโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม ตัวอย่างเช่น นับตั้งแต่การลงนามในพิธีสารเกียวโตเมื่อ 12 ปีที่แล้วเป็นต้นมา อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นแทนที่จะลดลง
.
ข้าพเจ้าได้ตั้งคำถามเหล่านี้โดยใช้แนวคิด เครื่องมือ และภาษาของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และกระบวนการทางเศรษฐกิจ การเมือง และศาสนา จากมุมมองที่แตกต่างกันเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าได้มองเห็นว่าแนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนประกอบไปด้วยความหมายและนัยทางการปฏิบัติที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับบุคคลที่ตีความและสถานที่อยู่อาศัยของบุคคลนั้น

วิทยาศาสตร์อาจสามารถปลดล็อคความลับของสภาพภูมิอากาศโลก แต่มิได้ช่วยให้เราค้นพบความหมายของภาวะโลกร้อนเพราะภาวะโลกร้อนมีความหมายที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งความหมายเหล่านี้มิได้ระบุอยู่ในรายงานการประเมินทางวิทยาศาสตร์ของ IPCC หรือได้จากการคำนวณของโมเดลการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศโดยคอมพิวเตอร์เครื่องใดๆ

แนวทางการอธิบายสร้างความกระจ่าง
ความเห็นต่างที่มีต่อภาวะโลกร้อนโดยส่วนลึกแล้วทำให้เกิดความหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์ และความขัดแย้งในเรื่องราวของมนุษย์ ได้แก่ความแตกต่างในทัศนคติที่มีต่อความเสี่ยง เทคโนโลยี และความเป็นอยู่ที่ดี ความแตกต่างในความเชื่อเรื่องการเมือง ศีลธรรม และอุดมคติ และความแตกต่างของการแปลความสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและวิสัยทัศน์แห่งอนาคต

ภาพประกอบโดย Arthur D. Little Thailand


ถ้าเราต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและใช้ความเข้าใจดังกล่าวในทางการเมือง ก่อนอื่นเราจะต้องรับฟังและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเห็นต่างในเรื่องของความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ความต้องการ และพฤติกรรมของมนุษย์
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ข้าพเจ้าจะบรรยายความสำคัญของภาวะโลกร้อนโดยใช้แนวทางการบรรยายสี่แบบที่แตกต่างกัน

แนวทางแรก ได้แก่ ภาวะโลกร้อนถูกใช้เป็นสมรภูมิระหว่างปรัชญาหลายสำนักและวิทยาศาสตร์ในเชิงปฏิบัติ และระหว่างการตระหนักรู้โดยวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการพูดถึงประเด็นเรื่องความเที่ยงตรงของข้อมูล ความเหมาะสมของโมเดล และความน่าเชื่อถือของนักวิจัย

แนวทางที่สอง ภาวะโลกร้อนถูกใช้เพื่ออธิบายแนวคิดการซื้อขายบรรยากาศโลก หรืออีกนัยหนึ่งคือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั่นเอง ซึ่งเป็นการพูดถึงประเด็นเรื่องปริมาณตลาดที่สามารถรองรับปัญหาสิ่งแวดล้อม

แนวทางที่สาม ภาวะโลกร้อนถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเครือข่ายรณรงค์เพื่อสังคมทั่วโลก ซึ่งเป็นการพูดถึงประเด็นของวิถีชีวิตแบบตะวันตกที่นิยมการบริโภคที่เกินความจำเป็นและไม่ยั่งยืน

แนวทางสุดท้าย ได้แก่ ภาวะโลกร้อนถูกใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นการพูดถึงบทบาทของรัฐ กองทัพ และองค์การสหประชาชาติในการกำจัดความเสี่ยง

เรื่องราวที่น่าสนใจ
มุมมองต่างๆ เหล่านี้ และยังมีอีกมาก ชี้ให้เห็นว่า แทนที่เราจะทำความเข้าใจภาวะโลกร้อนโดยเริ่มจากความไม่รู้ทางวิทยาศาสตร์และจบลงด้วยความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์ การใช้วิธีเล่าเรื่องจะน่าสนใจกว่ามาก โดยให้เรื่องราวเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและการที่แนวคิดนั้นเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเรา
ภาวะโลกร้อนมิได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราในเชิงกายภาพแต่เพียงอย่างเดียว แต่ความคิดเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนั้นเปลี่ยนแปลงสังคมของเราไปพร้อมกันด้วย และความคิดนี้เองได้แพร่ขยายออกไปไกลขึ้นๆในสังคมของเรา
ดังนั้น แทนที่เราจะตั้งคำถามว่า “เราจะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างไร?” เราควรตั้งคำถามว่า “แนวคิดเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เราใช้ในการบรรลุเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายของสังคมโดยรวมไปอย่างไรบ้าง?”

ปัญหาที่แตกต่างกัน
ข้าพเจ้าเสนอว่าภาวะโลกร้อนมิใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ในความหมายเช่นว่า จงระดมทรัพยากรทางการเมืองและเทคนิคเพื่อแก้ปัญหาโอโซนในชั้นบรรยากาศที่กำลังถูกทำลายหรือการใช้ใยหินในอาคาร แต่จะต้องเข้าถึงแนวความคิดเรื่องภาวะโลกร้อนจากมุมมองที่แตกต่างออกไป

เราต้องชี้ให้เห็นถึงผลงานสร้างสรรค์ทางจิตวิทยา จิตวิญญาณ และศีลธรรมของมนุษย์ที่ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดขึ้น โดยการทำความเข้าใจในการเชื่อมโยงของภาวะโลกร้อนเข้ากับสัญชาตญาณด้านความคำนึงถึง ความกลัว ความทะนงตน และความยุติธรรมของมนุษย์จะเปิดหนทางที่จิตวิญญาณและวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นศูนย์กลางของความเข้าใจในสภาพภูมิอากาศโลกของเรา

มนุษย์นั้นเป็นมากกว่าวัตถุ และดินฟ้าอากาศก็เป็นมากกว่าปรากฏการณ์ทางกายภาพ แทนที่เราจะเร่งให้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับวิธีการ สถานที่ และเวลาที่จะแก้ไขภาวะโลกร้อน เราจะต้องพิจารณาภาวะโลกร้อนว่าเป็นทรัพยากรในจิตนาการซึ่งสามารถนำมาใช้ในการกำหนดรูปแบบตัวตนและสังคมของเราได้

รนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์
ในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากรในจิตนาการ ทำให้เราสามารถนำแนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนมาพิจารณาในโลกแห่งภูมิศาสตร์ สังคม และโลกเสมือนจริงได้อย่างสร้างสรรค์

แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนสามารถกระตุ้นเราให้เกิดความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานและการขนส่ง สามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่ศิลปินในการสรรสร้างงานศิลปะ วรรณกรรม และการแสดง และสามารถกระตุ้นให้เกิดความพยายามที่จะปกป้องผู้คนจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนยังสามารถกระตุ้นให้เกิดแนวคิดเชิงศาสนาและศีลธรรมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเราและอนาคต

สามารถกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ของทั้งสอง
สามารถสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ๆเพื่อสำรวจรูปแบบใหม่ของการอยู่อาศัยในสังคมเมืองและชนบท และส่งผลกระทบต่อเราในเรื่องค่านิยมและเป้าหมายของชีวิตของเรา

สิ่งเหล่านี้คือการใช้แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนอย่างสร้างสรรค์ และเป็นการใช้ที่ไม่ต้องการการเห็นพ้องจากทุกฝ่ายทั่วโลก เพราะผู้ที่ต้องการการเห็นพ้องเช่นนั้นจะต้องประสบอุปสรรคอย่างแน่นอน

เพราะแนวคิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เป็นพหุนิยมและประกอบไปด้วยความหวังมากกว่าในสภาพแวดล้อมที่เป็นสากลและประกอบไปด้วยความกลัวอันตรายของความรู้สึกตื่นตระหนกและสิ้นหวัง

ในขณะที่เราเลื่อนกำหนดเส้นตายของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนออกไปเรื่อยๆ ยังมีอันตรายที่เกิดจากสภาพที่ก่อให้เกิดความรู้สึกตื่นตระหนกและสิ้นหวังที่จะทำให้สังคมตัดสินใจตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนอย่างปราศจากความยั้งคิด ก่อนที่เราจะรู้ตัว

เราอาจได้เห็น Paul Crutzen ประกาศสงครามกับภาวะโลกร้อนด้วยการปั๊ม aerosol ถังแล้วถังเล่าขึ้นไปบนบรรยากาศโลกเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปยังอวกาศก็เป็นได้

หรือเราอาจได้เห็นเผด็จการสตาลินผุดขึ้นในระบอบการเมืองของเราหลังจากที่เราไม่บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเสียที ซึ่งก็ไม่ไกลจากความเป็นจริงนักเมื่อเราคิดว่าบทลงโทษใดที่คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแห่งสหราชอาณาจักรนำออกมาใช้เมื่อรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซในปี 2018-2022 ได้
เราควรใช้แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนในการเปิดเผย สร้างแบบจำลอง และระดมคุณค่าของมนุษย์ในด้านการยับยั้งชั่งใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความเป็นธรรม

และควรสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นการลดช่องว่างของเวลาและระยะทางระหว่างการปฏิบัติงานที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนและผลลัพธ์ที่จับต้องได้

ในทางปฏิบัตินั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น และลงลึกในระดับรากเหง้าของสถานที่และชุมชน ที่ซึ่งผลประโยชน์ต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้และเกิดขึ้นทันเหตุการณ์ เช่นการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ การเข้าถึงแหล่งพลังงาน และอาหาร

กำหนดเวลาที่ห่างไกลก่อให้เกิดความยากในการทำงาน
ปัญหาของความพยายามที่จะหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้แก่กำหนดเวลาเส้นตายที่จะแก้ไขปัญหานั้นห่างไกลเกินไป (50 ปีหรือมากกว่านั้น) และระยะทางที่ห่างไกลเกินไป (สภาพอากาศโลกที่เป็นนามธรรม) ที่จะทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง

ผลดีของการเปลี่ยนแปลงควรต้องเกิดขึ้นในลักษณะที่ทุกผู้คนสามารถเห็นได้ทันที เราสามารถใช้แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนจำลองเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้ แต่การกระทำเช่นนั้นก็จะไม่สามารถสร้างสังคมในอุดมคติ หรือหยุดยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

เราต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
สภาพภูมิอากาศโลกจะยังคงเปลี่ยนแปลงต่อไปจากอิทธิพลการกระทำของมนุษย์ที่ไปเปลี่ยนคุณสมบัติทางกายภาพของสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศโลกในขณะนี้คือหลักฐานของความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นของมนุษย์และธรรมชาติ

แต่แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนก็จะยังคงเปลี่ยนแปลงต่อไปในขณะที่เราพยายามหาวิธีการใหม่ๆ ในการนำแนวคิดมาใช้ในการตอบสนองความต้องการของตน

ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะสร้างและบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและนำเอาเรื่องราวเหล่านี้มาสนับสนุนโครงการของเราเอง

ในขณะที่วรรณกรรมสมัยใหม่พิจารณาว่าภาวะโลกร้อนเป็นเพียงเงื่อนไขทางกายภาพที่กำหนดการกระทำของมนุษย์นั้น เราจะต้องมองภาวะโลกร้อนว่าเป็นสภาวะของการจินตนาการที่มีความแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาของการดำรงอยู่ของมนุษย์


Social Share