THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

1. ความจำเป็นในการใส่ใจเพศสภาวะ (Gender) กับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในวาระการเจรจาของประเทศรัฐภาคี UNFCCC ครั้งที่ 7 (COP7) เมื่อปี ค.ศ. 2001 (กล่าวถึง Gender Equality) ประเด็นด้านเพศสภาวะ (Gender) กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏ และมีความเข้มข้นในการเจรจามากขึ้นในครั้งที่ 15 (COP 15) เมื่อปี ค.ศ. 2015 เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบด้านลบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มยากจน โดยภายในกลุ่มผู้ที่เปราะบางเหล่านี้ประชาชนชายและหญิงจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ดังปรากฏในข้อมูลของประชากรโลกว่าประชาชนที่ยากจนเป็นกลุ่มเพศหญิงสูงถึงร้อยละ 70 ของประชากรที่ยากจนทั้งหมด (UNFCCC, 2022) ดังนั้นกลุ่มประชากรหญิงที่ยากจนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติและรายได้ทางการเกษตรหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องลดลงอันมีต้นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยังต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องเตรียมการปรับตัวต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำซากในอนาคต (อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ยิ่งกว่านั้น กลุ่มสตรียากจนเหล่านี้อาจจะมีบทบาทในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ถ้ามีแหล่งเงินทุนหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการนำมาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของตนเองและครอบครัว

เนื่องจากสตรีมีบทบาทสำคัญในครอบครัวและอาจจะเป็นผู้ตัดสินใจในการจัดการชีวิตประจำวันของสมาชิกครอบครัวและชุมชน เช่น การเพาะปลูก การเลือกพืชผลสำหรับเป็นอาหาร กระบวนการผลิตอาหารในครัวเรือนและในชุมชน การหาแหล่งน้ำสำหรับครอบครัว ฯลฯ ดังนันสตรีที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอาจจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช/สัตว์ และกระบวนการผลิตในการรองรับหรือปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต ด้วยเหตุนี้ การเจรจาในประเด็นนี้ จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการปรับตัวของประชาชนหญิงในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (UNIFEM, 2009; UNFPA&WEDO,2009)

โดยเฉพาะผู้หญิงในภาคชนบทเพราะมีบทบาทสัมพันธ์กับการใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศทางธรรมชาติกำลังถูกคุกคามจากผลกระทบด้านลบอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ ทั้งจากภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุรุนแรง สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้หญิงและคนทุกกลุ่มที่พิงพาอาศัยทรัพยากรในการดำรงชีวิต อีกด้านหนึ่ง มีการเน้นย้ำถึงความรู้ สิทธิ และทักษะเฉพาะของผู้หญิงที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่สืบเนื่องจากความผูกพันพิเศษของผู้หญิงกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ราณี หัสสรังสี, 2561)

2. ผลกระทบและศักยภาพการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันตามเพศภาวะ

บทบาทหญิงชายที่แตกต่างกันและผลกระทบที่ได้รับแตกต่างกัน ตลอดจนศักยภาพการปรับตัวของสตรีแตกต่างกับของบุรุษนั้นมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทย อย่างน้อยด้วยเหตุผล 3 ประการ (นิรมล สุธรรมกิจ และ กิริยา กุลกลการ., 2561)ได้แก่

ประการแรก โครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันนั้น ประชากรเพศหญิงมีจำนวนมากกว่าประชากรเพศชาย (อัตราส่วน 51: 49)

ประการที่สอง ประชากรหญิงไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในฐานะ (1) แรงงานสำคัญทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ (2) มารดาหรือภรรยาหรือธิดาของครอบครัวที่มักมีภาระหน้าที่ในการดูแลสมาชิกในครอบครัว และ (3) เป็น ครู คนแรกของลูก

ประการที่สาม ในปัจจุบันนี้โครงสร้างสังคมไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” (Aging Society) และในภาคชนบท ผู้สูงวัยเพศหญิงเป็นผู้ที่รับผิดชอบดูแลครอบครัวหรือลูกหลานเด็กเล็กมากกว่าผู้สูงวัยเพศชาย

ทั้งนี้คาดว่าประมาณหนึ่งในสี่ของผู้หญิงที่อยู่ในภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากปริมาณผลผลิตที่ได้จากภาคการเกษตรลดลง และส่งผลกระทบต่อรายได้ในการดำรงชีวิตของผู้หญิงและคนในครอบครัว ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้านสุขภาพและโภชนาการในครอบครัวอันเนื่องมาจากราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น (UNDP, 2019) และในขณะเดียวจะกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทในการรับมือหรือปรับตัวต่อผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยเมื่อปี 2554 ที่บรรดาสตรีในชุมชนมีบทบาทในการจรรโลงและบรรเทาปัญหาการเผชิญกับการดำรงชีพของชุมชน เช่น การจัดหาอาหาร  ฯลฯ

ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมอากาศมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญส่วนหนึ่งในการดำเนินงานด้านการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั้นเพราะผู้หญิงมีความรู้และความเข้าใจต่อสภาพแวดล้อมที่สามารถนำไปสู่การกำหนดแนวทางการปรับตัว รวมทั้งแนวการลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศได้ แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงกระบวนการตัดสินใจจึง ส่งผลให้เข้าไม่ถึงทรัพยากร สิทธิ์ก็ถูกจำกัด ขาดการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะทั้งด้านเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ ส่งผลให้ผู้หญิงไม่สามารถมีบทบาทอย่างเต็มที่ในการสร้างตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ (UNDP, 2021)

ที่สำคัญคือเมื่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสถูกสมทบด้วยความเสี่ยงด้านความปลอดภัยยิ่งส่งผลให้มิติทางเพศสภาวะมีความชัดเจนขึ้นในแง่ความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย โดยเฉพาะการมีภูมิหลักที่แตกต่างกันส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคง ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจเรื่องบรรทัดฐาน ความคาดหวัง และโครงสร้างเชิงอำนาจทางสังคม เพื่อจะได้กำหนดวิธีการตอบสนองที่สอดคล้องและสร้างการมีส่วนร่วมจากทั้งหญิงและชายได้อย่างเท่าเทียม และตอบสนองต่อการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างแท้จริง จากรายงานเพศภาวะ สภาพภูมิอากาศ และความมั่นคง ปี พ.ศ. 2563 (Gender, climate & security) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “ภัยคุกคามทั่วโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะทำให้สถานการณ์ฉุกเฉินมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างที่ไม่สามารถกำหนดสัดส่วนชัดเจนได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านและเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินการโดยทันทีเพื่อจัดการปัญหาที่เชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้งจากมุมมองเรื่องเพศสภาวะ” (United Nations Environment Programme, UN Women, UNDP and UNDPPA/PBSO, 2020)

 3. กรอบพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเชื่อมโยงกับมิติเพศภาวะ

ตาราง 1 สรุปสาระสำคัญของข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญเกี่ยวกับเพศสภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถาบัน/ข้อตกลงสาระสำคัญ
วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง และเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ผลที่ต้องการระยะยาวคือ ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC)การปกป้องระบบภูมิอากาศ เป็นการป้องกันไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อมนุษย์และระบบนิเวศ โดยทุกประเทศรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ภายใต้โปรแกรมงานลิมาเกี่ยวกับเพศภาวะ หรือ Lima work programme on gender (LWPG) ที่มีแผนปฏิบัติงานด้านเพศสภาวะ (Gender Action Plan หรือ GAP) เป็นแผนฉบับแรก
ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)การควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนา การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏชัดเรื่องการเสริมสร้างความเข็มแข็งและพลังของสตรี ให้สามารถมีส่วนร่วมและตัดสินใจทางนโยบายและปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women หรือ CEDAW)หลักการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การประเมินและการรวบรวมข้อมูล การสนับสนุนและการเชื่อมโยงนโยบาย  ความร่วมมือระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค จนถึงระดับสากล และการจัดสรรทรัพยากร ส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานนอกภาครัฐในการทำงานร่วมกัน และการพัฒนาขีดความสามารถและการเข้าถึงเทคโนโลยีใ
แผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2559-2568 (ค.ศ. 2016-2025)เแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) หนึ่งในแผนงานหลักได้ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระดับอาเซียนเพื่อให้เกิดภูมิอากาศที่ยั่งยืยน รวมทั้งการทำงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การคุ้มครองทางสังคมสำหรับสตรีและกลุ่มเปราะบางจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.1 วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 สหประชาชาติได้ประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) เพื่อใช้เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการพัฒนาของโลกจวบจนปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2 030) ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี ที่ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย (Goal) 169 เป้าประสงค์ (Target) ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันเป็นสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ไม่ทำลายแหล่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามไว้กับองค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection) และในปีเดียวกันได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี, 2564) ภายใต้ 17 เป้าหมาย มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศ คือ เป้าหมายที่ 13 และความเสมอภาคระหว่างเพศในเป้าหมายที่ 5 ที่กล่าวถึงทั้งสองประเด็นโดยตรง (สหประชาชาติประเทศไทย, 2558), (โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน, 2564) , (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564) กล่าวคือ

อย่างไรก็ตามทั้งสองเป้าหมายก็ถูกบูรณาการเข้าไปในเป้าหมายอื่นๆ ด้วยทั้งนี้เพื่อให้เกิดการทำงานที่มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.2 กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การยอมรับกับความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยเริ่มจากการประชุมเจรจา COP7 จนเกิดเป็นรูปธรรมของแผนงานด้านความเสมอภาคระหว่างเพศใน พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2514) การประชุม COP20 ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู เป็นครั้งแรกที่มีการพัฒนาโปรแกรมงานลิมาเกี่ยวกับเพศภาวะ หรือ Lima work programme on gender (LWPG) ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสมดุลระหว่างเพศ และบูรณาการประเด็นเพศสภาวะเข้ากับงานของภาคีและสำนักเลขาธิการในการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีสเพื่อให้การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตอบสนองต่อเพศที่แตกต่าง ตั้งแต่ระดับนโยบายและแผนปฏิบัติการ ในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ (UNFCCC, 2014) เรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) การประชุม COP21 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้จัดทำความข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ได้ระบุชัดถึงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ เพื่อให้การดำเนินงานตอบสนองอย่างเสมอภาคกับคนทุกเพศ พร้อมทั้งทำงานพัฒนาศักยภาพและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้หญิง กลุ่มเปราะบาง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (United Nations, 2015)

ต่อมา พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2517) การประชุม COP23 กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ข้อตัดสินใจเรื่องเพศภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Gender and Climate Change) ได้ถูกรองรับ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศภาคีของ UNFCCC ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่พัฒนาความตระหนักรู้ของสตรีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและศักยภาพของสตรีในการเจรจาด้านนโยบายและมาตรการต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับชุมชน และระดับประเทศ รวมทั้งระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มสตรีต่างๆ (UNFCCC, 2016)

และในปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2520) การประชุม COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ประเทศต่างๆ ได้ดำเนินการอย่างเร่งในการส่งเสริมเพศภาวะในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น มีการได้จัดทำเป็นแผนงาน 5 ปี ของโปรแกรม Lima Work on Gender (LWPG) และ แผนปฏิบัติงานด้านเพศสภาวะ (Gender Action Plan หรือ GAP) ฉบับแรกขึ้น (UNFCCC, 2019) ประกอบไปด้วย 5 พันธกิจ คือ

พันธกิจที่ 1 การพัฒนาศักยาพ การจัดการความรู้และการสื่อสาร (Capacity-building, knowledge management and communication) เพื่อบูรณาการประเด็นด้านเพศภาวะเข้าไปในนโยบายและแผนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอย่างเป็นระบบ และประยุกติ์ใช้ด้วยความเข้าใจและเชี่ยวชาญภายใต้การดำเนินงานตามโปรแกรม LWPG และ แผน GAP

พันธกิจที่ 2 ความเสมอภาคระหว่างเพศ การมีส่วนร่วมและความเป็นผู้นำของสตรี (Gender balance, participation and women’s leadership) เพื่อให้บรรลุและรักษาให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่ายั่งยืนเท่าเทียม และมีความหมายของสตรีกระบวนการดำเนินงานของ UNFCCC

พันธกิจที่ 3 ความสอดคล้อง (Coherence) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการบูรณาการประเด็นเพศภาวะให้ถูกนำไปพิจารณาร่วมกับงานทุกส่วนของ UNCCC

พันธกิจที่ 4 การดำเนินเงินที่ตอบสนอบต่อเพศภาวะและวิธีการดำเนินการอย่างมีความหมาย (Gender-responsive implementation and means of implementation) เพื่อให้มั่นใจว่ามีการเคารพ ส่งเสริมและคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ และการเพิ่มขีดความสามารถของสตรีในการดำเนินการตามอนุสัญญาและความตกลงปารีส

พันธกิจที่ 5 การติดตามและการรายงาน (Monitoring and reporting) เพื่อปรับปรุงการติดตาม การดำเนินการและการรายงานเกี่ยวกับการทำงานด้านเพศภาวะ

การประชุม COP สะท้อนให้เห็นชัดว่าเมื่อมีการเรียกร้องจากภาคประสังคมในการเจรจาแต่ละครั้งทำให้ประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกให้ความสำคัญมากขึ้น จนนำไปสู่รูปธรรมของกรอบนโยบายระหว่างประเทศ ที่จะต้องมีการส่งเสริมและคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ ซึ่งหากแต่ละประเทศไม่ดำเนินการอาจนำไปสู่การสร้างความไม่เป็นธรรม และการเลือกปฏิบัติทางเพศในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

การมีโปรแกรมและแผนงานที่เฉพาะด้านเพศภาวะ คือ Lima work programme on gender และ Gender Action Plan เป็นการย้ำชัดเจนว่า ผู้หญิงมีบทบาทและเป็นกุญแจสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นอีกก้าวที่ทำให้มั่นใจว่าภาคีที่ร่วมดำเนินงานในทุกระดับภายใต้ UNFCCC ให้ความสำคัญและเข้าใจถึงความจำเป็นของบูรณาการด้านเพศภาวะตั้งแต่ระดับนโยบายและแผนปฏิบัติทั้งในระดับนานาชาติ ภูมิภาค ประเทศและท้องถิ่น

3.3 ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นความตกลงที่เป็นส่วนขยายและเพิ่มเติม (supplementary agreement) ของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เป็นการหามาตรการและข้อตกลงร่วมกันในระดับนานาชาติ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาย หลังพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) และปัจจุบันมีประเทศภาคีอนุสัญญา UNFCCC ที่ให้สัตยาบันความตกลงดังกล่าวแล้ว รวมจำนวน 189 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ความตกลงปารีส พัฒนาขึ้นจากการอ้างอิงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน จึงให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมเสมอภาคจากภาคีทุกภาคส่วน ทั้งในกระบวนการพัฒนานโยบายและการวางแผนของการมีส่วนร่วมที่แต่ละประเทศสามารถกำหนดได้โดยสอดคล้องกับตามบริบทและสถานการณ์ประเทศ มีการอ้างอิงสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องนำหลักการด้านความเสมอภาคทางเพศบูรณาการเข้าไปในงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว และการเสริมสร้างศักยภาพ เพื่อให้นโยบายและแผนงานการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระจายทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ดังที่ปรากฏในรายละเอียดของความตกลงปารีส คือ (Gama, S., Teeluck, P. and Tenzing, J, 2016) ดังจะเห็นได้จาก

  • คำนำรับรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นข้อกังวลร่วมกันของมนุษยชาติ เมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลวสภาพภูมิอากาศ ภาคีควรเคารพ ส่งเสิม และพิจารณาพันธกรณีที่เกี่ยวข้องของตนในด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ผู้โยกย้านถิ่นฐาน แรงงานข้ามชาติ เด็ก ผู้พิการ และกลุ่มคนเปราะบาง และสิทธิในการพัฒนา ตลอดจนความเท่าเทียมเสมอภาคทางเพศ การเสริมสร้างความเข็มแข็งและพลังของสตรี และสร้างความเป็นธรรมสำหรับกลุ่มคนรุ่นในอนาคต”
  • ความในข้อ 7 ย่อหน้าที่ 5 ของความตกลงปารีสระบุว่า “ภาคียอมรับว่าการดำเนินการด้านการปรับตัวซึ่งควรมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป ตอบสนองต่อความต้องการของหญิงชายที่แตกต่าง มีแนวทางการดำเนินงานที่ตั้งอยู่บนฐานการมีส่วนร่วมและมีความโปร่งใส โดยใส่ใจคำนึงถึงความเสี่ยงกลุ่มคนเปราะบาง ชุมชนและบนฐานระบบนิเวศและบนองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ที่ดีที่สุด และตามเหมาะสม องค์ความรู้ดั้งเดิม ภูมิปัญญา ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง และระบบความรู้ท้องถิ่น โดยมีนโยบายและการปฏิบัติการที่บูรณาการให้การปรับตัวสอดคล้องกับประเด็นเศรษฐกิจ สังคมที่เกี่ยวข้อง”
  • ความในข้อ 11 ย่อหน้าที่ 2 ของความตกลงปารีสระบุว่า “การเสริมสร้างศักยภาพควรเป็นไปตามความสอดคล้อง โดยอิงและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และส่งเสริมความเป็นเจ้าของประเทศของภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับภาคีประเทศกำลังพัฒนาครอบคลุมการดำเนินงานในหลายระดับทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น การเสริมสร้างศักยภาพควรได้เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายใต้อนุสัญญา และควรเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมการอย่างมีความหมาย และตอบสนองปัญหาและความต้องการต่อเพศที่แตกต่าง”

3.4 อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women หรือ CEDAW)

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2528 มีผลให้ประเทศไทยมี ข้อผูกพันในการอนุวัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุก รูปแบบ โดยประเทศไทยมีหน้าที่ผลักดันและดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญา รวมทั้งการจัดทำรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานตาม CEDAW อย่างน้อย ทุก 4 ปี และเข้าร่วมประชุมเพื่อตอบข้อซักถามและรับฟังข้อเสนอแนะจาก คณะกรรมการ CEDAW เพื่อนำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (พีรดา ภูมิสวัสดิ์, 2563)

ไม่เพียงเท่านั้นประเทศไทยได้ร่วมดำเนินงานตาม ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี (The Beijing Declaration and Platform for Action หรือ BPfA) ซึ่งเป็นปฏิญญาทีนานาชาติเห็นชอบร่วมกัน ยืนยันและต่อยอดจากอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญของงานด้านสิทธิสตรี ที่พยายามชี้ให้ประชาคมโลกได้เห็นประเด็นสำคัญเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน อันเป็นอุปสรรคที่อาจทำให้ไม่สามารถบรรลุสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ สันติภาพ และความมั่นคง และการปลอดภัยจากความยากจนได้ โดยในแผนปฏิบัติการนี้ได้มีการเสนอให้ประเทศสมาชิกใช้ยุทธศาสตร์ในการผลักดันให้ความเสมอภาคทางเพศเป็นเรื่องหลักของการพัฒนา โดยให้จัดทำนโยบายแผนงานโครงการและกฎหมายรวมถึงการดำเนินการและการทำงานร่วมกันระหว่างหญิงชายบนพื้นฐานของความเสมอภาคทางเพศตามหลักกฎหมาย

นอกจากนี้จากเอกสาร ข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อการรายงานตามวาระของประเทศไทยที่รวมรายงานครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 รับรองโดยคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (Committee on the Elimination of Discrimination against Women) ในสมัยประชุมครั้งที่หกสิบเจ็ด วันที่ 3-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 (UN, 2017) ได้ระบุจัดเจนว่า ทางคณะกรรมการฯ แสดงความกังวลถึงผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงชนบท และการที่ผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมในการกระบวนการจัดทำและะการปฏิบัติตามนโยบายและแผนปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเธอเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในสัดส่วนที่มากกว่าจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยพิบัติ ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงไม่เพียงแต่เป็นเพียงผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ในการออกแบบและปฏิบัติตามนโยบายและแผนปฏิบัติงานต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเตรียมพร้อมและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
  2. สร้างหลักประกันว่านโยบายและแผนงานดังกล่าว ได้พิจารณามุมมองด้านเพศสภาวะและคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงในชนบทไว้อย่างชัดเจน

เมื่อประเด็นภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กด้วยเหตุนี้ทาง คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีจึงจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะทั่วไปลำดับที่ 37 มิติทางเพศภาวะที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Committee on the Elimination of Discrimination against Women : General Recommendation No. 37 on Gender-related dimensions of disaster risk reduction in the context of climate change) (Committee on the Elimination of Discrimination against Women (CEDAW), 2018) ได้ให้หลักการเฉพาะของอนุสัญญา CEDAW ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ 5 หลักการคือ

  1. การประเมินและการรวบรวมข้อมูล : มิติเพศภาวะที่เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักไม่เป็นที่เข้าใจกันดี ทำให้ส่งผลต่อความสามารถของแต่ละประเทศหรือแต่ละท้องถิ่นในการจัดการ อันเนื่องมาจากขาดข้อมูลที่แสดงถึงเพศที่แตกต่าง ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และภูมิศาสตร์ที่ตั้ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนายุทธาศาสตร์และเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้แต่ละท้องถิ่น ประเทศ และภูมิภาคจะต้องดำเนินการให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจน
  2. การสนับสนุนและการเชื่อมโยงนโยบาย : การประสานนโยบายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 แต่ไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการดำเนินงานระดับชาติ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการบูรณาการเข้าไปสู่แผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางที่กำหนดขึ้นมีประสิทธิผลและการดำเนินงานจะต้องอ้างอิงตามหลักการสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งนำไปสู่แนวทางการปรับตัว
  3. ความร่วมมือระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค จนถึงระดับสากล และการจัดสรรทรัพยากร : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศควรร่วมมือและมีส่วนร่วมในการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสม แต่เพราะสาเหตุเชิงโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและทางเพศจึงทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับภัยพิบัติและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ชาย อีกทั้งประเทศที่มีรายได้ต่ำและเสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศก็ยิ่งต้องเผชิญกับความท้าทายเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ ทั้งในด้านการพัฒนานโบบายที่ตอบสนองต่อเพศที่แตกต่าง การกำหนดแผนงานการปรับตัว และการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับประเทศที่ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง รวมถึงการจัดสรรงบประมาณและการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่จำเป็นตามหลักการสิทธิมนุษยชนในเรื่องความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ การมีส่วนร่วมและการเพิ่มขีดความสามารถ ความรับผิดชอบและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความโปร่งใสและหลักนิติธรรม
  4. บทบาทของหน่วยงานนอกภาครัฐ : ภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคมสามารถมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในระดับประเทศและระดับภูมิภาค อีกทั้งการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมได้รับการส่งเสริมผ่านกลไกหลายประการรวมถึงในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ด้วย เพราะความร่วมมือดังกล่าวนำมาสู่การช่วยเหลือจัดหาทรัพยากรทางการเงิน และทางเทคนิคที่จำเป็นเพื่อให้สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่หรือแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการดำรงชีวิตที่ยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ
  5. การพัฒนาขีดความสามารถและการเข้าถึงเทคโนโลยี : การขาดการมีส่วนร่วมของสตรีในแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่น เป็นการขัดขวางความก้าวหน้าในการดำเนินการตามพันธสัญญาด้านความเสมอภาคทางเพศและการพัฒนาต่างๆ ให้เกิดประสิทธิผล ด้วยเหตุนี้นโยบายและกลยุทธ์การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ จึงควรใช้มาตรการเพื่อสร้างขีดความสามารถของสตรี และองค์กรสิทธิสตรี ตลอดจนหน่วยงานของรัฐในการเข้ามามีส่วนร่วมประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการประเมินความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติภูมิภาค และระดับนานาชาติ รวมทั้งสนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศในการเข้าถึงการใช้และควบคุมงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดให้มีการศึกษาและการฝึกอบรมทั้งในและนอกระบบเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การบรรเทา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านข้อมูล การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค จนถึงระดับนานาชาติเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันด้านความเสมอภาคระหว่างเพศและไม่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หากสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดประสิทธิผลและนำไปสู่การบรรลุสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ สันติภาพ และความมั่นคง และการปลอดภัยจากความยากจนได้อย่างแท้จริง

3.5 แผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2559-2568 (ค.ศ. 2016-2025)

อาเซียนได้ให้ความสำคัญต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว มีเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (the ASEAN Senior Officials on the Environment หรือ ASOEN) ทำหน้าที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเสนอแนะนโยบายและประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคของอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกันในอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งระหว่างอาเซียนกับองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนฯ จะรายงานการดำเนินงานและเสนอกิจกรรมและโครงการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีทุกปี (นางสาวอรพรรณ แซ่เอี้ยว, 2560)

ทั้งนี้ ในระดับปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมตามนโยบาย แผนงาน และแนวทางต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี โดยมีคณะทำงานทั้งหมด 7 คณะ ซึ่งงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมี คณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change หรือ AWGCC) แต่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552

ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของเแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) การดำเนินงานมุ่งทำให้ “ประชาคมแข็งแกร่งมีความสามารถ และสมรรถนะในการปรับตัวและตอบสนองต่อความเปราะบางทางสังคมและความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ปัญหาภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนภัยคุกคามและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น” (Association of Southeast Asian Nations (ASEAN), 2015) นั้นเป็นเพราะว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคหนึ่งที่เปราะบางที่สุดต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจำเป็นจะต้องหาทางออกเพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อมทั้งทำให้ประชาคมอาเซียนที่มีภูมิคุ้มกันและสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยตั้งเป้าว่าจะต้องบรรลุ การเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการปรับตัวและตอบสนองต่อความเปราะบางทางสังคมและเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่และ สิ่งท้าทายต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยมีมาตรการเชิงกลยุทธเฉพาะด้านสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน (Association of Southeast Asian Nations แปลโดย กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, 2529) คือ

  1. เพิ่มพูนขีดความสามารถของบุคลากรและองค์กรในการดำเนินการเกี่ยวกับ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรเทาผลกระทบของ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะต่อชุมชนเปราะบางและ ชายขอบ
  2. เอื้ออำนวยการพัฒนาการตอบโต้อย่างครอบคลุมและสอดคล้องกันต่อ ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันอาจได้แก่ การทำงานด้วย หลักพหุภาคีและพหุสาขา
  3. ยกระดับการให้ภาคเอกชนและชุมชนเข้าถึงกลไกทางการเงินใหม่ ๆ และสร้างสรรค์ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  4. เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรเฉพาะสาขาและรัฐบาลท้องถิ่นในการ ทำรายการก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงและความต้องการ ในการปรับตัว
  5. ส่งเสริมความพยายามของรัฐบาล ภาคเอกชน และชุมชนในการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมด้านการพัฒนาหลัก ๆ
  6. บูรณาการมิติของการจัดการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการวางแผนเฉพาะสาขา
  7. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้หุ้นส่วนระดับโลกและสนับสนุนการดำเนินการตาม ข้อตกลงและกรอบการดำเนินงานระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

 

4 กรอบนโยบาย แผนงาน และกลไกด้านความเสมอภาคทางเพศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

4.1 ระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศ

4.1.1 นโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580

การดำเนินงานด้านความเสมอภาคทางเพศ แผนงานด้านผู้หญิง และกลุ่มคนเปราะบางในสังคม จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม พ.ศ. 2562 นโยบายหลักที่ 7 การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ที่เน้นให้ความสําคัญกับชุมชนในการนําความรู้และทรัพยากรในพื้นที่ มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถสร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เช่นส่งเสริมให้เกิดการสร้างพลังทางสังคม ภาคีเครือข่าย การรวมตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชนมาเป็นกําลังในการพัฒนา และการสร้างพลังภูมิคุ้มกัน ตลอดจนประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและเตือนภัย และนโยบายเร่งด่วนที่ 2 การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2562)

ขณะที่ การดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มีการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่นโยบายและแผนระดับชาติ จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม พ.ศ. 2562 นโยบายหลักที่ 10 การพัฒนาในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนโยบายเร่งด่วนที่ 11 การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย โดยมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัยและการให้ความช่วยเหลือระหว่างภัย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในระยะยาว และการสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมและให้สัตยาบันไว้ (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2562)

แนวนโยบายด้านความเสมอภาคทางเพศ แผนงานด้านผู้หญิง และกลุ่มคนเปราะบางในสังคมข้างต้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จึงจําเป็นต้องมีการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างเป็นระบบ เน้นทั้งการแก้ไขปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน และการเสริมสร้างและยกระดับการพัฒนาที่ให้ความสําคัญที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของการพัฒนา ทุนมนุษย์ และปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างครอบคลุม ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ควบคู่กับการปฏิรูปที่สําคัญ ทั้งในส่วนของการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม เพื่อให้คนมีความดีอยู่ใน ‘วิถี’ การดําเนินชีวิตและมีจิตสํานึกร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ร่วมกัน และยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ําจะเป็นหนึ่งความท้าทายที่สําคัญในการพัฒนาและยกระดับประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทําเพื่อส่วนรวม การกระจายอํานาจและความรับผิดชอบไปสู่กลไกบริหารราชการแผ่นดินในระดับท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง และการเตรียมความพร้อมของประชากรไทยทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ สามารถพึ่งตนเองและทําประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้นานที่สุด โดยรัฐมีบทบาทสร้างหลักประกันในการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ, 2561)

4.1.2 แผนปฏิรูปประเทศ

แผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 24 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) ได้กำหนดให้มีประเด็นการปฏิรูปสำคัญบนพื้นฐานการพัฒนาประเทศตามแนวคิดสังคมคุณภาพ (Social Quality) ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผนวกกับการทบทวนแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม, 2562) ดังนั้นแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมในระยะเวลา 2 ปีถัดไป (พ.ศ. 2564 – 2565) จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม การคุ้มครองกลุ่มเปราะบางในสังคม ตลอดจนการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุนของ

แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ภายใต้ประเด็นปฏิรูปเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ 3 ผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีการเตรียมความพร้อม โดยเสริมสร้างระบบและกลไกภายในประเทศให้สามารถดำเนินภารกิจดังกล่าวในระยะยาวได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะสร้างกลไกให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่รูปแบบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ มีความต้านทาน ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม แต่ความท้าทายของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกภาคส่วนเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการกำหนดประเด็นปฏิรูปย่อยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ จึงนำไปสู่การกำหนดกรอบและประเด็นปฏิรูปในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2561 -2565) ใน 4 ประเด็นคือ (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ, 2561)

4.2 แผนพัฒนาและแผนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสมอภาคทางเพศ

4.2.1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564

ความเสมอภาคทางเพศ แผนงานด้านผู้หญิง และกลุ่มคนเปราะบางในสังคม สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปด้านสังคมที่พยายามจะลดความเหลื่อมล้ำ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดแผนการพัฒนาประเทศภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ที่มีแนวทางการพัฒนา (1) การได้รับขยายการคุ้มครอง ทางสังคม (Social Protection) และสวัสดิการ (Welfare) ที่เหมาะสมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (2) ปรับปรุงปัจจัยแวดล้อมรวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบให้เกิด การแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อให้ประชากรทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐและทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน (3) เสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และการสร้างความเข้มแข็งการเงินเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีสิทธิในการจัดการ ทุน ที่ดินและทรัพยากรภายในชุมชม และ ยุทธศาสตร์ที่ 10 ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา ในส่วนของ สร้างความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับประเทศในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาประเทศ ในการเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของไทยในองค์การระหว่างประเทศในการผลักดัน การพัฒนาในอนุภูมิภาค และภูมิภาค รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง การขับเคลื่อนการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสและที่ยืนในสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาส สตรี และผู้สูงอายุ การบริหารจัดการภัยพิบัติ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559)

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ในยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 เป็นการกำหนดแผนการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อล้ำในทุกมิติ ที่พยายามให้น้ำหนักกับการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม แม้ภาพความเชื่อมโยงระหว่างการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศกับการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจจะไม่ชัดเจน แต่แผนงานทั้งสองด้านระบุชัดว่าประเทศไทยต้องการสร้างโอกาสและที่ยืนในสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาส สตรี และผู้สูงอายุ ในการรับมือปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4.2.2        แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2593

แนวทางการดำเนินงานตามแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (พ.ศ. 2558 – 2593) ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ 3) การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนแม่บทได้มีการระบุถึงหน่วยงานร่วมที่รับผิดชอบตามแต่ละสาขาโดยพิจารณาจากภารกิจและความรับผิดชอบของหน่วยงาน ทั้งนี้ไดมีการกำหนดแผนออกเป็นระยะสั้น กลาง และยาว ยกตัวอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษ์ (พม.) แนวทางทางหลักที่ร่วมดำเนิน คือ การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในสาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงและความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และการสร้างความพร้อมและขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชม โดยทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรพัฒนาเอกชน การทำงานประกอบไปด้วยการประเมินผลกระท การให้ความรู้และสร้างควา,ตระหนัก การสร้างเครือข่าย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งกลไกช่วยเหลือและเยียวยา การส่งเสริมบทบาทองค์กรเอกชน การศึกษาวิจัยเพื่อสร้างทางเลือก การจัดทำแผนการปรับตัวและรับมือที่สอดคล้องกับท้องถิ่น การศึกษาและประเมินกระบวนการเชิงนโยบายและเชิงสถาบัน ตลอดจนการพัฒนาตัวชี้วัดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

 5. การบูรณาการเพศภาวะให้เป็นกระแสหลัก (Gender Mainstreaming)

หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) สำคัญและเป็นเป้าหมายเดียวที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายอื่นๆ อีก 16 เป้าหมาย คือเป้าหมายที่ 5 ว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) นั่นเอง เป้าหมายนี้มุ่งเน้นที่การบรรลุความเสมอภาคทางเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน โดยมีสาระสำคัญในการยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกพื้นที่ การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กทุกรูปแบบทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นเป้าหมายดังกล่าวยังมุ่งเน้นขจัดการปฏิบัติที่เป็นอันตราย ตลอดจนนโยบายการคุ้มครองทางสังคม การรับรองและเสริมสร้างนโยบายและการนิติบัญญัติที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังแก่สตรีทุกคนและเด็กในทุกระดับ

ขณะเดียวกันทางสหประชาชาติได้เห็นพ้องร่วมกันในการนำแนวคิดเพศภาวะเข้าสู่กระบวนการ กำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการและกิจกรรมของรัฐ ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ ซึ่งแนวคิดนี้ เรียกว่า การบูรณาการเพศภาวะให้เป็นกระแสหลัก (Gender Mainstreaming) คือ กระบวนการในการประเมินผลที่ผู้หญิงและผู้ชายได้รับจากการปฏิบัติใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย นโยบาย แผนงานในทุกประเด็นและทุกระดับ เพื่อให้ความต้องการจำเพาะสิ่งที่จำเป็น และประสบการณ์ของผู้หญิง และผู้ชายได้ถูกบรรจุเป็นประเด็นสำคัญในการออกแบบ การดำเนินการ การติดตามและการประเมินผลนโยบาย และแผนงานในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อที่ผู้หญิงและผู้ชายจะได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม และขจัดความไม่เสมอภาค ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการบูรณาการเพศภาวะให้เป็นกระแสหลักคือการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ (ข้อมติคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่ง สหประชาชาติ 1997/2) (พีรดา ภูมิสวัสดิ์, 2563)

สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่วางหลักการคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศของบุคคล โดยห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งที่บุคคลนั้นเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศกำเนิดอย่างชัดเจน โดยกฎหมายฉบับนี้ ได้นิยามคำ ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายถึง การกระทำหรือไม่กระทำการอันใดที่เป็นการ แบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยปราศจากความชอบธรรมเพราะเหตุ ที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำ เนิด (มาตรา 3) พร้อมทั้ง วางหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไว้ว่า การกำหนดนโยบายกฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทำมิได้ (มาตรา 17 วรรคแรก) อย่างไรก็ตามหากการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามกฎหมายฉบับนี้ (มาตรา17 วรรคสอง) (อารยา สุขสม, 2020)

หลังจากที่ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 บังคับใช้มาเป็นระยะเวลาหกปี แต่พบว่ามีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่รู้จักกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งไม่รวมถึงความรู้และความเข้าใจที่มีต่อ พรบ. ฉบับนี้ว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นอกจากนี้เมื่อพูดถึงคำ ว่าเพศสภาวะ (Gender) คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม LGBTQI (Lesbian, gay, bisexual, transgender, queer and intersex) เท่านั้น และไม่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ (ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ, 2563)

การนำแนวคิดเพศภาวะเข้าสู่การดำเนินงานในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนนั้นมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender equality) ซึ่งหมายถึง บุคคลทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลาย ทางเพศเข้าถึงและได้รับสิทธิ หน้าที่ และโอกาสที่เท่าเทียมในทุกมิติของดำรงชีวิตและการพัฒนาในทุกระดับ นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงความต้องการจำเพาะและโอกาสที่แตกต่างกันของผู้หญิง ผู้ชาย และกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการขจัดอุปสรรคซึ่งเป็นผลมาจากเพศภาวะและความทับซ้อนด้วยเหตุและปัจจัยอื่นๆ (intersectionality) เพื่อให้บุคคลเข้าถึงสิทธิ โอกาส และทรัพยากรในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ นำมาสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ หรือ การขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพื่อให้บุคคลทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และกลุ่ม บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงและได้รับสิทธิ หน้าที่ และโอกาส ตามหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อม (พีรดา ภูมิสวัสดิ์, 2563)

6.การลดความเหลื่อมล้ำทางเพศภาวะในบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จำเป็นต้องแก้ไขตั้งแต่ฐานรากทั้งการสร้างความตระหนักผู้หญิง การกำหนดบทบาทของตนเองในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และตั้งเป้าหมายการทำงานเห็นการเชื่อมโยงประเด็นความเท่าเทียมความเสมอภาคและความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสร้างความเชื่อมั่นว่า ‘ความแตกต่าง’ ทางเพศ เพศวิถี (sexual orientation) อายุ ความพิการ ชนชั้นทางสังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ภูมิหลังครอบครัว ฯลฯ ต้องไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงโอกาส หรือเข้ามาเป็นตัวชี้ชะตามาตรฐานความเป็นอยู่ของคน โดยแปรนโยบายและกฎหมายที่ขจัดการเลือกปฏิบัติและสนับสนุนโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสเหล่านั้นได้อย่างเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรม  พร้อมมีมาตรการ สร้างหลักประกันที่ผู้คนต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

โดยมีมาตรการ แนวทางดังนี้

  • การวิเคราะห์มิติเพศภาวะ (Gender Analysis – GA) คือ การวิเคราะห์ถึงวิธีการ การได้รับประโยชน์ และผลกระทบจากโครงการกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐกำหนดขึ้น โดยคำนึงถึงความแตกต่าง ข้อจำกัด ปัญหาและอุปสรรคของผู้หญิงและชายที่แตกต่างกัน เพื่อกำหนดนโยบาย รวมทั้งที่ส่งผลให้ผู้หญิง ผู้ชาย และกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ในสังคม ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการของรัฐอย่างสูงสุด
  • การจัดทำข้อมูลจำแนกเพศ (Sex-disaggregated data)คือ การจัดเก็บข้อมูลจำแนกเพศ เพศสภาพ อายุ และสถานะต่าง ๆ เช่นความพิการ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้เห็นถึงจำนวนของผู้หญิง ผู้ชายด็กหญิง เด็กชาย ในการเข้าถึงและการได้รับประโยชน์จากการดำเนินนโยบายมาตรการ โครงการและกิจกรรมของรัฐ
  • การจัดทำงบประมาณที่มีมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – GRB) คือ การจัดทำงบประมาณที่มีการวิเคราะห์ถึงความจำเป็น การเข้าถึง ผลประโยชน์และผลกระทบที่แตกต่างของหญิง ชายและประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมและเหมาะสมแก่ประชากรกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ


 7 แนวทางและข้อเสนอแนะการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

7.1 ระดับนโยบาย

7.1.1 ปรับปรุงกลไกทางนโยบายและคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และคณะกรรมการด้านส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งสองคณะมีองค์ประกอบของหน่วยงานที่ไม่เชื่อมประสานกัน ทำให้มิติงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและมิติงานด้านเพศภาวะถูกแยกออกจากกัน ด้วยเหตุนี้การกำหนดทิศทางในระดับนโยบายจึงขาดมุมมองของงานที่ละเอียดอ่อนต่อเรื่องเพศภาวะกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องปรับปรุงให้มีตัวแทนของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมเป็นคณะกรรมการระดับนโยบายในการกำหนดทิศทางงานผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อม และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมเป็นคณะกรรมการระดับนโยบายในการกำหนดทิศทางงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7.1.2 การเพิ่มตัวแทนหน่วยงานและองค์กรผู้หญิงในคณะกรรมการด้านนโยบาย

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ประกอบกับประชากรเกินครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเป็นผู้หญิง และส่วนใหญ่อยู่ในภาคชนบทหรือตลาดแรงงาน ดังนั้นการกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงความต้องการที่แตกต่างกันระหวางเพศ ต้องคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์จากการดำเนินงานตามนโยบายไปถึงกลุ่มเปราะบางอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม การมีองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานด้านส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น จากการทบทวนเอกสารพบว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ขาดตัวแทนจากหน่วยงานและภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านกลุ่มคนเปราะบางโดยเฉพาะผู้หญิง เพื่อให้การกำหนดนโยบายมีความชัดเจนและครอบคลุมจึงควรเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนของกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น

7.1.3 การจัดตั้งหน่วยประสานงานภาครัฐที่ทำงานประเด็นผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อม

ควรจัดตั้งขึ้นภายใต้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนงานด้านผู้หญิงกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น และหน่วยงานนี้ต้องทำหน้าที่นำเอาแนวคิดด้านเพศภาวะบูรณาการเข้าสู่การกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ และการจัดสรรงบประมาณ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเด็นเพศภาวะได้บูรณากรเข้าไปในงานของหน่วยงานเหล่านั้นตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุนงานให้กับผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officer หรือ CGEO) และศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point หรือ GFP) ในการปฏิบัติงานส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในหน่วยงานภาครัฐไปพร้อมกัน

7.1.4 แผนแม่บทด้านเพศภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องตั้งอยู่บนหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคระหว่างเพศ และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และเท่าเทียมของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานตามตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ให้แนวทางไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน รัฐภาคีได้ตกลงที่จะปรับปรุงแผนงาน 5 ปี ของโปรแกรมงานลิมาและแผนปฏิบัติการทางเพศภาวะ (Lima work programme on gender and its gender action plan) (UNFCCC, 2019) เพื่อให้การทำงานด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ได้เข้าไปอยู่ในทุกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการปรับตัว และการลดก๊าซเรือนกระจก และรัฐภาคีต้องแจ้งและรายงานให้เห็นผลการดำเนินงานในรายงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) ในสาขาต่างๆ รวมทั้งแต่ละรัฐภาคี จะต้องมีการวางแผนดำเนินงาน และจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงเพศภาวะที่ชัดเจนในงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

7.1.5 การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting หรือ GRB)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ ปี พ.ศ. 2560 มีการรับรองหลักการการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงเพศภาวะไว้ในหมวด แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 71 วรรค 4 ว่า “ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็น และความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม… ” ดังนั้นการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงเพศภาวะ จัดเป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมเท่าเทียมและ
ความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะแผนงาน มาตราการ และโครงการในการดำเนินงานขับเคลื่อน
ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาด้านต่างๆ ส่วนใหญ่จะผูกโยงกับระบบงบประมาณทั้งสิ้น หากเปลี่ยนวิธีคิดและเทคนิคในการจัดทำงบประมาณทั้งระบบโดยคำนึงถึงเพศที่แตกต่าง ผลที่ตามมาคือ การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมในการบริหาร และนำไปสู่ความคุ้มค่าในการสร้างประโยชน์ให้กับคนทุกกลุ่ม อีกทั้งนำไปสู่การเพิ่มโอกาสให้กับคนกลุ่มเปราะบางในสังคม ได้เข้ามาสู่กระบวนการวางแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

7.2 ระดับปฏิบัติการ

7.2.1 การจัดทำระบบฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญเพราะบริบทพื้นที่ทั้งกายภาพและชีวภาพและกลุ่มต่างๆ ของพื้นที่ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ดังนั้นรัฐจึงควรให้ความสำคัญกับ (1) การจัดระบบข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการคาดการณ์สภาพอากาศในอนาคตเพื่อประเมินความเสี่ยงและนำไปสู่การจัดการเชิงระบบ/องค์รวม/พื้นที่ภูมินิเวศ โดยมีการวางแผนร่วมกัน (2) การวางแผนการจัดการ การพัฒนาระบบและการติดตามตรวจสอบ ร่วมกันระหว่างชาวบ้าน ท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และในระดับนโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) การจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลแบบแยกเพศ เชื้อชาติ อายุ และอาชีพ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการทำงานจึงเป็นความจำเป็นเบื้องต้น ที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญ เพราะฐานข้อมูลนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องมือในกำหนดมาตราการ แผนงาน และโครงการเพื่อการเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่สามารถทำให้รู้ถึงความต้องการที่แตกต่างกันระหว่างเพศในการที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมเพื่อสามารถเข้าถึงโอกาศได้อย่างเท่าเทียม

7.2.2 การบูรณาการมิติเความเสมอภาคระหว่างเพศ

ทำงานร่วมกับกลุ่มคนเปราะบางเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มผู้หญิงที่พบว่าจะได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ชาย โดยยกระดับผู้หญิงให้อยู่ในสถานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคม ส่งเสริมการสร้างคุณค่าทางภาวะผู้นำให้กับผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาต่างๆ อีกทั้งเปิดโอกาสและพื้นที่เพื่อให้ผู้หญิงได้นำทักษะ ความรู้ ความสามารถ และภูมิปัญญาดั้งเดิมมาร่วมแก้ไข และจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเพิ่มโอกาส ช่องทาง และเป็นการสร้างหลักประกันเบื้องต้นให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย วางแผน ปฏิบัติการ และประเมินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับคอรบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ

7.2.3 การสนับสนุนผู้หญิงในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)

การยกระดับผู้หญิง ให้อยู่ในสถานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคม โดยการส่งเสริมการสร้างคุณค่าทางภาวะผู้นำให้กับผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาต่างๆ อีกทั้งเปิดโอกาสและพื้นที่เพื่อให้ผู้หญิงได้นำทักษะ ความรู้ ความสามารถ และภูมิปัญญาดั้งเดิมมาร่วมแก้ไข และจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเพิ่มโอกาส ช่องทาง และเป็นการสร้างหลักประกันเบื้องต้นให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย วางแผน ปฏิบัติการ และประเมินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับคอรบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ

7.2.3 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้หญิง

จากมุมมองที่มองผู้หญิงในฐานะของผู้นำการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีการสร้างมาตรการให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนดำเนินงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล การเฝ้าระวังและการเตือนภัย การสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูล การสร้างความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งยกระดับการฝึกอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะ และความสามารถทั้งด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานอย่างมีส่วนร่วม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนงานด้านการพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

7.2.4 การพัฒนาความรู้และความเข้าใจมิติเพศภาวะกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พัฒนาความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ ตลอดจนภาคประชาสังคม ชุมชน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผ่านการะบวนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยอาจจัดให้มีพื้นที่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทเรียน ตัวอย่างการปฏิบัติงานที่ดี และการฝึกอบรมด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงอาจจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรม และการจัดการเรียนรู้เพิ่มเติมจากแผนงานหรือปฏิบัติการที่มีอยู่เดิม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจด้านเพศภาวะในงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น

7.2.5 การสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลมิติเพศภาวะกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมายสำคัญของการสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูลคือ “การปรับเปลี่ยนวิธีคิดทางสังคม” ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันการสื่อสารแตกต่างจากจากอดีต เพราะคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อสาธารณะได้อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกัน หลายคนก็พัฒนาสื่อของตนเองขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การดำเนินงานด้านมิติเพศภาวะก็เช่นเดียวกัน การสร้างเนื้อหา (Content) และกำหนดกลุ่มเป้าหมาย(Audience) เพื่อการสื่อสารและการส่งสารให้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของงานด้านมิติเพศภาวะที่เชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆ ไม่เพียงแค่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรูปแบบของการสื่อสารจะต้องมีความหลากหลายทั้งในรูปแบบออนไลน์ (online)  ออฟไลน์ (offline) และกระจายในหลายช่องทาง แม้แต่กระทั้งเนื้อหาก็จะต้องมีความเฉพาะเจาะจงให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะคนรับสารในแต่ละสถานะ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้หญิง ภาครัฐ และประชาชนทั่วไปในสังคม ต่างมีระดับความเข้าใจ และความรู้ประเด็นมิติเพศภาวะที่แตกต่างกัน ทั้งนี้การพัฒนาสื่อและการผยแพร่ข้อมูล ควรมีการบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากระรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ เป็นต้น

7.2.6 ติดตามความก้าวหน้า เข้าใจปัญหา อุปสรรค นโยบายและกฎหมาย ซึ่งจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความต้องการของกลุ่มชุมชนที่มักถูกเบียดขับเป็นชายขอบและมักไม่ได้รับประโยชน์หรือหลุดหล่นไปจากนโยบาย (disadvantaged and marginalized groups) รวมถึงการติดตามประเมินผลการดําเนินงานเพศภาวะกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การดําเนินงานของหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อมีการบูรณาการแนวคิด มีแผนงาน และปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว มีความสัมฤทธิ์ผลของแผนมากน้อยเพียงใด รวมถึงมีช่องว่าง และความต้องการเพิ่มเติม สําหรับการดำเนินการด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ รวมทั้งใช้จัดทำรายงานสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่สู่สาธารณะ

เอกสารอ้างอิง

Association of Southeast Asian Nations (ASEAN). (2015, November). ASEAN 2025: Forging Ahead Together. Retrieved from Association of Southeast Asian Nations: https://www.asean.org/storage/2015/12/ASEAN-2025-Forging-Ahead-Together-final.pdf

Association of Southeast Asian Nations แปลโดย กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. (มกราคม 2529). อาเซียน 2025 : มุ่งไปข้างหน้าด้วยกัน. กรุงเทพมหานคร: บริษัทเพจเมคเกอร์ จำกัด. เข้าถึงได้จาก กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ: http://www.stabundamrong.go.th/web/asean/asean_9.pdf

Committee on the Elimination of Discrimination against Women (CEDAW). (2018, February 7). General Recommendation No. 37 on Gender-related dimensions of disaster risk reduction in the context of climate change (CEDAW/C/GC/37). Retrieved from United Nations Digital library: https://digitallibrary.un.org/record/1626306?ln=en

David Eckstein, Vera Künzel and Laura Schäfer. (2021). The Global Climate Risk Index 2021. Bonn: Germanwatch e.V. Retrieved April 16, 2021, from https://germanwatch.org/sites/default/files/Global%20Climate%20Risk%20Index%202021_1.pdf

Gama, S., Teeluck, P. and Tenzing, J. (2016). Strengthening the Lima Work Programme on Gender: perspectives from Malawi and the CBD. London: International Institute for Environment and Development (IIED).

Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC). (2001). Climate Change 2001: The Scientific Basis. ใน Y. Ding, D. Schimel and A.P.M. Baede E. Ahlonsou, The Climate System: an Overview (หน้า 85-98). Cambridge: Cambridge University Press. เข้าถึงได้จาก https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/2018/03/WGI_TAR_full_report.pdf

Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC). (2018). Global warming of 1.5°C. In Press. เรียกใช้เมื่อ 15 April 2021 จาก https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/sites/2/2019/06/SR15_Full_Report_Low_Res.pdf

International Union for Conservation of Nature (IUCN). (November 2015). Issues Briefs : Gender and climate change : Strengthening climate action by promoting gender equality . เข้าถึงได้จาก International Union for Conservation of Nature : https://www.iucn.org/sites/dev/files/import/downloads/gender_and_climate_change_issues_brief_cop21__04122015.pdf

IPCC. (2018). Annex I: Glossary In: Global Warming of 1.5°C. In Press. เข้าถึงได้จาก https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/sites/2/2019/06/SR15_AnnexI_Glossary.pdf

IPCC. (28 April 2021). Glossary. เข้าถึงได้จาก IPCC Data Distribution Centre: https://www.ipcc-data.org/guidelines/pages/glossary/glossary_c.html

NGO Working Group on Women, Peace and Security. (2020, October). 2020 Civil Society Roadmap on Women, Peace and Security. Retrieved from NGO Working Group on Women, Peace and Security: https://www.womenpeacesecurity.org/roadmap-2020/

Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE). (2020). Women, Peace and Security – 20 years on. Retrieved from Organization for Security and Co-operation in Europe: https://www.osce.org/women-peace-security-2020

UN. (2017). Concluding observations on the combined sixth and seventh periodic reports of Thailand. Retrieved from Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women: https://undocs.org/en/CEDAW/C/THA/CO/6-7

UN. (2019). Women, Peace and Security. Retrieved from Political and Peacebuilding Affairs: https://dppa.un.org/en/women-peace-and-security

UN. (n.d.). Fact Sheet : Women, Gender Equality and Climate Change. Retrieved from UN WomenWatch: www.un.org/womenwatch: https://www.un.org/womenwatch/feature/climate_change/downloads/Women_and_Climate_Change_Factsheet.pdf

UN Women. (2001). Gender Mainstreaming : Concepts and definitions. Retrieved from United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women: https://www.un.org/womenwatch/osagi/conceptsandefinitions.htm#:~:text=Gender%3A%20refers%20to%20the%20social,women%20and%20those%20between%20men.

UN Women. (24 November 2016). UN Women supports safe spaces for women and girls: Political will and gender-responsive policies will advance the economy and benefit peacebuilding. เข้าถึงได้จาก UN Women Asia and the Pacific: https://asiapacific.unwomen.org/en/news-and-events/stories/2016/11/political-will-and-gender-responsive-policies-will-advance-the-economy

UN Women. (2020). Peace and security. เข้าถึงได้จาก UN Women: https://www.unwomen.org/en/what-we-do/peace-and-security

UNDP. (2019, March 12). The connection between gender equality and climate change. Retrieved from UN Development Programme: https://undp.medium.com/the-connection-between-gender-equality-and-climate-change-653aefc9500e

UNDP. (2021, March 8). United Nations Development Programme. Retrieved from International Women’s Day 2021 – Women and Climate Security in the Pacific: https://www.pacific.undp.org/content/pacific/en/home/presscenter/articles/2021/women-and-climate-security-in-the-pacific.html

UNDRR. (2 May 2021). Terminology . เข้าถึงได้จาก United Nations Office for Disaster Risk Reduction,: https://www.undrr.org/terminology/disaster

UNDRR. (2 May 2021). Understanding disaster risk : Climate change. เข้าถึงได้จาก PreventionWeb : The knowledge platform for disaster risk reduction: https://www.preventionweb.net/disaster-risk/risk-drivers/climate-change/

UNFCCC. (2001, November 10). Decision 28/CP.7. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/resource/ldc/documents/13a04p7.pdf

UNFCCC. (2001, November 9). Decision 36/CP.7. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/files/bodies/election_and_membership/application/pdf/decision_36_cp7.pdf

UNFCCC. (2010, December 10–11). Decision 1/CP.16. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/resource/docs/2010/cop16/eng/07a01.pdf

UNFCCC. (2012, December 7). Decision 23/CP.18. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/sites/default/files/cop18_gender_balance.pdf

UNFCCC. (2013, November 23). Decision 2/CP.19. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/resource/docs/2013/cop19/eng/10a01.pdf

UNFCCC. (2014, December 12). Decisions 18/CP.20 Lima work programme on gender. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/sites/default/files/resource/docs/2014/cop20/eng/10a03.pdf

UNFCCC. (12 December 2015). Paris Agreement. เข้าถึงได้จาก United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/sites/default/files/resource/parisagreement_publication.pdf

UNFCCC. (2016, November 17). Decision 21/CP.22 Gender and climate change. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/resource/docs/2016/cop22/eng/10a02.pdf

UNFCCC. (2019, December 15). Decision 3/CP.25 Enhanced Lima work programme on gender and its gender. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/sites/default/files/resource/cp2019_13a01E.pdf

UNFCCC. (2019, December 15). Decision 3/CP.25 Enhanced Lima work programme on gender and its gender. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/sites/default/files/resource/cp2019_13a01E.pdf

UNFCCC. (2019, June 12). FCCC/SBI/2019/INF.8 Gender and climate change. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/sites/default/files/resource/sbi2019_inf8.pdf

UNFCCC. (27 November 2019). Women Still Underrepresented in Decision-Making on Climate Issues under the UN. เข้าถึงได้จาก UNFCCC Sites and platforms: https://unfccc.int/news/women-still-underrepresented-in-decision-making-on-climate-issues-under-the-un

UNFCCC. (2022). Introduction to Gender and Climate Change. Retrieved from https://unfccc.int/topics/gender/the-big-picture/introduction-to-gender-and-climate-change

United Nations (UN). (1992). United Nations Framework Convention on Climate Change. Bonn: United Nations. เข้าถึงได้จาก https://unfccc.int/files/essential_background/background_publications_htmlpdf/application/pdf/conveng.pdf

United Nations (UN). (9 May 1992). United Nations Framework Convention on Climate Change. เข้าถึงได้จาก United Nations : Climate Change: https://unfccc.int/resource/docs/convkp/conveng.pdf

United Nations (UN). (31 October 2000). Resolution 1325 (2000). เข้าถึงได้จาก eSubscription to United Nations Documents: https://undocs.org/en/S/RES/1325(2000)

United Nations. (2015). Paris Agreement. Retrieved from United Nations Framework Convention on Climate Change: https://unfccc.int/sites/default/files/english_paris_agreement.pdf

United Nations Environment Programme (UNEP). (2015). Climate Change and Human Rights. Nairobi: United Nations Environment Programme. เข้าถึงได้จาก https://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/9530/-Climate_Change_and_Human_Rightshuman-rights-climate-change.pdf.pdf?sequence=2&amp%3BisAllowed=

United Nations Environment Programme, UN Women, UNDP and UNDPPA/PBSO. (2020). Gender, Climate & Security: Sustaining inclusive peace on the frontlines of climate change. New York: United Nations Environment Programme, UN Women, UNDP and UNDPPA/PBSO. Retrieved from https://www.unwomen.org/-/media/headquarters/attachments/sections/library/publications/2020/gender-climate-and-security-en.pdf?la=en&vs=215

United Nations High Commissioner for Human Rights. (9 September 2019). OHCHR and climate change. เข้าถึงได้จาก United Nations High Commissioner for Human Rights: https://www.ohchr.org/EN/Issues/HRAndClimateChange/Pages/HRClimateChangeIndex.aspx

United Nations International Strategy for Disaster Reduction (UNISDR). (2009). UNISDR Terminology on Disaster Risk Reduction. Geneva: United Nations Office for Disaster Risk Reduction. Retrieved from https://www.unisdr.org/files/7817_UNISDRTerminologyEnglish.pdf

Women’s Environment & Development Organization (WEDO). (23 June 2019). FACTSHEET: UNFCCC PROGRESS ON ACHIEVING GENDER BALANCE (COP 24). เข้าถึงได้จาก WEDO: https://wedo.org/wp-content/uploads/2020/01/Factsheet-UNFCCC-Progress-Achieving-Gender-Balance-2019.pdf

World Economic Forum. (2021). The Global Risks Report 202116th Edition. Geneva: World Economic Forum. Retrieved April 15, 2021, from http://www3.weforum.org/docs/WEF_Global_Risk_Report_2020.pdf

โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน. (2564). ความรู้พื้นฐาน. เข้าถึงได้จาก โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: https://www.sdgmove.com/sdg-101/

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. (2563). แผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563–2565). กรุงเทพมหานคร: กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวง, กรกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. (2563). รายงานการดำเนินงานการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศของหน่วยงานภาครัฐประจำปี 2562 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560-2564. กรุงเทพมหานคร: กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. เข้าถึงได้จาก http://www.jvkk.go.th:8080/CGC_JVKK/Admin/myfile/20201117143812_k1%20(5).pdf

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. (25 เมษายน 2564). เกี่ยวกับ สค. เข้าถึงได้จาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว: http://www.dwf.go.th/Content/View/151/2

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) . (2557). หนังสือรวบรวมคำศัพท์ด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ. กรุงเทพมหานคร: โครงการเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ.

กรมอุตุนิยมวิทยา. (2 พฤษภาคม 2564). ความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2562. เข้าถึงได้จาก ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา: http://www.climate.tmd.go.th/content/file/1616

คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ. (19 กันยายน 2558). คำสั่งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติที่ 1/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการบูรณาการนโยบายและแผน . เข้าถึงได้จาก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/1-1.pdf

คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ. (18 สิงหาคม 2560). คำสั่งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติที่ 3/2560 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการและฐานข้อมูล. เข้าถึงได้จาก การจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/3-1.pdf

คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ. (14 สิงหาคม 2560). คำสั่งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติที่ 4/2560 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประชาสัมพันธ์และเสริมพลังความร่วมมือด้านภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment). เข้าถึงได้จาก กองประสานงานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/4-1.pdf

คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ. (18 สิงหาคม 2560). คำสั่งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติที่ 2/2560 เรื่อง ปรับปรุงอำนาจหน้าที่คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีเจรจาและคามร่วมมือระหว่างประเทศ. เข้าถึงได้จาก กองประสานงานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/2-1.pdf

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม. (2562). แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เข้าถึงได้จาก http://nscr.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/05/09-%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1.pdf

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ. (2561). แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพมหานคร: สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/024_4/1.PDF

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ. (2561). ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580 ). กรุงเทพมหานคร: สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/082/T_0001.PDF

คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. (2558). รายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 5 (The Fifth Assessment Report: AR5) : บทสรุปรายงาน IPCC ฉบับที่ 5 สำรับผู้กำหนดนโยบาย (แปล). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/2021/03/Thai_SYR_IPCC_Fifth_Assessment_Report.pdf

คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการบูรณาการนโยบายและแผน . (25 มีนาคม 2562). คำสั่งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการบูรณาการนโยบายและแผน ที่ 2/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการนโยบายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ. เข้าถึงได้จาก กองประสานงานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/3.pdf

คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านบูรณาการนโยบายและแผน. (25 มีนาคม 2562). คำสั่งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านบูรณาการนโยบายและแผนที่ 1/2562 คณะทำงานบูรณาการการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ . เข้าถึงได้จาก กองประสานงานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/4.pdf

คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชการและฐานข้อมูล. (25 พฤษภาคม 2561). คำสั่งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชการและฐานข้อมูล ที่ 1/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก . เข้าถึงได้จาก กองประสานงานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/2.pdf

คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการและฐานข้อมูล. (24 มกราคม 2562). คำสั่งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการและฐานข้อมูล ที่ 1/2562 เรื่อง คณะทำงานด้านข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและแบบจำลอง. เข้าถึงได้จาก กองประสานงานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/1.pdf

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์. (2560). ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2560 – 2564) . กรุงเทพมหานคร: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

ชีรา ทองกระจาย. (2560). ความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพ. ใน การพัฒนามนุษย์ในบริบทโลก (หน้า 6). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

นภพรรณ นันทพงษ์. (9 มีนาคม 2564). การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2573). เข้าถึงได้จาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารสุข: https://dohmeeting.anamai.moph.go.th/agenda_att/file_emeeting_agenda_att__361_21_20210309_2048775952.pdf

นางสาวอรพรรณ แซ่เอี้ยว. (10 พฤศจิกายน 2560). ความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้แผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2559-2568. เข้าถึงได้จาก ฝ่ายอาเซียนและกิจการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา: https://lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=328&Type=1

นิรมล สุธรรมกิจ และ กิริยา กุลกลการ. ( 2561). การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิฟรดริค เอแบร์ท .

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ. (2563). รายงานการให้คะแนนรัฐบาลไทยกัยอนุสัญญา CEDAW ปี 2563. กรุงเทพมหานคร: องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล. เข้าถึงได้จาก https://www.protectioninternational.org/sites/default/files/final_cedaw_2020_edit_new_270263.pdf

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558. (2558). เข้าถึงได้จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132/ตอนที่ 18 ก/หน้า 17/13 มีนาคม 2558: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/018/17.PDF

พัชรี วีระนนท์. (2562). การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เรียกใช้เมื่อ 16 เมษายน 2564 จาก https://www.onep.go.th/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ/

พีรดา ภูมิสวัสดิ์. (2563). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศ. เอกสารประกอบการประชุมการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกศูนย์ประสานงาน้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (หน้า 13). กรุงเทพมหานคร: กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว.

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2561. (20 กรกฎาคม 2561). เล่ม 135 ตอนพิเศษ 175 ง หน้า 1-3. เข้าถึงได้จาก ราชกิจจานุเบกษา: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/08/NCCC.pdf

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562. (3 กรกฎาคม 2562). เล่ม 136 ตอนพิเศษ 168 ง หน้า 1 . เข้าถึงได้จาก ราชกิจจานุเบกษา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/168/T_0001.PDF

รัตนา สัยยะนิฐ. (มปป.). มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง. เข้าถึงได้จาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้: https://deepsouthwatch.org/sites/default/files/blogs/attachment/ratnaa_sayyanithii_phm.pdf

ราณี หัสสรังสี. (2561). สตรีนิเวศนิยม (Ecofeminism) กับการเคลื่อนไหวในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท.

สผ. (มปป.). การจัดทำรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจก. เข้าถึงได้จาก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: https://climate.onep.go.th/th/การจัดทำบัญชี-ก๊าซเรือน/

สหประชาชาติประเทศไทย. (2558). เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก สหประชาชาติประเทศไทย: https://www.un.or.th/globalgoals/th/the-goals/

สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร: สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/NAP.pdf

สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ. กรุงเพทมหานคร: สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2562). คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี. กรุงเทพมหานคร: สํานักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา. เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/uploads/document/66/2019/07/pdf/Doc_20190725085640000000.pdf

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (2 สิงหาคม 2563). รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ (เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563). เข้าถึงได้จาก สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา: https://www.senate.go.th/document/mSubject/Ext86/86259_0001.PDF

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2563). พัฒนาการทางกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. กรุงเทพมหานคร: ฝ่ายค้นคว้าและเปรียบเทียบกฎหมาย กองกฎหมายต่างประเทศ. เข้าถึงได้จาก http://web.krisdika.go.th/pdfPage.jsp?type=act&actCode=13775

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2559). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เข้าถึงได้จาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=6422

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2551). หลักกฏหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, หน้า 15-17. เข้าถึงได้จาก http://www.nhrc.or.th/Human-Rights-Knowledge/International-Human-Rights-Affairs/International-Law-of-human-rights/CEDAW_th.aspx

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม . (10 กรกฏาคม 2562). กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change). เข้าถึงได้จาก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.): https://climate.onep.go.th/th/unfccc-thailand/

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2558). แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2593. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/CCMP_58-93_TH.pdf

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2558). บทสรุปรายงาน IPCC ฉบับที่ 5 สำหรับผู้กำหนดนโยบาย (IPCC Fifth Assessment Synthesis Report Summary for Policymakers). นนทบุรี: บริษัท ไทภูมิ พับลิชชิ่ง จำกัด. เข้าถึงได้จาก https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/2021/03/Thai_SYR_IPCC_Fifth_Assessment_Report.pdf

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2559). รายงานสรุปการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/climate-change-publication.pdf

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564 – 2573. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (17 พฤษภาคม 2564). ประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1/2564. เข้าถึงได้จาก กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ : https://www.onep.go.th/ประชุมคณะอนุกรรมการการ/

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (มปป.). เข้าถึงได้จาก กองประสานงานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: https://climate.onep.go.th/th/about/management-structure/

สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี. (6 เมษายน 2564). ประเทศไทยกับการเดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน. เข้าถึงได้จาก สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี: https://www.pmdu.go.th/thailand-sustainable-development/

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (25 เมษายน 2564). เกี่ยวกับ SDGs. เข้าถึงได้จาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: https://sdgs.nesdc.go.th/%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-sdgs/

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม . (14 กันยายน 2563 ). การรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงาน. เข้าถึงได้จาก ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม: http://tccnclimate.com/ประชาสัมพันธ์/item/3275-การรับฟังความคิดเห็นต่อ-ร่าง-แผนปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

อารยา สุขสม. (2020). คู่มือการปฏิบัติงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558. กรุงเทพมหานคร: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP).


Social Share