THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Global Fund for Women
วันที่ 18 ตุลาคม 2018
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Global Fund for Women
อ้างอิง https://www.globalfundforwomen.org/…/climate-change…

“เมื่อเราพูดถึงความเป็นธรรมทางภูมิอากาศหรือ Climate Justice เราต้องระลึกไว้เสมอว่าคำว่าความเป็นธรรมบอกเป็นนัยถึงความไม่เป็นธรรมที่ยังเกิดมีขึ้นในสังคม และความไม่เป็นธรรมบอกเป็นนัยถึงความไม่สมดุล ดังนั้นการสร้างความเป็นธรรมทางภูมิอากาศคือการสร้างสมดุลที่สิ่งแวดล้อมและสังคมจำเป็นต้องมี”

– Musimbi Kanyoro

As a child growing up in Kisoko, Uganda, Constance Okollet ผู้ซึ่งเกิดและเติบโตมาในเมือง Kisoko ของประเทศอูกานดาเคยชินต่อชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ พ่อแม่ของเธอเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีเพียงจอบและความเชื่อมั่นในดินฟ้าอากาศเป็นเครื่องมือผลิตอาหาร ในระหว่างการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง ฝนจะให้ปริมาณน้ำที่เพียงพอที่จะทำให้บ่อน้ำเต็ม ดินชุ่มชื้น พืชผลที่อุดมสมบูรณ์ และสีเขียวของต้นไม้ ชุมชนดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาความอาทรจากธรรมชาติ Constance จำไม่ได้มากนักว่าเคยเกิดการขาดแคลนอาหาร โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติในช่วงเวลาดีๆเหล่านั้น

เมื่อเธอเติบโตขึ้นก็ได้ยึดอาชีพทำไร่นาตามรอยพ่อแม่และบรรพชนก่อนหน้า แต่เธอพบความแตกต่างที่ผิดความคาดหมายอย่างยิ่งคือความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ฝนตกหนักและนานขึ้นในแต่ละครั้ง เมือไม่ตกก็จะแห้งแล้งเป็นเวลาที่นานมากเกินไป ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2007 หมู่บ้านของ Constance ตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน เริ่มต้นจากการที่ในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นฤดูแล้ง ฝนกลับตกลงมาอย่างหนักเป็นเวลาหลายชั่วโมงทำให้น้ำเริ่มท่วมหมู่บ้านของ Constance จนสุดท้ายเธอต้องอพยพออก เธอและสามีของเธอพาเด็กๆขึ้นที่สูงพร้อมกับสมาชิกชุมชนที่เหลือซึ่งตระหนักรู้ด้วยความหวาดหวั่นว่าพืชผล ปศุสัตว์ และเพื่อนบ้านวัยชราบางคนคงถูกน้ำพัดพาไปและไม่สามารถรอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ได้

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชุมชนของ Constance ก็ประสบกับภัยแล้งสลับน้ำท่วมมาโดยตลอด Constance ได้รายงานผลกระทบเหล่านี้ในเวที World Affairs Council และ Women’s Role in Climate Justice ที่จัดขึ้นในเดือนกันยายนเคียงข้างนางแมรี่ โรบินสัน อดีตประธานาธิบดีของสาธารณรัฐไอร์แลนด์และนาง Musimbi Kanyoro กรรมการผู้จัดการของGlobal Fund for Women โดยแถลงว่า “เราคิดว่าพระเจ้าได้ลงโทษเรา” เพราะชุมชนของเธอไม่เคยประสบวงจรภัยพิบัติที่เกิดอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต ต่อมาพวกเธอเริ่มได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยโดยประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆที่พึ่งพาทรัพยากรถ่านหินเพื่อการอุตสาหกรรมของตน “เราจึงได้ตระหนักว่าภัยธรรมชาติเหล่านี้เกิดจากการกระทำของคนรวย”

ประชาคมโลกมักหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนโดยมุ่งเน้นไปที่วิธีการทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนา หรือนโยบาย แต่โดยพื้นฐานแล้ว หัวใจของการแก้ปัญหาโลกร้อนและความเป็นธรรมทางภูมิอากาศคือการรับรองสิทธิของชุมชนด่านหน้า ได้แก่ชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด

โชคไม่ดีที่แนวทางการแก้ปัญหาของประชาคมโลกไม่ทันการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ในหนังสือ Climate Justice: Hope, Resilience, and the Fight for a Sustainable Future ที่เขียนโดยนางแมรี โรบินสันบรรยายถึงการที่กลุ่มสตรีอย่าง Constance ตัดสินใจลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง “ภาวะโลกร้อนคงจะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่เราก็จะต้องพยายามแก้ไขมัน” Constance บอกเพื่อนบ้านของเธอ แทนที่จะรอให้ประเทศพัฒนาแล้วหยุดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแต่เพียงด้านเดียว Constance ชักชวนให้ชุมชนของเธอปฏิบัติการลดผลกระทบเล็กๆน้อยๆและพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่นการระดมชาวบ้านปลูกต้นมะม่วง ส้ม และอาโวคาโดทดแทนต้นที่ถูกตัดไปทำฟืนเพื่อยึดหน้าดินจากการถูกกัดเซาะและให้ผลที่นำไปบริโภคหรือขายได้ “เมื่อมีอาหารมากขึ้น” เธอกล่าว “ก็มีชีวิตและความหวังมากขึ้น”

มีสตรีอย่าง Constance อีกนับพันคนทั่วโลกที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและความเป็นธรรมทางภูมิอากาศด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม บทบาทที่สำคัญของสตรีเหล่านี้ยังคงถูกมองข้ามและไม่ได้รับการสนับสนุน ทั้งที่ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ผลิตอาหารเป็นสัดส่วนถึง 80% ของอาหารทั้งหมดที่โลกผลิต แต่พวกเธอได้รับทุนสนับสนุนเพียง 0.1% จากองค์กรอนุรักษ์

Global Fund for Women จึงขอสนับสนุนสตรีที่เป็นด่านหน้าของภาวะโลกร้อน เราให้ทุนแก่พวกเธอเพื่อนำไปขยายผลการปฏิบัติการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเพื่อปกป้องชุมชนของพวกเธอ นอกจากนี้เรายังได้ร่วมมือกับกลุ่มทุนอื่นๆเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในบทบาทของสตรีที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและความสำคัญของการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนโดยกลุ่มสตรี “สตรีเหล่านี้คือผู้นำ” Musimbi Kanyoro กล่าว “และเราต้องทำให้พวกเธอมีสิทธิมีเสียงในระดับสากล ในที่ซึ่งเกิดการตัดสินใจอย่างแท้จริง”

ผลจากความร่วมมือดังกล่าวข้างต้นทำให้เราได้เห็นว่าสตรีมีความสามารถในการลดผลกระทบได้อย่างไรบ้าง ในชุมชน Burkina Faso ที่ซึ่งพืชผลแห้งตายเพราะความแล้ง กลุ่มสตรีได้สร้างระบบชลประทานขึ้นใหม่ อบรมให้ความรู้แก่ชุมชนถึงวิธีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันมิให้ทะเลทรายรุกล้ำเข้ามาในเขตเพราปลูก ในประเทศอินเดีย พวกผู้หญิงรวมตัวกันจัดตั้งนารวมขึ้นสำหรับผู้ไม่มีที่ทำกิน จนในปัจจุบันมีสตรีกว่า 500 คนที่เพาะปลูกข้าวฟ่างและพืชผลการเกษตรอื่นๆในลักษณะนาสวนผสมบนที่ดินนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลิตอาหารแก่ชุมชนแล้วยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพดินอีกด้วย และในประเทศอูกานดา กลุ่มสตรีได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นองค์กรเพื่อความเป็นธรรมทางภูมิอากาศเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และในกรณีของ Constance นั้น – ระดับนานาชาติ

สตรีเหล่านี้มีความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาปกป้องโลกจากภาวะโลกร้อน ความพยายามของพวกเธอได้เปลี่ยนแปลงชะตากรรมเป็นความหวัง ความไม่แน่นอนเป็นความยั่งยืน และเกิดการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและสิทธิของคนทั่วโลก (จบ)


Social Share