THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Frank Biermann, Jeroen Oomen, Aarti Gupta, Saleem H. Ali, Ken Conca, Maarten A. Hajer, Prakash Kashwan, Louis J. Kotzé, Melissa Leach, Dirk Messner, Chukwumerije Okereke, Åsa Persson, Janez Potocˇnik, David Schlosberg, Michelle Scobie, และ Stacy D. VanDeveer
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพ https://www.solargeoeng.org/

บทนำ

โครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์ลดโลกร้อนหรือที่เรียกกันว่า Solar Geo-engineering, Solar Radiation Management, หรือ Solar Radiation Modification กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในเวทีอภิปรายปัญหาโลกร้อนทั่วโลก โดยได้รับการพิจารณาว่าเป็นแนวทางที่ควรค่าแก่การศึกษาเพิ่มเติมและอากลายเป็นนโยบายสำคัญได้ในอนาคต

โครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์ลดโลกร้อนคือ ชุดเทคโนโลยีในโลกสมมติที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนร่มที่กางให้แก่โลกเพื่อบังความร้อนจากแสงอาทิตย์

Solar Geo-engineering แตกต่างจากเทคโนโลยีที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ ซึ่งเทคโนโลยีทั้งสองนั้นอยู่ในของเขตของ Geo-engineering แต่ในที่นี้เราจะนำเอา Solar Geo-engineering มาพิจารณาเพียงอย่างเดียว

โครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์ลดโลกร้อนหรือ Solar Geo-engineering เป็นการใช้เทคโนโลยีในสเกลที่ท่ากับขนาดของดาวเคราะห์โลกเพื่อแทรกแซงอุณหภูมิผิวโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ข้อเสนอที่น่าเชื่อถือที่สุดได้แก่การพ่นก๊าซ Aerosol ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์เพื่อสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ออกไป วิธีนี้มีเป้าหมายในการดำเนินงานในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค เช่นการทำให้เมฆในทะเลสะท้อนแสงอาทิตย์เพื่อปกป้องแนวปะการัง Great Barrier Reef ชายฝั่งทวีปออสเตรเลียนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ทว่าในแต่ละโครงการจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาด การบริหารจัดการ และการเมือง

แนวคิด Solar Geo-engineering ได้รับความสนใจจากประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศ ตัวอย่างเช่นในเดือนมีนาคม ปี 2021คณะกรรมการของ US National Academy of Sciences สรุปว่าประเทศสหรัฐอเมริกาควรสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโครงการ Solar Geo-engineering เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขภาวะโลกร้อน และนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาก็ได้เรียกร้องให้รัฐจัดตั้งองค์กรวิจัยและรายงาน IPCC เกี่ยวกับ Solar Geo-engineering โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ก่อตั้งโครงการวิจัยด้าน Solar Geo-engineering เพื่อศึกษาผลของก๊าซ Aerosol ในบรรยากาศนอกเหนือจากโครงการอื่นๆอีกมากที่เกี่ยวกับการควบคุมบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์

อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มต่อต้านในโครงการดังกล่าว โดยที่การทดลองของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในประเทศสวีเดนได้รับการต่อต้านจากนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านจนทำให้การทดลองต้องเลื่อนออกไป

โดยสรุปแล้ว ในแวดวงผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มนั้น Solar Geo-engineering คือหัวข้อวิจัยที่ได้รับการยอมรับว่าอาจกลายเป็นวิธีการแก้ปัญหาโลกร้อนที่สำคัญในอนาคต

กลุ่มผู้สนับสนุนการวิจัยด้าน Solar Geo-engineering ได้โต้แย้งว่าองค์กรนานาชาติต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการชะลอการเพิ่มอุณหภูมิผิวโลกไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายข้อตกลงปารีสกำลังประสบกับความล้มเหลวเมื่อดูจากนโยบายและแนวโน้มที่เป็นอยู่ ดังนั้นกลุ่มผู้สนับสนุนจึงให้เหตุผลว่าควรมีการวิจัยด้าน Solar Geo-engineering เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องของศักยภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นไปได้ของแนวทางดังกล่าวและเพิ่มทางเลือกในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหากเป็นไปได้

จากมุมมองดังกล่าวนี้ Solar Geo-engineering สามารถนำมาใช้เป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อซื้อเวลาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศอย่างจริงจังหรือใช้เป็นมาตรการสุดท้ายในการลดผลกระทบหากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือแนวทาง Carbon Neutrality ไม่ทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ทันการณ์

ข้อเรียกร้องให้มีการทำวิจัยด้าน Solar Geo-engineering เช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณที่น่ากังวล เพราะทำให้เรื่อง Geo-engineering กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เรายังมีความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยงและประสิทธิภาพของ Solar Geo-engineering ที่น้อยมาก และผลกระทบก็มีแนวโน้มที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพราะความเย็นเทียมจะมีผลกระทบในบางพื้นที่สูงกว่า นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อสภาพภูมิอากาศท้องถิ่น การเกษตร และแหล่งน้ำและอาหาร และงานวิจัยในปัจจุบันก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานของการคาดคะเนในแง่ดีทั้งในด้านโมเดลต้นแบบและความสนับสนุนทางการเมือง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความขัดแย้งทางการเมืองระดับนานาชาติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยเกิดขึ้นอีกก็ตาม แต่ยังคงมีความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์จะสามารถทำความเข้าใจในความเสี่ยงและประสิทธิภาพของ Solar Geo-engineering รวมถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ได้อย่างถ่องแท้ก่อนการนำมาใช้งานจริงได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ Solar Geo-engineering ด้วยกำลังบังคับ และข้อกังวลด้านการทหารและความปลอดภัยที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

เราสามารถควบคุม SOLAR GEO-ENGINEERING ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญได้แก่การจัดการในระดับสากลที่ยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี การเมือง และศีลธรรมเมื่อนำเอาระบบ Solar Geo-engineering มาใช้กับทั่วโลก เราพิจารณาว่าการจัดการ Solar Geo-engineering อย่างเป็นธรรมโดยใช้ระบบการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่นั้นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ประการที่สอง Solar Geo-engineering ในอดีตไม่เคยเป็นที่ยอมรับว่าสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในสิ่งแวดล้อมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นต่อมาจากมุมมองของนักวิชาการด้านธรรมาภิบาลพิจารณาว่าการนำ Solar Geo-engineering มาใช้ในระดับโลกนั้นต้องอาศัยกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนในเรื่องสถานที่ เวลา วิธีการ และปริมาณ (เช่นปริมาณสารทำความเย็น) และใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่อาจเกิดมีขึ้นหากมีสิ่งผิดพลาดในการดำเนินการ

เนื่องจาก Solar Geo-engineering จะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ดังนั้นจะต้องใช้การจัดการที่เป็นธรรมโดยประเทศที่เกี่ยวข้องทุกประเทศเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยี ที่สำคัญได้แก่ประเภทและปริมาณการใช้เทคโนโลยีจะก่อให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ดังนั้นการใช้หลักประชาธิปไตยในกระบวนการใช้งาน Solar Geo-engineering อาจก่อให้เกิดความมอยุติธรรมขึ้นได้

กระบวนการทางการเมืองที่จะนำมาใช้ควบคุมกิจกรรม Solar Geo-engineering ในระดับโลกเป็นสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะกับประเทศที่ยากจนและเปราะบาง มีประชากรจำนวนประมาณ 696 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและมีฐานะที่ยากจนมาก และ 820 ล้านคนในกลุ่มนี้ (ซึ่งเทียบเท่ากับ 1 คนในทุกๆ 9 คนบนโลก) กำลังประสบภาวะอดอยาก คนกลุ่มนี้เปราะบางมากต่อความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงที่อาจเกิดมีขึ้นจากการนำ Solar Geo-engineering มาใช้ในระดับโลก แต่ในขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็เปราะบางต่อภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน

นักวิจัยจำนวนมากจึงเสนอว่า Solar Geo-engineering เป็นระบบที่จะลดความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนนี้ได้ ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญต่อการวิจัยด้าน Solar Geo-engineering เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตามยังไม่มีผู้ใดสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความเป็นธรรมทางภูมิอากาศโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบตามมา

ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาในเรื่องผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกันจากภาวะโลกร้อนสอนให้เราคำนึงถึงความเป็นธรรมทางภูมิอากาศและการกำหนดนโยบายแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้มาก

เมื่อประเทศกำลังพัฒนาในแถบซีกโลกใต้มีความเปราะบางสูง รัฐบาลประเทศเหล่านั้นจะต้องตัดสินใจในท้ายที่สุดว่า จะนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้หรือไม่

เพราะเมื่อพิจารณาความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้จะได้รับ การเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาให้ข้อเสนอแนะการพัฒนาและนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้แต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องรวมเอาประเทศกำลังพัฒนาในแถบซีกโลกใต้เข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจระดับนโยบายด้วย

อย่างไรก็ตามเราพบว่าประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมิได้คิดเช่นนั้น

ดังนั้นเพื่อรับประกันว่าจะเกิดการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากทุกประเทศที่มีส่วนได้เสีย ประเทศที่มีศักยภาพการพัฒนาและนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้จะต้องจัดตั้งสถาบันพหุภาคีขึ้นเพื่อควบคุมเทคโนโลยีดังกล่าว โดยใช้ระบบการลงคะแนนเสียงแบบกลุ่มโดยประเทศเปราะบาง

เนื่องจากการเมืองโลกในปัจจุบันนั้นไม่เหมาะสมที่จะนำมาสร้างข้อตกลงเกี่ยวกับ Solar Geo-engineering ที่มีประสิทธิภาพและยุติธรรม

การประชุมสหประชาชาติได้ประกาศไว้ในปี 1988 ว่า ภาวะโลกร้อนเป็น “ปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติ” ทว่ายังขาดอำนาจบังคับใช้กฎเกณฑ์ และการตัดสินใจโดยสหประชาชาติก็ไม่ทำให้เกิดภาระผูกพันโดยกฎหมาย ส่วนโครงการ United Nations Environment Programme (UNEP) ภายใต้สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติก็มีข้อจำกัดด้านอำนาจหน้าที่และขอบเขตการปฏิบัติการ

ในปี 2019 UNEP ได้เสนอแนวทางในการประเมินความเสี่ยงของเทคโนโลยี Geo-engineering รวมถึง solar Geo-engineering แต่ถูกคัดค้านจากประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล และซาอุดี อาระเบีย ส่วนทางด้าน United Nations Framework Convention on Climate Change ก็มีข้อจำกัดในด้านอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ที่จะสามารถรับประกันความยุติธรรมและเท่าเทียมในการนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้ในระดับโลกได้

นอกจากนี้ ยังยากที่กระบวนการตัดสินใจระดับนานาชาติใดๆ ในรายละเอียดของการนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้จะบรรลุบทสรุปที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ ความเห็นที่ไม่ตรงกันในรายละเอียดบางอย่างเช่น ระดับอุณหภูมิ ระยะเวลา พื้นที่ และการความหนาแน่นของ Aerosol ที่ใช้ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สถานการณ์เช่นนี้จำเป็นจะต้องมีกระบวนการตัดสินใจที่ชัดเจน เพื่อตัดสินความขัดแย้งดังกล่าว

องค์กรที่ขึ้นตรงกับสหประชาชาติส่วนมากจะยึดหลักความเท่าเทียมกันของทุกชาติรัฐ หรือ 1 ประเทศเท่ากับ 1 คะแนนเสียง ดังนั้นจึงยากสำหรับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือรัสเซียที่จะยอมรับการนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้ในระดับโลก

ดังนั้นระบบ 1 ประเทศเท่ากับ 1 คะแนนเสียงจึงอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีเช่นนี้
สิ่งที่สำคัญได้แก่ การตัดสินใจใดๆก็ตามโดยองค์กรระหว่างประเทศในการนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้จะต้องประกอบไปด้วยอำนาจบังคับใช้ในกรณีที่มีประเทศที่ไม่เห็นด้วยและต้องการตอบโต้มาตรการ มีการจำลองสถานการณ์หากมีบางประเทศหันไปใช้เทคโนโลยี Geo-engineering ประเภทอื่นที่มีผลต่อต้านเทคโนโลยี Solar Geo-engineering ที่จะใช้ในประเทศส่วนใหญ่

สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีภาระหน้าที่ที่จะต้องตัดสินใจหากสถานการณ์ล่อแหลมต่อสันติภาพและความมั่นคงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามสภาความมั่นคงซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ (อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย) ไม่ได้ต้องการความชอบธรรมในการนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้ในระดับทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต และแต่ละประเทศสมาชิกถาวรไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้

ประเด็นปัญหาด้านการบริหารการใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นทางการดังกล่าวนำมาซึ่งการจัดการอย่างไม่เป็นทางการอย่างเช่น ข้อตกลงในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและแนวปฏิบัติจรรยาบรรณที่ตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ
การจัดการอย่างไม่เป็นทางการเหล่านี้ทำให้ประเทศเล็กเผชิญอุปสรรคในการเข้าร่วมในขณะที่รับความเสี่ยงในเทคโนโลยีที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้มากกว่า

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มีความลำเอียงไปทางประเทศอุตสาหกรรม โดยที่ประเทศเล็กๆ มักไม่มีอิทธิพลต่อนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ นอกจากนี้ การจัดการเทคโนโลยีโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือโมเดลทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ทำนายผลกระทบแต่เพียงด้านเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับความขัดแย้งระดับนานาชาติเรื่องค่านิยมและการกระจายความเสี่ยงที่มีความซับซ้อนสูง

โดยสรุปแล้ว การนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้ในระดับทั่วโลกจะต้องอาศัยองค์กรระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ที่มีอำนาจหน้าที่และการใช้แนวทางประชาธิปไตยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อขาดอำนาจหน้าที่และการใช้แนวทางประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ภูมิรัฐศาสตร์ของความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้อย่างไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะมีความซับซ้อนและน่ากังวล เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศยังคลุมเครือในการพัฒนาและนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้
เมื่อขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพแล้ว การมีส่วนร่วมโดยผู้เชี่ยวชาญและการประเมินงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่ประเทศอาจทำให้เกิดภาวะ “de facto governance” หรือระบบจัดการโดยจำยอม โดยปราศจากความชอบธรรมหรือเห็นชอบจากประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำของเทคโนโลยีนี้ ทำให้บางประเทศสามารถดำเนินการฉีด Aerosol ในบรรยากาศได้โดยไม่ต้องรอเสียงเห็นชอบจากประเทศที่คัดค้าน
นักเศรษฐศาสตร์เรียกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ว่า “free-driver effect” หรือปรากฏการณ์กินฟรี (คือได้รับผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนา) ประเทศที่สนับสนุนเทคโนโลยีนี้ในซีกโลกเหนือมองปรากฏการณ์นี้เป็นโอกาสดำเนินโครงการ Solar Geo-engineering โดยไม่ต้องรอความร่วมมือจากนานาชาติ

ประการสุดท้าย ความหวังที่เกิดจากการคาดการณ์เมื่อโลกนี้มีเทคโนโลยี Solar Geo-engineering ภาครัฐ เอกชน และสังคมก็จะละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังอีกต่อไป

เป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจพลังงานได้ลงทุนลงแรงไปมากเพื่อชะลอนโยบายการลดก๊าซและหาแนวทางอื่นที่จะมาทดแทนเช่นการดูดซับคาร์บอน หรือแม้แต่ปฏิเสธความจริงเรื่องภาวะโลกร้อน

ดังนั้นความเป็นไปได้ในเรื่อง Solar Geo-engineering ในอนาคตอาจถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการชะลอการลดก๊าซออกไปอีก ความเสี่ยงนี้ค่อนข้างสูงเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า นานาชาติได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ที่ต้องบรรลุภายในปี 2050

กรณีศึกษาสำหรับข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ทำให้เราต้องเรียกร้องการดำเนินการทางการเมืองจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ องค์การสหประชาชาติ และภาคประชาสังคม ให้ทบทวนการพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ไขภาวะโลกร้อน ก่อนที่จะสายเกินแก้

ข้อเรียกร้องดังกล่าวของเราที่จะให้รัฐบาลทบทวนการพัฒนาเทคโนโลยีที่อันตรายและมีความเสี่ยงสูงเคยมีตัวอย่างที่ปรากฏมาก่อนแล้วในอดีต เช่น รัฐบาลประเทศต่างๆได้ระงับการทำเหมืองในทวีปแอนตาร์ติกาที่ปล่อยก๊าซที่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศ โครงการนิวเคลียร์ต่างๆ การทิ้งขยะมีพิษลงทะเลหรือส่งออกไปนอกอวกาศ การผลิตสารพิษบางประเภท การส่งออกขยะมีพิษ เป็นต้น

นอกจากนี้ข้อตกลงระหว่างประเทศยังได้กำหนดมาตรการควบคุมเทคโนโลยี Geo-engineering บางประเภทไว้แล้ว เช่นการใส่ปุ๋ยที่ประกอบด้วยธาตุเหล็กลงในทะเลเพื่อเร่งการเติบโตของปะการังและสัตว์น้ำและเพิ่มความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (ภายใต้พิธีสารลอนดอนเรื่องการอนุรักษ์สัตว์น้ำและการทิ้งขยะลงทะเล) และข้อตกลงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่บางมาตรการเป็นการควบคุมเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน บางมาตรการก็ถูกกำหนดไว้เพื่อควบคุมเทคโนโลยีในอนาคตที่มีความเสี่ยงสูง เช่นกิจกรรมในอวกาศ การพัฒนาอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ หรือการใส่ปุ๋ยลงในทะเล ที่สำคัญได้แก่ ทศวรรษที่ผ่านมาของการวิจัยทางชีววิทยา เภสัชกรรม และเคมีแสดงให้เราเห็นว่าการอกกฎหมายห้ามการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพนั้นมิได้สร้างข้อจำกัดทางการวิจัยหรือการคิดค้นนวัตกรรม

จากประสบการณ์ที่ผ่านมานี้ ประกอบกับทางเลือกทางกฎหมายและการเมือง เราจึงสนับสนุนให้นานาชาติจัดการประชุมเพื่อบรรลุข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้ ข้อตกลงซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลที่มีแนวความคิดเดียวกันที่จะประกาศไม่สนับสนุนการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้หากสำเร็จ และข้อตกลงเช่นนี้ก็จะมีผลบังคับใช้กับเพียงประเทศที่ลงนาม

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของข้อตกลงไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากทุกประเทศ ถึงแม้ว่าข้อตกลงใดข้อตกลงหนึ่งจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศ ข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้ที่ลงนามโดยความร่วมมือของรัฐบาลของประเทศกลุ่มหนึ่งก็ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่ไม่สนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยี Solar Geo-engineering มาใช้ และจุดยืนดังกล่าวก็จะสร้างแนวร่วมจากองค์กรผู้สนับสนุนทุน องค์กรเพื่อสังคม และบริษัทเอกชนที่เล็งเห็นข้อเสียและกลับใจถอนทุนจากโครงการพัฒนา

ตัวอย่างเช่นหากประชาคมยุโรป แอฟริกา หรือประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศให้การสนับสนุนเทคโนโลยีนี้ การลงคะแนนเสียงสนับสนุนหรือคัดค้านในองค์กรระหว่างประเทศก็จะมีความใกล้เคียงกัน ทำให้ Solar Geo-engineering มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเข้าเป็นนโยบายในระดับสากล

การรณรงค์ต่อต้านอย่างแพร่หลายโดยองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรทางการเมืองอื่นๆจะลดความเสี่ยงดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านขึ้นอย่างแพร่หลาย การพัฒนาเทคโนโลยีก็จะสูญเสียการสนับสนุน
ดังนั้น ข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้ที่เราเสนอจะช่วยยับยั้งมิให้ Solar Geo-engineering กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ยอมรับได้ในเวทีอภิปรายปัญหาโลกร้อนในระดับชาติและนานาชาติ
รายละเอียดข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้ในระดับนานาชาติเรียกร้องให้นานาชาติลงนามเพื่อบังคับใช้มาตรากรสำคัญ 5 ประการต่อไปนี้ :

  1. ห้ามมิให้องค์กรเจ้าของทุนให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  2. ห้ามการทดลองเทคโนโลยี Solar Geo-engineering นอกห้องทดลองในประเทศ
  3. ห้ามมิให้มีการออกสิทธิบัตรแก่โครงการพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering และเทคโนโลยีสนับสนุนเช่นการดัดแปลงอากาศยานเพื่อการพ่น Aerosol
  4. ห้ามมิให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนา Solar Geo-engineering โดยบุคคลที่สาม
  5. ห้ามมิให้มีการจัดตั้งองค์กรสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering ที่มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดเกิดนโยบายสำหรับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการประเมินโดยเวทีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้ในระดับนานาชาติจะไม่หวงห้ามการวิจัยด้านภูมิอากาศหรือบรรยากาศโลก และจะไม่ตั้งข้อจำกัดเสรีภาพในการศึกษาโดยทั่วไป แต่จะมุ่งเน้นไปที่มาตรการเพื่อควบคุมการพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering ในขอบเขตอำนาจของคู่สัญญา และรวมถึงการทดลองนอกห้องทดลองในสิ่งแวดล้อมเพื่อการดังกล่าว

ใจความสำคัญของข้อตกลงได้แก่การรับประกันว่าจะไม่เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering หรือการนำมาใช้ในอนาคต ข้อตกลงดังกล่าวที่รัฐบาลประเทศที่สนับสนุนประกาศให้คำมั่นแก่สาธารณชนนั้นเพียงพอที่จะทำให้การลงทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering ลดลงและหมดไป

ดังนั้น ข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้ในระดับนานาชาติจึงไม่แตกต่างไปจากข้อตกลงอื่นๆที่ห้ามการทดลองที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสี่ยงอันไม่พึงปรารถนา

ปัญหาที่สำคัญได้แก่ข้อตกลงดังกล่าวไม่อาจควบคุมงานวิจัยคู่ขนาน หรืออีกนัยหนึ่งงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์อื่นแต่สามารถนำมาใช้เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering อย่างได้ผลนัก เนื่องจากข้อตกลงไม่นำมาใช้มุ่งไปที่การยับยั้งโครงการพัฒนาเทคโนโลยี Solar Geo-engineering ที่จะนำไปใช้ในระดับโลกที่มีจุดประสงค์ชัดเจน (ยกตัวอย่างเช่นในข้อเสนองานวิจัยหรือขอทุนสนับสนุน) หรือโครงการที่ต้องขอจดทะเบียนและการอนุมัติเช่นโครงการ Stratospheric Controlled Perturbation Experiment ที่วางแผนไว้เพื่อการทดลองในประเทศสวีเดนในปี 2021
โดยนัยเดียวกัน ข้อตกลงไม่นำมาใช้อาจกำหนดข้อยกเว้นที่ทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญในโครงการ Solar Geo-engineering ในแง่ของขนาด เป้าหมาย และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตัวอย่างเช่นการอนุญาตให้เทคโนโลยีสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ในระดับท้องถิ่น

ประการสุดท้าย เรายังต้องกำหนดอายุของข้อตกลงไม่นำมาใช้ ได้แก่การห้ามเป็นการถาวรหรือการชะลอโครงการชั่วคราว เป็นต้น

สิ่งสำคัญได้แก่ ข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้ที่เราได้เสนอไปนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงไร หากได้รับการยกร่างเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น องค์กรมูลนิธิต่างๆ อาจแสดงจุดยืนที่เป็นการสนับสนุนข้อตกลงโยการไม่ให้ทุนสนับสนุนโครงการ Solar Geo-engineering สถาบันการศึกษาและสมาคมนักวิทยาศาสตร์ก็อาจแสดงท่าทีเดียวกันผ่านงานวิชาการต่างๆ

ภาคประชาสังคม รัฐสภา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และแม้แต่ปัจเจกบุคคลก็สามารถแสดงจุดยืนเพื่อให้การสนับสนุนข้อตกลงไม่นำมาใช้ได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้จะทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวไม่เป็นที่พึงปรารถนาและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนใจของประเทศที่เคยสนับสนุนโครงการ Solar Geo-engineering แต่เดิม

โดยสรุปแล้ว ข้อตกลงไม่นำโครงการภูมิวิศวกรรมแสงอาทิตย์มาใช้ในระดับนานาชาตินั้นจะเป็นก้าวที่เหมาะสมต่อเวลา สามารถทำได้ และมีประสิทธิภาพ โดยจะป้องกันไม่ให้เทคโนโลยี Solar Geo-engineering ที่มีความเสียงสูงและมนุษย์เรายังขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้มาเป็นตัวเลือกทางนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนได้

นอกจากนี้ยังป้องกันมิให้เทคโนโลยี Solar Geo-engineering ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกระทำโดยเร่งด่วนมากกว่าการพึ่งพาแต่ทางเลือกอื่นหรือ “แผนสอง ” ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าอย่าง Solar Geo-engineering การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้หากปฏิบัติอย่างถูกวิธี และยังกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมต่างๆที่จะเข้ามาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศได้มากกว่าเพียงแค่การตั้งรับปรับตัว

ดังนั้น Solar geo-engineering จึงไม่จำเป็น ไม่เป็นที่พึงปรารถนา และขาดความชอบธรรม ในขณะที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างเร่งด่วน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายมาควบคุมอย่างเร่งด่วนโดยเท่าเทียมกัน


Social Share