THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Professor Mike Hulme, Cambridge University
เผยแพร่ใน The Church of England newspaper
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย The Church of England newspaper

เมื่อปีที่ผ่านมาเราพบว่ามีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่นและคนทำงานรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่าอาการกังวลต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตะวันตกซึ่งมีการพยากรณ์เกี่ยวกับหายนะทางภูมิอากาศกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งความกังวลโดยทั่วไปนั้นมักเกี่ยวกับอนาคตว่าเมื่อเข้าถึงวัยกลางคนพวกเขาอาจไม่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยเหลืออยู่อีก

เราในฐานะสมาชิกนิกาย Church of England ไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความกังวลเช่นนี้ ชาวคริสต์มีการสื่อสารข้อความที่แตกต่างกันออกไปสำหรับชาวโลก กล่าวคือเป็นสารที่ห่วงใย ยุติธรรมและให้ความหวัง มากกว่าเป็นความกลัวหรือจุดสิ้นสุดของโลก

ผู้นำนิกายควรให้ความเอาใจใส่ต่ออาการกังวลต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเพราะเรามีหน้าที่ดูแลเด็กและคนหนุ่มสาว เราจึงไม่ควรทิ้งพวกเขาให้ตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าอันเป็นสาเหตุมาจากการรับข่าวร้ายอยู่ในทุกๆ วัน

ทว่าความเป็นจริงคือ ภาวะโลกร้อนและผลกระทบเป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคพลังงานฟอสซิลของมนุษย์ ในอดีตมนุษย์ก็ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี การดำรงชีพ และการบริโภค

ดังนั้น เมื่อเราใช้จินตนาการวาดภาพอนาคตของถิ่นที่อยู่ของเราจึงพบว่าน่าเป็นห่วงมาก เมื่อประกอบกับเรื่องราวของวันสิ้นโลกที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ที่เชื่อถือกันอย่างแพร่หลายในโลกตะวันตก จึงทำให้อาการกังวลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่น่าวิตก

แต่โลกยังไม่ถึงกาลสิ้นสุด
กลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อความคิดที่ว่าโลกในอนาคตคือหายนะที่กำลังรอพวกเขาอยู่ ไม่ว่าความคิดนี้จะเกิดจากความอ่อนไหวทางอารมณ์ของพวกเขาเองหรือเกิดจากการกระตุ้นจากข่าวสารที่ได้รับจากภายนอกก็ตาม สุขภาวะทางจิตใจของกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานรุ่นใหม่ในโลกตะวันตกกำลังเสื่อมถอยลง และอาการกังวลต่อสิ่งแวดล้อมที่แพร่กระจายในหมู่พวกเขาในระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมาก็ทวีความรุนแรงขึ้นจากอิทธิพลของรายงานที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและผลกระทบโดยนักวิทยาศาสตร์และนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างเช่นถ้อยแถลงของ Greta Thunberg ในชื่อ “บ้านของเรากำลังถูกไฟไหม้” หรือ David Attenborough ในหัวข้อ “ถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย มันจะเป็นการสายเกินแก้” หรือแถลงการณ์ของ Rupert Read ที่กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าอารยธรรมของเรานั้นจะตกอยู่ในความหายนะแน่นอน

ผู้นำศาสนาคริสต์นิกาย Church of England และผู้นำชุมชนชาวคริสเตียนคนอื่นๆ ก็ไม่มีข้อยกเว้น ยกตัวอย่างเช่นความคิดเห็นของท่านอาร์คบิชอป Justin Welby เกี่ยวกับ “เวลาที่กำลังจะหมดไป” ของชาวโลก และบทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ในวารสารของ London Institute of Contemporary Christianity เมื่อเร็วๆ นี้มีใจความว่า “ถ้าคุณอ่านรายงาน IPCC ฉบับล่าสุดก่อนนอนละก็ คุณเตรียมตัวฝันร้ายได้เลย

การประชุม COP26 เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน”
คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีความกระตือรือร้นสูงในการแก้ปัญหา และมีจำนวนมากที่เชื่อว่าฝันร้ายเช่นนั้นรอพวกเขาอยู่ภายในปี 2030 ที่จะถึงนี้แน่นอน

ตัวอย่างเช่น งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่สุ่มจากคนรุ่นใหม่ในทุกประเทศทั่วโลกเสนอว่าร้อยละ 40 ไม่ต้องการมีบุตรเพราะเกรงว่าบุตรของตนจะต้องเผชิญภัยอันตรายจากภาวะโลกร้อน
เป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างความกลัวในหมู่คนกว่าที่จะขจัดความกลัวนั้นออกไป (เช่นเดียวกับที่เราได้เห็นในการระบาดของไวรัสโควิด 19)

ในการสื่อสารข้อมูลที่อ่อนไหวเช่นภาวะโลกร้อนนั้น เราจะต้องใช้วิธีที่นุ่มนวลไม่ก่อให้เกิดความตระหนกในหมู่คนรุ่นใหม่

ผู้นำศาสนาคริสต์นิกาย Church of England ไม่ควรเป็นกระบอกเสียงให้แก่การรณรงค์ที่สุดโต่งเช่นเวลาของเรากำลังจะหมดลง หรือจุดจบของโลกกำลังมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น

เราจึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขสามแนวทางด้วยกัน

แนวทางแรกคือผู้นำนิกายจะต้องไม่รณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนโดยการใช้ข้อความที่สุดโต่งที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกเช่นโลกกำลังถึงกาลแตกดับ หรือพวกเรากำลังเดินไปสู่ปากเหวแห่งหายนะ เนื่องจากผลของภาวะโลกร้อนก็ยังเป็นที่คาดการณ์กันอยู่มาก ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย มิใช่เป็นอนาคตที่แน่นอน

ในขณะที่ทุกๆ องศาของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงในการดำรงชีพของมนุษย์ แต่ทุกๆ องศาของอุณหภูมิโลกที่เราสามารถลดลงได้ก็เป็นเรื่องที่ต้องฉลองเช่นเดียวกัน

ความผิดหวังต่อผลการประชุม COP ณ กรุงกลาสโกวเป็นผลมาจากความคาดหวังที่สูงเกินไปมากกว่าจะเป็นผลมาจากความล้มเหลวเชิงนโยบายต่างประเทศที่แท้จริง

แนวทางที่สองได้แก่การสร้างความรู้สึกให้ผู้คนเข้าใจว่าภาวะโลกร้อนคือการเริ่มต้น ไม่ใช่การสิ้นสุด และมันยังไม่สายเกินการณ์ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใกล้ถึงขอบเขตสูงสุดแล้ว และด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงสามารถควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2°C ได้

ประการที่สอง จงมุ่งเน้นสื่อสารเกี่ยวกับวงจรทางศีลธรรม ความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาโลกร้อนหลังข้อตกลงปารีสแสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศสามารถเรียนรู้จากความสำเร็จและข้อผิดพลาดของกันและกันได้

Ted Nordhaus ได้อธิบายไว้ว่า “ต้นทุนเทคโนโลยีที่กำลังลดลงและความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่การคำนวณแบบภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลเป็นศูนย์”

แนวทางสุดท้ายได้แก่การสื่อสารเรื่องราวดีๆ แก่คนรุ่นใหม่เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตลง ยกตัวอย่างเช่นการสร้างวัฒนธรรมที่จะทลายกำแพงแห่งความคลุมเครือนี้ลง ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญมากสำหรับยุค Post-Christian เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากโลกของสิ่งศักดิ์สิทธิสู่ประสบการณ์ของปัจเจกที่จับต้องได้ ตามที่ Alliance of Religions and Conservation ได้บรรยายไว้เมื่อ 15 ปีที่แล้วว่า “โลกของนักรณรงค์แก้ไขปัญหาโลกร้อนนั้นมักแสดงให้เห็นภาพของโลกที่ถึงจุดสิ้นสุดมากเกินไป และขาดการนำเอาพลังของการบรรยายข้อเท็จจริงเมื่อเทียบกับความเชื่อมาใช้ประโยชน์”

ทั้งๆ ที่โลกต้องการข้อมูลในแง่ที่เป็นข้อเท็จจริงและความหวังบ้าง ตามคำตรัสของพระสันตะปาปาในปี 2015
ดังนั้น เหล่าชาวคริสต์จึงควรเผยแพร่สารแห่งความหวังแก่ชนรุ่นใหม่ และไม่ร่วมขบวนไปกับนักรณรงค์ที่ใช้การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความหวาดหวั่นและสิ้นหวัง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นผลดีต่อการกำหนดนโยบายหรือการดำเนินการแก้ปัญหา และในที่สุดแล้ว ไม่เป็นธรรมต่อคนรุ่นใหม่

ความเชื่อของชาวคริสต์จึงได้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบาปกำเนิดของมนุษย์ในด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งก็เสนอทางออกและความหวังไว้คู่กัน (จบ)

อ้างอิง https://mikehulme.org/climate-change-is-not-the-end-of…/


Social Share