THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Mei Li, Gregory Trencher, และ Jusen Asuka
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.maochammai.com/archives/4521

บทคัดย่อ
ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันและก๊าซที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกเป็นปริมาณมหาศาล ส่งผลให้อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ผ่านมา และเป้าหมายลดการใช้พลังงานถ่านหินภายในปี 2050 เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่เกิดจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจพลังงานฟอสซิลในระดับโครงสร้าง

ที่ผ่านมาธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างก็หันมาให้ความสนใจและลงทุนกับพลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น บางบริษัทถึงกับอ้างว่าได้แปรรูปธุรกิจของตนเป็นบริษัทพลังงานสะอาดแล้ว

ทว่าจากประสบการณ์ของเราที่ผ่านมาเกี่ยวกับการฟอกเขียวของธุรกิจเอกชน เราจะต้องประเมินการแปรรูปทางโครงสร้างและการลงทุนตามที่บริษัทได้อ้าง

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่การประเมินสองบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน (Chevron และ ExxonMobil) และสองบริษัทน้ำมันสัญชาติยุโรป (BP และ Shell) โดยการใช้ข้อมูลที่เก็บระหว่างปี 2009–2020

เราได้เข้าประเมินขอบเขตของกิจกรรมการแปรรูปธุรกิจเป็นพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซจากสามแง่มุมได้แก่

(1) คำสำคัญที่ใช้ในรายงานประจำปี (ทฤษฎี)

(2) กลยุทธ์ทางธุรกิจ (คำสัญญาและแนวปฏิบัติ); และ

(3) กระบวนการผลิต งบประมาณ และรายรับจากธุรกิจพลังงานฟอสซิล และการลงทุนเพื่อพลังงานสะอาด (การลงทุน)

ประการแรก เราได้พบการใช้คำสำคัญอย่าง “ภูมิอากาศโลก”, “คาร์บอนต่ำ” และ “การแปรรูป” ในรายงานประจำปีของ BP และ Shell และได้เห็นการกำหนดกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซและการใช้พลังงานสะอาด แต่ขาดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ทางการเงินยังชี้ให้เห็นว่าโมเดลธุรกิจของบริษัทยังพึ่งพารายได้จากพลังงานฟอสซิลอยู่มากในขณะที่มีการลงทุนในพลังงานสะอาดเพียงเล็กน้อย

เราจึงสรุปว่าการแปรรูปไปสู่พลังงานสะอาดมิได้เกิดขึ้นจริงและกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการฟอกเขียว เนื่องจากมูลค่าการลงทุนและจำนวนของกระบวนการไม่สมดุลกับทฤษฎีที่นำมากล่าวอ้าง

บทนำ
แผนการที่จะจำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2°C หรือ 1.5°C นั้นรวมถึงการแปรรูประบบพลังงานโลกทั้งหมดให้เป็น net zero ภายในปี 2050 ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงมากต่อธุรกิจพลังงานฟอสซิล

มีบริษัทพลังงานประมาณ 20 บริษัทที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 35 ของปริมาณทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 1965 นำโดย Chevron ตามด้วย ExxonMobil, BP, และ Shell ตามลำดับ ซึ่งปล่อยก๊าซรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของปริมาณทั้งหมดตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา

เมื่อโลกมีแนวโน้มที่จะนำพลังงานสะอาดมาใช้แทนพลังงานฟอสซิลเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและมลภาวะทางอากาศ บริษัทพลังงานเหล่านี้ก็เตรียมตัวรับมือกับอุปสงค์และผลกำไรที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด 19 เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ในปี 2020 ดัชนีหุ้นดาว โจนส์ของบริษัท Exxon Mobil ตกลงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ

ในขณะเดียวกันมูลค่าตลาดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเทสล่านั้นเพิ่มขึ้นจนถึง 8 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้อีลอน มัสก์ กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ส่วน BP นั้นถึงกับแถลงว่าอุปสงค์น้ำมันอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แนวทางการพัฒนาส่วนมากในปัจจุบันก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับพลังงานทดแทน เช่นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและนโยบายของรัฐที่ลดการใช้เครื่องยนต์สันดาป แปรรูปอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล ลดการขุดเจาะและใช้น้ำมัน

การดำเนินคดีกับบริษัทพลังงานที่ชะลอแผนรับมือภาวะโลกร้อน และการขจัดข่าวเท็จ เพื่อที่จะอยู่รอดในตลาดรูปแบบใหม่นี้ บริษัทพลังงานจะต้องเร่งปรับโมเดลธุรกิจของตนโดยเร่งด่วนเพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงปารีส

นักวิชาการต่างก็ให้ความเห็นว่ารัฐไม่ควรอนุญาตให้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานฟอสซิลขึ้นมาใหม่อีก และเร่งการปลดระวางโครงการเก่าให้เร็วขึ้นด้วย ดังนั้นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่จึงวางแผนการทั้งเชิงรับและเชิงรุกเพื่อรับมือกับแนวโน้มดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นเพิ่มการลงทุนในพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการต่างๆ และการสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือบางบริษัทถึงกับประกาศแปรรูปเป็นธุรกิจพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตาม จากที่ผ่านมาจะเห็นว่าสังคมจะต้องติดตามตรวจสอบผลลัพธ์ของแผนและคำประกาศเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากงานวิจัยพบว่าบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่เหล่านี้สร้างข่าวเท็จและถ่วงความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาโลกร้อน
ExxonMobil เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธการมีอยู่ของภาวะโลกร้อนและปล่อยข่าวที่ทำให้สาธารณชนสับสนมานับ 20 ปี บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้พยายามผลักภาระที่เกิดจากการปล่อยก๊าซไปที่ผู้บริโภคเช่นที่ BP เสนอให้ประชาชนลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากคาร์บอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ใช้เงินนับล้านในการล็อบบี้ให้นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีผลบังคับใช้ช้าลงหรือมีประสิทธิภาพที่น้อยลง

เมื่อเร็ว ๆ นี้เราพบว่าบริษัทเหล่านี้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อชี้นำความเห็นของมวลชนและฟอกเขียวธุรกิจพลังงานฟอสซิล และเรายังพบว่าแม้แต่บริษัทที่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาที่สุดยังดำเนินการเพียงแค่เพิ่มการลงทุนในการผลิตสินค้าประเภทอื่นๆแทนที่จะลดการปล่อยก๊าซอย่างจริงจัง

หลักฐานเหล่านี้แสดงถึงการฟอกเขียวของบริษัทน้ำมันโดยการสร้างภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าความเป็นจริง เราจึงต้องการการตรวจติดตามแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนของบริษัทเหล่านี้อย่างเข้มงวด รวมไปถึงการประเมินความรับผิดชอบต่อสังคม การแพร่กระจายข่าวที่เป็นเท็จ การล็อบบี้ การลงทุนในพลังงานทางเลือก การลดปริมาณก๊าซที่แท้จริง และการแปรรูปธุรกิจออกจากพลังงานถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดตรงที่มุ่งเน้นศึกษาภายในระยะเวลาหนึ่งปี จึงไม่สามารถครอบคลุมกระบวนการวิวัฒน์จากพลังงานฟอสซิลไปยังพลังงานทางเลือกได้หมด

กระบวนทัศน์ระยะยาวนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากบริษัทน้ำมันรายใหญ่มีความแตกต่างจากรายย่อยตรงที่การแปรรูปจะเป็นไปอย่างช้ากว่ามาก นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าบริษัทมุ่งเน้นไปที่การแถลงข่าวหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แคบ ๆ และละเลยกลยุทธ์พลังงานหมุนเวียนในภาพรวมที่ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกันของหน่วยย่อยมีความซับซ้อนสูงมาก และการมุ่งเน้นแต่แถลงข่าวสู่สาธารณชนทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังที่สูงกว่าความเป็นจริง

ดังนั้นการประเมินกลยุทธ์การแปรรูปองค์กรของบริษัทน้ำมันจึงต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ งานวิจัยชิ้นนี้จึงประเมินขอบเขตของการแปรรูปองค์กรจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดของบริษัทน้ำมันสี่บริษัทได้แก่ ExxonMobil, BP, Shell, และ Chevron จากสามปัจจัยได้แก่
(1) คำสำคัญที่ใช้ในรายงานประจำปี (ทฤษฎี);
(2) กลยุทธ์ทางธุรกิจ (คำสัญญาและแนวปฏิบัติ); และ
(3) กระบวนการผลิต งบประมาณ และรายรับจากธุรกิจพลังงานฟอสซิล และการลงทุนเพื่อพลังงานสะอาด (การลงทุน)

โดยใช้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่เผยแพร่แก่สาธารณชนในช่วงปี 2009–2020 และทำการสังเคราะห์โดยวิธีการสังเกตขอบเขตของการแปรรูปโมเดลธุรกิจจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดของบริษัทดังกล่าว และสร้างกรอบการวิเคราะห์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการแปรรูปสู่พลังงานสะอาดของธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้พลังงานฟอสซิล

ระเบียบวิธีการวิจัย

2.1 วิธีการสุ่มตัวอย่าง
เราเลือกบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ 4 บริษัทเพื่อทำการศึกษาประเมิน ได้แก้สองบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน (Chevron และ ExxonMobil) และสองบริษัทน้ำมันสัญชาติยุโรป (BP และ Shell) และบริษัทรายย่อยอื่นๆอีก 3 บริษัทได้แก่ Total, ConocoPhillips, และ Eni รวมกันเป็นตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันที่สำคัญในตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรป สาเหตุที่เราเลือกบริษัทเหล่านี้มีสองประการ ประการแรก เป็นบริษัทน้ำมันที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา ประการที่สอง ความสมดุลของจำนวนบริษัทสัญชาติอเมริกันและสัญชาติยุโรปทำให้เราสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างในแนวทางการปรับตัวและรับมือกับความต้องการแปรรูปเป็นพลังงานสะอาดได้ เช่นจากการศึกษาที่ผ่านมาเราพบว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันมักต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในขณะที่บริษัทน้ำมันสัญชาติยุโรปจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงมากกว่า

2.2 วิธีการศึกษาวิจัย
เป้าหมายของการวิจัยนี้คือเพื่อประเมินขอบเขตของการแปรรูปโมเดลธุรกิจจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยเราคาดหมายให้การแปรรูปดังกล่าวเป็นกระบวนการต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปีของการลดการลงทุนในพลังงานฟอสซิลและเพิ่มการลงทุนในพลังงานสะอาดจนกลายเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจพลังงานสะอาด 100% และคาดหมายให้เป้าหมายสุดท้ายของกระบวนการคือการบรรลุ net zero ด้วยการหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสิ้นเชิง ในการตรวจประเมินและเปรียบเทียบกิจกรรมการแปรรูปโดยพิจารณาจากสามปัจจัยได้แก่แนวนโยบาย กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการลงทุนเช่นนี้ เราได้แบ่งการศึกษาออกเป็นสามขั้นตอนจากสมมติฐานสามชุด และใช้ข้อมูลที่เก็บในช่วงปี 2009–2020

2.2.1 แนวนโยบาย
ขั้นตอนแรกของการวิจัยได้แก่การนับความถี่ของการใช้คำสำคัญ 39 คำในรายงานประจำปีที่เผยแพร่ในช่วงเวลาวิจัย เรานับความถี่ของคำและคำใกล้เคียงแล้วหารด้วยจำนวนคำทั้งหมดในรายงาน เราเลือกคำเป้าหมายจากบทความเกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานที่ไม่ได้รับการเผยแพร่และแบ่งคำเหล่านั้นออกเป็นสี่กลุ่มได้แก่ (i) การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดด้านภูมิอากาศโลก (ii) การแปรรูป โดยตรวจสอบแนวนโยบายที่จะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม (iii) การปล่อยก๊าซ แสดงถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลก และ (iv) พลังงานสะอาด ที่จะสะท้อนถึงการลงทุนในพลังงานรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่พลังงานฟอสซิล กลุ่มคำทั้งสี่กลุ่มนี้ครอบคลุมวิสัยทัศน์ที่สำคัญต่อการแปรรูปธุรกิจพลังงานฟอสซิลสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด

โดยการใช้แนวทางเช่นนี้ เราจึงตั้งสมมติฐานว่าความถี่ของคำสำคัญที่ใช้จะทำให้เราสามารถประมาณการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโลกร้อน และเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของการฟอกเขียว เราจึงใช้แนวนโยบายและการให้ความสำคัญกับประเด็นภาวะโลกร้อนและพลังงานสะอาดมาร่วมพิจารณาการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างการลงทุนและการแปรรูปองค์กร และเราให้ความสำคัญกับรายงานประจำปีเพราะเป็นสารที่เป็นทางการที่สุดที่บริษัทสื่อกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพราะเป็นเอกสารที่จัดทำทุกปีจึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของแผนหรือนโยบาย

2.2.2 กลยุทธ์ : คำสัญญาและผลที่เป็นรูปธรรม
ในขั้นตอนที่สองเราจะระบุกลยุทธ์การแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาดและนำมาเปรียบเทียบกัน โดยใช้ตัวชี้วัด 25 ตัวจากบทความทางวิชาการและบทความที่ไม่ได้เผยแพร่และจัดกลุ่มตัวชี้วัดออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกันเพื่อระบุคำมั่นสัญญาที่จะแปรรูป การเปิดเผยข้อมูล และการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ประการสุดท้ายเราใช้โค้ดแทนตัวชี้วัดแต่ละตัว ยกตัวอย่างเช่น “BM1-P&D” หมายถึงตัวชี้วัดที่ 1 (คำมั่นสัญญาที่จะแปรรูปและการเปิดเผยข้อมูล) ในโมเดลธุรกิจ

2.2.2.1 การตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโลกร้อน ตัวชี้วัดนี้จะแสดงถึงสภาวะหรือข้อบ่งชี้ตั้งต้นก่อนการแปรรูปเพื่ออธิบายหลักการและเหตุผลของการแปรรูป โดยตัวชี้วัดสองตัวแรกจะวัดการมีอยู่ของคำประกาศอย่างเป็นทางการที่รับรองความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมของมนุษย์เข้ากับภาวะโลกร้อน และความจำเป็นในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและการผลิต ขั้นตอนต่อมาได้แก่การให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซอย่างจริงจัง ดังนั้นเราจึงเลือกวัดความร่วมมือของบริษัทน้ำมันในโครงการ Oil and Gas Climate Initiative (OGCI) เนื่องจากเป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนที่สำคัญในอุตสาหกรรมพลังงาน นอกจากนี้เรายังได้ทดสอบการตระหนักรู้ถึงสองปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอันได้แก่กฎหมายและตลาด

2.2.2.2 โมเดลธุรกิจ ตัวชี้วัดกลุ่มนี้ใช้วัดกลยุทธ์การแปรรูปที่เป็นรูปธรรมพร้อมไปกับคำมั่นสัญญาและการดำเนินการเพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล และการเตรียมบุคลากรสำหรับธุรกิจพลังงานสะอาด เราวัดการสนับสนุนนโยบายกำหนดราคาคาร์บอนของรัฐและการใช้ต้นทุนคาร์บอนเพื่อการตัดสินใจในกระบวนการธุรกิจ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับการยอมรับแพร่หลายว่าเป็นตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกถึงความพยายามที่จะแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาด

2.2.2.3 การลดการปล่อยก๊าซ ตัวชี้วัดกลุ่มนี้ใช้วัดคำมั่นสัญญาและการดำเนินการเพื่อลดก๊าซ และเนื่องจากเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซจนเหลือ 0 ภายในปี 2050 เป็นเป้าหมายที่ยอมรับกันทั่วโลก เราจึงประเมินว่าคำมั่นสัญญาที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ภายในปี 2050 หรือเร็วกว่านั้นหรือไม่ ต่อมาในการสังเกตการณ์ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอันเป็นผลมาจากการใช้พลังงานของผู้บริโภคนั้น เราใช้การประเมินคำมั่นสัญญาและกลยุทธ์การลดก๊าซ และตรวจหาความพยายามและกลยุทธ์การลดก๊าซในช่วงเวลาหลายๆปีที่ผ่านมา และการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซสู่สาธารณชน
ในการออกแบบตัวชี้วัดเหล่านี้ เราไม่รวมเป้าหมายลดก๊าซและปริมาณการปล่อยก๊าซที่ลดได้จริงในแต่ละปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองที่ปริมาณก๊าซสัมพัทธ์ต่อหนึ่งผลผลิตต่อปีจะลดลงตามธรรมชาติจากการพัฒนาเทคโนโลยี และปริมาณก๊าซสัมบูรณ์ต่อปีจะถูกกำหนดโดยปริมาณการผลิตไฮโดรคาร์บอน ดังนั้น การมุ่งเป้าไปที่ปริมาณก๊าซที่ลดลงในแต่ละปีจึงมิได้เผยให้เราเห็นถึงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการแปรรูปสู่พลังงานสะอาด

2.2.2.4 การลงทุนในพลังงานสะอาด ตัวชี้วัดกลุ่มนี้มุ่งเน้นไปที่การลงทุนในพลังงานทางเลือกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแปรรูปธุรกิจ โดยเราวัดการเปิดเผยข้อมูลด้านการลงทุนในพลังงานสะอาดในรายงานประจำปีว่าสูงกว่าค่าดัชนี CAPEX ถึง 1% หรือไม่ โดยดัชนี 1% นี้ได้จากการสังเกตการณ์ว่าปริมาณการลงทุนนอกธุรกิจหลักของโดยบริษัทน้ำมันยังคงต่ำกว่า 1% นี้

ข้อมูลที่ใช้ในกรอบการศึกษาได้จากรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน และรายงานการแปรรูปพลังงานที่เผยแพร่ในระหว่างการวิจัย จากข้อมูลเชิงปริมาณ เราประเมินการดำเนินโครงการของบริษัทเป้าหมายโดยใช้ระบบการให้คะแนนดังนี้:
คะแนน “+1” คือมีคำมั่นสัญญาและการดำเนินการเพื่อลดก๊าซ หรือมีการเสริมกลยุทธ์ภายในปีนั้นๆ ตัวอย่างเช่นตัวชี้วัดที่วัดการมีอยู่ของคำมั่นสัญญาที่จะโยกย้ายการลงทุนมาสู่พลังงานสะอาด ถ้าบริษัทตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050 จะได้คะแนนเท่ากับ “+1” ในปีที่พบว่ามีคำมั่นสัญญาดังกล่าวที่ยังคงมีผลอยู่

คะแนน “-1” คือมีคำมั่นสัญญาและการดำเนินการที่ขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อกลยุทธ์ของปีนั้นๆ ตัวอย่างเช่นตัวชี้วัดที่วัดว่าบริษัทลดการลงทุนในพลังงานฟอสซิลหรือไม่ ถ้าเราพบว่าบริษัทมีการพูดถึงการเพิ่มผลผลิตที่ใช้พลังงานฟอสซิล จะได้คะแนนเท่ากับ “-1” ในปีนั้น

คะแนน “0” คือไม่มีหลักฐานแสดงคำมั่นสัญญาหรือการดำเนินการในด้านใดเลย ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ที่มิได้พูดถึงในเอกสารรายงานแต่อาจได้รับการดำเนินการต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว

2.2.3 การลงทุน : การผลิต รายรับ และรายจ่าย
ขั้นตอนที่สามเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลผลประกอบการทางการเงินในรายงานประจำปีในช่วงงานวิจัย และติดตามการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางการเงินใน 6 ประเด็นด้วยกันคือ (i) ค่าใช้จ่ายในการลงทุนในธุรกิจพลังงานฟอสซิล เช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการสำรวจ ขุดเจาะ ผลิต ขนส่ง เก็บรักษา แปรรูป การตลาด และการขาย (ii) รายรับที่เกี่ยวข้อง (iii) ปริมาณผลผลิตจากพลังงานฟอสซิล (iv) ประมาณการพลังงานสำรอง (v) รายได้จากการขาย (xi) ค่าใช้จ่ายในการลงทุนในเทคโนโลยีและการผลิตพลังงานสะอาด ในการประมวลผลข้อมูลเราใช้อัตราส่วนแทนจำนวนสัมบูรณ์เนื่องจากปริมาณสัมพัทธ์เหมาะสมสำหรับการแสดงโครงสร้างการผลิตและรายได้ของบริษัทเป้าหมาย และจำนวนสัมบูรณ์ เช่นรายได้จากการขายและค่าใช้จ่ายในการลงทุนก็แปรผันไปตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ประการที่หนึ่ง การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการลงทุนแสดงถึงการใช้จ่ายประจำปีในการซื้อสินทรัพย์ของบริษัทเป้าหมายเพื่อนำมาสนับสนุนการผลิต ซึ่งมักอยู่ในรูปของการซ่อมบำรุง การพัฒนา และการควบรวมกิจการ เราได้คำนวณอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานฟอสซิลต่อค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมดซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาด การขาย และการลงทุนด้านอื่นๆ วิธีการเก็บข้อมูลอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาดอย่างมีนัยสำคัญจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานฟอสซิลลดลงเป็นอย่างมาก
ประการที่สอง การวิเคราะห์รายรับที่ได้จากการขายพลังงานฟอสซิลแสดงถึงการพึ่งพารายได้จากพลังงานฟอสซิลของโมเดลธุรกิจ โดยรายงานรายได้มีหน่วยเป็นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แล้วจึงแปลงหน่วยให้เป็นอัตราส่วนต่อรายรับทั้งหมด โดยตั้งสมมติฐานว่าการแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาดอย่างมีนัยสำคัญจะทำให้รายได้จากการขายพลังงานฟอสซิลลดลงเป็นอย่างมาก และเราคาดว่าจะเห็นสัดส่วนรายได้จากพลังงานสะอาดของบริษัทเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรายได้จากการขายพลังงานฟอสซิลลดลงอย่างต่อเนื่องจนจนรายได้จากพลังงานสะอาดสูงกว่ารายได้จากพลังงานฟอสซิล
ประการที่สาม การวิเคราะห์ปริมาณผลผลิตจากพลังงานฟอสซิลเช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใช้หน่วยวัดเป็นพันบาร์เรลต่อวันสำหรับของเหลวและพันลูกบาศก์ฟุตต่อวันสำหรับก๊าซ และเพื่อแสดงผลรวมของผลผลิตน้ำมันและก๊าซเข้าด้วยกัน เราจึงแปลงหน่วยสุดท้ายให้เป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น โดยใช้ปี 2009 เป็นฐาน เพื่อลดอิทธิพลจากปัจจัยด้านความผันผวนของราคาน้ำมันเพราะเราต้องการวัดปริมาณผลผลิตมิใช่มูลค่า การวิเคราะห์ปริมาณผลผลิตนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเมื่อพิจารณาว่าการลดปริมาณผลผลิตจากพลังงานฟอสซิลเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส และตั้งสมมติฐานว่าธุรกิจน่าจะเพิ่มผลผลิตจากก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเนื่องจากเป็นกระบวนการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตน้ำมัน
ประการที่สี่ การประมาณการสำรองน้ำมันและก๊าซจากข้อมูลต้นแหล่งที่รายงานโดยใช้หน่วยวัดเป็นพันบาร์เรลต่อวันสำหรับของเหลวและพันลูกบาศก์ฟุตต่อวันสำหรับก๊าซ และแปลงหน่วยสุดท้ายให้เป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น โดยใช้ปี 2009 เป็นฐาน และตั้งสมมติฐานว่าจะเป็นการยากสำหรับธุรกิจที่มีการสำรองปริมาณน้ำมันและก๊าซที่สูงมากที่จะแปรรูปธุรกิจและทิ้งทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ให้สูญเปล่า
ประการที่ห้า การวิเคราะห์รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากข้อมูลต้นแหล่งที่รายงานโดยใช้หน่วยวัดเป็นพันบาร์เรลต่อวันสำหรับของเหลวและพันตันต่อวันสำหรับสารเคมี และแปลงหน่วยสุดท้ายให้เป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น โดยใช้ปี 2009 เป็นฐาน และตั้งสมมติฐานว่ารายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เป็นต้นเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควรจะลดลงในการแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาด
ประการสุดท้าย เราเปรียบเทียบข้อมูลการลงทุนในพลังงานสะอาดสองประเภทเข้าด้วยกันได้แก่ (1) ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตพลังงานสะอาดคิดเป็นสัดส่วนต่อค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมด และ (2) ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดคิดเป็นเมกะวัตต์ และเนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ในรายงานประจำปีไม่สมบูรณ์จึงทำให้เราต้องใช้ข้อมูลจากบุคคลที่สามที่อยู่ในรูปของข้อมูลสะสมแทนที่จะเป็นแนวโน้มในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ได้จาก CDP (ปี 2019) มีเพียงมูลค่าการลงทุนสะสมจากปี 2010 จนถึงไตรมาสที่สามของปี 2018 ในขณะเดียวกัน ข้อมูลความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้จากเว็บไซต์ของ Standard & Poor ซึ่งมีเพียงจำนวนรวมของปี 2009–2019

ผลการวิจัย

3.1 คำสำคัญที่ใช้ในรายงานประจำปี
จากการวิเคราะห์พบว่ามีคำสำคัญปรากฏเป็นความถี่ 39 ครั้งในรายงานประจำปีของทุกบริษัทเป้าหมายและมีความถี่เพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจากทางฝั่งยุโรป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคำ “แปรรูป” และ “การปล่อยก๊าซ” ผลการศึกษาสะท้อนถึงการเน้นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มกิจกรรมด้านพลังงานสะอาด
หมายเหตุ : ผลการศึกษาของ ExxonMobil ได้รับผลกระทบจากรูปแบบของรายงาน (เป็นรายงานฉบับสรุปทุกปี ยกเว้นของปี 2020)

Shell เป็นบริษัทเดียวที่เราพบการเพิ่มสูงขึ้นของความถี่ในทุกกลุ่มคำอย่างต่อเนื่องเป็นเส้นกราฟตัว “J” ตัวอย่างที่เด่นๆได้แก่คำว่า “พลังงานคาร์บอนต่ำ” (เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่า จาก 59 ครั้งเป็น 503 ครั้ง) “พลังงานทางเลือก” (จาก 3 ครั้งเป็น 91 ครั้ง) และ “พลังงานสะอาด” (จาก 9 ครั้งเป็น 82 ครั้ง) นอกจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังปรากฏให้เห็นในสารจากประธานของ Shell อีกด้วย ตัวอย่างเช่นในปี 2009 นาย Jorma Ollila เคยประกาศว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลก ซึ่งต่อมาในปี 2020 ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเมื่อประธานคนต่อมานาย Chad Holliday ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเป้าหมายพันธกิจองค์กรเพื่อ “มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกสู่การใช้พลังงานสะอาดและคาร์บอนต่ำ

ในทิศทางเดียวกัน BP ใช้คำสำคัญถี่ขึ้นในระยะเวลาของการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2019 ตรงกันข้ามกับ Shell ซึ่งแสดงความถี่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เส้นกราฟแนวโน้มของ BP มีลักษณะคล้ายตัว “U” ที่มีจุดต่ำสุดอยู่ระหว่างปี 2012 และปี 2017 BP เพิ่มการใช้คำในกลุ่ม “ภาวะโลกร้อน” มากเป็นพิเศษ จาก 22 ครั้งเป็น 326 ครั้งในช่วงปี 2009–2020 ส่วนกลุ่มคำ “แปรรูป” นั้นก็พบว่าเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกันจาก 50 ครั้งเป็น 418 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงการอภิปรายเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจคาร์บอนต่ำ ในปี 2009 CEO ของ BP พิจารณาว่า BP เป็น “บริษัทน้ำมัน” ในขณะที่ในปี 2021 BP อุทิศตนเพื่อการแปรรูปสู่ “บริษัทบูรณาการพลังงาน” และกำหนดเป้าหมาย net zero ให้แก่ตนเอง

Chevron เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไม่เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของคำสำคัญและได้คะแนนน้อยกว่าบริษัทยุโรปในทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคำ “สภาพภูมิอากาศ” และ “แปรรูป” มีการกล่าวถึงคำว่า “สภาพภูมิอากาศ” เพียง 45 ครั้งในช่วงเวลาวิจัยและไม่พบคำนี้เลยในรายงานประจำปี 2009–2011 เมื่อเทียบกับ 171 ครั้งโดย BP ในปี 2020 เพียงปีเดียว ความล่าช้าในเรื่องนี้ของ Chevron แสดงให้เห็นจากการใช้คำ “พลังงานทดแทน” เพียงครั้งเดียวในอภิธานศัพท์ของรายงานประจำปี 2009 ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 19 ครั้งในรายงานปี 2019 แต่ก็ยังน้อยกว่า 92 ครั้งของ BP มาก

การแปลผลลัพธ์ของ ExxonMobil นั้นจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก บริษัทนี้เพิ่มการใช้คำสำคัญขึ้นมาหลังปี 2014 แต่ก็อาจเกิดจากการปรับรูปแบบของรายงาน และในขณะที่อีกสามบริษัทเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์เป็นประจำทุกปี ExxonMobil เผยแพร่เฉพาะฉบับสรุป (ยกเว้นปี 2020) เมื่อพิจารณาว่าความถี่ในการใช้คำสำคัญลดลงมากในปี 2020 (เมื่อมีรายงานฉบับเต็ม) ดังนั้นความถี่ที่สูงในปีอื่นๆอาจเกิดจากเนื้อหาที่เป็นการสรุปของรายงาน เมื่อเว้นจากเรื่องนี้แล้ว ผลของ ExxonMobil แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของการใช้คำ “การปล่อยก๊าซ” และ “พลังงานคาร์บอนต่ำ” แต่ไม่ค่อยพบคำในกลุ่ม “ภาวะโลกร้อน” และคำว่า “แปรรูป” สะท้อนถึงความสนใจที่ต่ำในประเด็นนี้ ซึ่งแตกต่างจากบริษัทยุโรปที่ใช้คำว่า “แปรรูป” ถี่ขึ้นมาก นอกจากนี้ ExxonMobil ยังพบว่ามีการลดการใช้คำสำคัญอีกด้วย ตัวอย่างเช่นในกลุ่มคำ “การปล่อยก๊าซ” ถึงแม้ว่าคำว่า “CO2” ถูกใช้ 10 ครั้งในปี 2009 และ 11 ครั้งในปี 2020 แต่ไม่พบเลยในช่วงปี 2011-2013

3.2 กลยุทธ์ : คำสัญญาและการลงมือปฏิบัติ
หัวข้อนี้เป็นการประเมินการรักษาคำปฏิญาณด้วยการตรวจสอบการแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาด จากปัจจัยต่อไปนี้

3.2.1 ความตระหนักรู้ถึงปัญหาโลกร้อน
ในขณะที่บริษัทยุโรปแสดงถึงการตระหนักรู้ถึงปัญหาโลกร้อนอย่างสม่ำเสมอในช่วงการวิจัย บริษัทอเมริกันละเลยหัวข้อนี้โดยสิ้นเชิง เราพบว่ามีเพียงการกล่าวถึงเล็กน้อยในรายงานประจำปี 2018 ของ ExxonMobil ที่เชื่อมโยงพลังงานฟอสซิลเข้ากับภาวะโลกร้อน และไม่ปรากฏอีกในฉบับต่อ ๆ มา สำหรับ Chevron นั้น ช่วงปี 2011-2017 มีการกล่าวถึงในรายงานประจำปีว่า “การใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลกมีส่วนทำให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้น” เพียงครั้งเดียว

ในทางตรงข้าม บริษัทยุโรปแสดงถึงการตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานฟอสซิลและภาวะโลกร้อน บริษัทเชลล์เริ่มแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2010 เช่นการประกาศในรายงานประจำปีว่า “เราได้ตระหนักมานานว่าการใช้พลังงานฟอสซิลมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน” ส่วน BP ก็เช่นเดียวกันโดยเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในรายงานเพื่อความยั่งยืนของปี 2010 เป็นต้นมา เช่น “เราจะต้องจำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกประเภทอื่น ๆ โดยการลดการใช้พลังงานฟอสซิล”

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าทั้งบริษัทสัญชาติยุโรปและอเมริกันมีความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะแปรรูปธุรกิจเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่น้อยมาก

โดยรวมแล้วถ้อยแถลงต่าง ๆ ในรายงานประจำปีเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เช่นในปี 2014 ExxonMobil เริ่มไม่ยอมรับความจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซจากกิจกรรมพัฒนา Hydrocarbon development และยังตอกย้ำถึงความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าวในปี 2020 ว่า “ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุปทานพลังงานนั้น การที่บริษัทต่าง ๆ จะลดผลผลิตจะไม่มีผลกระทบต่อความต้องการหรือการบริโภคพลังงานของตลาด แต่จะทำให้การผลิตเปลี่ยนมือจากผู้ผลิตรายหนึ่งไปสู่อีกรายหนึ่งเท่านั้นเอง” และ Chevron ก็สนับสนุนถ้อยแถลงนี้โดยให้ความเห็นไว้ในปี 2019 ว่า “การลดลงของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศสอดคล้องกับผลผลิตพลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นโดยผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด”
ส่วนบริษัทฝั่งยุโรปก็มีแนวโน้มเดียวกันคือ ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแปรรูปโมเดลธุรกิจสู่พลังงานสะอาด เช่นที่ BP ระบุไว้ในรายงานประจำปี 2019 ว่าการผลิตก๊าซธรรมชาติ (หรือก๊าซฟอสซิลซึ่งปล่อย CO2 เช่นกัน-ผู้แปล) เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมาย net zero ในอนาคต ต่อมาจึงได้เปลี่ยนจุดยืนในปี 2020 เมื่อ BP ประกาศว่าจะลดการผลิตพลังงานฟอสซิลเพื่อแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาด

ในเรื่องของการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมนั้น การเข้าร่วมโครงการ Oil and Gas Climate Initiative (CC3-A) ที่ตั้งขึ้นในปี 2014 ถือเป็นตัวชี้วัดอันดีสำหรับการลงมือดำเนินการเพื่อแปรรูปธุรกิจและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง BP และ Shell ก็ได้เข้าร่วมโครงการในปี 2015 และ ExxonMobil กับ Chevron ก็เข้าร่วมในอีกสามปีต่อมา
ประการสุดท้าย BP, Shell, และ Chevron เริ่มระบุถึงความเสี่ยงจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบ่อยขึ้นตั้งแต่ปี 2009 โดย Shell เป็นรายแรกที่เริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงจากข้อกฎหมายและตลาดที่เกิดจากภาวะโลกร้อนโดยแสดงไว้ในรายงานประจำปี ส่วนอีกสามรายที่เหลือยังไม่มีข้อบ่งชี้ถึงการตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าวซึ่งอาจเป็นเพราะมองว่ายังไม่มีความเสี่ยงที่สำคัญต่อธุรกิจ Hydrocarbon ในระยะสั้น

3.2.2 โมเดลธุรกิจ
ในแง่โมเดลธุรกิจนั้น การสนับสนุนนโยบายกำหนดราคาคาร์บอนของรัฐและนำอัตราราคามาใช้ในกระบวนการตัดสินใจในองค์กรเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องพอที่จะนำมาพิจารณาในการวิจัยได้
BP และ Shell ได้นำเอาราคาคาร์บอนมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจในองค์กรที่อัตรา 40 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน ถึงแม้ว่า ExxonMobil จะสนับสนุนนโยบายคาร์บอนตั้งแต่ปี 2009 การนำมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจภายในก็ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปี 2017

ตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่ใช้วัดการแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาดนั้นยังมีไม่มากนักจนถึงปี 2018 มีเพียงบริษัทฝั่งยุโรปที่ประกาศชัดเจนว่าจะแปรรูปธุรกิจพลังงานฟอสซิลให้บรรลุเป้าหมาย net zero ในปี 2019 BP เป็นบริษัทแรกที่ตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นบริษัท net zero ภายในปี 2050 โดยกำหนดกลยุทธ์ 5 ประการในการบรรลุเป้าหมาย รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานทางเลือกและค่อยๆลดการสำรวจและผลิตพลังงาน hydrocarbon ลง ส่วน Shell ก็ได้ประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050 เช่นกัน และถึงแม้ว่า Shell จะประกาศว่าจะใช้แผนลดคาร์บอนและลดการสำรวจแหล่งน้ำมัน แต่เราไม่พบว่า Shell กำหนดแผนการแปรรูปธุรกิจ นอกจากนี้ยังดำเนินกิจกรรมอีกหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการแปรรูป เช่นมิได้ให้คำมั่นที่จะลดการผลิตหรือสำรวจพลังงานฟอสซิล

ในขณะที่ทั้ง BP และ Shell ได้เริ่มการสำรวจแหล่งน้ำมันครั้งใหม่ในปี 2020 แนวโน้มนี้เกิดกับ Chevron และ ExxonMobil เช่นกัน ในปี 2019 Chevron ปฏิเสธที่จะแปรรูปธุรกิจและตั้งเป้าที่จะเป็น “หนึ่งในผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด” และเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองของตน ในขณะเดียวกัน ExxonMobil ได้เน้นย้ำว่า “ข้อตกลงปารีสมิได้บังคับให้บริษัทเอกชนลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อรักษาอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 2°C” ดังนั้นจึงตีความไปว่าการลดพลังงานเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่จะต้องประหยัด มิใช่หน้าที่ของบริษัทที่จะต้องลดการผลิต”

ส่วนในด้านของการเตรียมบุคลากรนั้น ไม่พบว่ามีความเคลื่อนไหวใด ๆ ในด้านนี้จากบริษัทเป้าหมายยกเว้น BP ที่ให้คำมั่นไว้ในปี 2020 ว่าจะ “ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรบุคลากรอย่างเป็นธรรม”

3.2.3 การลดปริมาณก๊าซ
ในเรื่องคำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050 นั้น บริษัทอเมริกันยังล้าหลังเมื่อเทียบกับฝั่งยุโรป ในขณะที่ Chevron และ ExxonMobil ยังมิได้ประกาศเป้าหมาย net zero ทาง BP และ Shell ได้ประกาศไปแล้วในปี 2019 และ 2020 ตามลำดับ นอกจากนี้ในปี 2021 บริษัทยุโรปยังได้ประกาศเป้าหมายหลายประการที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย net zero โดย Shell ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030, 45% ภายในปี 2035, และ 100% ภายในปี 2050

ในปี 2017 Shell กลายเป็นบริษัทแรกที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการขายพลังงาน ตามมาด้วย BP ในปี 2019 อย่างไรก็ตามเราไม่พบว่ามีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุคำมั่นดังกล่าว

ส่วนบริษัทอเมริกันนั้นไม่พบว่ามีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเลย
ทุกบริษัทเป้าหมายได้ประกาศว่าจะลดปริมาณก๊าซมีเธนแค่ในช่วงปี 2017-2018 และทุกบริษัทวางแผนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพและลดการสูญเปล่าโดยการลงทุนในเทคโนโลยีกระบวนการผลิต คำประกาศจากบริษัทเหล่านี้แตกต่างกันไปในรายละเอียด โดย ExxonMobil ประกาศในปี 2017 ว่าจะลดก๊าซลง 15% ภายในปี 2020 และลดการสูญเปล่าลง 25% ซึ่ง ณ ปัจจุบันเป้าหมายนี้ได้บรรลุแล้ว

อย่างไรก็ตาม อีกสามบริษัทสนใจเพียงแค่ปริมาณการผลิต และทุกบริษัทเป้าหมายมิได้มีการวางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซ และน่าสนใจที่ไม่มีบริษัทใดประกาศจะลดก๊าซมีเธนทั้งที่เป็นประเด็นใหญ่ในสังคม

บริษัทเป้าหมายทุกบริษัทขาดการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและขายพลังงานฟอสซิล จนกระทั่งปี 2017 ที่ Chevron เริ่มเปิดเผย ส่วน BP นั้นเริ่มมีการเผยแพร่ข้อมูลในปี 2019 และ Shell ในปี 2020 ส่วน ExxonMobil นั้นไม่มีการเผยแพร่ข้อมูล โดยให้ความเห็นว่า “ข้อมูลการปล่อยก๊าซบางประเภทอาจก่อให้สาธารณชนเกิดการสับสนในบางแง่มุมได้ เช่นรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นของ ExxonMobil จากการลดปริมาณการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้านั้นน่าจะทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมลดลง แต่อาจทำให้บริษัทต้องรายงานการปล่อยก๊าซในบางกลุ่มที่เพิ่มขึ้น”

3.2.4 การลงทุนในพลังงานสะอาด
เช่นเดียวกับตัวชี้วัดด้านอื่น ๆ ที่บริษัทยุโรปลงทุนพลังงานสะอาดมากกว่าบริษัทอเมริกัน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวยังขาดความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ในการเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายการลงทุนประจำปี

Shell และ BP รายงานตัวเลขบางปีเท่านั้น ข้อมูลของ BP ในช่วงที่ทำวิจัยมีเพียง 7 ปี ส่วน Shell มีเพียง 3 ปี BP อ้างว่าได้ลงทุน 1.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในธุรกิจพลังงานทางเลือกในปี 2011 ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดที่เคยรายงานมา ถึงแม้ว่ามูลค่าการลงทุนจะลดลงเหลือ 750 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในปี 2020 BP ก็ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการลงทุนลดคาร์บอนทุกปีถึง 3–4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯภายในปี 2025 และ 5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯภายในปี 2030 ตามลำดับ ส่วน ExxonMobil และ Chevron ไม่เปิดเผยข้อมูลในด้านนี้แม้ว่าจะอ้างถึงการเพิ่มมูลค่าลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำก็ตาม

คำมั่นสัญญาของบริษัทยุโรปได้เพิ่มการลงทุนธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างน้อย 1% หลังจากปี 2017 เป็นต้นมา เช่น Shell ที่ได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุน 1–2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในพลังงานทางเลือกทุกปีเริ่มตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปี 2020 หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 1%

อย่างไรก็ตามเราพบว่าทุกบริษัทไม่รายงานการลงทุนธุรกิจพลังงานทางเลือกอย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอพอที่จะเห็นแนวโน้มความก้าวหน้าปีต่อปีได้ ดังนั้นจึงยากที่จะพิสูจน์ว่ามูลค่าการลงทุนในพลังงานสะอาดของแต่ละบริษัทเพิ่มขึ้น 1% ทุกปีหรือไม่

จากรายงานพบว่า BP เป็นผู้นำการลงทุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ โดยเพิ่มมูลค่าการลงทุนเกิน 1% ของการลงทุนทั้งหมดเป็นเวลา 8 ปี ส่วน Shell ลงทุนเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1% เช่นกันในปีที่เผยแพร่รายงาน แต่ไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญา กล่าวคือ Shell ให้คำมั่นที่จะลงทุน 1–2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทุกปีเริ่มตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปี 2020 ทว่ามีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนเพียงปี 2020 ปีเดียว ซึ่งเป็นมูลค่าเพียงครึ่งหนึ่งของที่ประกาศไว้ คือ 9 ร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่วน ExxonMobil และ Chevron นั้นไม่เปิดเผยข้อมูลลงทุนในพลังงานสะอาดเลยในช่วงการวิจัย

3.2.5 สรุปกลยุทธ์ทางธุรกิจ
ผลการศึกษาพบว่าทุกบริษัทให้คำมั่นและเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นในช่วงการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทยุโรปหลังปี 2016 อย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพรวมในทุกบริษัทและในระยะยาวแล้ว พบว่า รูปธรรมมีน้อยกว่าสิ่งที่ให้คำมั่นไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ BP ที่ให้คำมั่นไว้มากกว่าอีกสามบริษัท

เมื่อเทียบคำมั่นกับการลงมือทำจริงแล้ว บริษัทอเมริกันยังตามหลังทางฝั่งยุโรปอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ExxonMobil
ผลลัพธ์เชิงบวกของบริษัทฝั่งยุโรปมีที่มาจากการเปิดเผยข้อมูลลงทุนในพลังงานสะอาดที่มากกว่า ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโลกร้อนสม่ำเสมอกว่า และนำอัตราราคาคาร์บอนมาใช้ในองค์กรเร็วกว่า

BP ได้คะแนนมากที่สุดในเรื่องนี้จากกลยุทธ์แปรรูปพลังงานและคำมั่นที่จะลดการสำรวจและผลิต hydrocarbon
สำหรับบริษัทอเมริกันนั้นล่าช้าในการแปรรูปหลายประการ กลยุทธ์ที่ล้าหลังของ Chevron และ ExxonMobil เช่น ไม่ลดกิจกรรมสำรวจและผลิตพลังงานฟอสซิล ขาดเป้าหมาย net zero และไม่ลงทุนด้านพลังงานสะอาด ทำให้บริษัทน้ำมันอเมริกันตามหลังบริษัทยุโรปและทิ้งช่วงห่างออกไปเรื่อย ๆ หลังจากปี 2018

นอกจากนี้ยังไม่ลงมืออย่างเป็นรูปธรรมตามคำมั่นสัญญาเช่นเดียวกับบริษัททางฝั่งยุโรป ตัวอย่างเช่น BP ทีได้คะแนนสูงสุด ได้ให้คำมั่นในรายงานประจำปี 2019 ว่าจะลดการลงทุนพลังงานฟอสซิลเพื่อนำไปเพิ่มทุนพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม BP ได้เพิ่มกิจกรรมสำรวจแหล่งน้ำมันอีก 58,000 ตารางกิโลเมตรในปีเดียวกันนั้นเอง และยังได้เพิ่มโครงการขุดเจาะน้ำมันอีกหลายโครงการในปี 2020 เช่นเดียวกับที่ Shell ได้ประกาศจะลดการสำรวจแหล่งพลังงานหลังจากปี 2025 ทว่าดูเหมือนจะเร่งให้บริษัทสำรวจแหล่งพลังงานให้หมดก่อนปี 2025 เช่นในปี 2020 เพิ่มการสำรวจให้ครอบคลุมพื้นที่ถึง 38,000 ตารางกิโลเมตร

3.3 การลงทุน : การผลิต รายรับ และรายจ่าย
บทต่อไปนี้เราจะตรวจสอบว่าบริษัทเป้าหมายมีการแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

3.3.1 ค่าใช้จ่ายการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำ
ผลการศึกษาพบว่า เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2013 ที่บริษัทน้ำมันต้องต่อสู้กับความผันผวนของราคา ต่อมาในปี 2014 เป็นต้นมาบริษัทน้ำมันต่างก็พยายามเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนแทนที่จะเพิ่มมูลค่าการลงทุน เมื่อนำข้อมูลช่วงปี 2018–2020 มาเปรียบเทียบกันแล้วพบว่าบริษัทยุโรปลงทุนในธุรกิจต้นน้ำน้อยกว่าบริษัทอเมริกัน แต่ในระยะยาวแล้วไม่พบว่ามีความแตกต่างกันมากนัก

BP, Shell, และ Chevron มีรายได้ที่ติดลบในปี 2015 และปี 2016 เนื่องจากน้ำมันขึ้นราคา ส่วนในปี 2020 ทุกบริษัทขาดทุนอย่างมากจากความต้องการน้ำมันที่ลดลงในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 ดังนั้นแนวโน้มการลงทุนในช่วงนี้จึงไม่ควรนำมาพิจารณา

BP ขาดทุนอย่างหนักในปี 2010 เช่นกันจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก ประกอบกับขาดทุนในธุรกิจปลายน้ำในปี 2013 ทำให้ BP มีรายรับรวมทั้งสิ้นเพียง 4,950 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ถึงแม้ว่าจะทำกำไรจากธุรกิจต้นน้ำได้ถึง 8,848 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ดังนั้นสัดส่วนรายรับของ BP จึงไม่ควรนำมาร่วมพิจารณาในการศึกษาครั้งนี้

ส่วนบริษัทอเมริกันนั้น การลงทุนถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงการวิจัย คือคิดเป็นสัดส่วน 70–90% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในช่วงปี 2016–2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Chevron ซึ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการลงทุนลดลงจาก 90% ในปี 2016 เป็น 85% ในปี 2019 แม้ว่ามูลค่าการลงทุนจะลดลง 3,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

ส่วน ExxonMobil นั้นพบว่า ลดลงทั้งสัดส่วนและมูลค่าการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2013 เราไม่พบคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ในรายงานประจำปี แต่แถลงการณ์ในปี 2015 ก็บอกเป็นนัยว่าบริษัทต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะ

ส่วนทางบริษัทยุโรปนั้น ค่าใช้จ่ายการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำของ BP มีสัดส่วนที่น้อยที่สุด และถึงแม้ว่าจะลดลงในช่วงปี 2013 และปี 2018 (จาก 52% เป็น 50%) แต่กลับเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2019 และ 67% ในปี 2020 ตามลำดับ ซึ่งอธิบายได้จากโครงการใหม่จำนวน 24 จาก 35 โครงการที่มีเป้าหมายผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นวันละ 900,000 บาร์เรลภายในปี 2021
ส่วน Shell นั้นมูลค่าการลงทุนลดลงเป็นอย่างมากในช่วงปี 2013 ถึงปี 2020 หรือจาก 39,217 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็น 11,597 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่สัดส่วนการลงทุนนั้นลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2013 ถึง 98% เหลือเพียง 65% ในปี 2020 ถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นครั้งหนึ่งในช่วงปี 2014-2016 จากการควบรวมกิจการเข้ากับกลุ่ม BG ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันสัญชาติอังกฤษ

โดยสรุปแล้ว แนวโน้มการลงทุนบ่งชี้ว่าทุกบริษัทยังคงพึ่งพาการสำรวจและผลิตพลังงานฟอสซิลอยู่เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทอเมริกัน

3.3.2 รายรับจากธุรกิจต้นน้ำ
นอกจาก BP แล้ว เราไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในการลดพึ่งพารายได้จากธุรกิจต้นน้ำของพลังงานฟอสซิลในช่วงที่ทำการศึกษา สัดส่วนรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ระหว่าง 70% ถึง 85% ในขณะที่ Chevron สูงกว่าค่าเฉลี่ยคือ 90% จากปี 2017 เป็นต้นมา

Chevron, ExxonMobil, และ Shell มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานฟอสซิลสูงขึ้น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าเราไม่พบหลักฐานทางการเงินที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจต้นน้ำของพลังงานฟอสซิลของบริษัทเป้าหมาย
ส่วนแนวโน้มของ BP นั้นแตกต่างออกไป ถ้าเราไม่นำเอาเหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 2010 และราคาน้ำมันผันผวนในช่วงปี 2014 มาร่วมพิจารณา BP ก็จะไม่มีการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต้นน้ำในปี 2018 และปี 2019 และถ้าเรารวมสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำ (เพิ่มขึ้นจาก 48% เป็น 61%) เข้าด้วยกัน เราจะเห็นว่าสัดส่วนของรายได้ลดลงจาก 86% เป็น 60% ดังนั้น BP จึงมีหลักฐานทางการเงินที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะลดการพึ่งพารายได้จากพลังงานฟอสซิล
โดยสรุปแล้ว หากเราไม่นำเอาภาวะขาดทุนชั่วคราวของ BP มาร่วมพิจารณา ข้อมูลรายได้ชี้ให้เห็นว่าพลังงานฟอสซิลยังคงเป็นแหล่งที่มาหลักของรายได้ของทุกโมเดลธุรกิจต้นน้ำ

3.3.3 การผลิตของธุรกิจต้นน้ำ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลไม่พบการผลิตไฮโดรคาร์บอนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการศึกษาวิจัย ในทางตรงข้าม ข้อมูลแสดงว่า Shell, BP, และ Chevron กลับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกจนใกล้เคียงกับกำลังการผลิตของผู้นำอุตสาหกรรมอย่าง ExxonMobil ผู้ซึ่งลดกำลังการผลิตลงจาก 4,506 พันล้านบาร์เรลเทียบเท่าต่อวันในปี 2011 เป็น 3,761 พันล้านบาร์เรลเทียบเท่าต่อวันในปี 2020 ซึ่งต่ำกว่าของปี 2009

ส่วนในด้านปริมาณสะสมนั้น หลังจากที่ได้ลดลงชั่วคราวระหว่างปี 2015–2017 กำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซของบริษัทเป้าหมายก็กลับเพิ่มขึ้นอีกสูงกว่าหรือเท่ากับปริมาณฐาน (ยกเว้นกำลังการผลิตก๊าซของ ExxonMobil)
การลดกำลังการผลิตน้ำมันมีสาเหตุมาจากราคาที่ลดลงมากกว่าจะมาจากกลยุทธ์การแปรรูปสู่พลังงานสะอาด ตัวอย่างเช่นในปี 2016 บริษัทน้ำมัน West Texas Intermediate ลดราคาน้ำมันลงถึง 43.34 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรลเมื่อเทียบกับ 93.28 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรลในปี 2014

ต่อมาการระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2020 หากเราไม่นำปัจจัยเหล่านี้มาร่วมพิจารณา ผลผลิตของบริษัทอเมริกันค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับบริษัทยุโรป โดย ExxonMobil และ Chevron ได้เพิ่มกำลังการผลิตจนเท่าปริมาณฐานในปี 2020 ส่วน Shell นั้นพบว่ามีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 25% จากปี 2015 จนถึงปี 2020
ทั้ง BP, Shell, และ Chevron เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะ BP และ Chevron ในปี 2016–2019 บ่งชี้ว่าบริษัททั้งสองเห็นโอกาสทางธุรกิจในตลาดคาร์บอนต่ำ Chevron จึงได้เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้น 40% จากปี 2016 ถึงปี 2020 และเราพบว่าทุกบริษัทพยายามประชาสัมพันธ์การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติว่าเป็นหนึ่งในวิธีการบรรเทาภาวะโลกร้อน

ดังนั้น นอกจากแนวโน้มการผลิตที่ลดลงของ ExxonMobil อันเนื่องมาจากเหตุผลทางการตลาดแล้ว กำลังการผลิตไฮโดรคาร์บอนของอีกสามบริษัทมิได้ลดลงอย่างต่อเนื่องแต่อย่างใด

3.3.4 ปริมาณสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิล
ถ้าเราพิจารณาภาพรวมตลอดช่วงเวลาการวิจัยและตัดความผันผวนในแต่ละปีออก เราจะพบว่าไม่มีบริษัทใดลดปริมาณน้ำมันสำรองลงจนกระทั่งปี 2018 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ExxonMobil อย่างไรก็ตาม BP และ Shell นั้นสำรองน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2015-2019 ในขณะที่ปริมาณน้ำมันสำรองของ ExxonMobil เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2016-2018
ส่วนในด้านปริมาณก๊าซสำรองนั้น เราพบแนวโน้มที่ลดฮวบลงสำหรับ ExxonMobil และ Shell

ถึงแม้ว่าจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก็ตาม Shell ได้กล่าวไว้ในรายงานประจำปี 2020 ว่าราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ไม่สามารถสำรองปริมาณได้ตามเป้า ในทางตรงข้าม BP และ Chevron มีการสำรองปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Chevron ที่มีการสำรองก๊าซมากที่สุดคิดเป็นกว่าครึ่งของปริมาณก๊าซสำรองในปี 2019 เพื่อเตรียมไว้สำหรับเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต

จากกิจกรรมการสำรองพลังงานของบริษัทเป้าหมายเช่นนี้ เราคาดว่าทุกบริษัทกำลังวางแผนที่จะหลีกเลี่ยงมิให้สินทรัพย์ของตนสิ้นมูลค่าในการแปรรูปสู่พลังงานสะอาด

3.3.5 รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปลายน้ำ
เราพบแนวโน้มการขายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของ Shell และ BP จนถึงปี 2019 เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 ยอดขายน้ำมันของ Shell นั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 100% จนถึงปี 2018 เนื่องจากในปี 2017-2018 Shell ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปลายน้ำจะเป็นแหล่งที่มาหลักของรายได้ของบริษัท ส่วน BP นั้นก็มียอดขายน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันแต่เป็นไปอย่างช้าๆจนถึงปี 2019

ส่วนแนวโน้มการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปลายน้ำของ ExxonMobil และ Chevron เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เช่นยอดขายน้ำมันของ ExxonMobil ลดลงหลังจากปี 2013 เป็นต้นมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกำไรต่อหน่วยของน้ำมันค้าปลีกยังคงต่ำมากในระยะยาว ในขณะที่ความต้องการในสารเคมีพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกจากกำลังซื้อที่สูงขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา

3.3.6 การลงทุนในพลังงานสะอาด
เราใช้ข้อมูลจากบุคคลที่สามในการวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนในพลังงานสะอาดเนื่องจากไม่มีข้อมูลจากบริษัทเป้าหมาย เมื่อพิจารณาสัดส่วนการลงทุนสะสมในพลังงานสะอาดต่อค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมดแล้ว เราพบว่าบริษัทยุโรปมีการลงทุนในพลังงานสะอาดมากกว่าบริษัทอเมริกัน

BP ใช้ทุนมูลค่ากว่า 2% ของค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมดในพลังงานสะอาดอย่างพลังงานชีวมวลและพลังงานลมในช่วงการศึกษาวิจัย ส่วน Shell นั้นใช้ทุนเป็นสัดส่วน 1.33% ของค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมดในพลังงานชีวมวล ส่วนบริษัทอเมริกันนั้นยังตามหลังอยู่มาก โดยมีการลงทุนในพลังงานสะอาดคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.22% และ 0.23% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมซึ่งเท่ากับ 0.5%–0.8% ในระหว่างปี 2015-2019

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการลงทุนในพลังงานนั้นมีความไม่ชัดเจนสูงว่าการลงทุนเป็นลักษณะใด การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาธุรกิจ หรือการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ส่วน Chevron และ Shell ลงทุนในเทคโนโลยีการดูดซับคาร์บอนคิดเป็นสัดส่วนที่สูงจากการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำทั้งหมด

เมื่อเราพิจารณามูลค่าการลงทุนสะสมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เราพบว่า BP เป็นผู้นำทางด้านนี้ ส่วนบริษัทอเมริกันนั้นไม่มีเลยในเวลาสิบปีที่ผ่านมา และได้แสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า BP จะเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด แต่กำลังการผลิตก็มีเพียง 2,000 MW เทียบเท่ากับโรงงานไฟฟ้าพลังก๊าซขนาดใหญ่สองโรงเท่านั้น

เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในการลงทุนและกำลังการผลิตไฟฟ้า

เราสรุปว่าไม่มีบริษัทใดที่แปรรูปสู่พลังงานสะอาดในปริมาณที่จะหยุดพึ่งพิงการผลิตพลังงานฟอสซิลได้ในอนาคตอันใกล้

บทอภิปรายและสรุป

ผลการวิจัยชิ้นนี้ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพเป็นเวลา 12 ปีเพื่อค้นหาว่า BP, Chevron, ExxonMobil และ Shell ได้ลดการผลิตพลังงานฟอสซิลและแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาดหรือไม่ โดยพิจารณาจากสามปัจจัยได้แก่คำมั่นสัญญา กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการลงทุน

จากการวิเคราะห์คำมั่นสัญญาพบการใช้คำสำคัญเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นในรายงานประจำปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทยุโรปอย่าง BP และ Shell โดยในช่วงเวลาของการศึกษาวิจัยนั้น บริษัทยุโรปแสดงถึงความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ โดยเข้าร่วมในกรอบดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นำเอาอัตราราคาคาร์บอนมาใช้ในกระบวนการภายใน ให้คำมั่นและลงทุนในพลังงานสะอาด และตั้งเป้าหมาย net zero และลดการผลิตพลังงานฟอสซิล ส่วนบริษัทอเมริกันนั้นยังตามหลังอยู่มาก โดยพบว่าขาดเจตจำนงที่จะแปรรูปธุรกิจพลังงานฟอสซิลหรือลงทุนในพลังงานสะอาด นอกจากนี้ยังประกาศเพิ่มการผลิตพลังงานฟอสซิลแทนที่จะลดลงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าทุกบริษัทมักดำเนินการในส่วนที่ง่ายต่อการจัดการได้แก่การให้คำมั่นสัญญาและการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซก่อน เช่นการประกาศสนับสนุนการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนหรือการกำหนดราคาคาร์บอนและการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังขาดกลยุทธ์การดำเนินการแปรรูปพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมที่จะนำคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้

นอกจากนี้เรายังพบว่าการดำเนินการบางอย่างยังขัดแย้งกับคำสัญญาที่ให้ไว้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคาดหวังที่บริษัทจะลดการสำรวจ ผลิต และพัฒนาตลาดพลังงานฟอสซิลลง และพบแนวโน้มความขัดแย้งเช่นนี้ในแหล่งข้อมูลอื่นๆเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นรายงานการล็อบบี้รัฐบาลเพื่อให้ทิ้งช่องว่างในนโยบายราคาคาร์บอนเพื่อไม่ให้กระทบกับแหล่งทุน และทำให้มีช่องว่างในกฎหมายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังพยายามขัดขวางกระบวนการลดการใช้พลังงานฟอสซิลเช่นผลักภาระการลดก๊าซเรือนกระจกไปที่ผู้บริโภคและประชาสัมพันธ์สร้างความสับสนในเรื่องก๊าซธรรมชาติและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและให้ข้อมูลที่เกินจริงเกี่ยวกับการลงทุนในพลังงานสะอาด

การวิเคราะห์ทางการเงินยิ่งเปิดเผยถึงความไม่สอดคล้องระหว่างคำสัญญาที่จะลดก๊าซและการดำเนินการจริง เพราะไม่พบว่ามีบริษัทเป้าหมายใดแปรรูปธุรกิจพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตนสู่พลังงานสะอาด หากเราไม่นำความผันผวนของข้อมูลและผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 มาร่วมพิจารณา เราก็จะไม่พบว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะลดการผลิตพลังงานฟอสซิล ลดการพึ่งพาธุรกิจต้นน้ำ หรือลดการสำรองน้ำมันแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม บริษัทยุโรปกลับเพิ่มกำลังการผลิตทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรองในช่วงปี 2015–2019 เช่นเดียวกับที่ BP และ Chevron เพิ่มปริมาณก๊าซสำรอง ประการสุดท้ายการวิเคราะห์การลงทุนในพลังงานทางเลือกพบว่าไม่มีบริษัทใดที่มีการลงทุนมูลค่าสูงมากพอที่จะทำให้บริษัทลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลลงได้

เมื่อเรานำทั้งสามปัจจัยอันได้แก่คำมั่นสัญญา กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการลงทุนมาร่วมวิเคราะห์ เราสรุปว่าไม่มีบริษัทใดเลยที่อยู่ในระหว่างการแปรรูปธุรกิจสู่พลังงานสะอาด ดังนั้นเมื่อนักลงทุนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการชั่งน้ำหนักของคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือใช้พลังงานทดแทน ควรพิจารณาการดำเนินงานในอดีตและแนวโน้มการลงทุนที่เราได้ประเมินไปแล้ว และถ้าบริษัทต้องการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังก็ควรเร่งดำเนินการแปรรูปโมเดลธุรกิจสู่พลังงานสะอาดมากกว่าให้คำมั่นสัญญาเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การลงทุนในพลังงานสะอาดจะต้องมีความโปร่งใสในการรายงานในงบการเงินประจำปีและมีนิยามที่ชัดเจนสำหรับคำศัพท์เช่น “พลังงานทางเลือก”, “คาร์บอนต่ำ”, และ “พลังงานสะอาด” หากยังมีความไม่สอดคล้องกันในคำมั่นสัญญา กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการลงทุนเช่นนี้ คำมั่นสัญญาของบริษัทเป้าหมายก็เป็นเพียงการฟอกเขียว

แนวโน้มที่บริษัทยุโรปมีความก้าวหน้ากว่าบริษัทอเมริกันในเรื่องนี้อาจมีสาเหตุมาจากกฎหมายของประเทศในประชาคมยุโรปที่มีความเข้มงวดกว่ากฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่ล้าหลังจากรัฐบาลในสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคือช่วงปี 2016-2020 โดย BP และ Shell แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อม อีกประการหนึ่งได้แก่ประสบการณ์ที่มากกว่าในธุรกิจพลังงานสะอาดอาจทำให้บริษัทยุโรปมีความมั่นใจสูงกว่าที่จะแปรรูปสู่พลังงานสะอาด เมื่อเทียบกับบริษัทอเมริกันที่ยังขาดการลงทุนในด้านนี้ในอดีต

การที่เราพบความไม่สอดคล้องในคำมั่นสัญญา กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการลงทุนของบริษัทเป้าหมายทำให้เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้บริษัทเป้าหมายพูดถึงการแปรรูปแต่ไม่ลงมือกระทำ การให้คำมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นลดความกดดันจากสังคมลง เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท และรักษาใบอนุญาตประกอบการไว้เพื่อซื้อเวลาในการสำรวจและผลิตพลังงานฟอสซิลต่อไป ปัจจัยทางการเงินก็เป็นสิ่งที่สำคัญ การลงทุนที่มีมูลค่าสูงในพลังงานทางเลือกนั้นให้ผลกำไรที่ต่ำกว่าพลังงานฟอสซิลและต้องใช้เทคโนโลยีความเชี่ยวชาญที่สูงมาก นอกจากนี้การแปรรูปสู่พลังงานสะอาดหมายถึงการลดมูลค่าสินทรัพย์และน้ำมันสำรองที่ให้ผลกำไรสูงอย่างนำกลับคืนมาไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทดิ่งลง ประการต่อมาโอกาสในการทำกำไรจากการฟื้นคืนของตลาดน้ำมันและก๊าซหลังการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในปี 2021 ก็เป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ เหตุผลเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารของบริษัทน้ำมันชะลอการแปรรูปธุรกิจออกไป ดังนั้น เพื่อที่จะขจัดปัจจัยลบเหล่านี้ รัฐบาลจะต้องปฏิรูปตลาดและยกเลิกสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งหมด

ข้อจำกัดในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นโอกาสสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป ได้แก่การขาดข้อมูลการทางตรงจากแหล่งในเรื่องการลงทุนในพลังงานสะอาดเป็นรายปี ซึ่งนักวิจัยอาจหาข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับเป้าหมายการลงทุนในพลังงานสะอาด ประการต่อมานักวิจัยอาจปรับปรุงตัวชี้วัดในด้านการแปรรูปธุรกิจเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เชิงปริมาณที่ละเอียดขึ้นและสามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกันกับข้อมูลเชิงคุณภาพได้ (จบ)

อ้างอิง https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0263596


Social Share