THAI CLIMATE JUSTICE for All

ภาวะโลกร้อนและวิทยาศาสตร์

เขียนโดย Mike Hulme
ปีที่เผยแพร่ 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://physicsworld.com

บทนำ

ในสองศตวรรษที่ผ่านมา ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาความรู้พื้นฐานที่เป็นบทบรรยายของยุค Modern ได้เปลี่ยนความเข้าใจของผู้คนหลายวัฒนธรรมที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจสภาพดินฟ้าอากาศกายภาพ โดยมีตัวเลขวัดปริมาณกำกับ
ศาสตร์แห่งสภาพภูมิอากาศถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา จนมนุษย์สามารถทำนายลมฟ้าอากาศล่วงหน้าเป็นตัวเลขได้ การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้มีผลจากปัจจัยสองประการ
ประการแรก การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19
ประการที่สอง อิทธิพลของสงครามเย็นที่ก่อให้เกิด Infrastructural Globalism หรือการรวมศูนย์อำนาจโลกเป็นสองขั้ว
เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 20 วิทยาศาสตร์ประเทศตะวันตกได้ฟื้นฟูแนวคิดสภาพภูมิอากาศว่า เป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกายภาพต่าง ๆ ของโลก สภาพภูมิอากาศมิได้เป็นเพียงเรื่องของท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ อีกต่อไป แต่เป็นหนึ่งเดียวกันในระดับโลกที่สามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์
การฟื้นฟูแนวคิดสภาพภูมิอากาศให้เข้าใจง่ายเช่นนี้เปลี่ยนอนาคต ทำให้เกิดความเชื่อในหมู่นักวิทยาศาสตร์และต่อมาในหมู่ประชาชนในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ว่าอิทธิพลโดยรวมของกิจกรรมมนุษย์อาจมีผลต่อสมดุลของภูมิอากาศโลก
ดังนั้นสภาพภูมิอากาศจึงมิใช่เหตุการณ์ที่ถูกกระตุ้นโดยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้รับอิทธิพลจากมนุษย์ด้วย
การพัฒนาความคู่กันไปเช่นนี้มิใช่เหตุบังเอิญ อิทธิพลทางการเมือง เทคโนโลยี และเครือข่ายที่หล่อเลี้ยงกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสภาพอากาศนั้นเป็นอิทธิพลเดียวกับที่ทำให้วิทยาศาสตร์ค้นพบปรากฏการณ์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานฟอสซิลในศตวรรษที่ 19 ทำให้กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลถึงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจการเมืองเดียวกันนี้ยังทำให้โครงสร้างและสถาบันวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
ผู้เขียนบทความนี้ได้ศึกษาว่าแนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของมัน เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร
ความรู้วิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศเป็นความรู้ที่สืบทอดและสั่งสมกันมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกับศาสตร์สาขาอื่น ๆ
นอกจากนี้ อุตุนิยมวิทยายังถูกพัฒนาในวัฒนธรรมการเมืองเฉพาะที่ได้รับการอุปถัมภ์
บทความนี้ประกอบไปด้วยสองส่วนได้แก่ ศาสตร์แห่งภาวะโลกร้อนที่ไม่ว่าเป็นการสร้างโมเดลของอุณหภูมิผิวโลก การพัฒนารูปแบบภูมิอากาศใหม่ หรือองค์ความรู้ที่ได้จาก IPCC นั้นเกิดจากมุมมองในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเสมอ (สถานที่มีความสำคัญต่อการเกิดศาสตร์เหล่านี้)
ประการที่สอง ศาสตร์แห่งภูมิอากาศหรือศาสตร์แห่งระบบโลกนั้นมีประวัติที่ผูกพันใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์อิทธิพลทางการเมือง (ดังนั้นการเมืองจึงสำคัญต่อการเกิดศาสตร์เหล่านี้)
ผู้เขียนบทความเริ่มด้วยการแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาโบราณกำหนดแนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศของแต่ละวัฒนธรรมได้อย่างไรด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง สังคม และวิทยาศาสตร์ และพิจารณาความสำคัญของการอุปถัมภ์ของผู้นำการเมืองต่อการพัฒนาศาสตร์แห่งภูมิอากาศในแต่ละยุค ตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยมแห่งยุโรปในศตวรรษที่ 19 ยุคสงครามเย็น และยุคโลกาภิวัตน์แห่งสหประชาชาติ
ข้อมูลวิทยาศาสตร์ภาวะโลกร้อนที่ IPCC เริ่มพิจารณาตั้งแต่ปี 1990 แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทั้งทางด้านศาสตร์และการเมืองที่มีต่อศาสตร์แห่งภูมิอากาศ
บทบาทของชาติต่าง ๆ ที่เป็นผู้บ่มเพาะและตีความบางแง่มุมของศาสตร์แห่งภูมิอากาศก็ยังคงอยู่และไม่ได้ถูกทดแทนโดยบทบาทของสหประชาชาติ แม้แต่ในยุคดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต
ความสำคัญของ “สถานที่” ที่แสดงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและการเมืองยังมีอิทธิพลต่อการพัฒนาความรู้ภาวะโลกร้อน
ความสำคัญของ “สถานที่” ที่มีต่อการเกิดวิทยาศาสตร์แห่งภูมิอากาศ
คือวิธีการเข้าถึงความรู้ของมนุษย์ที่ผูกติดกับตำแหน่งภูมิศาสตร์ กล่าวคือกิจกรรมวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเสมอ องค์ประกอบวิทยาศาสตร์อย่างเช่นเครื่องมือและหน่วยวัดค่าทางวิทยาศาสตร์ การทดสอบทฤษฎีที่ได้จากการสังเกต การทดลองในห้องทดลอง การจำลองโมเดลโดยใช้คอมพิวเตอร์ และการลงมติ คือกิจกรรมทางสังคมของวิทยาศาสตร์ที่ผูกกับบรรทัดฐานวัฒนธรรมและการใช้อำนาจการเมืองของแต่ละชาติ
ดังนั้นกิจกรรมวิทยาศาสตร์จึงได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยเหล่านี้ แตกต่างไปตามสถานที่และเวลา
เราสามารถสาธิตข้อเท็จจริงเหล่านี้โดยการยกตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์ธารน้ำแข็งชื่อ Hans Wilhelmsson Ahlmann การที่เขาได้ใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาสงครามโลกทั้งสองครั้งทำให้เขาและนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ได้สัมผัสว่าสภาพภูมิอากาศของยุโรปอุ่นขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 นักอุตุนิยมวิทยาชาวอเมริกันได้บันทึกไว้ว่า “ลักษณะลมฟ้าอากาศในตอนนี้ทำให้ทุกคนประหลาดใจ ช่วงเวลาที่อากาศหนาวเย็นสั้นลง และเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ในขณะที่อากาศอุ่นเกิดขึ้นบ่อยและยาวนานขึ้น”
อุณหภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นนี้เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอาร์คติกเหนือ และบุคคลที่สังเกตปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกก็คือ Ahlmann ในระหว่างการสำรวจในปี 1920 และ 1930 เพื่อเฝ้าดูและศึกษาสภาพของธารน้ำแข็งในกรีนแลน์และไอซ์แลนด์
หลังจากนั้น Ahlmann ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “Polar Warming” หรือภาวะขั้วโลกอุ่นขึ้น พอถึงยุค 1940-1950 แนวคิดนี้ก็ได้ขยายตัวขึ้นเป็นภาวะโลกร้อนในที่สุด

ภาพประกอบโดย Mike Hulme

ความสนใจของ Ahlmann ในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในท้องถิ่นเป็นตัวอย่างคลาสสิกของงานวิทยาศาสตร์ภาคสนาม ที่สังเกตการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคหนึ่ง ๆอย่างเป็นระบบ ผสานกับความรู้วิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนพื้นเมืองเกี่ยวกับการถดถอยของธารน้ำแข็ง เราได้เห็นหลักฐานภาวะโลกร้อนชัดเจนขึ้น
Ahlmann อุทิศตนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในทวีปอาร์คติก ธารน้ำแข็งกลายเป็นสิ่งที่ Thomas Gieryn นักสังคมวิทยาเรียกว่า “หลักฐานที่แสดงข้อเท็จจริง” ที่เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ความเชื่อในโลกของธรรมชาติและสังคม
Ahlmann ได้เจริญรอยตามวัฒนธรรมของชาวนอร์ดิกในการสำรวจธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์และไอซ์แลนด์เพื่อให้ได้คำตอบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศว่า เกิดตามธรรมชาติหรือจากการกระทำของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม แนวทางการศึกษาของ Ahlmann ที่ใช้วิทยาศาสตร์ศึกษาภาวะโลกร้อนนั้นไม่ได้ถูกเผยแพร่อย่างแพร่หลายในช่วงหลังสงคราม หรืออาจพูดได้ว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาธารน้ำแข็งนี้เป็นความรู้จากที่อื่น (และไม่เกี่ยวข้องกับผู้คนในภูมิภาคอื่น ๆ) และยังอ้างอิง “หลักฐานที่แสดงข้อเท็จจริง” อื่น ๆ เช่น การใช้กล้องโทรทัศน์ตรวจวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลกโดย Charles Keeling ในปี 1957 หรือการทดลองกลศาสตร์ของไหลทางธรณีฟิสิกส์ในห้องทดลองที่มหาวิทยาลัยพรีนซ์ตันโดย Syukuro Manabe ผู้บุกเบิกการสร้างแบบจำลองภูมิอากาศโลกสามมิติด้วยคอมพิวเตอร์ หรือศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศแห่งคณะสิ่งแวดล้อมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียในเมืองนอริช ที่ได้รวบรวมข้อมูลความผันผวนของอุณหภูมิผิวโลกไว้อย่างสมบูรณ์และเป็นระบบเป็นครั้งแรก
สถาบันเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายกันอยู่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความน่าเชื่อถือนี้ได้จากการกำหนดมาตรฐานที่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุน เชื่อมโยงทฤษฎีกับข้อมูลเข้าด้วยกัน และควบคุมคุณภาพของข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์
ในปัจจุบัน เราคุ้นเคยกับทฤษฎีต่าง ๆของนักวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวกับลักษณะของลมฟ้าอากาศทั้งที่เป็นอยู่และการทำนายอนาคต ดังนั้นเราจึงพลาดเรื่องง่าย ๆ เรื่องหนึ่งได้แก่ ความจริงที่ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ภาวะโลกร้อนทุกเรื่องนั้นมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ (ค้นพบในสถานที่หนึ่ง ไม่ใช่สถานที่อื่น ๆ) ยกตัวอย่างเช่น แบบจำลองที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นและนำไปสร้างทฤษฎีวิทยาศาสตร์นั้นได้รับการออกแบบ ดำเนินการ และสนับสนุนด้านทุนโดยประเทศหนึ่ง ๆ ที่มีระบบการเมืองและวัฒนธรรมของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น แบบจำลองนี้ยังได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีและข้อมูลจากท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นสำคัญ
โดยนัยเดียวกัน แนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศเชิงเปรียบเทียบที่ดูเหมือนว่านำมาประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์ในทุกสถานที่และทุกช่วงเวลานั้นก็มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์เช่นกัน เพราะได้รับการพัฒนาขึ้นโดยบุคคลหนึ่งในสถานที่หนึ่งและช่วงเวลาหนึ่ง
ดังนั้นการตั้งชื่อปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากกระแสน้ำอุ่นทางภาคตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกว่าเอลนินโญ การตั้งชื่อกระแสน้ำนอกชายฝั่งภาคตะวันตกของออสเตรเลียว่า Leeuwin และเรื่องราวอุปมาอุปมัยเกี่ยวกับเทพไกอา เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการค้นพบเกี่ยวกับภูมิอากาศโลกที่สามารถสืบสาวย้อนกลับไปถึงสถานที่ เวลา และบุคคลได้เสมอ
องค์ความรู้นี้เป็นศุนย์กลางของภูมิปัญญาที่เสนอโดยนักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และนักธรณีวิทยาอย่าง Stephen Shapin, Bruno Latour, และ David Livingstone
ทว่าการสังเกตดังกล่าวขัดแย้งในตัวเอง การศึกษาสภาพภูมิอากาศนั้นจำกัดอยู่ในท้องถิ่นเดียว เช่นการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งบนภูเขา การวัดปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศโดยใช้กล้องโทรทัศน์ การสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ การตรวจวงปีของต้นไม้ในป่า วิทยาศาสตร์ที่ผูกติดอยู่กับสถานที่เช่นนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม การเมือง และความบังเอิญที่พบในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่พัฒนาจากการศึกษาในท้องถิ่นดังกล่าวกลับถูกนำไปใช้ในระดับสากล ในการแก้ปัญหานี้ ชาติพัฒนาแล้วจะต้องสร้างเครือข่ายนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ จะทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกลายเป็นความรู้สากลและขจัดอิทธิพลของการเมืองท้องถิ่นและลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นที่มีต่อความรู้ดังกล่าวออกไป
การแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ภาวะโลกร้อนข้ามพรมแดนกันโดยเสรีไม่ใช่เพียงเพื่อให้แพร่หลายในระดับสากลเท่านั้น แต่ยังจะทำให้งานของนักวิทยาศาสตร์ซับซ้อนและหลากหลายขึ้น
ภาวะโลกร้อนกลายเป็นแนวคิดที่ผู้คนต่างถิ่น ต่างยุคสมัยเข้าใจร่วมกันด้วยความรู้วิทยาศาสตร์ เช่น การอธิบายความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคหนึ่ง ๆ เช่น เทือกเขาแอลส์หรือหมู่เกาะบาร์บาดอส ในขณะเดียวกันก็สื่อถึงสภาพภูมิอากาศโลกในสหัสวรรษปัจจุบัน
แม้ว่าความรู้วิทยาศาสตร์จะถูกค้นพบในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งก็ตาม แต่เราสามารถทำให้เป็นสากลโดยใช้ภาษาคณิตศาสตร์วัดปรากฏการณ์ธรรมชาติได้

ภาพประกอบโดย https://www.pinterest.fr/pin/339810734379677157/

ยกตัวอย่างจากข้อมูลภูมิอากาศที่ได้จากต้นไม้ หรือ Dendroclimatology เราสามารถหาหลักฐานความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศในอดีตในภูมิภาคหนึ่ง ๆ จากวงปีของต้นไม้ย้อนเวลากลับไปได้เป็นร้อย ๆ ปี ด้วยการรวบรวมข้อมูลโดยการสุ่มสำรวจต้นไม้ต่างพันธุ์กันในพื้นที่หนึ่ง ๆ เราก็จะสามารถทำนายสภาพภูมิอากาศในอดีตได้ ทำให้การศึกษาเช่นนี้ก้าวข้ามขอบเขตจำกัดของเวลาและสถานที่
อีกตัวอย่างหนึ่งของการที่ทฤษฎีวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดภูมิศาสตร์หรือภาษาได้แก่ ความรู้สภาพภูมิอากาศระดับสากล (อย่างเช่นความรู้ที่ได้จากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศในอนาคต) นั้นเป็นการอธิบายระดับท้องถิ่นหรือปัจเจกโดยใช้การย่อส่วน หรือ “ซูม” ในเชิงเปรียบเทียบอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ข้ามขีดจำกัดของขนาด โดยการซูมเข้าและออกเหมือนเรามองผ่านเลนส์
ถึงแม้ว่าเราจะพบอุปสรรคการพัฒนาทฤษฎีวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายภูมิอากาศโลก ซึ่งได้แก่ แรงเสียดทานจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีมุมมองต่อโลกและสิ่งแวดล้อมของตัวเอง แต่ข้าพเจ้าก็จะติดตามการพัฒนาและความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินการสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำการเมือง รวมถึงเครือข่ายเครื่องมือระดับสากลทั้งดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน แบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลก และความรู้ในระดับสากล
โดยการศึกษางานของ Deborah Cohn, Martin Mahony, และ Paul Edwards ข้าพเจ้าจะแสดงให้เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินการเหล่านี้จะทำให้สภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือได้อย่างไร


วิทยาศาสตร์แห่งจักรวรรดิอาณานิคม

การที่จักรวรรดิยุโรปในศตวรรษที่ 19 สนับสนุนการศึกษาอุตุนิยมวิทยา แปลความ จัดความรู้ให้เป็นระบบระเบียบ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ผู้คนเข้าใจสภาพภูมิอากาศโดยวิทยาศาสตร์ โดยนัยหนึ่งศาสตร์เหล่านี้ได้รับการค้นพบและพัฒนาโดยทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่จักรวรรดิได้วางไว้ทั่วโลกอย่างหอดูดาว นักดาราศาสตร์ เครือข่ายโทรเลข และการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ อีกนัยหนึ่งได้แก่ทรัพยากรเหล่านี้ถูกใช้เพื่อแสวงประโยชน์การค้าและการเมือง
แนวคิดวิทยาศาสตร์สากลภูมิอากาศในปัจจุบันสามารถสืบย้อนหลังไปได้ถึงอิทธิพลจากการอุปถัมภ์โดยผู้นำการเมืองแต่ละยุคสมัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ และทำให้เราได้เห็นอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อแนวคิดภูมิอากาศในแต่ละยุคสมัยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภูมิอากาศกลายเป็นแนวคิดทฤษฎีที่เชื่อมกันทั่วโลกก็ต่อเมื่อจักรวรรดิและอาณานิคมเชื่อมต่อกันโดยเส้นทางการค้า การอพยพ และการสื่อสาร และทฤษฎีวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศก็ “ได้รับการพัฒนา ณ จุดเชื่อมต่อวัฒนธรรมแต่ละแห่งของจักรวรรดิยุโรป”
ศตวรรษที่ 19 ได้เป็นพยานรู้เห็นการกำเนิดขึ้นของเทคโนโลยีทางสังคมในวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งไม่เพียงแต่ขยายจินตนาการของมนุษย์ให้ก้าวไกลขึ้น แต่ยังเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ในระดับที่แตกต่างเข้าด้วยกัน ทั้งนั้นหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความคิดในประเทศชาตินั้น เช่นทางรถไฟในอเมริกาเหนือจุดประกายความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับระยะทางและสถานที่ หรือนวนิยายนำเสนอวิธีนำจินตนาการมนุษย์มาแสดงให้พ้นขีดจำกัดของชีวิตประจำวัน
โดยนัยนี้ การเชื่อมโยงศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่ค้นพบในศตวรรษที่ 19 เข้าด้วยกันในจักรวรรดิทำให้เกิดศาสตร์ใหม่แห่งภูมิอากาศ โครงการสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการทวนซ้ำเมื่อแนวคิดวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศขยายตัวและซับซ้อนขึ้น นักวิทยาศาสตร์เริ่มถกเถียงกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางทะเลและอากาศที่เชื่อมโยงกันในวงกว้างและใช้ทรัพยากรของจักรวรรดิในการเก็บข้อมูลในสเกลใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ผลที่ได้ก็คือข้อมูลมีความแม่นยำทางสถิติ สามารถใช้สนับสนุนสมมติฐานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ได้
ตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูลในยุคต้น ๆ โดยหน่วยย่อยของกองทัพแห่งจักรวรรดิยุโรปที่เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ หรือโดยเจ้าหน้าที่ ณ ด่านการค้าของบริษัทวาณิชอย่างอีสต์อินเดีย ซึ่งนาย Richard Grove นักประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมอ้างว่าปี 1791 เป็น “โอกาสแรกของการสังเกตการณ์สภาพภูมิอากาศโดยนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันอย่างเพียงพอ และทำให้เกิดการทำนายสภาพภูมิอากาศที่มีข้อมูลระดับโลกสนับสนุนแทนที่จะมาจากข้อมูลในระดับภูมิภาคแต่เพียงด้านเดียวอย่างที่เคยเป็นมา”
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 19 ข่าวสารสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคหนึ่ง ๆ อย่างภัยแล้งที่เกิดขึ้นในอินเดียหรืออาณานิคมออสเตรเลียก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลกตามเครือข่ายของจักรวรรดิ

ภาพประกอบโดย https://www.pinterest.fr/pin/339810734379677157/

การขยายตัวของจักรวรรดิยุโรปทั้งทางบกและทางทะเลในช่วงสิบปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดเครือข่ายการเฝ้าสังเกตการณ์สภาพดินฟ้าอากาศอย่างเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา เช่นคณะมนตรีของจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้เห็นความสำคัญทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติในการสนับสนุนการศึกษาสภาพภูมิอากาศในระดับรายละเอียดปลีกย่อยที่สุด และเนื่องจากจักรวรรดิได้แผ่ขยายครอบคลุมยุโรปภาคกลางและตะวันออก จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาเครื่องมือศึกษาสภาพภูมิอากาศใหม่ ๆสำหรับภูมิภาคที่แตกต่างกันได้ เช่นเครื่องมือทำแผนที่สภาพภูมิอากาศเป็นต้น
การอุปถัมภ์จากจักรพรรดิเป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามภูมิประเทศและชนชาติ ทำให้เกิดศาสตร์ใหม่แห่งการศึกษาสภาพภูมิอากาศขึ้น เป็นศาสตร์ที่เกิดจากความจำเป็นทางการเมือง เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติในท้องถิ่นด้วยวิสัยทัศน์แบบสากล
โดยนัยเดียวกัน สภาพแวดล้อมของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็กระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์หันมาสนใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและความเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและการใช้ทรัพยากร โดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่หามาได้โดยเทคโนโลยีใหม่ในขณะนั้น ได้แก่ การถ่ายภาพ
Eduard Bruckner นักธรณีวิทยาชาวเยอรมันแห่งมหาวิทยาลัยเวียนนาได้ถ่ายภาพเพื่อเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำและกระแสน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบ ฤดูเก็บเกี่ยวองุ่น ผลผลิตด้านธัญพืช และการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งผ่านยุโรปตอนกลาง ซึ่งทำให้เกิดฐานข้อมูลวงจรสภาพภูมิอากาศ 35 ปีที่สามารถนำมาใช้ในการทำนายสภาพภูมิอากาศของจักรวรรดิได้
ศูนย์กลางความรู้เชิงสภาพภูมิอากาศแบบใหม่นี้ก่อให้เกิดศูนย์บริการข้อมูลสภาพอากาศในหลายประเทศและภูมิภาค ตัวอย่างเช่น เราสามารถสืบย้อนหลังเหตุการณ์การเข้าไปตั้งอาณานิคมในทวีปอาฟริกาของมหาอำนาจตะวันตกในปลายศตวรรษที่ 19 โดยการดูจากวันที่วันแรกที่มีการบันทึกไว้ว่าเกิดการเก็บข้อมูลเชิงอุตุนิยมวิทยาในทวีป และการขยายตัวของจักรวรรดิอังกฤษทางน้ำก็ทำให้การศึกษาสภาพภูมิอากาศได้รับการเผยแพร่ไปยังทวีปและเกาะแก่งต่าง ๆ เกิดเป็นสถานีเก็บข้อมูลอากาศขึ้น
หนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้แก่ Sir Gilbert Walker อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาในอินเดียช่วงปี 1903-1920 เขาได้ใช้ข้อมูลอากาศที่เก็บมาจากอาณานิคมที่มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้นของจักรวรรดิอังกฤษและส่งโทรเลขมายังออฟฟิศของเขาที่กรุงเดลี ดังนั้น Walker จึงกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างความเชื่อมโยงทางข้อมูลอากาศจากทั้งสี่ทวีปทั่วโลก
การปรับปรุงเครื่องมือ วิธีการเก็บข้อมูล และระบบหน่วยวัดให้ได้มาตรฐาน เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ศาสตร์นั้น ๆ กลายเป็นที่ยอมรับ เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอากาศผ่านทางโทรเลขกันอย่างรวดเร็วและจำนวนมากขึ้น จักรวรรดิจึงต้องหาเครื่องมือที่จะมากำหนดมาตรฐานการวัดค่าต่าง ๆ
การประชุมครั้งแรกของ International Meteorological Congress (IMC) ซึ่งเป็นองค์กรดั้งเดิมของ UN’s World Meteorological Organisation (WMO) ในปัจจุบัน ได้จัดขึ้นในกรุงเวียนนา ที่ตั้งของราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก ในปี 1873 IMC มีเป้าหมายที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่การแลกเปลี่ยนข้อมูลอากาศข้ามพรมแดน โดยประธานคนแรกได้แก่ C.H.D. Buys Ballot นักอุตุนิยมวิทยาชาวดัตช์ ได้สรุปแนวคิดของเขาไว้ว่า “เครือข่ายการเฝ้าสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลอากาศทั่วโลก การแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวข้ามพรมแดน และการกำหนดมาตราวัดอันเป็นมาตรฐานเดียวกันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านั้น”
โดยนัยเดียวกัน The International Cloud Atlas ที่ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกในปี 1896 ภายใต้ความรับผิดชอบของ Hugo Hilderbrandsson, Albert Riggenbach, และ Leon Teisserence de Bort จาก IMC พบว่ามี “กลิ่นอายของอำนาจจักรวรรดิพาดผ่านบนอากาศ เช่นเดียวกับที่รางรถไฟและสายโทรเลขพาดผ่านแผ่นดิน”
เป้าหมายของ Atlas คือการนำเสนอข้อมูลจากทั่วทุกมุมโลก และสนับสนุน “การศึกษารูปแบบและการเคลื่อนที่ของเมฆโดยใช้ข้อมูลสังเกตการณ์จากสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก”
ต่อไปนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจของจักรวรรดิทำให้เกิดศาสตร์ใหม่แห่งการศึกษาสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร และศาสตร์นี้ช่วยให้การค้า การตั้งอาณานิคม และการเกษตรเขตร้อนของจักรวรรดิเป็นไปอย่างราบรื่นได้อย่างไร
การรวมศูนย์ความรู้สภาพภูมิอากาศขึ้นสู่จุดสูงสุดในจักรวรรดิอังกฤษ สถานีเฝ้าสังเกตการณ์อากาศของอังกฤษกระจายไปทั่วเส้นทางการค้าและอาณานิคมของตน ซึ่งก่อให้เกิดเครือข่ายเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความรู้ขึ้น ดังนั้นอังกฤษจึงได้สร้างอาณาจักรแห่งเครือข่ายอุตุนิยมวิทยาที่มีขนาดเทียบเท่ากับเครือข่ายของ IMC ขึ้น เนื่องจากอังกฤษมีอาณานิคมอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในโลก ข้อมูลอากาศของอังกฤษจึงครอบคลุมทุกรูปแบบ อุตุนิยมวิทยาของอังกฤษสามารถลบ “อคติของชาวตะวันตก” ที่มีอยู่แต่เดิมได้
ด้วยการจัดประชุมอุตุนิยมวิทยาในปี 1919, 1929, และปี 1935 นักวิทยาศาสตร์ของจักรวรรดิอังกฤษสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาสภาพภูมิอากาศทั่วโลกขึ้นมาเองได้ ต่อมาถูกใช้เป็นทางลัดที่นำไปสู่วิทยาศาสตร์สากล โดยมีอุตุนิยมวิทยาเป็นแหล่งความรู้ใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการบินและการเกษตรเป็นหัวหอกนำร่อง

ภาพประกอบโดย https://www.livescience.com/cold-war

จักรวรรดิยุโรปได้สร้างสถานีเก็บข้อมูลอากาศ สายงานปกครองด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสื่อสารที่ครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดทฤษฎีสภาพดินฟ้าอากาศขึ้นมากมายในยุคจักรวรรดินิยมนี้
วิถีดั้งเดิมของมนุษย์ในการเข้าใจสภาพดินฟ้าอากาศด้วยการเดาสุ่มหรือภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาเริ่มถูกแทนที่โดยอุตุนิยมวิทยาในโลกตะวันตก หมู่ผู้ทรงปัญญาเริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดในที่ต่างกันได้ อย่างเช่นเมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ Gilbert Walker ถึงกับกล้าหาญใช้คำว่า “ภูมิอากาศโลก” เราจึงเข้าใจได้ว่า การเกิดแนวคิดระบบภูมิอากาศโลกนั้นคือผลงานของจักรวรรดิยุโรป ด้วยการรวบรวมข้อมูลระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการทหาร การค้า และการขยายเมือง
ถึงแม้ว่าแนวคิดสภาพภูมิอากาศจะขยายไกลเกินกว่าความเป็นชาติหรือจักรวรรดิ แต่ทรัพยากรทางอุตุนิยมศาสตร์ก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ

ยุคสงครามเย็น

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้จักรวรรดิออสเตรียน-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมันสิ้นสุดลง และจบความหวังของเยอรมันและรัสเซียในการตั้งจักรวรรดิใหม่ และสงครามโลกครั้งที่สองที่ตามมาก็ยิ่งทำให้มหาอำนาจในยุโรปที่เหลืออย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์อ่อนแอลง
การอุปถัมภ์ของจักรวรรดิเหล่านี้ต่อนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสภาพภูมิอากาศถูกแทนที่ด้วยขั้วอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นหลังสงคราม อันได้แก่สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา
ภายหลังปี 1945 การศึกษาสภาพภูมิอากาศได้รับอิทธิพลจากสองขั้วอำนาจนี้เป็นอย่าง และแนวทางการศึกษาสภาพภูมิอากาศอย่างมีพลวัตก็เข้ามาแทนที่การศึกษาแบบเก็บสถิติในช่วงสงครามเย็นนี้เอง
ความต้องการของกองทัพในยุคสงครามโลกครั้งที่สองกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองช่วงสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และตั้งความหวังกับการค้นพบวิทยาศาสตร์ที่สูงมาก หรือที่ Erickson เรียกว่าเป็น “หลักเหตุผลแบบสงครามเย็น”
ทั้งอเมริกาและโซเวียตในขณะนั้นได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลและเพิ่มบทบาทหน้าที่และความคาดหวังต่อนักวิทยาศาสตร์ของตน
นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์แสดงให้เราเห็นถึงอิทธิพลของสงครามเย็นที่มีต่อความก้าวหน้าของวิชาฟิสิกส์ สมุทรศาสตร์ สิ่งแวดล้อมศาสตร์ ไปจนถึงชีววิทยาและจิตวิทยา
ความเป็นปรปักษ์ระหว่างขั้วอำนาจทั้งสองและความเห็นต่างในอุดมคติประกอบขึ้นเป็นชุดความรู้ที่ใช้ทำความเข้าใจข้อเท็จจริงต่าง ๆ การแข่งขันการทหารส่งผลกระทบต่อทุกวัฒนธรรมทั่วโลก ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์กลายเป็นข้อกังวลสำคัญที่ผู้นำการเมืองและทางทหารจะทำความเข้าใจผลกระทบสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากสงครามนิวเคลียร์ได้อย่างถ่องแท้นั้น
พวกเขาจะต้องเข้าใจระบบภูมิอากาศโลกเสียก่อน แนวคิดใหม่ที่เกี่ยวกับโลกภายใต้ความเสี่ยงต่อสงครามนิวเคลียร์นี้ก่อให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และให้โอกาสแก่นักวิจัย “ผู้ที่มีความสามารถพอที่จะสร้างเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์โดยเน้นที่ฟิสิกส์และธรณีวิทยาเพื่อทำให้ประเทศเกิดความได้เปรียบในสงครามเย็น”
ช่วงปี 1957-1958 เป็นปีแห่งธรณีฟิสิกส์นานาชาติที่เกิดวิสัยทัศน์วิทยาศาสตร์ใหม่ด้านการวิจัยสภาพดาวเคราะห์โลก ทว่าความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาตินี้ยังพ่ายแพ้ให้แก่ความเป็นปรปักษ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของประเทศสองขั้วอำนาจทางการเมืองและการทหารโลก
สภาพแวดล้อมในสงครามเย็นทำให้เกิดเทคโนโลยีหลายประการได้แก่ดาวเทียม อากาศยานตรวจอากาศ โซนาร์ และเครื่องมือน้ำลึก เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้มนุษย์ได้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศจำนวนมาก จนสามารถพัฒนาแผนที่ภูมิอากาศจากเดิมที่เป็นสองมิติให้กลายมาเป็นสามมิติที่ครอบคลุมลงไปถึงใต้ทะเลและขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ
มีการสร้างเครื่องมือใช้วิเคราะห์ข้อมูลและสร้างแบบจำลอง เช่นการวิเคราะห์ไอโซโทปและคอมพิวเตอร์ ทำให้มนุษย์เริ่มเข้าใจวัฏจักรคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรและกระบวนการทางชีววิทยา และนำไปปรับปรุงแบบจำลองสภาพภูมิอากาศได้
ความสนใจในวัฏจักรคาร์บอนของมนุษย์เกิดจากคำถามที่ว่าทำไมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจึงเพิ่มสูงขึ้น การทำความเข้าใจขนาดของแหล่งปล่อยและดูดซับคาร์บอนบนโลกจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น สัญชาตญาณของนักวิทยาศาสตร์ได้บอกพวกเขาว่าจะต้องมีแบบจำลองภูมิอากาศไว้เพื่อการพยากรณ์และควบคุมสภาพภูมิอากาศโลก
คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตจากสงครามโลกครั้งที่สองช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณสมการซับซ้อนมากขึ้น ที่ต้องใช้อธิบายสภาพดินฟ้าอากาศอากาศได้
การพัฒนาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลกด้วยคอมพิวเตอร์ในยุค 1960 กระตุ้นความทะเยอทะยานที่จะริเริ่มโครงการทางการเมืองต่าง ๆ ตามมาอีกมาก รวมถึงโครงการที่มีคุณค่าที่สูงอย่างการพยากรณ์อากาศและการประเมินความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
แนวความคิดข้อหลังนี้ดึงดูดใจประเทศมหาอำนาจเป็นอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความขัดแย้งทางทหารที่แวดล้อมสังคมโลกอยู่ ตัวอย่างเช่นในปี 1960 โซเวียตได้เผยแพร่หนังสือชื่อ Methods of Climate Control ที่เขียนโดย Nicolai Rusin และ Lila Flit กล่าวถึงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโซเวียตที่สามารถควบคุมสภาพภูมิอากาศเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้แต่งได้เสนอเทคโนโลยีเพื่อการควบคุมสภาพภูมิอากาศขึ้นสองประการ ประการแรกได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาคโดยใช้ระบบระบายน้ำชลประทาน และการปลูกป่าพื้นที่ขนาดใหญ่
อีกประการหนึ่งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับท้องถิ่นโดยการใช้กระบวนการทางบรรยากาศเช่น การสร้างเมฆเทียม การกำจัดพายุลูกเห็บ และการเปลี่ยนเส้นทางไหลของแม่น้ำ

ภาพประกอบโดย Mike Hulme

การเกิดมุมมองมนุษย์ต่อภูมิอากาศโลกว่าเป็นเหตุการณ์เดียวที่เชื่อมโยงกันและสามารถทำนายได้นั้นทำให้มนุษย์เกิดจินตนาการด้านอื่น ๆ ด้วย
ตัวอย่างเช่นทำให้ James Lovelock คิดค้นทฤษฎีไกอาได้ในปี 1970 และถึงแม้ว่าทฤษฎีนี้ยังคลุมเครืออยู่มากสำหรับนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม แต่ทฤษฎีไกอาก็มีอิทธิพลต่อการรณรงค์สิ่งแวดล้อม
ไกอาใช้การเปรียบเทียบเพื่อเสนอแนวคิดโลกเป็นหนึ่งเดียว และรวมวิชาต่าง ๆ ตั้งแต่อุตุนิยมวิทยา ชีวเคมี ชีววิทยา และศาสตร์อื่น ๆ ที่ซับซ้อนสูง Lovelock ถือว่าดาวเคราะห์โลกเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ประกอบขึ้นด้วยสรรพชีวิตที่หลากหลายและระบบนิเวศที่มีปฏิสัมพันธ์กัน
แนวคิดนี้มาบรรจบกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกเพื่อใช้ตรวจวัดสภาพดินฟ้าอากาศทั่วโลก และศาสตร์แห่งระบบโลกก็ได้เกิดขึ้นในปี 1986 เมื่อนาซ่าได้เผยแพร่รายงานภูมิอากาศโลกเป็นครั้งแรก
ศาสตร์แห่งระบบโลกนำเสนอภาพรวมของสภาพภูมิอากาศโลกที่สามารถทำจำลอง วัดค่า พยากรณ์ (และแม้แต่ควบคุม)ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
นาซ่าได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอากาศเชิงปริมาณอย่างเป็นระบบเพื่อพยากรณ์โดยใช้แบบจำลองจากคอมพิวเตอร์
เช่นเดียวกับยุคจักรวรรดิยุโรป การเมืองยุคสงครามเย็นได้เตรียมพร้อมนักวิทยาศาสตร์ในการเข้าใจปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันไว้เป็นอย่างดี
ความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์แห่งระบบโลกและการทหารและความเสี่ยงต่อสงครามนิวเคลียร์ได้วางพื้นฐานแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลายเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงโลกในยุค 1980
กรอบแนวคิดนี้ได้ฉีกแนวความคิดเดิมๆเมื่อกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน นำโดย Carl Sagan ได้นำเสนอสมมติฐานเกี่ยวกับฤดูหนาวนิวเคลียร์อันยาวนานที่อาจเกิดขึ้นถ้าสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตทำสงครามนิวเคลียร์กัน สมมติฐานนี้แพร่หลายมากในอเมริกาและยุโรปตะวันตกซึ่งใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลกเพื่อการพยากรณ์อากาศ
การอุปถัมภ์โดยสหประชาชาติ
ในช่วงปี 1980 ความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ยุโรปและอเมริกันและองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงผลกำไรในโลกตะวันตกเริ่มให้ความสำคัญต่อภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ว่าเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมเทียบเท่ากับสงครามนิวเคลียร์
แนวป่าที่หดตัวลงเป็นลำดับในภูเขาแถบประเทศออสเตรียทำให้ภาวะโลกร้อนมีความเร่งด่วนและมองข้ามมิได้ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์
เมื่อความเสี่ยงจากสงครามนิวเคลียร์หมดไปในปลายทศวรรษที่ 1980 อันเนื่องจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น ความเสี่ยงอย่างใหม่ก็เข้ามาแทนที่ ได้แก่ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ความเกรงกลัวต่อความเสี่ยงชนิดนี้ได้เข้ามามีบทบาทในจิตวิทยาการเมืองระหว่างประเทศแทนที่สงครามนิวเคลียร์ ในทศวรรษที่ผ่านมา แบบจำลองพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบแรกถูกนำมารณรงค์โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซอย่างเร่งด่วน รัฐบาลของประเทศตะวันตกต่างเริ่มตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่ไม่ได้เกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติหรือจากผลกระทบที่มนุษย์กระทำต่อแผ่นดินในระดับท้องถิ่นตามความเชื่อดั้งเดิมอีกต่อไป แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิอากาศโลก ที่เกิดจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิลโดยระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและลัทธิบริโภคนิยม
ความสำคัญของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้รับการอภิปรายเป้นครั้งแรกในการประชุมนานาชาติ ณ กรุงโตรอนโต้ ในเดือนมิถุนายน 1988 การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศโลกนี้เกิดขึ้นในขณะที่อำนาจของสหภาพโซเวียตเริ่มถดถอยลงและ 18 เดือนก่อนหน้าการทำลายกำแพงเบอร์ลิน โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆเช่นผู้นำทางการเมือง นักวิทยาศาสตร์ และ NGO เราสามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในความกังวลของประชาคมโลกจากสงครามนิวเคลียร์สู่ภาวะโลกร้อนในการประชุมได้ โดยมติที่ประชุมสรุปว่าภาวะโลกร้อนเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อความมั่นคงของโลก และขอให้ผู้นำประเทศต่างๆลงมือแก้ไขปัญหาโดยด่วน ต่อมาในปี 2007 ภาวะโลกร้อนกลายเป็นวาระที่เป็นทางการในการประชุม UN Security Council แต่เป็นการประชุมที่โตรอนโต้ซึ่งกระตุ้นให้สหประชาชาติก่อตั้งสถาบันที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาโลกร้อนระดับนานาชาติได้แก่ IPCC ในปี 1988 และ UNFCCC ในปี 1922
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เครือข่ายความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์เริ่มก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 1990 เพื่อป้องกันการ “สิ้นสุดของอารยธรรม” ความร่วมมือระดับนานาชาติหลังยุคสงครามเย็นที่ผ่านมากลายเป็นภาพลวงตาของการมองโลกในแง่ดีเกินไป แต่ IPCC ก็ได้ขึ้นมาแทนที่ในการบริหารจัดการองค์ความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนในระดับนานาชาติ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมพบว่าความอุปถัมภ์อย่างใกล้ชิดโดยกองทัพสหรัฐฯและโซเวียตที่ผ่านมานั้นถูกแทนที่โดยผู้อุปถัมภ์รายใหม่ ซึ่งได้แก่สหประชาชาติ ถึงแม้ว่าการศึกษาสภาพภูมิอากาศสำหรับสหประชาชาตินั้นจะเป็นหน้าที่ มิใช่การชี้นำนโยบายโดยตรง (สร้างองค์ความรู้ที่เป็นกลาง) IPCC ไม่สามารถนำเสนอมุมมองที่ไม่มีพื้นฐานรองรับได้ ศาสตร์แห่งสภาพภูมิอากาศแนวใหม่นี้อาจไม่ได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากวอชิงตันหรือมอสโก แต่การประเมินโดย IPCC ก็นำเสนอแง่มุมของภาวะโลกร้อนจากศูนย์กลางอำนาจที่วิทยาศาสตร์ที่มีมาก่อนหน้านี้ได้แก่อเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ยังกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเดิม ถึงแม้ว่าจะมีการแพร่กระจายตัวออกไปเล็กน้อย

ภาพประกอบโดย Mike Hulme

จากที่เราได้เห็นมาแล้วว่าแนวคิดวิทยาศาสตร์ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นก่อน IPCC อย่างไรก็ตาม ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา IPCC ได้กำหนดกรอบความคิดเรื่องภาวะโลกร้อนให้แก่ภูมิรัฐศาสตร์และความคิดของคนทั่วไป โดย IPCC ได้เผยแพร่รายงานประเมินทุกๆ 5-8 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา
IPCC พัฒนาบทบาทที่สำคัญต่อสาขาวิชาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกผ่านการประชุมระดับนานาชาติ รวมถึงการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ การระดมทุนสาธารณะ การพัฒนาองค์ความรู้ การผลิตผู้เชี่ยวชาญ และการวางกรอบการเมืองการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
หนึ่งในหลักเหตุผลที่สนับสนุนการก่อตั้ง IPCC ได้แก่การสนับสนุนให้มีการประเมินทางวิทยาศาสตร์ต่อภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในการกระทำเช่นนี้ IPCC ได้เก็บข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อพัฒนาศาสตร์แห่งระบบโลกและแบบจำลองภูมิอากาศขึ้น
ภายใต้การอุปถัมภ์ของ IPCC นั้น นักวิชาการได้ออกแบบแนวคิด เครื่องมือ และเทคโนโลยีทางสังคมที่ซับซ้อนเพื่อสนับสนุนทฤษฎีสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคต
การพัฒนาเช่นนี้ยกระดับศาสตร์แห่งสภาพภูมิอากาศทั่วโลกขึ้นเทียบเคียงสาขาวิชาสำคัญ ๆ ที่ใช้ระบบ Big Data อย่างฟิสิกส์ นิวโรไซน์ ดาราศาสตร์ และจีโนม
หัวใจของการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพก็คือการสร้างแบบจำลองระบบคอมพิวเตอร์ ระบบโลกที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพยากรณ์อากาศ
IPCC ได้เริ่มใช้แบบจำลองเชิงเปรียบเทียบเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและการยอมรับให้แก่แบบจำลอง
การนำเอาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกันนี้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1990 ในโครงการ Atmospheric Model Intercomparison Project (AMIP1) ซึ่งได้รับการพัฒนามาจนกลายเป็น CMIP6 (โครงการเปรียบเทียบแบบจำลองภูมิอากาศรุ่นที่ 6) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และมีการนำโครงการนี้ไปประยุกต์ใช้ในการคำนวณเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น แบบจำลองระบบนิเวศ ผลผลิตทางการเกษตร การแก้ปัญหาโลกร้อนโดยวิธี Geoengineering และการประเมินสภาพอากาศ
ในการพัฒนาแบบจำลองเพื่อการพยากรณ์สภาพอากาศนั้น แบบจำลองระบบโลกจะต้องมี Scenarios หรือสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคตต่าง ๆ เพื่อให้แบบจำลองทำการทดสอบและคำนวณหาผลลัพธ์
ดังนั้น IPCC จึงให้ความสำคัญแก่การสร้าง Scenarios เป็นพิเศษทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
Scenarios ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ Special Report on Emissions Scenarios (SRES) ที่เผยแพร่ในปี 2000 ที่นำไปสู่การพัฒนา AR3-AR6 ตามลำดับมาจนถึงปี 2018
SRES สร้างขึ้นโดย IPCC การนำเอา Scenario ไปประยุกต์ใช้กับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหลายประการ
นอกเหนือจากแบบจำลองและ Scenario แล้ว IPCC ยังได้สร้างทฤษฎีวิทยาศาสตร์อื่น ๆ อีก ตัวอย่างเช่น Global Warming Potentials, Net-zero emissions, และต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน และเผยแพร่การใช้แบบจำลอง Integrated Assessment Models (IAMs)
นวัตกรรมการศึกษาภาวะโลกร้อนเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากความต้องการของ IPCC ที่จะสร้างแหล่งรวมความรู้สำหรับนักออกแบบนโยบาย
การทำให้เกิดมติเห็นพ้องต้องกันก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของการประเมินความรู้ของ IPCC แต่คำถามที่สำคัญได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญใด ในสาขาวิชาใด จะลงมติได้อย่างไร เวทีเพื่อการลงมตินี้หมายความว่า IPCC ได้เปิดรับข้อวิจารณ์จากสาธารณชนเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความรู้ดังกล่าว โดยอ้างว่า IPCC นั้นถ้าไม่หัวอนุรักษ์นิยมเกินไปก็ตื่นตระหนกเกินไป
การแสวงหามติอาจทำให้ IPCC ต้องออกแถลงการณ์ที่คลุมเครือหรือน่าเบื่อ นอกจากนี้ การแสวงหามติอาจทำให้ความเห็นของชนกลุ่มน้อยที่มีต่อภาวะโลกร้อนไม่ได้รับความสนใจหรือลดทอนความสำคัญของคำถามที่อาจได้รับการพิจารณาว่าก่อให้เกิดอคติมากเกินไปสำหรับการแสวงหามติ แต่เหมาะสำหรับการหาความเห็นที่มีความหลากหลายและการอภิปราย
IPCC ยังได้นิยามคำว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ” ดังนั้นจึงหมายความว่า IPCC กำหนดว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นไรจึงจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ และเราจะหาผู้เชี่ยวชาญสภาพภูมิอากาศได้จากที่ใด
มีนักวิชาการและสถาบันเพียงหยิบมือที่เป็นผู้เขียนรายงาน IPCC ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และเศรษฐศาสตร์มักได้รับการสนับสนุนมากกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์
อคติเช่นนี้พบในระดับสถาบันเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาโดย Corbera แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของนักวิชาการที่มาจากซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ในรายงาน Working Group 3 ของ AR5 ซึ่งว่าด้วยทางเลือกของการอพยพ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนเล็กน้อยที่คัดเลือกโดย IPCC มักมาจากสถาบันในอังกฤษหรืออเมริกาที่เป็นสถาบันฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญของ IPCC
การศึกษานี้เผยให้เห็นถึงจำนวนผู้เชี่ยวชาญเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างขาดความสมดุลต่อรายงานประเมินของ IPCC เรื่องการอพยพที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้เรายังพบอคติเช่นนี้ในคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการคัดเลือกอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Gay-Antaki กับ Liverman แสดงให้เราเห็นว่าการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญเพศหญิงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก คือร้อยละ 5 ใน AR1 (ปี 1990) เป็นร้อยละ 25 ใน AR5 (ปี 2014) นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญเพศหญิงของ IPCC ยังให้สัมภาษณ์ว่าความคิดเห็นของพวกเธอมักไม่ได้รับความสนใจหรือรวมไว้ในรายงาน IPCC
นอกจากเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศแล้วยังพบอุปสรรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอคติเช่น เชื้อชาติ สัญชาติ ความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษ และสาขาวิชา
IPCC มิได้มีเพียงอิทธิพลต่อการใช้วิทยาศาสตร์ในการทำนายสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องการพยากรณ์โดยใช้เครื่องมือทางนโยบาย IPCC ได้ตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกิจ “เพื่อใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ช่วยรัฐบาลต่าง ๆ กำหนดนโยบายที่เป็นกลาง” ของตนเองด้วยตนเองมาเป็นเวลานาน
แต่เราก็ได้เห็นมาแล้วว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็หมุนเวียนอยู่ในแวดวงเดิม การพัฒนา Scenario และการประยุกต์ใช้แนวคิดอย่างต้นทุนคาร์บอนและ net-zero สามารถส่งอิทธิพลต่อนโยบายได้ ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางร้ายก็ตาม
ในปี 2015 นาย Hoe Sung Lee ประธาน IPCC คนใหม่ได้ออกมาเรียกร้องให้รายงานประเมิน IPCC ลดการอ้างความรู้ที่มีอยู่แล้วลงและเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับการประเมินและแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น

ภาพประกอบโดย https://climate.selectra.com/en/carbon-footprint/ipcc

สถาบันอย่าง IPCC จะต้องมีเส้นแบ่งระหว่างการโน้มน้าวผู้ฟังในเรื่องของศาสตร์และการเมืองอยู่เสมอ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเส้นแบ่งนี้จะถูกลบและขีดใหม่เสมอ
การขีดเส้นแบ่งใหม่นี้ทำให้มีผู้เข้าร่วมอภิปรายจากทั้งสองฝั่งของเส้นแบ่ง และบ่อยครั้งทำให้เกิดสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเรียกว่า “วัตถุแห่งเส้นแบ่งเขต” ซึ่งได้แก่เครื่องมือหรือองค์ความรู้ที่ถูกนำมาใช้โดยสังคมที่ต่างกันเพื่อวัตถุประสงค์ต่างกันอย่างมีความยืดหยุ่น
ตัวอย่างเช่นเป้าหมายอุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียสเป็นวัตถุแห่งเส้นแบ่งเขตที่ขีดคร่อมอยู่บนโลกแห่งวิทยาศาสตร์และการเมืองไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางการพัฒนาของทั้งสองฝั่ง
เช่นเดียวกันกับที่ IPCC มีอิทธิพลต่อการเมืองเรื่องภาวะโลกร้อนและวิถีแห่งอนาคตของสภาพภูมิอากาศโลกไปพร้อมกันสนับสนุนและพึ่งพา IAMs แบบจำลองเหล่านี้คำนวณแนวโน้มอนาคตที่เป็นไปได้หากเราสามารถควบคุมอุณหภูมิผิวโลกไม่ให้สูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสโดยใช้เทคโนโลยีดูดซับคาร์บอนแต่เพียงอย่างเดียว
การพยากรณ์อนาคตของสภาพภูมิอากาศโลกเช่นนี้จะส่งผลการเมืองระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกผ่านอิทธิพลต่อนโยบายประเทศต่าง ๆ ทั้งในทฤษฎีและปฏิบัติ


ลัทธิชาตินิยมเรื่องสภาพภูมิอากาศ

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สามสิบปีที่ผ่านมา IPCC มีบทบาทสำคัญในการนำความรู้ภาวะโลกร้อนมาสู่เวทีการเมือง สหประชาชาติ เป็นผู้ก่อตั้งและบริหาร IPCC ดังนั้นรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ (ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม) จึงสนใจถ้อยแถลงของ IPCC ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผู้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งหลายนอกเหนือไปจาก UNFCCC เช่นองค์กรพัฒนา ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน และกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็นำเอาข้อมูลในรายงาน IPCC มาใช้เป็นแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้
อย่างไรก็ตาม อำนาจทางกฎหมายของ IPCC ที่เกี่ยวกับความรู้สภาพภูมิอากาศโลกนั้นไม่ปกติ นักประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การเป็นเจ้าของความรู้วิทยาศาสตร์นั้นถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการของรัฐสมัยใหม่
อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างยุคของความรู้และการเมืองภาวะโลกร้อนของประเทศต่าง ๆ ทำให้เกิดคำถามต่อการขีดเส้นแบ่งพรมแดนทางการเมือง
บางประเทศได้วางหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาสภาพภูมิอากาศไว้กับองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่เดียวกันอย่าง IPCC แทนที่จะขึ้นตรงกับรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งแน่นอนว่าจะถูกคัดค้าน
บางประเทศไม่ยอมรับบทบาทหน้าที่ของ IPCC ในการตัดสินว่าอะไรคือความรู้ภาวะโลกร้อนในขอบเขตอธิปไตยของตนเอง
ความขัดแย้งนี้นี้นำมาสู่ลัทธิชาตินิยมสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนการพัฒนาพยากรณ์อากาศให้เป็นวาระแห่งชาติแทนที่จะรอข้อมูลและรายงานจาก IPCC แต่เพียงด้านเดียว นอกจากนี้นานาชาติยังพัฒนาแบบจำลองภูมิอากาศของตนเองขึ้นด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของความตึงเครียดระหว่างองค์กรศึกษาและพยากรณ์สภาพอากาศในระดับชาติและนานาชาตินั้นได้แก่กรณีของอินเดียในปี 2010 ความขัดแย้งนี้เกิดจากการต่อต้านความรู้ที่ได้รับจากเจ้าของอาณานิคมชาวตะวันตกมาอย่างยาวนาน โดยมีการตั้งข้อสงสัยต่อถ้อยแถลงที่ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ ในรายงาน AR4 ของ IPCC ที่เกี่ยวกับสภาพอนาคตของธารน้ำแข็งในอินเดียตอนเหนือ ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องตั้งศูนย์ประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของตนเองขึ้น
นอกจากนี้ กรณีเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน กล่าวคือ พบข้อผิดพลาดในรายงาน AR4 ที่เกี่ยวกับความเปราะบางของประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์ต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
การต่อต้านความรู้จากองค์กรระหว่างประเทศอย่าง IPCC ยังเกิดขึ้นในระดับที่สูงกว่าระดับประเทศ กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มักเปิดวิสัยทัศน์กว้างและมุมมองที่หลากหลายต่อประเด็นปัญหาดังนั้นจึงไม่ค่อยยอมรับความรู้ที่รวมศูนย์อย่างรายงาน IPCC
ตัวอย่างเช่นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสังคมอย่าง Extinction Rebellion ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะอนุรักษ์นิยมและสงวนท่าทีจนเกินไปในรายงาน IPCC ทำให้เกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลของตนออกมาพูดความจริงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นท่าทีแสดงออกว่า รายงาน IPCC มิได้พูดความจริงทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา
ในทางตรงข้าม องค์กรนักพัฒนาความรู้อย่าง Libertarian Heartland Institute แห่งรัฐชิคาโก้ได้กล่าวหานักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับ IPCC (และ IPCC เอง) ว่าถูกครอบงำโดยนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมหัวเสรีนิยม และทำให้ Libertarian Heartland Institute เผยแพร่รายงานล้อเลียนรายงานของ IPCC ในปี 2010 ชื่อ NIPCC (Nongovernmental IPCC)
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่มีองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นรายงาน IPCC หรือรายงานจากประเทศเจ้าของพื้นที่ หรือจากภาคประชาสังคมเองก็ตาม
รายงานประเมิน IPCC ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในแวดวงองค์กรระหว่างประเทศจึงกลายมาเป็นสนามแข่งขันระหว่างผู้ที่ต้องการอ้างว่าความรู้ของตนนั้นถูกต้องเพียงพอสำหรับการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในประเทศของตน
ดังนั้นคำกล่าวอ้างด้านความถูกต้องสมบูรณ์ขององค์ความรู้ที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศโดยกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ก็ยังคงต้องต่อสู้กันต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การเมืองเรื่องสภาพภูมิอากาศและความตึงเครียดระหว่างเจ้าของความรู้สภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

Scroll to Top