THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

กฤษฎา บุญชัย
20 มิถุนายน 2022

ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต่างพากันรณรงค์ให้คนในสังคมตื่นตัวและมีส่วนร่วมในกอบกู้วิกฤติปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในการตั้งรับ ปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อน ด้วยหลากหลายวิธีการ เช่น การประหยัดพลังงานในชีวิตประจำวัน การลดใช้พลาสติก การลดบริโภคเนื้อสัตว์ การปลูกต้นไม้ การใช้พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งวิธีทั้งเหล่านี้ล้วนมุ่งหมายให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำอย่างยิ่ง

แต่พร้อม ๆ กับที่รณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปร่วมแก้ปัญหา แต่รัฐก็ไม่เคยทำให้สังคมเข้าใจชัดเจนว่า ต่อให้ประชาชนตื่นตัวและดำเนินการดังกล่าว ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะในความจริงสาเหตุหลักการปล่อยก๊าซฯ ไม่ได้มาจากวิถีชีวิตประชาชนทั่วไป เท่ากับโครงสร้างของปัญหาที่มีการรวมศูนย์และขาดความเป็นธรรม

เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2565 เครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) จึงข้อเสนอว่า สังคมไทยควรพุ่งเป้าไปที่รากฐานปัญหาสำคัญและพัฒนาทางออกต่อปัญหา ดังนี้

1) ให้ความสำคัญกับการป้องกัน แก้ปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบและการปรับตัวของคนเปราะบาง และประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับแรก ด้วยการช่วยเหลือ ฟื้นฟู ส่งเสริมการปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในเวลานี้ผลกระทบขยายตัวไปมากทั้งชุมชนท้องถิ่น ชาวนาชาวไร่ คนจน ผู้หญิง แรงงาน ฯลฯ โดยได้รับผลกระทบทั้งจากภัยพิบัติธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมระบบนิเวศที่กระทบต่อการดำรงชีพ การผลิต ปัญหาเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาฐานทรัพยากรต้องตกต่ำ ปัญหาสุขภาพ การเคลื่อนย้ายแรงงาน ฯลฯ

ท้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาล ทุกฝ่ายที่มุ่งแก้ปัญหาวิกฤติโลกร้อนจะต้องทุ่มพลังช่วยเหลือให้คนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งด้วยการออกแบบระบบการเข้าถึงจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างสวัสดิการทางสังคม การจัดการภัยพิบัติ การเข้าถึงและจัดการข้อมูลข่าวสารเพื่อเตือนภัยล่วงหน้าแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และตั้งรับปรับตัวได้ทัน เพราะในสภาวะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก ปัญหาเรื่องผลกระทบและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) จึงมีความสำคัญกว่าการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) แต่กลับเป็นว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกลับละเลยความสำคัญของการส่งเสริมชุมชน สังคมในการตั้งรับปรับตัวเท่าที่ควร

การเผาป่า ที่มาภาพ : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

2)เร่งยุติพลังงานฟอสซิลและสร้างธรรมาภิบาลพลังงาน ในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดคือ ภาคพลังงาน และภาคพลังงานของไทยในขณะนี้เป็นระบบที่สร้างปัญหาและผลักภาระให้แก่สังคมมากที่สุด จากการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงานเชื่อมโยงทั้งภาครัฐและเอกชน ดังเช่น ในการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่กำลังยกร่างก็ยังอยู่บนฐานพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก ทั้งถ่านหิน (คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติรับหลักการสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ หน่วยที่ 8-9 โดยอ้างว่ามีเทคโนโลยีในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ขาดความน่าเชื่อถือ) การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และอื่นๆ ทั้ง ๆ ที่ภาคพลังงานไฟฟ้าของไทยขณะนี้มีกำลังสำรองสูงถึงประมาณร้อยละ 60 และขณะนี้มีโรงไฟฟ้าเอกชนที่อยู่ในสัญญาแต่ไม่จำเป็นต้องเดินเครื่องถึง 7 โรงจาก 12 โรง เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าเพียงพอเกินความต้องการ และส่วนที่เกินความต้องการเหล่านี้ ประชาชนคนไทยยังต้องแบกภาระด้วยการจ่ายค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่รัฐกำหนดให้ขึ้นเป็นขั้นบันได

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ก็เพราะระบบพลังงานของไทยผูกขาดผลประโยชน์อยู่ที่กลุ่มทุนรายใหญ่และรัฐวิสาหกิจที่ยังต้องแสวงประโยชน์จากพลังงานฟอสซิล ดังนั้นหากไม่สามารถยุติการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในเร็ววัน และไม่กระจายอำนาจการจัดการพลังงานไปสู่สังคม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลจากพลังงานฟอสซิลก็ยังดำเนินต่อไป รัฐบาลไทยก็ไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิในปี 2050 ตามที่ประกาศไว้ได้ และการหันไปชดเชยการไม่ลดปล่อยก๊าซฯ อย่างจริงจังของภาคพลังงานด้วยการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนฯ ก็ไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรม และไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย

3) รื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม ปัญหาพื้นที่ป่าถูกทำลาย เสื่อมโทรม สาเหตุใหญ่คือการเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรเชิงพาณิชย์ (ไม่ใช่การทำนา ทำไร่ของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชาวนาชาวไร่ทั่วไป) พืชพาณิชย์สำคัญ เช่น ข้าว (ทำแป้ง) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ตลอดจนปลาตัวเล็กตัวน้อย ถูกแปลงมาเป็นอาหารสัตว์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมส่งออกเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์ของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่ลงทุนในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

ยิ่งโดยเฉพาะวิกฤติราคาอาหาร และความมั่นคงอาหารทั่วโลกในภาวะสงครามรัสเซียและยูเครน ผสานกับวิกฤติราคาน้ำมันพุ่งสูง ยิ่งทำให้ธุรกิจอาหารส่งออกของไทยเติบโตสร้างกำไรมั่งคั่งขึ้นไปอีกโดยที่ราคาอาหารของประเทศไม่ได้ถูกลงเลย แต่แลกด้วยระบบนิเวศ ระบบเกษตรพื้นบ้านถูกทำลาย ความสามารถในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกหายไป ประชาชนเผชิญกับความผันผวนนิเวศและภูมิอากาศเกินกว่าจะตั้งรับปรับตัว

อีกทั้งระบบเกษตรพาณิชย์เหล่านี้ที่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี (ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี) และปล่อยก๊าซมีเธนที่สร้างปัญหาสภาวะโลกร้อนรุนแรง ดังนั้นการที่ภาคทุนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรยังคงสูบทรัพยากรจากสาธารณะ สร้างความมั่งคั่งต่อไป คือตัวเหตุสำคัญของปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งภาครัฐและเอกชนยังไม่ทิศทางที่จะเข้ามากกำกับให้ระบบเกษตรและอาหารของประเทศมีความยั่งยืนและเป็นธรรม ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่าใดนัก

4) ทบทวนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐและเอกชนที่ทำลายระบบนิเวศ ทั้งโครงการพัฒนาที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรองรับได้ และปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม ทำลายความหลากหลายชีวภาพ ระบบนิเวศ เช่น โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก และที่กำลังเกิดขึ้น เช่น EEC หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ภาคใต้ โครงการผันน้ำยวม-ภูมิพล โครงการโขงเลยชีมูล การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลิกไนต์อย่างแม่เมาะ ไปจนถึงโรงไฟฟ้าชีวภาพ ขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งโครงการที่อ้างว่าเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม และมีความ “สะอาด” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย เช่น การสร้างเขื่อน การปลูกป่าเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ การสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งตลอดแนวชายหาด ฯลฯ เพราะทั้งหมดนี้คือการทำลายนิเวศธรรมชาติอย่างรุนแรงโดยตรงและทันที โดยไม่ต้องรอให้สภาวะโลกร้อนที่ค่อย ๆ ทำให้ระบบนิเวศปั่นป่วน ดังนั้นหากภาครัฐ เอกชนที่มุ่งจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ส่งเสริมสนับสนุน หรือไม่ตั้งคำถามต่อโครงการพัฒนาเหล่านี้ย่อมไม่อาจบอกได้ว่ามีความมุ่งมั่นในการ “รักษ์โลก” อย่างแท้จริง

5)พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองคาร์บอนฯ ต่ำ โดยให้เป็นสิทธิอันเท่าเทียมที่รัฐดำเนินการจัดการสวัสดิการให้ประชาชน เป้าหมายเพื่อให้เกิดเมืองที่มีความยั่งยืน พึ่งตนเอง คุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศของประชาชน และไม่ขยายตัวหรือดูดกลืนทรัพยากรจากชนบทมาป้อนเมืองให้เติบโตไม่สิ้นสุดเหมือนในปัจจุบัน รูปธรรมหลายด้านทั้งการส่งเสริมให้ประชาชน สามารถเข้าถึง พึ่งตนเองด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองให้ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอน พร้อมกับเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงอาหาร ป้องกันภัยพิบัติ ดูแลสุขภาพ นันทนาการแก่ประชาชน การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะพลังงานหมุนเวียน การสร้างตลาดสีเขียวให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ผลิตจากเกษตรที่ไม่สร้างผลประทบต่อโลกร้อน การจัดการขยะ น้ำเสีย ต่างๆ ให้ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การจัดสถานที่อยู่อาศัยให้รับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมและอื่นๆ ได้ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนมีสำนึกและดิ้นรนจัดการเอง เพราะจะมีแค่คนที่มีฐานะที่จะมีทางเลือกดำเนินการได้ แต่ต้องเป็นระบบสวัสดิการแห่งรัฐที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับ ซึ่งกิจกรรมสร้างเมืองสีเขียวต่างๆ ยังช่วยพัฒนาธุรกิจ สร้างรายได้แก่ประชาชนได้ด้วย เช่น พัฒนาช่างติดตั้งโซล่ารูฟ ธุรกิจชุมชนปั้มชาร์ตไฟฟ้าแก่รถไฟฟ้า ธุรกิจอาหารอินทรีย์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ไม่ใช้ปิโตรเคมี เป็นต้น

6)ปฏิรูปโครงสร้างกฎหมาย นโยบาย และกลไกนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืนและเป็นธรรม ด้วยการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น การสร้างระบบ กลไกคุ้มครองส่งเสริมสิทธิชุมชนต่อการจัดการนิเวศ ทรัพยากร การดำรงชีพ การผลิตให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ยังต้องกฎหมาย นโยบาย และกลไกที่ป้องกันการผูกขาดทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรม รูปธรรมปัญหาขณะนี้คือ ปรับแก้กฎหมายการจัดการป่าทุกฉบับ กฎหมายทรัพยากรน้ำ กฎหมายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ให้รองรับส่งเสริมสิทธิชุมชนและประชาชนอย่างรอบด้าน และมีนโยบายที่ชัดเจนในการดึงเอาผู้ใช้ประโยชน์จากบริการทางนิเวศที่ชุมชนได้ดูแลรักษาร่วมรับผิดชอบ สนับสนุนชุมชนให้มีความเข้มแข็งในการจัดการนิเวศเพื่อให้เกิดบริการนิเวศต่อชุมชนและต่อสาธารณะยิ่งขึ้นไป

7)ปฏิบัติการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมและแบบแผนการจัดการนิเวศ ทรัพยากร การผลิต การดำรงชีพที่เหมาะสมของชุมชนและประชาชน เช่น การจัดการดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างความมั่นคงอาหาร พัฒนาระบบเกษตรนิเวศ เกษตรยั่งยืน การจัดการพลังงานหมุนเวียน การจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นให้ก้าวหน้า ทั้งในด้านการตั้งรับปรับตัว การสร้างภูมิคุ้มกัน และเป็นแนวทางลด และดูดซับก๊าซเรือนกระจก และพัฒนานโยบาย มาตรการที่ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ มาสนับสนุนชุมชน เช่น มาตรการภาษี กองทุน ข้อมูลข่าวสาร การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานนิเวศ ฯลฯ นอกจากคุ้มครองและส่งเสริมให้แบบแผนที่ดีงามเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็ง รัฐ เอกชน ควรเรียนรู้และเอาต้นแบบที่ก้าวหน้าเหล่านี้ไปพัฒนาและขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

8)ยุติการนำเอาระบบตลาดคาร์บอนฯ ในรูปแบบคาร์บอนเครดิต และอื่นๆ มาบิดเบือนเป้าหมาย ความรับผิดชอบขององค์กร ภาคส่วนต่างๆ ในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฟื้นฟูระบบนิเวศ ชุมชนอย่างจริงจัง เพราะปัญหาของระบบตลาดคาร์บอนขณะนี้กำลังจะทำให้ภาคส่วนที่สร้างปัญหาปล่อยก๊าซเรือนกระจกขาดความมุ่งมั่นลดปล่อยก๊าซอย่างจริงจัง แต่หันไปใช้วิธีที่ถูกและง่ายที่สุดด้วยการไปลงทุนกับคาร์บอนเครดิต ที่เป็นระบบผลประโยชน์การค้าสิทธิการปล่อยคาร์บอนฯ มีตัวอย่างกลุ่มทุนระดับโลกหลายแห่งที่สั่งสมคาร์บอนเครดิตไปพร้อมกับการขยายการผลิตที่ทำลายนิเวศ ละเมิดสิทธิชุมชน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป แต่กลับสามารถ “ฟอกเขียว” ด้วยการใช้คาร์บอนเครดิตมาสร้างการยอมรับทางกฎหมายและสังคมว่าจะได้รับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อนแล้ว ดังนั้น การที่ภาครัฐและเอกชนมุ่งใช้แนวทางคาร์บอนเครดิตมาเป็นแนวทางหลัก จึงยิ่งสร้างความไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรมต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น

หากสังคมไทยทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของปัญหาและร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการกอบกู้วิกฤติโลกร้อนอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่สะเปสะปะ ทำให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นทั้งเรื่องวิถีชีวิตและเป็นโครงสร้างที่ต้องเร่งปฏิรูป เรายังมีหวังที่จะรอดพ้นวิกฤติการณ์อันเลวร้ายไปได้ และสามารถเปลี่ยนผ่านนิเวศของสังคมไทยให้สู่ความยั่งยืนและเป็นธรรม ลดผลกระทบปัญหา และมีภูมิคุ้มกันในการเผชิญความแปรปรวนจากสภาวะภูมิอากาศอย่างเข้มแข็งไปพร้อมกัน



Social Share