THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ดร.กฤษฎา บุญชัย
เลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาองค์กรเอกชน
ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

Thailand Climate Action Conference : TCAC
“การจัด ประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย”
6 สิงหาคม 2565

เมื่อวาน ผมได้กล่าวถ้อยแถลงตั้งคำถามต่อการจัดงาน Thailand Climate Action Conference (TCAC) ดังนี้ครับ

1. ปัญหาโลกร้อน สาเหตุจากทุนอุตสาหกรรมนิยมบนฐานพลังงานฟอสซิล ซึ่งน้องเกรต้า ธุนเบิร์ก ได้ชี้ว่า เรายังไม่มีระบบการเมืองและเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ที่แก้ปัญหาโลกร้อน แล้วเรายังแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยทุนนิยมคาร์บอนกระนั้นหรือ เราควรตั้งคำถามและหาคำตอบใหม่ที่ไปไกลกว่าทุนนิยม (กลไกตลาดคาร์บอน)

2) เวที TCAC ยังเป็นแค่เวทีกลุ่มธุรกิจคาร์บอน ขณะที่ปัญหาโลกร้อนกระทบต่อผู้คนมากมายทั้งชุมชนที่อยู่กับนิเวศ เกษตรกรรายย่อย คนเมือง กลุ่มเปราะบาง ชายขอบ ประชาสังคม แต่เวที TCAC ยังไม่ใช่เวทีแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้เปิดให้เสียงหลากหลาย ให้เกิดพื้นที่กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโลกร้อนได้มาพูดคุย นำเสนอ ถกแถลง (ไม่ใช่มาฟัง) เพื่อกำหนดเป้าหมาย ออกแบบนโยบายร่วมกัน

3) เวทีโลกร้อน มันควรมีพลังความห่วงใยและเนื้อหาสาระในการปกป้องโลก ระบบนิเวศธรรมชาติ ความหลากหลายชีวภาพ ความสูญเสีย เสียหายที่ผู้คนประสบ การปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกัน แต่ TCAC ยังอยู่แต่ธุรกิจที่กำลังไปอีกทาง ไม่ได้เชื่อมโยงกับเป้าหมายที่เราต้องเร่งผลักดัน

4) TCAC ยังไม่ได้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ทั้งความเป็นธรรมต่อนิเวศ ต่อประชาชน ต่อคนรุ่นถัดไป เรามีนโยบาย โครงการ อุตสาหกรรมมากมายที่ทำลายระบบนิเวศ ทรัพยากร ชีวิตผู้คน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำลังปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต แต่กำลังกระทบสิทธิการดำรงชีพ จัดการป่าของชุมชนในพื้นที่ป่า…

แต่กำลังบอกว่าเรากำลังบรรลุคาร์บอนเป็นกลาง…ซึ่งเป็นความย้อนแย้งมาก

5) รัฐกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่จริงจัง เราคาดการณ์ตัวเลขปล่อยก๊าซไว้สูงเกินจริงไปมาก ต่อให้เราลดก๊าซจากการคาดการณ์ที่ 555 MTC มา 40% ก็ไม่ได้ต่างไปจากที่เราปล่อยในปัจจุบัน เราไม่ได้พยายามอะไรเลย

ทางออกที่เราต้องสร้างคือ

1) รู้ร้อนรู้หนาว ต่อหายนะนิเวศ และความทุกข์ยากของผู้คนจากปัญหาโลกร้อนและความไม่เป็นธรรม เร่งช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา สร้างภูมิคุ้มกันการปรับตัว ปกป้องระบบนิเวศ และผู้คนอย่างจริงจัง

2) สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมประชาชนอย่างแท้จริง สร้างกระบวนสนทนาออกแบบนโยบายสาธารณะร่วมกัน

3) ผลักดันให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย โครงสร้าง การพัฒนา ธุรกิจ ไม่ให้ทำลายนิเวศ ประชาชน สร้างความยั่งยืนและเป็นธรรมนิเวศและสังคมให้เกิด

เมื่อเรามีเจตจำนงค์ที่ชัด มีเป้าหมายที่ถูกต้องบนความยั่งยืนและเป็นธรรม มีพลังสังคมขับเคลื่อนกว้างขวาง เราจึงจะกู้วิกฤติโลกร้อนได้ด้วยมือประชาชน


Social Share