THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Polina Shulbaeva
วันที่ 13 กรกฎาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Culturalsurvival.org
อ้างอิง https://www.culturalsurvival.org/…/indigenous-delegates…

หลังจากสามปีของการล็อคดาวน์เพื่อชะลอการระบาดของไวรัส Covid-19 การประชุม Subsidiary Body of Implementation (SBI) และการประชุม Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice (SBSTA) ครั้งที่ 56 ก็ได้จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุม World Convention Center ในเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 6-16 มิถุนายน 2022

การประชุมสองวาระนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UNFCCC) ที่จัดตั้งโดย Conference of Parties (COP) การประชุมย่อยนี้จัดขึ้นสองครั้งต่อปีเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาในระนาบขวาง งานของ SBI เป็นหัวใจของประเด็นการดำเนินงานทั้งหมดภายใต้พิธีสารเกียวโตและข้อตกลงปารีส ซึ่งรวมถึงความโปร่งใส งานการเงิน การตั้งรับและปรับตัว เทคโนโลยี และการพัฒนาขีดความสามารถ

SBI เป็นเวทีที่พิจารณาโครงการปีละสองครั้งของเลขาธิการ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการสนับสนุนสมาชิกและ UNFCCC ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและให้บรรลุเป้าหมายของพิธีสารเกียวโตและข้อตกลงปารีส

ส่วนเวที SBSTA นั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากแหล่งผู้เชี่ยวชาญอย่าง IPCC กับความต้องการเชิงนโยบายของ COP งานของ SBSTA รวมถึงความเปราะบาง ผลกระทบ การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน และการสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม

ชนพื้นเมืองเป็นกลุ่มที่สำคัญที่เข้าร่วมในการประชุมต่าง ๆเพื่อให้ข้อมูลและต่อรองเพื่อประโยชน์ของตนในเวทีการประชุมนานาชาติตั้งแต่ UNFCCC COP26 จนถึง COP27 และเป็นครั้งแรกที่ชนพื้นเมืองเข้าร่วมในการประชุมย่อย ณ กรุงบอนน์

ตลอดการประชุมย่อย ชนพื้นเมืองได้ย้ำหลายครั้งถึงความจำเป็นและความสำคัญของทุนเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่บริหารจัดการโดยชนพื้นเมืองเอง กิจกรรมโดยชนพื้นเมืองที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานเช่นการอนุรักษ์ป่า การบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำด้วยวิธีการดั้งเดิมที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าชนพื้นเมืองนั้นเป็นผู้ที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอยู่แล้วตั้งแต่แรก ดังนั้นพวกเขาจะต้องสามารถเข้าถึงทุนที่ทำให้พวกเขาสามารถดำเนินทั้งกิจกรรมตามธรรมเนียมปฏิบัติและกิจกรรมใหม่ ๆ เช่นการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานสะอาดเช่นแผงโซล่าร์เซลล์ในพื้นที่

ชนพื้นเมืองเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด และเนื่องจากกองทุนแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนนั้นมุ่งสนับสนุนการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ดังนั้นชนพื้นเมืองจึงไม่ต้องการใช้สื่อกลางระหว่างตนเองและแหล่งทุน แต่ควรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรงด้วยการเข้าไปเป็นผู้นำองค์กรอนุรักษ์ ชุมชน โครงการ และมูลนิธิต่าง ๆ ด้วยตนเอง

นาย Hindou Oumarou Ibrahim (Mbororo) ประธานร่วมของเวทีประชุมชนพื้นเมืองนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้สัมภาษณ์ว่า
“ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือทำอย่างไรจึงจะมีการนำเอาสิทธิและความรู้ของชนพื้นเมืองมาพิจารณาร่วมในเวทีเจรจาทุกครั้ง เช่นการพิจารณาเรื่องตลาดคาร์บอนและผลกระทบต่อการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนนั้นจะต้องมีส่วนร่วมจากชนพื้นเมืองและใช้ข้อมูลจากชนพื้นเมืองเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
อีกประการหนึ่งได้แก่ความเสียหายในชีวิต ทรัพย์สิน วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองที่เกิดจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นภัยแล้งและอุทกภัย ดังนั้นชนพื้นเมืองควรได้รับการชดเชยค่าเสียหายและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องทุน ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้ชนพื้นเมืองสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรงเพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินการตามข้อตกลงปารีสได้”

นางสาว Helen Magata (Kadaclan) จากมูลนิธิ Tebtebba กล่าวว่า
“เรามาที่บอนน์เพราะเราหวังว่าเสียงเรียกร้องของพวกเราจะได้รับความใส่ใจทั้งในเวทีย่อยนี้และเวที UNFCCC COP27 ฉันทำงานด้านการระดมทุนเพื่อภูมิอากาศและเราต้องการให้ชนพื้นเมืองสามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้ด้วย

ประการที่หนึ่ง เรายังไม่มีข้อตกลงพหุภาคีที่ให้คำจำกัดความของคำว่ากองทุนเพื่อภูมิอากาศ การมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อรักษาสิทธิของตนและช่วยกำหนดขอบเขตความหมายของคำว่ากองทุนเพื่อภูมิอากาศ

ประการที่สอง เมื่อเราพูดถึงกองทุนเพื่อภูมิอากาศ เรารู้ดีว่าทุนมีแนวโน้มที่จะไหลไปสู่ประเทศโลกที่สามเพิ่มมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แต่เราไม่พบว่ามีรายงานการใช้ทุนดังกล่าวแต่ประการใด”


Social Share