THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Polina Shulbaeva
วันที่ 13 กรกฎาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Culturalsurvival.org
อ้างอิง https://www.culturalsurvival.org/…/indigenous-delegates…

ทุกภาคส่วนจะต้องเข้าใจว่าความสูญเสียมิได้มีเพียงแค่ด้านเศรษฐกิจ แต่เราจะต้องพิจารณาความสูญเสียในด้านอื่นๆด้วย ชนพื้นเมืองได้เน้นย้ำว่าการกำหนดค่าความสูญเสียทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้เป็นตัวเลขเชิงปริมาณนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ การแก้ปัญหาโลกร้อนบางวิธีนั้นทำให้ชนพื้นเมืองต้องสูญเสียที่ทำกินหรือถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งทำให้ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้นเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงความสูญเสียที่เกิดจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและกองทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศ เราจะต้องนำความสูญเสียในทุกๆด้านทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้มาร่วมพิจารณาด้วย

กองทุน Green Climate Fund อนุมัติโครงการโครงการต่างๆบนที่ดินของชนพื้นเมือง แต่มักไม่นำเอาชนพื้นเมืองเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้น IIPFCC จึงเสนอให้ชนพื้นเมืองรวมไปถึงองค์กรของชนพื้นเมืองสามารถเข้าถึงกองทุนได้โดยตรงโดยตัดคนกลางที่นั่งเฉยคอยแต่รับส่วนแบ่งออกไป “เมื่อเราพูดถึงกองทุน เราจะต้องทำให้ชนพื้นเมืองทั้งในประเทศโลกที่สามและประเทศอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าวิถีของชนพื้นเมืองมีส่วนช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้มาก” Oumarou Ibrahim จาก Arctic and Environmental Unit of the Saami Council กล่าว “การรณรงค์ของชนพื้นเมืองทั่วโลกควรเพิ่มเรื่องของการระดมทุนเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วย และตัดผู้รับทุนคนกลางออกไป นอกจากนี้ เราควรต้องกำหนดได้ว่าความต้องการของเราประกอบด้วยอะไรบ้างเพื่อการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนอย่างได้ผล เช่นสิทธิเหนือที่ดินและทรัพยากรต่างๆเป็นต้น ถ้าเราไม่มีสิทธิเหนือที่ดินของตนเองแล้ว เราก็ไม่สามารถทำการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนในที่ดินของตนเองได้”

IIPFCC ตั้งข้อสังเกตว่าชนพื้นเมืองและสิทธิมนุษยชนรวมถึงบรรทัดฐานขั้นต่ำที่กำหนดโดยสหประชาชาตินั้นจะต้องได้รับการรับรองในทุกขั้นตอนของการเจรจา ชนพื้นเมืองควรเข้าร่วมประชุมและเสนอมุมมองของตนเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ UNFCCC เพื่อทำให้มาตรการสำหรับการตั้งรับปรับตัวนั้นเกิดขึ้นจากการพิจารณาประเด็นปัญหาอย่างองค์รวม

นาย Retter กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงของทวีปอาร์คติกเกิดขึ้นเร็วกว่าที่อื่นถึงสามเท่า และเราก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกจนถึงระดับที่ว่า หากเราไม่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ ภาวะโลกร้อนจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว หิมะและน้ำแข็งจะหายไปจากทวีปอาร์คติกจนเราจำมันไม่ได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงการประชุม UNFCCC COP27 ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ประเทศอียิปต์ เราจะต้องผลักดันการรับรองสิทธิของชนพื้นเมือง สิ่งที่เราประสบอยู่ในขณะนี้ก็คือมาตรการที่รัฐนำที่ดินของพวกเราไปปลูกต้นไม้ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และธรรมชาติที่ถูกทำลายจากการทำเหมืองแร่และสร้างกังหันผลิตพลังงานลมในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเพียงเพื่อการฟอกเขียวอุตสาหกรรมพลังงาน”

ตัวแทนชนพื้นเมืองทั่วโลกตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขาประสบกับอุปสรรคในการเข้าร่วมเวทีอภิปรายเจรจาในการประชุมที่กรุงบอนน์ เช่นถูกกีดกันมิให้เข้าห้องประชุม ดังนั้น IIPFCC จึงเรียกร้องให้ผู้จัดการประชุมอนุญาตให้ชนพื้นเมืองเข้าร่วมในการประชุมเจรจาได้ทุกกลุ่มหากคิดว่าชนพื้นเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา มิใช่เป็นเพียงเหยื่อของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังพบว่ามีอุปสรรคอื่นๆก่อนที่จะมีการประชุม UNFCCC COP27 ขึ้น เช่นการเจรจาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ การขาดการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมือง การที่ชนพื้นเมืองไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในที่ดินและทรัพยากรของตน และเรื่องสิทธิในการรับทุนโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เรากังวลเรื่องการเข้ามีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองและตัวแทนจากประเทศโลกที่สามในการประชุม COP27 เนื่องจากประเทศอียิปต์ตัดสินใจที่จะขึ้นราคาค่าที่พักและบริการถึงห้าเท่าในช่วงเวลาดังกล่าว โดยอัตราค่าห้องพักขั้นต่ำที่โรงแรมที่จัดการประชุมในช่วงวันที่ 7-18 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของการประชุม COP ที่ผ่านๆมามาก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่การประชุม COP27 จะขาดการมีส่วนร่วมโดยชนพื้นเมืองอีก ทั้งๆที่มีประเด็นสำคัญที่ต้องการความเห็นและการตัดสินใจของชนพื้นเมืองที่คงค้างอยู่และรอการสรุปเช่นกลไกสนับสนุนทางการเงิน กระบวนการทำงานที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก และการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ปัญหาร่วมกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์

“ผมไม่ต้องการที่จะยอมแพ้และกลับไปบอกชุมชนของผมว่าสิทธิของพวกเราไม่ได้รับการรับรอง ผมต้องการที่จะสามารถบอกพวกเขาได้ว่าเวทีการประชุมนานาชาติทั้งหมดได้ให้การรับรองสิทธิของพวกเราแล้วและเราสามารถเดินหน้าต่อไปได้” นาย Oumarou Ibrahim กล่าว


Social Share