THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

รายงานโดย Megan Rowling
วันที่ 23 กันยายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย REUTERS/Wolfgang Rattay

บาร์เซโลน่า – ในปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกกำลังประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานจนถึงไฟป่าในสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเด็นเรื่อง ‘ความสูญเสียและเสียหาย’ จากภาวะโลกร้อนกลายมาเป็นวาระทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา นักเจรจาต่อรองในประเด็นโลกร้อนของสหประชาชาติตกลงที่จะจัดตั้งกลไกขึ้นมาเพื่อจัดการความสูญเสียและเสียหายจากภาวะโลกร้อน ทว่าการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมนอกเหนือจากการเสนอกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นยังเกิดขึ้นน้อยมาก

ในขณะที่ประเทศที่แบกรับความเสี่ยงสูงอย่างหมู่เกาะเล็ก ๆกลางมหาสมุทรต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกปี

ประชาชนและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจึงร่วมมือกันแสวงหาทุนและความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เพื่อรับมือกับความสูญเสียจากอุทกภัย ภัยแล้ง พายุ คลื่นความร้อน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ณ การประชุมสหประชาชาติในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ นาย Antonio Guterres ได้พูดถึงหัวข้อที่มีทั้งผู้สนับสนุนและไม่เห็นด้วยอันได้แก่การเก็บภาษีบริษัทพลังงานฟอสซิลให้มากขึ้น และนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทำไมความสูญเสียจากภาวะโลกร้อนจึงจะเป็นหัวข้อที่สำคัญในการประชุม COP27 ที่อียิปต์

ความสูญเสียและเสียหายจากภาวะโลกร้อนคืออะไร?

ความสูญเสียและเสียหายจากภาวะโลกร้อนคืออันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคล ชุมชนและสถานที่ที่ไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อเผชิญกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาวได้ ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันที่มีความรุนแรงและความถี่ที่สูงขึ้นอย่างน้ำท่วมและพายุ หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่น ภัยแล้งและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ความสูญเสียจากภาวะโลกร้อนส่วนมากสามารถวัดได้ด้วยมูลค่าทางการเงิน เช่นมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกทำลาย แต่ยังมีความสูญเสียที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยมูลค่าทางการเงินเช่น ไร่องุ่นหรือรูปภาพของครอบครัวที่ถูกน้ำพัดพาไป หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่จะสูญหายไปหากชนพื้นเมืองตัดสินใจย้ายถิ่นฐานหนีภัยธรรมชาติ

รายงานเดือนมิถุนายน ปี 2022 ระบุถึงเศรษฐกิจของ 55 ประเทศที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างหนัก จากบังคลาเทศถึงซูดานตอนใต้ ที่สูญเสียถึง 5.25 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯจากอุทกภัยและคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในระยะยี่สิบปีที่ผ่านมา ตามลำดับ สิ่งที่ตามมาก็คือประชากรกลุ่มยากจนเกือบทั้งหมด และประชากรกลุ่มร่ำรวยบางส่วนไม่สามารถฟื้นฟูความเป็นอยู่ของตนเองกลับสู่ภาวะปกติได้ เมื่อมูลค่าความเสียหายนั้นเกินกว่าความช่วยเหลือที่ได้รับ

ความช่วยเหลือด้านบรรเทาสาธารณภัยมีอะไรบ้าง?

ถึงแม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้ตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อเยียวยาประเทศหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แต่การประชุมหารือเพื่อตั้งกองทุนดังกล่าวก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้ามาก เนื่องจากถูกล็อบบี้โดยประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรปบางประเทศ ที่ไม่ต้องการรับภาระทางการเงินในการเยียวยาผลกระทบที่ตนเองเป็นผู้ก่อจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสนอให้ใช้กลไกประกันภัยในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการทดแทน ตัวอย่างเช่นกองทุน InsurResilience Partnership ที่ตั้งขึ้นในปี 2017 เพื่อระดมทุนสำหรับเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชากรจำนวน 500 ล้านคนซึ่งรวมถึงเกษตรกรรายย่อยตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป

แต่นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมส่วนมากไม่เห็นด้วยกับกลไกประกันภัยว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ผลในระยะยาว เพราะความสูญเสียมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นจนกองทุนประกันล้มละลาย

เป็นที่คาดการณ์ว่ามูลค่าความสูญเสียจะถึงหลักแสนล้านดอลล่าร์ต่อปีเมื่อถึงปี 2030

กองทุนเพื่อมนุษยชนก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างเพียงพอ

รายงานโดยกองทุนต่อต้านความยากจนของ Oxfam ฉบับปี 2022 พบว่าจำนวนเงินที่ต้องใช้เพื่อการเยียวยาผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นมากในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คือเพิ่มขึ้นถึงแปดเท่า เมื่อความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นนี้ ทุนจากประเทศร่ำรวยจึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดที่สหประชาชาติต้องการในปี 2017 จะเห็นได้ว่าเราขาดแคลนเงินทุนอย่างยิ่ง Oxfam รายงาน

องค์กรเพื่อมนุษยชนเกรงว่าภาระที่เกิดจากการเยียวยาความสูญเสียนี้จะตกอยู่แก่ระบบช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินแห่งนานาชาติหรือ International Emergency Response System ที่รับภาระหนักอยู่แล้ว ในปัจจุบันมีเพียงรัฐบาลของสก็อตแลนด์ เดนมาร์ค และเบลเยียม ที่สมทบทุนให้แก่ระบบเพื่อเยียวยาความสูญเสีย แต่ก็คิดเป็นเงินเพียง 15 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

เราจะมีกองทุนเพื่อเยียวยาความสูญเสียในเร็ววันนี้หรือไม่?

เราคาดว่าจะมีการอภิปรายในประเด็นนี้อย่างเข้มข้นในเวที COP27 ที่อียิปต์ระหว่างประเทศกลุ่มเปราะบางและประเทศกลุ่มที่มีศักยภาพในการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ ประเทศอย่างหมู่เกาะเล็กๆและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดได้พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกลไกดังกล่าวใน COP26 ที่กลาสโกวในปี 2021 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และถูกแทนที่ด้วยกระบวนการวางแผนจัดตั้งทุนเพื่อเยียวยาความสูญเสียเป็นระยะเวลาสามปี เป็นผลจากการประนีประนอมในการเจรจา

เวทีประชุมที่กลาสโกวตกลงที่จะสนับสนุนทุนแก่ Santiago Network ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเพื่อแก้ไขผลกระทบโดยเฉพาะ เช่นแนวทางการอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยงในประเทศกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น ก่อนที่เวที COP27 จะมาถึง แรงกดดันจากความต้องการให้มีกองทุนเพื่อเยียวยาความสูญเสียนั้นเพิ่มขึ้นอีกในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีนี้ แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุให้เป็นวาระที่เป็นทางการ

ในการประชุมใหญ่สหประชาชาติในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรประเทศหมู่เกาะหรือ Alliance of Small Island States (AOSIS) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุดจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ได้ผลักดันอย่างหนักให้เกิดวาระนี้ใน COP27

“การประชุมอภิปรายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปจนถึงปี 2024 ตามกระบวนการวางแผนจัดตั้งทุนเพื่อเยียวยาความสูญเสียเป็นระยะเวลาสามปีไม่ได้ช่วยให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบสามารถฟื้นตัวจากภัยพิบัติได้” นาย Walton Webson ประธาน AOSIS กล่าว แต่ประเทศอุตสาหกรรมต่างๆจะต้อง “ให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเยียวยาความสูญเสียแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ “ ในเวที COP27 ในขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติ นาย Guterres กล่าวว่า “เป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะต้องสรุปการวางแผนแล้วลงมือทำงานกันเสียที “ เขาหวังว่า COP27 จะทำให้เกิด “ความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ ความร่วมมือในระดับนานาชาติ และการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน”

การประชุมของประเทศกลุ่มเปราะบางทางภูมิอากาศซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 55 ประเทศจากเอเชีย อาฟริกา และละตินอเมริกา นำไปสู่แคมเปญ #PaymentOverdue ทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนคนให้ตระหนักถึงความล่าช้าของการจัดตั้งกองทุนนานาชาติเพื่อเยียวยาความสูญเสียของชาวชุมชน และกระตุ้นให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหาวิธีการระดมทุนเพื่อผู้ที่เดือดร้อนที่สุด นอกจากนี้ กลุ่ม V20 ที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีการคลังของประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุดเป็นสมาชิกก็ได้ตั้งกองทุนขนาดย่อมขึ้นเพื่อทดสอบกลไกช่วยเหลือผู้ประสบภัย และผลการทดสอบจะได้รับการนำเสนอในเวที COP27 ต่อไป

ในขณะเดียวกัน เลขาธิการสหประชาชาติก็ได้เสนอให้ใช้มาตรการทางภาษีต่ออุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล สายการบินและบรรษัทการเงินและนำเงินที่ได้มาตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาความสูญเสีย

“มาตรการทางภาษีเป็นกลไกที่เหมาะสมเป็นธรรม โดยการโยกย้ายกำไรบางส่วนของบริษัทผู้ปล่อยกาซเรือนกระจกและเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ” นางสาว Teresa Anderson หัวหน้าฝ่ายความเป็นธรรมทางภูมิอากาศของ ActionAid International ชี้แจง “ข้อเสนอโดยเลขาธิการสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าเราสามารถตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่แบกรับความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนไว้มากที่สุดได้ และก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่ประเทศร่ำรวยจะเข้ามาขัดขวางกระบวนการนี้ “


อ้างอิง https://www.zawya.com/en/economy/north-africa/why-climate-change-loss-and-damage-will-be-a-hot-topic-at-cop27-wne704tp


Social Share