THAI CLIMATE JUSTICE for All

เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับ Geoengineering และ ‘Net-Zero’ ใน COP26

เผยแพร่โดย ETC Group
วันที่ 28 ตุลาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

Figure 11.1: Various geoengineering schemes that have been proposed by scientists.
Credit: Mann & Kump, Dire Predictions: Understanding Climate Change, 2nd Edition
© 2015 Pearson Education, Inc.

แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนโดยใช้ Geoengineering หรือเทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซงระบบภูมิอากาศของโลกในสเกลขนาดใหญ่ได้ถูกนำมาพิจารณาเพื่อบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero‘ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐและเอกชนที่หวังพึ่งเทคโนโลยีดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากหรือ Massive Carbon Dioxide Removal [CDR] เพื่อลดปริมาณก๊าซในบรรยากาศโลก นอกจากนี้หลายประเทศยังได้ลงทุนสร้างระบบดูดซับและกักเก็บคาร์บอนหรือ Carbon Capture and Storage [CCS] อีกด้วย เทคโนโลยี CDR นั้นก็เหมือนการดักจับอากาศทางตรง (Direct Air Capture) [DAC] และระบบดูดซับและกักเก็บคาร์บอนด้วยพลังงานชีวภาพหรือ Bioenergy with Carbon Capture and Storage [BECCS] ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของแต่ละชาติ ทว่าความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของเทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ มีต้นทุนที่สูง และมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกัน การบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’ ของภาคเอกชนที่มุ่งไปที่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตทำให้บริษัทต่างๆหันมาลงทุนด้านการพัฒนา CDR

แนวโน้มเหล่านี้เป็นนัยสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้อุตสาหกรรมผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างภาคการผลิต ขนส่ง และพลังงานสามารถเลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมออกไปได้อย่างไม่มีกำหนดโดยการใช้เทคโนโลยีปลอมๆเหล่านี้เป็นข้ออ้าง นอกจากนี้ การพึ่งพาเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงสูงแต่ความแน่นอนต่ำเหล่านี้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศต่อไปอีก 10-20 ปีเป็นแนวทางที่มีปัญหามากเนื่องจากเราจะต้องลดปริมาณก๊าซโดยเร่งด่วนเพื่อป้องกันมิให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C ซึ่งเป็นจุดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไม่มีทางแก้ไข

อุปสงค์ทางพลังงานที่สูง

เทคโนโลยี Geoengineering ทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CDR ต้องใช้ทรัพยากรอย่างพลังงาน ที่ดิน น้ำ ชีวมวล และแร่ธาตุในปริมาณมหาศาลเพื่อบรรลุเป้าหมาย ’Net Zero‘ เพราะจะต้องดำเนินการในสเกลที่ใหญ่มาก ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยี CDR จึงเป็นการเพิ่มจำนวนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากขึ้นมาอีก ทั้งในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มและการนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้งาน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศซีกโลกใต้ซึ่งนำไปสู่การยึดที่ดินทำกินและทรัพยากรประเภทอื่นๆของชุมชนท้องถิ่น และการดำเนินโครงการ CDR ขนาดใหญ่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น ส่วนการพัฒนาโครงการ BECCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนั้นก็จะทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ และถูกแทนที่ด้วยการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อปลูกพืชที่จะนำไปผลิตพลังงานชีวมวล

โดยสรุปแล้ว การดำเนินโครงการ Geoengineering ในสเกลใหญ่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อสังคมและระบบนิเวศ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการดักจับคาร์บอนก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน และถึงแม้ว่าจะได้ผลจริง การพึ่งพา Geoengineering แต่เพียงด้านเดียวก็ไม่ได้ชะลอการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิผิวโลกแต่อย่างใด

ตรรกะผิดๆ ที่ใช้ประเมินเทคโนโลยี Geoengineering ในบริบทของ ‘Net Zero’

– คำว่า ‘Removals’ หรือดูดซับ คำนี้ถูกใช้อย่างไม่เหมาะสมในข้อตกลงปารีสเพื่ออ้างอิงถึงการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกออกจากบรรยากาศโลก ในขณะที่ข้อตกลงปารีสรับรองการใช้เทคโนโลยี Geoengineering อย่าง BECCS และ DAC คำว่า ‘removals’ ถูกใช้โดยผู้สนับสนุนเทคโนโลยี Geoengineering เพื่อสร้างความสับสนระหว่างเทคโนโลยีเก็บกักคาร์บอนที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์กับแหล่งเก็บกักคาร์บอนในระบบนิเวศตามธรรมชาติ ผลลัพธ์ที่น่ากังวลของแนวทางนี้ได้แก่การนับคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจที่ไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างคาร์บอนเครดิตที่ได้จากกิจกรรมฟื้นฟูป่าโดยชุมชนท้องถิ่นและคาร์บอนเครดิตที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนในโครงการ BECCS หรือ DAC

“โครงการ CDR ขนาดใหญ่” ซึ่งเป็นอนาคตที่ไม่มีความชัดเจน? นักออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนกำลังสร้างนิสัยที่เคยชินกับสมมติฐานที่ใช้เทคโนโลยี CDR ในสเกลที่ใหญ่เพื่อลดภาวะโลกร้อน เพราะต้องการสร้างโมเดลที่สามารถตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของระบบทุนนิยมได้ และมุ่งเน้นแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีแทนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม แต่ตอนนี้ต้องหันมายอมรับว่าปริมาณของ BECC และ DAC ที่เสนอไว้ในรายงาน IPCC นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ และรายงาน IPCC ฉบับล่าสุดก็ได้ตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้ BECC และ DAC ไว้หลายข้อ แต่แนวทางปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อนก็ยังคงพึ่งพาเทคโนโลยี CDR เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นอีกเกิน 2°C ในขณะเดียวกัน รัฐบาลและภาคเอกชนในประเทศต่างๆก็พยายามที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนไปจากการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง และพลังงาน เพราะการพูดถึงการใช้เทคโนโลยี CDR นั้นมันง่ายกว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมมาก เป้าหมาย ‘Net Zero’ ระยะยาวที่บ่งชี้ถึงระดับ CDR ที่ต้องบรรลุภายในปี 2050 และตั้งเป็นสมมติฐานไว้นั้นแทบไม่มีความหมายเมื่อพิจารณาบริบทการวางแผนและการลงทุนในปัจจุบัน และเป้าหมาย ‘Net Zero’ ก็เป็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้เป้าหมาย CDR ต้องเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆในการบรรลุ ‘Net Zero’ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต

– ภาคเอกชนตั้งความหวังไว้กับ ‘Net Zero’ และเทคโนโลยี Geoengineering เพื่อทำให้ตนเองสามารถแสวงหากำไรกับธุรกิจพลังงานฟอสซิลต่อไปได้ แนวโน้มการลงทุนใน Geoengineering โดยบริษัทเทคโนโลยีและพลังงานขนาดใหญ่ทำให้เกิดข่าวลือว่าบริษัทเหล่านี้เป็นความหวังที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า บริษัทพลังงานเหล่านี้เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ในเทคโนโลยี Geoengineering และกำลังลงทุนในการสร้างท่อส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการดูดซับ และก็ลงทุนด้านการบริโภคพลังงานฟอสซิลไปในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ในภาคเกษตร ค้าปลีก การบิน และการเงินได้ประกาศแผนการด้าน ‘Net Zero’ ที่รวมเอาเทคโนโลยี CDR เข้าไว้ด้วย ในขณะเดียวกันก็เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศไปด้วย

ระบบภูมิอากาศโลกมิใช่เครื่องจักรที่เราสามารถเปิดหรือปิดได้โดยง่าย โครงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหลายต่อหลายโมเดลตั้งเป้าที่จะปล่อยให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นอีกจนเกินเป้าหมาย 1.5°C (หรือ 2°C) เดิม เพราะอ้างว่า CDR จะช่วยลดระดับอุณหภูมิลงภายในศตวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้อาจทำให้ระดับอุณหภูมิโลกสูงเกินขีดจำกัดที่ไม่สามารถลดลงมาได้อีกและนำไปสู่ความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนดังเดิมได้ ดังนั้นจึงเป็นแนวทางที่มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและชีวภาพของโลกที่เกิดจากระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ เห็นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา


อ้างอิง : https://www.etcgroup.org/content/geoengineering-and-net-zero-con-cop26?fbclid=IwAR1-x852KMiwWGH5tnLnhfNN9_vsF4w28q6d4gLmzz1lw6IlWt7hEuIo5N0

Scroll to Top