THAI CLIMATE JUSTICE for All

การฟอกเขียวรัฐตำรวจ : ความจริงเบื้องหลัง COP27 ที่อียิปต์

เผยแพร่โดย Naomi Klein
วันที่ 18 ตุลาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ภาพประกอบโดย Stefano Guidi/Getty Images

ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับจดหมายที่เขียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หายไป สิ่งเดียวที่สาธารณชนทราบก็คือ Alaa Abd El-Fattah หนึ่งในนักโทษการเมืองคนสำคัญของอียิปต์ได้เขียนขึ้นในขณะที่ประท้วงด้วยการอดอาหารในห้องขังของตนเองเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ภายหลัง Alaa Abd El-Fattah ได้อธิบายว่าจดหมายที่เขาเขียนขึ้นนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและเหตุการณ์น้ำท่วมในปากีสถาน

เรารู้สึกกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่ทำให้คน 33 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย และเหตุการณ์นี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและความพยายามที่อ่อนแรงของรัฐในการป้องกันปัญหา

Abd El-Fattah เป็นนักเทคนิคที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ชื่อของเขาและแฮชแท็ก #FreeAlaa กลายมาเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยในปี 2011 ที่ทำให้จัตุรัส Tahrir กลางกรุงไคโรกลายเป็นคลื่นฝูงชนของคนรุ่นใหม่ที่ซัดฮอสนี่ มูบารัคหลุดพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจาก 30 ปีแห่งเผด็จการในอียิปต์ สิบปีที่ผ่านมา

Abd El-Fattah สามารถรับส่งจดหมายได้สัปดาห์ละครั้งในขณะต้องขัง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จดหมายเหล่านั้นได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสื่อชื่อ You Have Not Yet Been Defeated ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง

ครอบครัวและเพื่อนของ Abd El-Fattah มีชีวิตอยู่ก็เพื่อรอจดหมายรายสัปดาห์จาก Abd นี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนเป็นต้นมาเมื่อเขาเริ่มประท้วงด้วยการอดอาหาร ดื่มเพียงน้ำและรับประทานเกลือเท่านั้น

การประท้วงของ Abd El-Fattah ก็เพื่อต่อต้านการคุมขังที่ตนได้รับจากข้อหา “เผยแพร่ข่าวเท็จ” จากการที่เขาได้แชร์โพสในเฟซบุ๊คเกี่ยวกับการทรมานนักโทษ

อย่างไรก็ตาม ทุกคนรู้ดีว่าการจำคุก Abd ก็เพื่อส่งสัญญาณถึงคนรุ่นใหม่นักปฏิวัติที่มีอุดมคติทางประชาธิปไตยทั้งหมด การอดอาหารในครั้งนี้ Abd El-Fattah ต้องการที่จะกดดันให้พัศดีคืนสิทธิที่สำคัญ ๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงสถานกงสุลอังกฤษ (มารดาของ Abd El-Fattah เกิดในประเทศอังกฤษ ดังนั้นเขาจึงสามารถขอสัญชาติอังกฤษได้) แต่พัศดีปฏิเสธ เขาจึงอดอาหารต่อไป

“เขาเหลือแต่โครงกระดูกที่มีใจมุ่งมั่น” น้องสาวของเขากล่าว

การอดอาหารยิ่งนานออกไป จดหมายก็ยิ่งมีมากขึ้น

สำหรับครอบครัวของ Abd นั้นมันคือหลักฐานของการยังมีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่เขาเขียนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน จดหมายฉบับนั้นกลับไม่ถึงมือมารดาของ Abd El-Fattah ที่เป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการด้วยเช่นกัน บางทีพัศดีอาจ “ทำกาแฟหกรดจดหมายโดยบังเอิญ” หรือไม่ก็ถูกเซ็นเซอร์เพราะ “มีความเป็นการเมืองมากเกินไป”

แม้ว่า Abd El-Fattah จะบอกว่าเขาระมัดระวังที่จะไม่วิพากษ์รัฐบาลอียิปต์หรือ “การประชุมที่กำลังจะมาถึง” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นการประชุม COP27 ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 6 เดือนพฤศจิกายน ณ Sharm el-Sheikh ในอียิปต์ ผู้แทนจากประเทศต่างๆ รัฐมนตรี ทูต ข้าราชการ นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม NGO สื่อ และผู้สังเกตการณ์จะไปปรากฏตัวกันที่นั่น

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจดหมายที่หายไปจึงสำคัญ

แม้ว่าเขาจะอยู่ในภาวะที่หิวโหยอย่างหนัก หัวสมองของเขาก็ยังคิดเรื่องภาวะโลกร้อน น้ำท่วมในปากีสถาน ความรุนแรงในอินเดีย ค่ำเงินปอนด์ตกต่ำ และการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลของนาย Lula เหล่านี้ได้ถูก Abd เขียนถึงในจดหมายฉบับสุดท้ายที่ถึงมือครอบครัวของเขา

นอกจากนั้น ยังมีบางอย่างที่น่าละอายในเรื่องนี้ เพราะในขณะที่ Abd El-Fattah ตรึกตรองเกี่ยวกับโลกใบนี้อยู่ โลกภายนอกก็มารวมกันอยู่ที่อียิปต์ ไม่ได้คิดถึงเขาและนักโทษทางการเมืองอีก 60,000 คนที่เชื่อว่าถูก “ใช้แรงงาน” อยู่ในคุก หรือไม่ได้คิดถึงนักสิทธิมนุษยชน นักสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ และสื่อของอียิปต์ที่ถูกคุกคาม สอดส่อง และห้ามมิให้เดินทางออกนอกประเทศ ที่ Human Rights Watch เรียกว่าเป็น “บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว” และ “ความพังทลายของภาคประชาสังคม”

รัฐบาลเผด็จการของอียิปต์กระตือรือร้นที่จะยกย่อง “นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นคนรุ่นใหม่” เหล่านี้ และชูพวกเขาให้เป็นสัญลักษณ์ของความหวังของการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แต่มันยากที่จะไม่คิดถึงผู้นำรุ่นเยาว์ของ Arab spring ที่หลาย ๆ คนโตขึ้นมากับภัยคุกคามและความรุนแรงที่รัฐบาลทหารเป็นผู้ก่อโดยมีประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้หนุนอยู่เบื้องหลัง

มันเหมือนกับว่านักรณรงค์เหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยกลุ่มที่ใหม่กว่าและสร้างปัญหาให้รัฐน้อยกว่า

“ผมคือผีที่มาจากอดีต (Arab Spring)” Abd El-Fattah เขียนเกี่ยวกับตนเองในปี 2019 และเจ้าผีตนนั้นก็จะหลอกหลอนการประชุมที่กำลังจะมาถึง และส่งคำถามไปถึงผู้นำโลกทุกคนว่า ถ้าความร่วมมือของนานาชาติยังไม่สามารถกดดันให้รัฐบาลอียิปต์ปล่อยตัว Abd El-Fattah ที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันได้ เราจะช่วยปกป้องโลกได้อย่างไร?

รองศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย British Columbia นาย Mohammed Rafi Arefin ผู้ซึ่งทำการวิจัยด้านการเมืองสิ่งแวดล้อมของสังคมเมืองในอียิปต์ชี้ให้เห็นว่า “การประชุมเรื่องภาวะโลกร้อนทุกเวทีของสหประชาชาตินั้นเป็นการคำนวณกำไรขาดทุนที่ซับซ้อน” มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลกโดยเครื่องบินที่ผู้แทนประเทศใช้เดินทางมาประชุม ราคาค่าที่พักที่ค่อนข้างแพงสำหรับองค์การภาคประชาสังคม และงบประมาณสื่อสารประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเจ้าภาพที่ตั้งตนเองเป็นผู้นำด้านการรณรงค์แก้ไขปัญหาโลกร้อน

ทั้งที่ความจริงนั้นตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม การประชุมก็ยังมีประโยชน์อยู่

ภาพประกอบโดย Anadolu Agency/Getty Images

สองสัปดาห์ถัดจากนี้ไปภาวะโลกร้อนจะกลับมาสู่ความสนใจของชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง แพลตฟอร์มสื่อจะรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบการรายงาน ตั้งแต่ป่าอเมซอนที่กำลังถูกทำลายอย่างหนักไปจนถึงประเทศตูวาลูที่กำลังจะจมหายไปในทะเล ทำให้เกิดเครือข่ายนานาชาติและความร่วมมือกันเมื่อมีกลุ่มรณรงค์ในประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นพร้อม ๆ กับ COP27 เพื่อล้อเลียนและแสดงให้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆในประเทศอียิปต์ภายใต้การฟอกเขียว และแน่นอนว่าเกิดมีการเจรจาต่อรองเพื่อตั้งกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่มีข้อผูกพันใดๆ ตามที่เกรตา ทูนแบร์กเรียกการเจรจานี้อย่างเหมาะสมว่า “บลา บลา บลาๆๆๆ”

เมื่อ COP27 ใกล้เข้ามา Arefin ได้บอกเราว่า “การคำนวณทางธุรกิจตามปกติได้เปลี่ยนแปลงไป สมดุลเริ่มไม่เสถียร” นอกเหนือจากการกำหนดราคาคาร์บอนแล้ว รัฐบาลของประเทศเจ้าภาพจะได้โอกาสสร้างภาพสีเขียวและความเป็นประชาธิปไตยแบบสองมาตรฐานต่อชาวโลก นั่นคือเผด็จการในอียิปต์ยุคใหม่ที่นำโดยนายพล Abdel Fatah al-Sisi ผู้ซึ่งยึดอำนาจโดยรัฐประหารในปี 2013 (และรักษาอำนาจของตนไว้ด้วยการเลือกตั้งแบบปลอม ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา) ซึ่งเป็นรัฐบาลที่องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่กดขี่และทารุณที่สุดในโลก หลังจากการยึดอำนาจได้เมื่อสิบปีที่ผ่านมา ประเทศได้สร้างคุกเพิ่มขึ้นอีกถึง 24 แห่ง

แน่นอนว่าคุณจะไม่มีทางรู้เรื่องเหล่านี้จากการประชาสัมพันธ์ตนเองของอียิปต์ ก่อนหน้าวันประชุม วิดีโอโปรโมท Cop27 บนเว็บไซต์ทางการของ COP มีแต่ภาพยินดีต้อนรับผู้แทนของประเทศต่างๆสู่ “เมืองสีเขียว” แห่งรีสอร์ต Sharm el-Sheik และแสดงภาพนักรณรงค์ยุคใหม่ที่ไว้หนวดเคราและใส่สร้อยคอที่ดูเหมือนนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม กินอาหารจากกล่องที่ย่อยสลายได้ และดื่มจากหลอดที่ไม่ใช้พลาสติกในขณะที่ถ่ายรูปเซลฟี่บนชายหาด ขับรถยนต์ไฟฟ้าหรือขี่อูฐในทะเลทราย

การดูวิดีโอนี้ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องที่นายพล Abdel Fatah al-Sisi ตัดสินใจใช้เวทีประชุมนี้เป็นเวทีแสดง reality show ที่มีนักแสดงเล่นเป็นนักรณรงค์เพื่อสังคมที่มีหน้าตาคล้ายนักรณรงค์ตัวจริงที่กำลังถูกทรมานอยู่ในคุก

การประชุม COP27 นี้มันเป็นมากกว่าการฟอกเขียวตามปกติ แต่เป็นการฟอกเขียวให้แก่รัฐตำรวจ
ชุมชนชาวอียิปต์และองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะโลกร้อนนั้นถูกกีดกันออกจากสถานที่จัดการประชุม

จะไม่มีการประชุมล้อเลียน COP27 หรือการประท้วงใด ๆ ในบริเวณนั้นที่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นเปิดเผยความจริงเบื้องหลังการโฆษณาประชาสัมพันธ์แก่ผู้แทนจากต่างประเทศได้รับรู้ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกจำคุกข้อหาเผยแพร่ข่าวที่เป็นเท็จหรือชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ผู้แทนจากต่างประเทศยังไม่สามารถหาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในอียิปต์ได้จากรายงานวิชาการหรือ NGO เนื่องจากกฎหมายปี 2019 ที่ระบุให้นักวิจัยต้องขออนุญาตรัฐก่อนเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ที่รัฐพิจารณาว่าเป็น “ประเด็นทางการเมือง” สู่สาธารณชน (ทั้งประเทศถูกอุดปาก เว็บไซต์จำนวนเป็นร้อยถูกบล็อก)

Human Rights Watch รายงานว่านักวิชาการเหล่านี้ถูกบังคับให้ตัดทอนเนื้อหาในงานวิจัยบางส่วนออก
ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงที่สุดในอียิปต์ต้องล้มเลิกงานวิจัยส่วนหนึ่งไปเพราะไม่สามารถทำงานในสาขานี้ได้

นักวิจัยที่ให้ข้อมูลการเซ็นเซอร์โดยภาครัฐเหล่านี้แก่ Human Rights Watch ไม่สามารถเปิดเผยชื่อจริงของตนได้เพราะมีบทลงโทษที่รุนแรงมาก

นาย Arefin ผู้ซึ่งได้ทำวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับของเสียและสถานการณ์น้ำท่วมในอียิปต์ก่อนที่จะถูกเซ็นเซอร์งานเล่าว่าเขากับนักวิชาการและสื่อคนอื่น ๆ ไม่สามารถทำงานชิ้นนี้ได้อีกต่อไป

กลายเป็นว่าภัยธรรมชาติในอียิปต์ตอนนี้เกิดขึ้นในความมืดที่ไม่มีใครเห็น และผู้ที่ฝ่าฝืนกฎและพยายามเปิดไฟนั้นก็จะลงเอยในคุกหรืออะไรที่เลวร้ายไปกว่านั้น

นาง Mona Seif น้องสาวของ Abd El-Fattah ผู้ซึ่งได้ใช้เวลานานนับปีวิ่งเต้นให้รัฐปล่อยตัวพี่ชายของเธอและนักโทษการเมืองคนอื่นๆได้โพสลงใน Twitter เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “ความจริงที่ผู้เข้าร่วมการประชุม COP27 เลือกที่จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็คือ ในประเทศอย่างอียิปต์นั้น พันธมิตรที่แท้จริงของคุณคือผู้ที่แคร์อนาคตของโลกอย่างแท้จริงที่ตอนนี้นั่งอยู่ในคุก”

ดังนั้น COP27 จึงต่างจากการประชุมเรื่องภาวะโลกร้อนที่ผ่าน ๆ มาตรงที่ไม่มีพันธมิตรจากชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมเลย จะมีก็แต่เพียงชาวอียิปต์บางคนที่อ้างตัวเป็นตัวแทนจาก “องค์กรภาคประชาสังคม” ซึ่งบางคนก็เป็นจริง ๆ แต่ปัญหาคือไม่ว่าพวกเขาจะมีความหวังดีขนาดไหนก็ตาม พวกเขาก็ถือเป็นนักแสดงตัวเล็กๆใน reality show ของนายพล Abdel Fatah al-Sisi ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล

รายงานของ Human Rights Watch ฉบับเดียวกันระบุว่าตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้พูดในหัวข้อที่รัฐพิจารณาว่าเหมาะสมเท่านั้น

อะไรคือหัวข้อที่เหมาะสมในสายตาของรัฐบาลอียิปต์?

“การเก็บขยะนำกลับไปใช้ใหม่ พลังงานทางเลือก ความมั่นคงทางอาหาร หรือกองทุนเพื่อโลกร้อน” และอะไรคือหัวข้อที่ไม่เหมาะสม? “การชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการละเมิดจากนายทุนในเรื่องความมั่นคงในแหล่งน้ำ มลภาวะทางอุตสาหกรรม การทำลายสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจการเกษตร”

และยังมี “ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมทางทหารและธุรกิจในอียิปต์ ซึ่งเป็นหัวข้อต้องห้าม โครงการก่อสร้างต่าง ๆของประเทศเช่น การสร้างเมืองหลวงใหม่” ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับธุรกิจของประธานาธิบดีและกองทัพทั้งสิ้น และจงอย่าวิพากษ์วิจารณ์การผลิตขยะพลาสติกและการผลาญแหล่งน้ำของ Coca-Cola เขาล่ะ เพราะ Coke เป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ให้กับการประชุมนี้

ภาพประกอบโดย Stefano Guidi/Getty Images

โดยสรุปแล้ว ถ้าคุณอยากจะติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์หรือเก็บขยะ คุณจะได้รับการต้อนรับที่ Sharm el-Sheikh แต่ถ้าคุณต้องการมาเพื่อพูดเรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของอียิปต์ที่มีต่อภาวะโลกร้อน หรือการปูพื้นซีเมนต์ทับพื้นที่สีเขียวแห่งสุดท้ายในไคโรแล้วละก็ คุณอาจได้รับการเยี่ยมเยียนจากตำรวจลับหรือคนจากกระทรวงความมั่นคงภายใน และถ้าคุณต้องการตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของนายพล Sisi แทนคนยากจนกลุ่มเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศทั้งหมดในทวีปอาฟริกา คุณควรทำแบบนั้นจากนอกประเทศจะดีกว่า

จากที่ผ่านมานั้น การเป็นประเทศเจ้าภาพจัดประชุม COP ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าขุมทรัพย์สำหรับนายพล Sisi ชายผู้ที่ Donald Trump เคยพูดว่าเป็น “เผด็จการคนโปรด” ของตน การประชุมจะช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งที่ซบเซาลงในปีที่ผ่านๆมา และรัฐบาลอียิปต์ก็หวังว่าคลิปวิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาอียิปต์มากขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงกระแสของความเห่อในระยะสั้นๆ เท่านั้น เมื่อเดือนที่ผ่านมา British International Investment (BII) ที่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลอังกฤษประกาศว่าได้ “ลงทุนจำนวน 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่ในประเทศอียิปต์” BII นั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Globeleq ที่ประกาศลงทุนจำนวน 11 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในธุรกิจพลังงานไฮโรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอียิปต์ก่อนการประชุม COP27 และเน้นย้ำว่า “BII มุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลอียิปต์และเพิ่มทุนต่อสู้โลกร้อนให้แก่ประเทศ”

รัฐบาลอียิปต์ที่เป็นรัฐบาลเดียวกับที่คุมขัง Abd El-Fattah โดยไม่สนใจว่าจะถือสัญชาติอังกฤษหรือกำลังอดอยากจากการประท้วง โชคไม่ดีที่ชะตากรรมของ Abd El-Fattah ในขณะนั้นตกอยู่ในมือของ Liz Truss ที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในสภาพที่ทุลักทุเลเต็มทนพอๆกับตอนที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ สิ่งที่เธอควรทำแต่ไม่ได้ทำก็คือใช้กองทุนนี้เป็นเครื่องต่อรองเพื่อปล่อยตัว Abd El-Fattah (เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นาง Gillian Keegan รัฐมนตรีกระทรวงกิจการอาฟริกาแห่งอังกฤษรายงานว่าเธอได้พบปะกับเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำสหราชอาณาจักรและยกประเด็นเรื่อง Alaa Abd El-Fattah ขึ้นมาหารือ

ความล้มเหลวทางศีลธรรมของรัฐบาลเยอรมันก็น่าหดหู่ใจพอๆกัน เมื่อนาง Annalena Baerbock ที่เป็นผู้นำร่วมแห่งพรรค Green Party ก้าวขึ้นมาดำนงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของชาติในเดือนธันวาคนปีที่ผ่านมา เธอได้ประกาศนโยบายต่างประเทศ “ที่อยู่บนพื้นฐานของคุณค่า” หรือการเลือกสนับสนุนประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและภาวะโลกร้อน ประเทศเยอรมันเป็นหนึ่งในคู่ค้าและผู้สนับสนุนทุนรายใหญ่แก่อียิปต์ ดังนั้นจึงมีอำนาจต่อรองเช่นเดียวกับอังกฤษ แต่แทนที่จะกดดันให้ปล่อยนักโทษ นาง Baerbock กลับเปิดโอกาสให้นายพล Sisi โฆษณาชวนเชื่อตนเอง ซึ่งรวมถึงการเป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหรือ Petersberg Climate Dialogue ณ กรุงเบอร์ลินในเดือนกรกฎาคม ทำให้ผู้นำเผด็จการรายนี้สามารถฟอกเขียวตัวเองให้มีภพลักษณ์ที่ดีในสายตาของชาวโลกได้ และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ที่ยากลำบากในประเทศเยอรมันอันเนื่องมาจากการแบนพลังงานจากรัสเซีย ทำให้อียิปต์ก้าวเข้ามาเป็นผู้จัดหาพลังงานรายใหญ่ให้แก่เยอรมันแทนที่รัสเซียอย่างเต็มใจ ในขณะเดียวกันบริษัทโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของเยอรมันได้แก่ Siemens ได้ประกาศทำสัญญาก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงครั้งประวัติศาสตร์ในอียิปต์ที่มีมูลค่านับพันล้านดอลล่าร์

กองทุนสีเขียวจากนานาชาติเหล่านี้หลั่งไหลเข้าสู่อาณาจักรของนายพล Sisi ในเวลาที่เหมาะสมพอดี หลังจากที่เผชิญกับวิกฤติต่างๆมาเป็นระลอก (ภาวะเงินเฟ้อ โรคระบาด ภาวะขาดแคลนอาหาร ราคาพลังงานพุ่งสูง ภัยแล้ง และภาวะหนี้สิน) การบริหารประเทศที่มีการคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบทำให้อียิปต์จมอยู่ในกองหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจทำให้การปกครองของนายพล Sisi ขาดเสถียรภาพลงได้ ดังนั้น COP27 ไม่ได้เป็นแค่เพียงโอกาสในการประชาสัมพันธ์ประเทศของอียิปต์ แต่ยังเป็นสายใยหล่อเลี้ยงชีวิต

นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ทำงานอย่างจริงจังส่วนมากลังเลที่จะยอมแพ้ต่อกระบวนการนี้และยอมรับว่าการประชุมครั้งนี้จะก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมทางวิทยาศาสตร์ที่น้อยมาก หลายต่อหลายปีมาแล้วนับตั้งแต่ COP1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังดำเนินต่อไปและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราจะสนับสนุนเวทีประชุม COP27 ไปทำไมในเมื่อสิ่งที่เราจะได้กลับมาอย่างเดียวคือความรุ่งโรจน์ของเผด็จการ ตามที่ Arefin ได้ตั้งคำถามไว้ว่า “เมื่อไหร่เราถึงจะพอเสียที?”

หลายเดือนที่ผ่านมา ชาวอียิปต์ที่ลี้ภัยอยู่ในยุโรปหรืออเมริกาได้ขอให้ NGO ผลักดันให้เรื่องนักโทษการเมืองเป็นวาระของการเจรจาก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น แต่ก็ไม้ได้รับการตอบสนอง โดยได้รับคำตอบว่าการประชุมครั้งนี้คือ COP แห่งอาฟริกา ซึ่งทำให้ความล้มเหลวใดๆที่เคยมีก่อนหน้านี้นั้นด้อยความสำคัญไปเมื่อคำนึงว่า COP27 นี้จะทำให้เกิดการดำเนินการแก้ปัญหาและการเยียวยาความเสียหายได้สำเร็จ โดยหวังว่าประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะจ่ายค่าชดเชยแก่ประเทศยากจนที่ไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนแต่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติรุนแรงที่สุดอย่างปากีสถาน

ภาพประกอบโดย Stefano Guidi/Getty Images

สิ่งที่แน่นอนก็คือเราไม่สามารถเอาชนะวิกฤติสภาพภูมิอากาศได้โดยกระบวนการที่ละเลยเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ หากการแสดงออกซึ่งเสรีภาพถูกจำกัด และเสรีภาพในการพูดถูกตัดสินว่าเป็นการเผยแพร่ข่าวเท็จเช่นในอียิปต์นี้แล้ว เราก็ไม่มีความหวังในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอีกต่อไป

หากเราไม่สามารถทำการประท้วงหรือสอบสวนข้อเท็จจริงได้แล้วละก็ โลกของเราจะยิ่งเสื่อมทรามลงไปอีก เพราะนักต่อสู้เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหลายก็จะไปลงเอยในคุกมืดเช่นเดียวกับ Abd El-Fattah

เมื่อมีข่าวว่าการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ Sharm el-Sheikh นักรณรงค์ชาวอียิปต์ทั้งในประเทศและที่ถูกเนรเทศควรจะเรียกร้องให้คว่ำบาตรการประชุมเสีย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำด้วยเหตุผลหลายประการ แต่พวกเขาก็ได้เรียกร้องให้เกิดความร่วมมือกัน ตัวอย่างเช่นสถาบัน Cairo Institute for Human Rights Studies ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้เวทีนี้ในการ “เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมในอียิปต์และเร่งให้รัฐบาลอียิปต์แก้ไขปัญหานี้เสีย” พวกเขามีความหวังว่านักรณรงค์ในอเมริกาและยุโรปจะผลักดันให้รัฐบาลของตนเรียกร้องให้การประชุมที่อียิปต์เป็นไปตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมือง การเสนอข่าวที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศเจ้าภาพ หรือการรับทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ เราไม่เห็นการตอบสนองในข้อเรียกร้องเหล่านี้จากองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมใด ๆ เลย หลายกลุ่มและองค์กรลงชื่อในอุทธรณ์ เผยแพร่บทความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเล็กน้อย บางกลุ่มในเยอรมนีที่ลี้ภัยทางการเมืองมาจากอียิปต์รวมตัวกันประท้วงชูป้าย “เราไม่เอา COP27 จนกว่าจะปล่อย Alaa เป็นอิสระ” และ “ไม่เอาฟอกเขียวคุกอียิปต์” แต่เราไม่เห็นแรงกดดันใด ๆ จากนานาชาติที่จะทำให้เผด็จการทหารของอียิปต์ต้องกังวล

คำกล่าวที่ว่านายพล Sisi ประกาศสงครามกับองค์กรภาคประชาสังคมนั้นไม่เกินเลยความเป็นจริงไปเลย รายงานจาก Human Rights Watch ระบุว่า “ในปี 2014 นายพล Sisi ได้สั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารผู้ที่ร้องขอ รับ หรือสนับสนุนการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุนต่างชาติหรือภายในประเทศก็ตาม ที่นำมาใช้เพื่อขัดขวาง ‘ผลประโยชน์ เอกราช หรือความมั่นคงปลอดภัยของชาติ’ เป็นบทลงโทษประหารชีวิตสำหรับการรับทุนช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตามมูลนิธิที่สำคัญ ๆ จากอเมริกาและยุโรปที่จะมาร่วมประชุมใน Sharm el-Sheikh และพบปะกับกลุ่มผู้รับทุน และกลุ่มผู้ที่จะขอทุนในอนาคต ในประเทศที่การรับเงินเพื่อบอกเล่าความเป็นจริงเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมีโทษถึงตาย

นี่เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก ทำไมถึงเชิญกองทุน มูลนิธิ และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาประชุมในประเทศที่เห็นได้ชัดว่าต่อต้านเรื่องเหล่านี้

ข้อเท็จจริงที่ไม่น่าอภิรมย์สำหรับผู้ร่วมประชุมได้แก่ไม่มีอะไรที่จะช่วยสนับสนุนนายพล Sisi ได้มากไปกว่าเปลี่ยน Sharm el-Sheik ให้เป็นสวนสัตว์แห่งมูลนิธิและกลุ่มอนุรักษ์ที่จะมาใช้เวลาสองสัปดาห์โต้เถียงกันเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางภูมิอากาศระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาต่อหน้ากล้องทีวี โดยมีตัวแทนจากท้องถิ่นสองสามกลุ่มที่ได้รับอนุญาตจากรัฐแล้วเข้ามาร่วมวงเพื่อให้ดูสมจริง ทำไมจึงเป็นแบบนั้น?

ก็เพราะว่ารัฐบาลอียิปต์ต้องการสร้างภาพให้ตนเองเป็นในสิ่งที่ตนเองไม่ใช่ ซึ่งได้แก่ สังคมประชาธิปไตยเสรี ที่เป็นแหล่งพลังงานที่ดีสำหรับทุกคน และเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับ IMF ที่จะเข้ามาลงทุน

เมื่อรวมทุกเรื่องที่กล่าวมาแล้ว จุดมุ่งหมายของรัฐบาลอียิปต์ก็คือสร้างฟองสบู่ครอบ Sharm el-Sheikh ไว้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดูเหมือนประชาธิปไตยชั่วคราว ดังนั้นคำถามสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมก็คือ พวกเขาจะเล่นไปตามบทด้วยหรือไม่ หรือพวกเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางละครบทนี้?

ในแผนการประชุมที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้าที่มีโคคา-โคล่าเป็นผู้สนับสนุนหลักนี้ แน่นอนว่ากิจกรรมพิเศษได้แก่การมีส่วนร่วมเป็นครั้งแรกของ Children and Youth Pavilion ที่จะทำให้เกิดการอภิปราย การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์นโยบาย และการรวมตัวกันของเยาวชนทั่วโลกที่ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะ “รวมพลังเพื่อพูดความจริง”

เราไม่สงสัยว่าเยาวชนส่วนมากในการประชุมจะสามารถแสดงปาฐกถาได้ดังเช่นที่เป็นมาในเวทีกลาสโกวและเวทีอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น คนรุ่นใหม่ได้กลายเป็นผู้นำด้านการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนและโปร่งใส ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้อย่างยิ่ง

เมื่อสิบปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ชาวอียิปต์มิได้มีการตั้งกลุ่มโดยการสนับสนุนของรัฐเช่นนี้ แต่พวกเขามีการปฏิวัติอยู่ในมือ พวกเขาชุมนุนกันที่จตุรัส Tahrir เพื่อเรียกร้องให้รัฐสร้างความแตกต่าง สร้างสังคมที่ไม่ถูกปกครองด้วยความกลัว สังคมที่ไม่คุมขังไว้รุ่นในคุกมืดแล้วกลับออกมาในสภาพปางตาย

การปฏิวัติเช่นนั้นโค่นล้มเผด็จการที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่เขาเกิดมา

แต่แล้วความฝันของพวกเขาต้องพังทลายลงด้วยความทรยศและความรุนแรงทางการเมือง

ในจดหมายฉบับล่าสุดของ Abd El-Fattah เขาได้เขียนบรรยายถึงความเจ็บปวดที่ได้รับจากการอยู่ร่วมห้องขังเดียวกับเด็กและวัยรุ่น “พวกเขาอายุยังไม่ถึงเกณฑ์เลยเมื่อตอนที่พวกเขาถูกจำขัง” หนึ่งในจำนวนนั้นที่มีส่วนร่วมในการยึดจตุรัสในปี 2011 ได้แก่น้องสาวของ Abd El-Fattah เองที่ชื่อ Sanaa Seif ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 17 ปี Sanaa ได้ก่อตั้งธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อว่า Al Gornal ร่วมกับเพื่อน ๆ และเผยแพร่หนังสือพิมพ์จำนวนนับหมื่น ๆ ฉบับเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่ Tahrir นอกจากนี้เธอยังเป็นบรรณาธิการและช่างภาพที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอคาเดมี่อวอร์ดจากภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย เธอถูกรัฐบาลอียิปต์จำคุกหลายต่อหลายครั้งในข้อหาเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกร้องให้ปล่อยตัวพี่ชายของเธอ

ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง เธอฝากข้อความให้แก่เราเพื่อไปบอกเยาวชนที่เข้าร่วมประชุมว่า “เราได้พยายามพูดความจริงต่อผู้มีอำนาจ ผลก็คือพวกเราถูกจำคุก ถ้าคุณเข้าร่วมประชุม COP27 จงจำไว้ว่าคุณคือกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ โปรดรักษามรดกนี้ไว้ โปรดพูดความจริงต่อผู้มีอำนาจ มันจะเกิดผลกระทบที่ใหญ่หลวงเพราะทุกคนจับตาดูเราอยู่”

ทว่าเมื่อการประชุมใกล้เข้ามา และการประท้วงอดอาหารของ Abd El-Fatah เริ่มถูกลืมเลือน Sanaa ก็หมดความอดทนกับกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่นิ่งเฉยเพราะกลัวเสียสิทธิในการร่วมประชุม

“ฉันเริ่มเบื่อหน่ายกับความปากว่าตาขยิบของกลุ่มอนุรักษ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเต็มทน” เธอโพสต์ข้อความนี้ลงในทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “มีเสียงร้องเตือนจากประชาชนอียิปต์มาตลอดเป็นเวลาหลายเดือนแล้วว่า COP27 จะเป็นยิ่งกว่าเพียงการฟอกเขียวเหมือนที่ผ่าน ๆ มา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเราในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะรุนแรงนัก”

เธอยังชี้ให้เห็นว่าทำไมนักสิ่งแวดล้อมชื่อดังต่างก็เพิกเฉยต่อปัญหาเร่งด่วนของสังคมอย่างการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดออกจากคุก “พวกเขากำลังทำให้ #ClimateAction เป็นประเด็นที่แตกแยกออกไปสำหรับกลุ่มคนที่คิดการณ์ไกล”

เธอเขียน “การตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อนและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันและแยกออกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบริษัทอย่าง BP หรือ Eni เป็นอุปสรรคขวางทางอยู่ และในความเป็นจริงแล้ว มันจะยากสักแค่ไหนกันถ้าเรายกสองประเด็นขึ้นมาพูดพร้อมๆกัน”

มันไม่ได้ยากเลย แต่ต้องใช้ความกล้าหาญ สารที่นักรณรงค์ทั้งที่มาร่วมประชุมและมีส่วนร่วมจากภายนอกควรนำมาสื่อในการประชุมเพื่อแก้ไขภาวะโลกร้อนนั้นเรียบง่าย ได้แก่เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้เลยถ้าเรายังละเลยเสรีภาพทางการเมือง สองเรื่องนี้เกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงชะตากรรมของพวกเราด้วย

เราเสียเวลากันมามากแล้ว แต่ก็ยังพอมีเวลากลับตัวเสียใหม่ Human Rights Watch ให้เหตุผลว่าเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายกรอบดำเนินการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกผู้ซึ่งออกระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆในการประชุมควรที่จะ “ตั้งเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP จะต้องปฏิบัติตามให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ช้าเกินไปสำหรับ COP27 แต่ยังไม่ช้าเกินไปสำหรับผู้ที่ใส่ใจเรื่อง Climate Justice ที่จะแสดงออกซึ่งความสามัคคีเพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการ

ในอนาคตอาจมีช่วงเวลาที่แม้แต่นายพล Sisi จะเกรงกลัวปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการต่อต้านที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วยอมปล่อยตัว Alaa Abd El-Fattah กับนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ ก่อนที่สภาพในคุกของเขาจะปรากฏสู่สายตาของชาวโลกก็เป็นได้

เพราะตามที่ Alaa Abd El-Fattah ได้เตือนเราไว้แล้วว่า

พวกเรายังไม่แพ้


อ้างอิง : https://www.theguardian.com/environment/2022/oct/18/greenwashing-police-state-egypt-cop27-masquerade-naomi-klein-climate-crisis?fbclid=IwAR1gpO6qV69OyyQeMkv43ht3T6OqUA5sN-IOIip1BlH9XOryetDDmzy6iNw

Scroll to Top