THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ผยแพร่โดย International Institute for Environment and Development
วันที่ 7 มิถุนายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Training & Research Support Centre (TARSC)

ในปี 2019, แรงงานในประเทศอินเดียกว่า 88% เป็นแรงงานนอกระบบ เช่นเดียวกับที่ในประเทศซิมบับเวมีแรงงานนอกระบบถึง 79.8% จากจำนวนแรงงานทั้งหมด (according to จากข้อมูลการสำรวจแรงงานในปี 2019)

ในขณะที่แรงงานนอกระบบภาคเมืองใหญ่ของอินเดียสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของจีดีพีประเทศ แรงงานนอกระบบในซิมบับเวสามารถสร้างได้ถึง 60%

อย่างไรก็ตาม แรงงานเหล่านี้ กลับถูกมองข้ามโดยรัฐ พวกเขามักอาศัยอยู่ในย่านที่ไม่ได้รับการเหลียวแลและขาดโครงสร้างและบริการขั้นพื้นฐาน ในขณะที่ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสุขภาวะของมนุษย์ทวีความรุนแรงขึ้น สตรีมีภาระที่หนักขึ้น เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมเพราะต้องช่วยครอบครัวหารายได้ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องออกแบบนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของคนเหล่านี้

ปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น
ความเครียดที่เกิดจากคลื่นความร้อน

ภาวะโลกร้อนทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเราร้อนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงานของแรงงานนอกระบบส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยานยนต์ตลอดทั้งวัน ทำงานบนกองขยะเพื่อคัดขยะพลาสติก หรือการทำไร่นา พวกเขาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ทำงานต้นทุนต่ำมักใช้สังกะสีมุงหลังคาเพื่อประหยัดงบประมาณ ทำให้พื้นที่ในตัวอาคารร้อนจัด

นอกจากนี้ยังมีไอร้อนที่เกิดจากวัสดุชีวมวลที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน นอกจากจะทำให้อากาศร้อนจนคนงานอึดอัดทรมานแล้ว อาหารยังเน่าเสียง่าย เป็นอันตรายต่อสุขภาวะอีกด้วย

การทำงานในโรงงานก็เช่นเดียวกัน นาง Hansi แรงงานอายุ 36 ปีจาก Indore ให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันทำงานในโรงงานผลิตขนมทุกวันโดยต้องยืนอยู่ใกล้เตาตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น พอกลับมาบ้านก็ยังต้องทำอาหารให้ทุกคนในครอบครัวกินกันอีก ซึ่งบ้านเราไม่มีห้องครัว เรามีอยู่ห้องเดียวที่ใช้นั่งเล่น ทำอาหาร และนอนในเวลากลางคืนในห้องเดียวกัน ฉันรู้สึกร้อนและเหนื่อยมาก”

ภัยน้ำท่วมและน้ำหลาก

น้ำหลากพัดพาตะกอนและเศษขยะเข้าบ้านเรือนของแรงงานนอกระบบ ฝนตกทำให้เอกสารสำคัญที่ใช้ในเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากรัฐเสียหาย และทำให้อาหารเน่าเสีย

นาง Neerja แม่ค้าอาหารแผงลอยเล่าให้เราฟังว่า “หลังคาบ้านฉันรั่ว ฉันทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าวางถังรองน้ำไว้ตรงจุดที่รั่วเพราะไม่มีเงินพอที่จะซ่อมหลังคา” นอกจากนี้น้ำที่รั่วยังทำให้ลูกค้าไม่อยากเข้าร้านของเธออีกด้วย

ขยะ

ภาวะโลกร้อนทำให้ขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาวะ เทศบาลมักละเลยการเก็บขยะตามตารางเวลาเก็บในชุมชนแรงงานนอกระบบ ผู้อาศัยในย่าน Mabvuku-Tafara รายงานว่าในบางคราวการเก็บขยะเว้นระยะห่างไปถึงสามเดือน ทำให้เกิดการสะสมและแพร่พันธุ์ของเชื้อโรค และการเผาขยะทำลายขยะในชุมชนทำให้เกิดมลภาวะในอากาศ

ภาวะน้ำกินน้ำใช้ขาดแคลนสำหรับแรงงานนอกระบบ

สุขภาวะส่วนบุคคลนั้นเกิดขึ้นได้ยากหากขาดน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดถูกสุขอนามัย น้ำบาดาลมักปนเปื้อนเชื้อโรค น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และมีโอกาสใช้หมดได้ และกลุ่มสตรีที่ต้องเดินหาบน้ำมาจากแหล่งที่ห่างไกลก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บ

สตรีที่อาศัยในย่าน Mabvuku-Tafara เล่าว่าคนขับรถส่งน้ำขอมีเพศสัมพันธ์กับเธอเพื่อแลกกับน้ำอย่างเปิดเผย ซึ่งถ้าเธอปฏิเสธก็จะไม่มาส่งน้ำในย่านที่เธออาศัยอยู่

พลังงาน

ปัญหาพลังงาน ภาวะโลกร้อน และสุขภาวะ เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันอย่างแยกกันไม่ออก และบ่อยครั้งผลกระทบเกิดขึ้นทางตรง ความแล้งทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ และพายุก็ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตพลังงาน หลายครั้งที่ไฟฟ้าดับทำให้เกิดผลกระทบทางอ้อม

“เราตื่นขึ้นมาในความมืดและเดินออกไปที่ถนนที่ไฟดับมืดเพื่อไปที่แหล่งน้ำดื่ม” สตรีจาก Masvingo กล่าว “สามครั้งที่สตรีถูกข่มขืนเพราะเดินไปแหล่งน้ำในความมืด” และเมื่อไม่มีพลังงานสะอาดใช้ ผู้คนก็ต้องจุดเทียนไขและเตาสกปรก ๆ ที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ

ในซิมบับเวนั้น บางบ้านต้องใช้เตาสกปรก ๆ หุงหาอาหารที่สุกช้าอย่างถั่ว โดยใช้รองเท้า เสื้อผ้า หรือยางเก่า ๆ เป็นเชื้อเพลิง

และเมื่อภาวะโลกร้อนทำให้รายได้ของผู้คนลดลง ปัญหาพลังงานก็จะรุนแรงขึ้น คนยากจนเลือกใช้พลังงานราคาถูกที่ทำให้เกิดมลภาวะในปริมาณมากและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟไหม้สูง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะสูญเสียทั้งบ้านและที่ทำงาน เพราะแรงงานนอกระบบส่วนหนึ่งผลิตงานกันที่บ้านของตน

แนวทางในการแก้ปัญหาสามระดับ

หนึ่ง การแก้ไขระดับองค์กร

ปฏิรูประบบราชการ : แรงงานนอกระบบมักไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการได้ อย่างเช่นนาง Aradhana ผู้ซึ่งผลิตสร้อยคออยู่ที่บ้านของตนเอง ครอบครัวของเธอมีสิทธิรับสวัสดิการด้านอาหาร แต่เนื่องจากขาดเอกสาร จึงทำให้การสมัครเป็นไปด้วยความยากลำบาก เธอจึงได้ยื่นคำร้องทุกข์ไว้กับหน่วยงาน หกเดือนต่อมาเธอจึงได้รับใบอนุญาต แต่ปรากฏว่ามีชื่อของสมาชิกในครอบครัวไม่ครบ เธอจึงต้องเสียเวลาไปอีกสองเดือนเพื่อแก้ไขความผิดพลาดนี้ เธอบอกว่า “ฉันรู้ว่าเจ้าหน้าที่พวกนี้เขาขี้เกียจ เราจึงต้องกดดันพวกเขาบ่อยๆ”

ในขณะเดียวกัน ในประเทศซิมบับเวนั้นไม่มีแม้แต่สวัสดิการดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะมีองค์กรอย่าง Zimbabwe Chamber of Informal Economy Associations (ZCIEA) ที่คอยช่วยเหลืออยู่ก็ตาม อย่างไรก็ดียังมีความเคลื่อนไหวด้านอื่น เช่นใน Masvingo องค์กร ZCIEA กับองค์กรการเมืองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมมือกันจัดตั้ง ‘champions team’ ขึ้นเพื่อปรับปรุงการจัดการของเสีย จากเดิมที่มีเพียงการขายขยะพลาสติกเพื่อนำไปผ่านกระบวนการนำมาใช้ใหม่ ตอนนี้ได้เพิ่มโครงการคัดแยกขยะที่มีความละเอียดมากขึ้นเพื่อแยกขยะที่ย่อยสลายได้ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้การจัดการของเสียไม่ต้องผ่านมือคนกลางที่กดราคาของเสีย และทำให้เกิดการจัดการของเสียในชุมชนที่ดีขึ้น

การสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น : องค์กร Urban Health Resource Centre (UHRC) ได้ช่วยสมาชิกชุมชนใน Indore เผยแพร่คำร้องขอน้ำสะอาดจากระบบประปาของเขต Narmada ในเดือนกันยายนปี 2021 สมาชิกชุมชน Kavi Nagar ได้เขียนจดหมายถึงสำนักงานเขต และในเดือนตุลาคมได้ส่งไปอีกฉบับหนึ่งทางช่องทางร้องทุกข์อย่างเป้นทางการที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องตอบ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ประชาชนจำนวน 400 ครับเรือนจึงได้รับน้ำประปา นอกจากนี้ UHRC ยังได้ช่วยดำเนินการในเรื่องประเภทนี้แก่ชุมชนอื่นๆอีกหลายพื้นที่ เช่นเร่งให้เกิดการซ่อมถนน ขุดเจาะน้ำบาดาล หรือทำทางระบายน้ำเสีย

วางแผนปฏิรูปโครงสร้างการบริหารในระยะยาวเพื่อขจัดการเมืองในการให้บริการประชาชน : ชาวนาคนหนึ่งในเขต Mabvuku Tafara พูดว่า “น้ำคือชีวิต รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเราทุกคนให้มีน้ำกินน้ำใช้ให้พอ ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีเราอยู่กันโดยขาดแคลนน้ำอย่างมาก”

สอง การต่อสู้กับความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติ

สนับสนุนบทบาทของสตรีในงานดูแลบ้าน ครอบครัว และการอาชีพ : หลังจากที่สามีของ Sarla เสียชีวิตลง เธอต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกๆและดูแลกิจการผลิตไม้กวาดของสามีของเธอต่อ Sarla ต้องทำงานกับเครื่องรัดไม้กวาดซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับสตรี เมื่อได้ไม้กวาดแล้วแม่ยายของเธอจึงนำไปเร่ขายตามข้างถนน
การศึกษาที่ค่อนข้างน้อยของสตรีอินเดีย บทบาทของสตรีตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และการกัดกันทางเพศ : นาง Shipra ที่เป็นคนงานก่อสร้างเล่าให้เราฟังว่า “ฉันร่อนทรายและแบกก้อนอิฐ ซึ่งเป็นงานที่หนักมากเมื่อเทียบกับคนงานชายที่มีหน้าที่ผสมปูนและก่ออิฐ นอกจากนี้ฉันยังได้ค่าแรงต่ำกว่าพวกเขาอีกด้วย แถมยังไม่มีโอกาสได้ยกระดับตนเองขึ้นเป็นแรงงานฝีมือได้เลย”

สนับสนุนการเกษตรภาคเมืองและให้สิทธิในที่ดินทำกิน : เขต Indore มีไร่นาอยู่ตามชานเมืองมากมาย ในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงเพาะปลูก Kashi Damke ก็จะเช่าที่ดินเหล่านี้เพื่อปลูกผัก เธออธิบายว่า “ชาวนาพวกนี้รู้จักฉันมากว่า 15 ปีแล้ว พวกเขารู้ว่าฉันจำเป็นต้องขายผักในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูเพาะปลูก”

ในภูมิภาค Masvingo ของประเทศ Zimbabwe ผู้คนส่วนมากมีอาชีพเช่านาทำ มีเพียง 2% เท่านั้นที่มีที่ดินของตนเอง การจัดสรรที่ดินทำกินให้พวกเขาจะเป็นการรับประกันความยั่งยืน แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าปล่อยให้มีการทำไร่นาบนที่ดินเหล่านี้โดยไม่มีการวางแผนที่ดี จะทำให้ไร่นาเหล่านี้ขาดแคลนน้ำและเกิดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนในอนาคต

สาม สร้างโอกาส

สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเอง : ที่ผ่านมานั้นผู้คนมีการพัฒนาความเข้มแข็งของตนเองมาโดยตลอด ครอบครัว Kashi ที่มีอาชีพทำนาค่อยๆปรับปรุงบ้านเรือนของตนและยกพื้นเรือนขึ้นเพื่อหนีน้ำท่วม เพิ่มชั้นบนและใช้วัสดุมุงหลังคาที่ดีขึ้น และเพิ่มห้องครัวและห้องน้ำเข้าไปกับตัวบ้าน

สนับสนุนบทบาทคนรุ่นใหม่ในการสร้างความเข้มแข็งชุมชน : นาย Laxman ซึ่งตอนนี้มีอายุ 22 ปีแล้ว ได้หางานนอกระบบทำเป็นงานเสริมในขณะที่ทำงานประจำในโรงงานผลิตรองเท้า เมื่อบ้านของเขาเสียหายจากอุทกภัย เขาได้สร้างบ้านใหม่ที่เรียบง่าย เปิดแผงขายไข่ไก่ ยาสูบ และขนมขบเคี้ยว และทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้ค่ารักษาพยาบาลบิดาที่ติดไวรัสโควิด 19 และเสียชีวิตไปเมื่อเร็วๆนี้ “มันคงต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่อะไรๆจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ผมจึงได้แต่หวังไว้และทำงานไปเรื่อยๆ”

ฝึกอบรมทักษะแรงงานอย่างหลากหลายมากขึ้น : ในซิมบับเว คนงานเก็บขยะต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนแต่ก็ขาดทักษะในการทำธุรกิจ การฝึกอบรมเรื่องการระวังป้องกันการติดเชื้อจากขยะ ใบอนุญาตสำหรับผู้ซื้อ ลานทำความสะอาดขยะอย่างถูกสุขอนามัย เหล่านี้จะช่วยให้คนงานเก็บขยะสามารถเรียนรู้ทักษะที่สูงขึ้นได้
วางแผนลงทุนในพลังงานสะอาดในระยะยาว : เพื่อสุขอนามัยของแรงงานนอกระบบ

และที่สำคัญที่สุดได้แก่การสร้างโอกาสเพื่อรับผลประโยชน์จากหลายๆทาง : ตัวอย่างเช่น ใช้ก๊าซชีวภาพจากขยะที่นอกจากจะให้พลังงานแล้ว ยังสะอาดกว่าพลังงานฟอสซิลอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงที่ได้ประโยชน์ทั้งสองทางนี้คือหัวใจของการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและสร้างสุขภาวะไปพร้อมกัน


อ้างอิง https://www.iied.org/climate-health-urban-informal-economies-stories-need-change?fbclid=IwAR2h4xSUrG0EmyMe3vO8o3rgmI8a4YW6HY7W2eoPRV5v1mGgSfZJ45RRM0Q


Social Share