THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย GRAIN
วันที่ 7 กันยายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย GRAIN

ระบบอาหารโลกกำลังแตกสลาย เพราเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ ในขณะที่คนจำนวน 1 ใน 10 คนทั่วโลกยังคงหิวโหย ที่เหลือกลับทนทุกข์ทรมานจากโรคอ้วน เบาหวาน และมะเร็งที่เกิดจากอาหารขยะ นอกจากนี้ระบบอาหารโลกยังเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆ

ชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคมได้พยายามมาเป็นสิบๆปีเพื่อหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากระบบอาหารในปัจจุบัน หลายองค์กรได้ก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องอธิปไตยทางอาหาร ที่กระจายอำนาจการผลิตอาหารกลับสู่ชุมชนท้องถิ่นและรักษาสิ่งแวดล้อมและที่ดินไปพร้อมกัน เป็นระบบอาหารที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อทำกำไรแก่บริษัทข้ามชาติทั้งหลาย การเกษตรท้องถิ่นเช่นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมมาหลายต่อหลายรุ่นจนสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาโลกร้อนได้เป็นอย่างดี หลายองค์กรภาคประชาสังคมเรียกแนวทางนี้ว่าวนเกษตรหรือ Agroecology

อย่างไรก็ตามอธิปไตยทางอาหารและวนเกษตรนี้เป็นแนวทางที่ขัดกับผลประโยชน์ของบริษัทการเกษตรที่ได้รับจากระบบอาหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นแนวทางที่ไม่ใช้ GMO เมล็ดตัดแต่งพันธุกรรม หรือสารเคมีที่บริษัทการเกษตรจำหน่าย และยังไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตกระแสหลัก ดังนั้นในขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมได้โมเมนตัมจากการที่อธิปไตยทางอาหารและวนเกษตรก้าวขึ้นมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่นานาชาติเริ่มให้การยอมรับ บริษัทการเกษตรก็ทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางอธิปไตยทางอาหารและวนเกษตรเช่นกัน

หนึ่งในวิธีการดังกล่าวได้แก่การฟอกเขียวบริษัท การฟอกเขียวคือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าบริษัทเหล่านี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือชี้นำสังคมให้คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลดภาวะโลกร้อน หากคุณเข้าไปดูรายงานประจำปีในในเว็บไซต์ของบริษัทอาหารหรือบริษัทเพื่อการเกษตรต่างๆ คุณจะได้รับข้อมูลที่ทำให้เข้าใจว่าภารกิจของพวกเขาคือต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและรักษ์โลก พวกเขาจะอ้างว่ามุ่งมั่นที่จะขจัดการตัดไม้ทำลายป่า แก้ปัญหาโลกร้อน กู้คืนความหลากหลายทางชีวภาพ และต่อสู้กับความหิวโหย นอกจากนี้ยังอ้างว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิเหนือที่ดินทำกินของชนพื้นเมือง อย่างไรก็ตามพวกเขายังขายสินค้าโดยใช้ระบบการผลิตและส่งเสริมการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับที่บริษัทน้ำมันอย่าง Shell หรือ Exxon ได้ฟอกเขียวตัวเองเพื่อทำให้ดูเหมือนว่าพวกเขาแคร์สิ่งแวดล้อม บริษัทอาหารและการเกษตรก็ใช้วิธีการเดียวกันเพื่อสร้างความสับสนในหมู่ผู้คนและขัดขวางการกระทำใดๆก็ตามที่จะมากรพทบต่อผลประโยชน์ของตน

ต่อไปนี้เป็นสารานุกรมของวิธีการฟอกเขียวที่บริษัทอาหารและการเกษตรใช้เป็นบ่อนทำลายแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมโดยภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ที่เราได้รวบรวมไว้ดังนี้

‘Net Zero’

Net zero ตามความหมายของสหประชาชาติหมายถึง “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ใกล้เคียงกับศูนย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงดูดซับส่วนที่เหลือออกจากบรรยากาศโลก” ซึ่งก็คือสมการ ลด + ดูดซับ = ศูนย์ นั่นเอง ในปี 2015 รัฐบาลประเทศต่างๆตกลงที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 หลังจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลประเทศที่เหลือก็ทำข้อตกลงที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามกันมาอย่างล้นหลาม ซึ่งรวมถึง Net Zero ภาคสมัครใจในภาคเอกชนด้วย

ทว่าปัญหาของเป้าหมาย Net Zero ภาคเอกชนก็คือมันยังมีความห่างไกลกับ Real Zero อยู่มาก โดยที่บริษัทต่างๆเพียงใช้สมการ Net Zero เพื่อหลีกเลี่ยงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรม โดยอ้างว่าพวกเขาไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเพราะสามารถชดเชยได้ด้วยการปลูกป่า อนุรักษ์ป่า หรือใช้ Geoengineering เพื่อดูดซับคาร์บอนออกจากบรรยากาศโลกได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง

ตัวอย่างเช่น แผนการด้าน Net Zero ของ Nestlé นั้นคือการเพิ่มยอดขายสินค้าอาหารอย่างนมและเนื้อซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการเป็นปริมาณที่สูงมาก แล้วจึงปลูกต้นไม้ รักษาป่าเป็นการชดเชย แต่การที่จะชดเชยได้หมด เนสต์เล่จะต้องปลูกป่าถึง 4 ล้านเฮกตาร์ทุกปี ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าสวิตเซอร์แลนด์เสียอีก หลักการและเหตุผลเช่นนี้ผิดหลักตรรกะมาก และ Nestlé ก็เป็นเพียงหนึ่งในบริษัทที่วางแผนปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน

วิธีเดียวเท่านั้นที่จะบรรลุเป้าหมาย Zero ภายในปี 2050 ได้แก่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงๆ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยโดย Nestlé และบริษัทอาหารอื่นๆนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เป็นเรื่องของทางเลือก เพราะเรายังมีระบบอาหารทางเลือกที่ปล่อยก๊าซต่ำอีกมาก

การชดเชยคาร์บอน

การชดเชยคาร์บอน คือกลไกที่ภาครัฐหรือเอกชนซื้อเครดิตจากโครงการปลูกป่าคาร์บอนเพื่อชดเชยกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน แต่แท้ที่จริงแล้วระบบชดเชยคาร์บอนก็คือการซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง ประเทศอย่างสหราชอาณาจักร จีน นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ออกกฎหมายบังคับให้ภาคเอกชนค่อยๆลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนลง และซื้อเครดิตหรือ “ใบอนุญาต” จากบริษัทอื่นถ้าต้องการปล่อยก๊าซในปริมาณที่สูงกว่าที่รัฐอนุญาต ตลาดคาร์บอนภาคบังคับเช่นนี้เรียกว่า Emissions Trading Systems (ETS) อย่างไรก็ตาม โครงการชดเชยคาร์บอนส่วนมากมักขายเครดิตในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจเพราะกฎระเบียบไม่เข้มงวดมากนักและราคาเครดิตต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาดภาคบังคับถึงสิบเท่า ถึงแม้ว่าเครดิตในภาคสมัครใจจะ (ยัง) ไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศที่มีตลาดภาคบังคับได้ แต่ก็ไม่ส่งผลต่อราคาเครดิตในภาคบังคับ และมักถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเขียวของภาคเอกชน ความต้องการเครดิตภาคสมัครใจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเป้าหมาย Net Zero ของภาคเอกชนนั้นต้องพึ่งพาการชดเชยคาร์บอนเป็นอย่างมากเพื่อหลีกเหลี่ยงการลดปริมาณก๊าซอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2021 การซื้อขายเครดิตภาคสมัครใจเพิ่มขึ้นถึง 159%

มีบริษัทอุตสาหกรรม ที่ปรึกษา และภาค NGO จำนวนมากที่กำลังออกแบกลไกตลาดคาร์บอนเช่นการปลูกป่าขนาดใหญ่หรือการทำฟาร์มที่อ้างว่าสามารถเก็บกักคาร์บอนไว้ในดิน ทว่าเรายังไม่มีเกณฑ์หรือมาตรฐานที่เข้มงวดเพื่อควบคุมกลไกนี้และธุรกิจคาร์บอนเครดิตก็เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จและตรรกะผิดๆ นอกจากนี้ โครงการผลิตคาร์บอนเครดิตมักตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อกดราคาเครดิตไม่ให้สูงเกินไป ทำให้ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนพื้นเมือง แหล่งน้ำ และป่าตามธรรมชาติ และได้รับเงินเพียงน้อยนิดเป็นค่าตอบแทน การยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านในประเทศกำลังพัฒนาเช่นนี้เทียบได้กับการล่าอาณานิคมคาร์บอน

Nature-Based Solutions

คำว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีธรรมชาติ หรือ Nature-based Solutions (NBS) ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดยองค์กรอนุรักษ์ NGO เพื่อช่วยในการระดมทุนโดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์ป่า แต่ในปัจจุบันกลับถูกนำมาใช้โดยภาครัฐและเอกชนเพื่อโปรโมทกลไกชดเชยคาร์บอนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของตน หนึ่งในโครงการต้นแบบของ NBS ได้แก่โครงการนำร่องที่สนับสนุนโดย World Bank เพื่อประมาณการมูลค่าของบริการทางระบบนิเวศให้เป็นตัวเงินและเพื่อเสนอแนวทางที่ใช้ระบบตลาดมาแก้ไขปัญหาโลกร้อนและความหลากหลายทางชีวภาพ ในบริบทเช่นนี้ “Nature” ในรูปแบบของการอนุรักษ์ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ มหาสมุทร และแม้แต่ไร่นาและพื้นที่ปลูกป่านั้นสามารถจัดการให้ดูดซับก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลกได้มากถึง 37% และใช้ปริมาณที่ถูกดูดซับนี้มากำหนดมูลค่าเพื่อการซื้อขายในตลาดคาร์บอนเพื่อที่จะได้สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่อไปอย่างถูกกฎหมาย หลักจากที่มีการนำเอาคำนิยามอย่างกว้างๆของคำว่า NBS มาใช้ในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กิจกรรมหลากหลายประเภทก็ตกอยู่ภายใต้คำนิยามนี้

ความต้องการใช้ Nature-based Solutions ก่อให้เกิดความต้องการที่ดินจำนวนมหาศาลตามมา เช่นบริษัทน้ำมัน Total ของฝรั่งเศสที่สร้างโครงการปลูกป่าบนพื้นที่ 40,000 เฮกตาร์ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าปิ๊กมี่ในคองโกเพื่อฟอกเขียวตัวเองและชดเชยการปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาลในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ส่วนบริษัทพลังงานขนาดยักษ์อื่นๆในยุโรปอย่างเช่น Eni และ Shell ซึ่งต้องการที่ดินขนาด 8 ล้านเฮกตาร์ทุกปีเพื่อปลูกป่าชดเชยการปล่อยก๊าซที่บริษัทวางแผนที่จะไม่ลดไปจนถึงปี 2050 และยังมีโครงการ “Nature-based Solution” ในลักษณะเดียวกันนี้อีกมากทั่วโลกที่ยึดที่ดินทำกินจากชาวบ้านเป็นจำนวนมากเพื่อปลูกป่าคาร์บอนที่จะนำมาชดเชยกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้น ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “Nature-based Solutions” ควรเป็น “nature-based dispossessions” หรือการยึดที่ดินทำกินโดยนำการอนุรักษ์ธรรมชาติมาเป็นข้ออ้างมากกว่า เนื่องจากความต้องการในที่ดินขนาดมหึมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้หลักการพื้นฐานของ NBS ยังเป็นเรื่องโกหกอีกด้วย การตั้งสมมติฐานที่ว่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้นสามารถดูดซับและเก็บกักไว้ได้อย่างถาวรในป่า ดิน และมหาสมุทร ซึ่งเป็นสมมติฐานที่นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาประกาศแล้วว่าเป็นความเท็จ

Zero deforestation

การตัดไม้ทำลายป่าเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และสังคมโลกก็กำลังกังวลกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในปี 2010 บริษัทอาหารต่างก็พยายามดำเนินการแก้ไขโดยตกลงที่จะขจัดกิจกรรมการตัดไม้ทำลายป่าในกระบวนการของตนทั้งหมดภายในปี 2020 และได้ให้คำมั่นในเรื่อง “Zero-Deforestation” นี้ในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในปี 2014 และปี 2021 เงินทุนหนึ่งในสามที่จะนำมาใช้เพื่อการนี้นั้นคาดว่าจะมาจากนักลงทุนภาคเอกชนและบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ทว่าในที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา พื้นที่ป่าอเมซอนในบราซิลขนาดเทียบเท่าสนามฟุตบอล 27 สนามติดต่อกันถูกทำลายลงทุกๆหนึ่งนาที ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา

กิจกรรมการตัดไม้ทำลายป่าส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตอาหารอย่างเนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์มเพื่อป้อนตลาดโลก ตราบใดที่ยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้อยู่ การตัดไม้ทำลายป่าก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แต่บริษัทอาหารและการเกษตรไม่ต้องการรับผิดชอบต่อป่าไม้ที่ถูกทำลายหรือลดการผลิตสินค้าที่เป็นสาเหตุ จึงได้นำกลไกมาตรฐานและใบอนุญาตการเกษตรแบบ “Climate Smart Agriculture” มาใช้เพื่อฟอกเขียวบริษัทแทนการหยุดตัดไม้ทำลายป่า

แผน Zero-deforestation ของภาคเอกชนนั้นเต็มไปด้วยช่องโหว่และขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังนำมาใช้กับสินค้าเพียงบางประเภทและป่าบางประเภทและไม่พิจารณาถึงประวัติการตัดไม้ทำลายป่าในอดีตหรือการทำลายป่าทางอ้อม ยกตัวอย่างเช่น Cargill สามารถทำ “Zero Deforestation” จากพื้นที่ป่าที่ถูกตัดทำลายและยึดมาจากชาวบ้านเมื่อสิบปีที่แล้วก็ได้ หรือ Unilever สามารถผลิตน้ำมันปาล์มบนพื้นที่ “Zero Deforestation” ที่ยึดมาจากป่าชุมชนที่ได้รับการพิจารณาว่า “เกิดมูลค่าจากการอนุรักษ์ต่ำ “ หรือ Bunge สามารถผลิตถั่วเหลือง ” Zero Deforestation “ จากพื้นที่ที่เคยเป็นไร่ปศุสัตว์ในบราซิลแม้ว่าจะเป็นการผลักดันให้เจ้าของไร่ปศุสัตว์เดิมต้องไปบุกรุกที่ป่าอเมซอนเพื่อเอาพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของตนคืน เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อภาคเอกชนเหล่านี้ถูกตรวจพบว่าได้ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของ Climate Smart Agriculture ที่ตนเองตั้งไว้ ก็จะไม่เกิดการลงโทษใดๆเพราะกลไกนี้เป็นกลไกภาคสมัครใจและไม่มีผลทางกฎหมาย ตัวอย่างเช่น Nestlé และ Deutsche ที่ตั้งเป้า Zero Deforestation ในปี 2014 แต่ก็ยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากบริษัทที่บุกรุกป่าอย่างผิดกฎหมายในบราซิล เมื่อสังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับความล้มเหลวในด้านการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่อบริษัทเหล่านี้ พวกเขาก็จะเบี่ยงเบนความสนใจโดยพูดถึงเทคโนโลยีที่กำลังนำมาใช้ช่วยในการจัดการอย่าง Blockchain ที่ยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนา ในขณะเดียวกัน แคมเปญ “Zero Deforestation” ของพวกเขาก็ดำเนินการฟอกเขียวกิจการผลิตอาหารที่ได้จากการตัดไม้ทำลายป่ากันต่อไป เพื่อกระตุ้นให้ยอดขายสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น

Climate smart agriculture

การเกษตรแบบ “Climate smart agriculture” เป็นคำที่บริษัทเพื่อการเกษตรคิดค้นขึ้นมากว่าสิบปีแล้วเพื่อรณรงค์ต่อต้านการที่นานาชาติให้การสนับสนุนระบบเกษตรแบบวนเกษตรเพิ่มมากขึ้นทุกทีในเวทีประชุมด้านเกษตรและภาวะโลกร้อนต่างๆ บริษัทผลิตปุ๋ยที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ผลักดันแนวทาง Climate smart agriculture เข้าไปในสังคมกระแสหลักเพื่อการล็อบบี้และสร้างเครือข่ายผู้ที่สนับสนุนในเรื่องนี้ไปทั่วโลกจากบริษัท รัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆอย่าง World Bank และ FAO

ในขณะที่ระบบวนเกษตรคือการเกษตรที่ไม่ใช่ระบบเกษตรอุตสาหกรรม แต่ระบบ Climate smart agriculture เป้นระบบที่พึ่งพากระบวนการใดๆก็ตามที่บริษัทสามารถนำไปอ้างได้ว่าเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกและหลักเลี่ยงที่จะกล่าวถึงผลกระทบที่ใหญ่กว่ามากที่เกิดจากเกษตรอุตสาหกรรม แท้จริงแล้วคำว่า “Climate Smart” คือการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่สูงมากเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่จึงทำให้ไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกเข้าไปรุกที่ป่า หรือการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากเพื่อที่จะไม่ต้องไถหว่านซึ่งเป็นการปล่อยคาร์บอนในดินสู่บรรยากาศ หรือเปลี่ยนทุ่งปศุสัตว์ให้เป็นไร่ถั่วเหลืองเพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจน

จะเห็นได้ว่าคำว่า “Climate Smart” นั้นสามารถนำไปใช้ได้กับแทบทุกกระบวนการในเกษตรอุตสาหกรรม ตั้งแต่การใช้สารเคมีและปุ๋ย ระบบชลประทานแบบน้ำหยด การทำไร่เชิงเดี่ยว หรือ GMOs เหล่านี้ก็คือการฟอกเขียวดีๆนี่เองและนำไปสู่ภาวะโลกร้อนซึ่งเราต้องหยุดกระบวนการเหล่านี้โดยด่วน

Agriculture 4.0

“การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 “ หรือ “Industry 4.0” เป็นแนวทฤษฎีที่ก่อขึ้นโดยผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนใน World Economic Forum เพื่อใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่าง AI การปรับแต่งพันธุกรรม และหุ่นยนต์ ส่วน “Agriculture 4.0” นั้นใช้อธิบายการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในภาคการเกษตร

แต่มาถึงตอนนี้ ความก้าวหน้าที่บริษัทอาหารได้รับจากเทคโนโลยีดังกล่าวยังห่างไกลจากคำว่าปฏิวัติอยู่มาก

ในขณะที่เครื่องจักรไฮเทคต่างๆอย่างโดรน รถไถไร้คนขับ และหุ่นยนต์อาจช่วยเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ในการเพิ่มผลผลิต แต่สำหรับชาวนารายย่อยนั้นเครื่องมือเหล่านี้แพงเกินไปและไม่เหมาะสำหรับที่ดินขนาดเล็ก

นอกจากนี้เทคโนโลยีเหล่านี้ยังเข้ามาแทนที่การจ้างงานในชนบท และ “Agriculture 4.0” ยังต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลซึ่งเมื่อนำมารวมเข้ากับกระบวนการผลิตทั้งหมดแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

แพลตฟอร์มดิจิทัลภาคเกษตรโดยบริษัทเพื่อการเกษตรและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่าง Microsoft ให้ประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อยน้อยมาก

เกษตรกรรายย่อยมักตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ที่ขาดสาธารณูปโภคที่เหมาะสมและไม่สามารถจัดหาเทคโนโลยีที่ใช้เก็บข้อมูลที่จะนำมาใช้ในแพลตฟอร์มดิจิทัลได้เพราะราคาสูงเกินไป และซอฟท์แวร์เหล่านี้มักถูกออกแบบมาสำหรับไร่เชิงเดี่ยวขนาดใหญ่

ถ้าปราศจากข้อมูลที่เชื่อถือได้แล้ว แพลตฟอร์มดิจิทัลจะไม่สามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ชาวนารายย่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาที่ทำวนเกษตร เกษตรสวนผสม หรือเกษตรที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมได้

แต่บริษัทเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่มีเหตุผลอื่นในการโปรโมตแพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะเมื่อรวมเข้ากับระบบเงินดิจิทัล (ในโทรศัพท์มือถือ) ทำให้สามารถรวบรวมชาวนารายย่อยจำนวนนับล้านไว้ในแพลตฟอร์มได้ และชาวนาเหล่านี้ก็จะถูกคะยั้นคะยอ (หรือบังคับ) ให้ซื้อสินค้าจำพวกเมล็ดพันธุ์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรเพื่อการเกษตร หรือแม้แต่ประกันภัยและเงินกู้จากบริษัท

การปฏิวัติทางการเกษตรเช่นนี้จึงไม่ได้เป็นการพัฒนาการเกษตรโดยรวม แต่เป็นการรวบรวมเอาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยนับพันเพื่อเปิดเป็นช่องทางขายสินค้าโดยบริษัทเพื่อการเกษตรเพียงอย่างเดียว

คำว่า “Agriculture 4.0” จึงเป็นคำที่ใช้ปิดบังความจริงเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเมือง

อันที่จริงเราสามารถออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ตอบสนองความต้องการของชาวนารายย่อยและแรงงานเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารให้แก่พวกเขาได้ และก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีหลายกลุ่มพยายามทำเช่นนั้น แต่เทคโนโลยีแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันถูกควบคุมโดยบริษัทที่หาผลประโยชน์จากชาวนาและแรงงาน

ดังนั้นแนวร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความมั่นคงอาหารจะต้องสร้างเครือข่ายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางดิจิทัลและต่อต้านการหากำไรจากชาวนาและแรงงานโดยบริษัทเอกชน

Regenerative agriculture

Regenerative agriculture นั้นมีความหมายที่แตกต่างกันไปสำหรับคนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างจากคำว่าฟาร์มออร์แกนิกหรือวนเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีหรือ GMOs แต่ Regenerative Agriculture อาจหมายถึงกระบวนการใด ๆ ก็ได้ที่อ้างว่าเป็นการปรับปรุงคุณภาพดิน

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแนวคิดนี้ถึงได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในหมู่บริษัทผลิตอาหารและบริษัทเพื่อการเกษตรต่าง ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

บริษัทผลิตอาหารขนาดใหญ่อย่าง ADM, Cargill, Danone และ Nestlé ได้นำเอาแนวทาง Regenerative Agriculture มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนของตน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อชักชวนให้ชาวนารายย่อยเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรมาใช้วิธีของพวกเขาที่อ้างว่าเป็นการลดการใช้สารเคมีและ/หรือเก็บกักคาร์บอนไว้ในดิน

แต่ปัญหาคือบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ใช้เงินทุนของตัวเองมากมายนักในการดำเนินโครงการนี้ อย่างเช่น Danone ใช้เงินลงทุนมูลค่าเพียงเท่ากับยอดขาย 1 วันใน 1 ปีของบริษัท ส่วน Nestlé ก็ใช้เพียง 1.5% ของเงินปันผลต่อปี ส่วนที่เหลือนั้นชาวนารายย่อยจะต้องเป็นผู้จ่ายเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรของตนเพื่อทำให้บริษัทเหล่านี้อ้างได้ว่าพวกเขาได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว

นอกจากนี้ บริษัทเพื่อการเกษตรต่าง ๆ ยังใช้ Regenerative Agriculture เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการประชาสัมพันธ์ตนเองแก่นักลงทุนเพื่อการจัดหาที่ดิน และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าการเกษตรบนที่ดินขนาดใหญ่ของตนนั้นจะสร้างรายได้เพื่อชักชวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มาลงทุน

อย่างเช่นบริษัท SLC Agrícola ที่เป็นบริษัทผลิตถั่วเหลืองขนาดใหญ่ของบราซิลและตัดไม้ทำลายป่าไปเป็นจำนวนมากได้ระดมทุนจำนวน 95 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากตลาดทุนเพื่อนำมาซื้อรถไถประหยัดพลังงาน “ปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ” และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อดำเนินโครงการ Regenerative Agriculture ของตน

สรุปแล้วคำว่า Regenerative Agriculture นั้นถูกใช้โดยภาคเอกชนอย่างแพร่หลายเมื่อต้องการหลีกเลี่ยงเมื่อมีใครก็ตามพูดเรื่องความมั่นคงอาหารและระบบวนเกษตรขึ้นมา

Carbon Farming

การใช้สารเคมีปริมาณมากอุตสาหกรรมเกษตรทำลายธาตุอาหารในดินไปมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกเป็นปริมาณหลายล้านตัน เมื่อตลาดคาร์บอนเริ่มเติบโตขึ้น บริษัทที่เคยปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับมาเป็นผู้นำในโครงการที่เก็บกักก๊าซไว้ในดินโดยวิธีการ Carbon Farming หรือการทำไร่คาร์บอน

ชาวไร่ที่ต้องการร่วมโครงการนี้จะต้องลงทะเบียนออนไลน์และใช้กระบวนการที่อ้างว่าเป็นการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในดินด้วยการปลูกพืชคลุมดินและใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแทนการไถหว่าน หลังจากที่ใช้วิธีนี้ไปจนจบระยะเวลาโครงการ ชาวไร่ก็จะได้รับค่าตอบแทนจากการเก็บกักคาร์บอนไว้ในดิน บริษัทเพื่อการเกษตรยักษ์ใหญ่แทบทุกบริษัทอย่าง Bayer, Yara, และ Cargill ต่างก็เข้าร่วมโครงการประเภทนี้ในประเทศที่มีการทำเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง US, Brazil, Australia และ France ซึ่งทำให้พวกเขาไม่แต่เพียงสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้โครงการดังกล่าวเพื่อดึงชาวไร่ชาวนาเข้าเป็นสมาชิกในแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็นช่องทางใหม่ในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยได้อีก

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของโครงการ Carbon Farming นี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด ประการแรก พวกเขาผลิตเครดิตขึ้นมาเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อหลีกเลี่ยงการลดก๊าซที่เป็นรูปธรรม ประการที่สอง โครงการชดเชยคาร์บอนนี้จะต้องรับประกันได้ว่าคาร์บอนที่ถูกดุดซับนั้นจะถูกเก็บกักอยู่ในดินตลอดไปไม่กลับสู่บรรยากาศโลกอีก ซึ่งโครงการ Carbon Farming ไม่มีกลไกอะไรที่จะรับประกันเช่นนั้นได้หลังจากเวลาผ่านไปแล้ว 10 ปี ในขณะที่คาร์บอนจะต้องถูกเก็บกักไว้ในดินเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 100 ปีเพื่อไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อน ประการที่สาม โครงการชดเชยคาร์บอนจะต้องพิสูจน์ได้ว่าสามารถดูดซับคาร์บอนเพิ่มเติมจากปริมาณที่ธรรมชาติดูดซับได้อยู่ก่อนแล้วโดยไม่ซ้ำซ้อน แต่ที่ผ่านมาก่อนเกิดโครงการชดเชยคาร์บอน วิถีเกษตรของชาวไร่ชาวนาก็ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว โครงการชดเชยคาร์บอนจึงไม่จำเป็น ประการสุดท้าย ปัญหาเรื่องของการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจวัดคาร์บอนที่โครงการชดเชยสามารถเก็บกักไว้ในดินที่คุ้มทุนได้

Bioeconomy

Bioeconomy หรือเศรษฐกิจสีเขียวต้องพึ่งพาพืชและแหล่งทรัพยากรชีวภาพอื่นๆเพื่อนำมาผลิตวัสดุ สารเคมี และพลังงาน เช่นสมุนไพรสำหรับเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ฟืนที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า อ้อยที่ใช้ผลิตไปโอดีเซล แป้งข้าวโพดที่ใช้ผลิตขวดน้ำพลาสติก จะเห็นได้ว่าภาคการผลิตได้ใช้วัสดุชีวมวลไปแล้วกว่าหนึ่งในสี่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าวัตถุดิบประมาณ 60% ที่ใช้ในกระบวนการทางเศรษฐกิจโลกนั้นสามารถผลิตได้ด้วยกระบวนการชีวภาพ ซึ่งผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจสีเขียวนี้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเพราะผลิตจากของเสียที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม แนวทาง Bioeconomy ก็คือสิ่งที่ชาวนารายย่อยในชนบทปฏิบัติมาโดยตลอดนั่นเอง ในขณะที่บริษัทเอกชนต่างๆต่างก็มุ่งความสนใจไปเพียงที่น้ำมันปาล์มและอาหารสัตว์ ชุมชนพื้นเมืองในแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ยังนำส่วนที่เหลือของปาล์มมาผลิตสิ่งอื่นๆอย่างไวน์ ซุป สบู่ น้ำมันหอมระเหย ยา อาหารสัตว์ เสื้อผ้า และแม้แต่วัสดุก่อสร้างบ้านเรือนเป็นการต่อยอด ส่วนบริษัทเพื่อการเกษตรนั้นเข้าใจคำว่า Bioeconomy ในขอบเขตที่จำกัดมาก คือเห็นเป็นเพียงโอกาสในการพัฒนาตลาดการเกษตรสำหรับข้าวโพด ถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์มโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่จดสิทธิบัตรอย่าง Synthetic Biology, Nanotechnology, หรือการตัดต่อพันธุกรรม ตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตน้ำมันปาล์มกำลังร่วมมือกับบริษัทพลังงานเพื่อผลิตเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน ซึ่งทำให้ความต้องการพื้นที่ปลูกในบราซิลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้น

มีบางบริษัทที่กำลังพยายามนำเอาเชื้อเพลิงชีวภาพกลับมาขายภายใต้ร่มเงาของ Bioeconomy เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงที่อุตสาหกรรมพลังงานเคยวางแผนที่จะนำมาใช้แทนพลังงานฟอสซิลเมื่อสิบปีที่แล้วเพื่อเป็นพลังงานสีเขียวที่บรรเทาปัญหาโลกร้อน แต่การทำไร่เชิงเดี่ยวขนาดใหญ่เพื่อนำวัตถุดิบมาผลิต Biodiesel และ Ethanol ก่อให้เกิดปัญหาตามมาเนื่องจากที่ดินมีจำกัด นอกจากนี้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตก็สูงมากจนเกินประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับจาก Biofuels

ด้วยการเปลี่ยนชีวมวลและความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นสินค้าสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว บริษัทเพื่อการเกษตรต่างๆก็เร่งยึดที่ดินจากชาวบ้านและก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในประทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอย่างประเทศกำลังพัฒนา (ที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงถึง 86%)

Green finance

ทุนสีเขียวหรือ Green Finance คือเครื่องมือทางการเงินอย่างพันธบัตรและเงินทุนที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กฎเกณฑ์นี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Environmental, Social and Governance (ESG) เป็นเพียงกฎเกณฑ์ภาคสมัครใจและควบคุมโดยบรรษัทการเงินเสียเอง ถึงแม้ว่าทุนสีเขียวจะยังเป็นตลาดขนาดเล็กอยู่คือมีมูลค่าเพียง 1.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเมือเทียบกับมูลค่าทุนทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก118 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในปี 2020 แต่ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว World Bank ได้ประมาณการว่าตลาดพันธบัตรสีเขียวหรือ Green Bonds ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทหนึ่งของทุนสีเขียวจะมีมูลค่าถึง1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ภายในสามปี และถึง10 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯภายในปี 2030

บรรษัทการเงินทั้งหลายใช้ทุนสีเขียวนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่ใหญ่กว่าในการควบคุมการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคและการบริการต่างๆที่มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ระบบตลาดทุนสีเขียวจึงเป็นการส่งต่อความเสี่ยงและต้นทุนให้แก่รัฐบาล (และท้ายที่สุดคือประชาชนผู้เสียภาษี) ในขณะที่บรรษัทการเงินทั้งหลายมีความสุขอยู่กับกำไรที่ได้จากการลงทุนในตาลดเขียว เพราะเงินกู้สีเขียวและเงินกู้ในตลาดทุนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับโครงการ “ที่มีความยั่งยืน” หรือตอบสนองเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ และเมื่อมีการนำเอาทุนสีเขียวมาใช้ในระบบอาหารโลก ทุนสีเขียวก็จะเชื่อมโยงไปสู่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวและ Nature-based Solutions

ในระบบการเงินที่มีบรรษัทการเงินขนาดยักษ์อย่าง BlackRock เป็นผู้กุมบังเหียน ไม่น่าแปลกใจที่ ทุนสีเขียวที่หลั่งไหลเข้าไปในภาคเกษตรนั้นไปจบลงในกระเป๋าของบริษัทเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการเพิ่มผลผลิต (ด้วยวิธีการอย่าง “Climate Smart” หรือ “Zero-deforestation”) นอกจากนี้ตลาดหุ้น Wall Street ยังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มทุนสีเขียวนี้เข้าไปในกลุ่มสินทรัพย์เพื่อเข้าควบคุมระบบอาหารโลก ที่ดิน และแหล่งทรัพยากร ไม่มีกฎเกณฑ์ ESG ใดๆที่จะสามารถป้องกันปัญหาเช่นนี้ได้ สิ่งที่เราต้องการได้แก่ทุนจากภาครัฐที่บริหารจัดการโดยชุมชนเองที่บรรดาบริษัทเพื่อการเกษตรและบรรษัทการเงินทั้งหลายไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง


อ้างอิง https://grain.org/en/article/6877-an-agribusiness-greenwashing-glossary?fbclid=IwAR3GtO-dwMfnO51bI4_P8EaBRML7lxE-fac9OhRy04NHpfSFFdoy2YQJXj4


Social Share