THAI CLIMATE JUSTICE for All

งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ: การพัฒนาศักยภาพชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ (กะเหรี่ยง) เพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดย สถาบันโภชนาการ มหิดล

หลักการและเหตุผล

          ระบบอาหารที่ยั่งยืนเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุความมั่นคงด้านอาหารและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ระบบอาหารมีการเปลี่ยนแปลงมากว่า 200 ปีที่ผ่านมาและในอนาคตทั้งจากแรงกดดันภายในและภายนอกชุมชน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งส่งผลระหว่างกันที่กระทบต่อชุมชนหลายมิติ โดยเฉพาะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว บางอย่างไม่สามารถควบคุมได้ การศึกษานี้มีความเชื่อหลัก 2 ประการ หนึ่ง การป้องกัน การเรียนรู้ และศักยภาพของชุมชนในการจัดการและปรับตัวอาจช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และสอง ชุมชนสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและควบคุมการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชุมชน หรืออีกนัยคือการจัดการตนเองโดยอาศัยมุมมอง ความรู้ของชุมชน ร่วมกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและความรู้จากงานวิจัย รวมถึงความรู้จากการปฏิบัติของภาคีเครือข่ายภายในและนอกชุมชน  

          สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์และองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์(กะเหรี่ยง) และภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2548 และปัจจุบัน ได้ดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย เรื่อง โครงการพลิกฟื้นวิถีสังคมและระบบนิเวศสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิโอกาศโลก (โครงการ RISE) ระหว่าง พ.ศ.2564 -พ.ศ.2567 เพื่อให้ชุมชนทราบข้อมูลเชิงประจักษ์ ต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมที่อาจส่งผลต่อระบบอาหารและภาวะโภชนาการของชุมชน รวมถึงการค้นหาแนวทางปรับตัวเพื่อความยั่งยืนของระบบอาหารพื้นเมือง (traditional food system) อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากชุมชนที่ได้ร่วมดำเนินงานกว่า 1 ปี บอกความต้องการ ทั้งการศึกษาเชิงลึก การนำข้อมูลเชิงประจักษ์จากข้อมูลโครงการ RISE รวมถึงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่มาลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาระบบอาหารพื้นเมืองอย่างยั่งยืน โดยการเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดทำแผนและดำเนินกิจกรรมตัวอย่างสำหรับการพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องในอนาคตโดยการสนับสุนของทีมวิจัยและเครือข่าย

ดังนั้น งานวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีคำถามสำคัญ คือ หนึ่ง ชุมชนมีมุมมองและวิธีประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อระบบอาหารของชุมชน อย่างไร สอง ชุมชนมีศักยภาพและแนวทางปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงแรงกดดันอื่น ๆ ที่กระทบต่อระบบอาหารชุมชน อย่างไรบ้าง โดยประยุกต์ใช้ 3 แนวคิดหลัก ประกอบด้วย 1) แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อช่วยกำหนดนิยามและเป้าหมายของระบบอาหารชุมชน 2) แนวคิดการมีส่วนร่วมของพลเมืองซึ่งเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของชุมชน และ   3) แนวคิดเรื่องการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับเปลี่ยนแปลงระบบอาหารจากมุมมองของชุมชนและความรู้สหสาขาวิชาจากภายนอกชุมชน โดยใช้กระบวนการวิจัย เชิงปฏิบัติการ เครื่องมือการวิจัยและเครื่องมือทางสังคมต่าง ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนนักวิจัยสหสาขาและภาคีเครือข่าย

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษามุมมองและการประเมินของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน
  2. เพื่อศึกษาแนวทางการปรับตัวของชุมชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน
  3. เพื่อศึกษาและส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการจัดทำแผนและดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน

ขอบเขตการวิจัย

ขอบเขตเชิงพื้นที่: ชุมชนบ้านสะเนพ่อง และบ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ขอบเขตกลุ่มเป้าหมาย: กลุ่มเยาวชน แกนนำชุมชน รวมถึงผู้ที่สนใจ และมีบทบาทขับเคลื่อนงานฟื้นฟูวิถีสังคมวัฒนธรรมเพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนของชุมชน

แนวทางดำเนินงานวิจัย 

ส่วนที่ 1 ทำความเข้าใจเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ และแนวทางการดำเนินงานร่วมกับชุมชน   

ส่วนที่ 2 ศึกษามุมมองของชุมชน รวมถึงร่วมพัฒนาวิธีประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อระบบอาหารของชุมชน

ส่วนที่ 3 วิเคราะห์สถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแรงกดดันอื่นๆ จากข้อมูลงานวิจัยโครงการ RISE รวมถึงแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายระบบอาหารของชุมชน

ส่วนที่ 4 ศึกษาศักยภาพและความต้องการของชุมชนในการทำแผนและดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันหรือ     ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน

ส่วนที่ 5 การลงมือปฏิบัติของชุมชนโดยการสนับสนุนจากทีมวิจัยและเครือข่าย อาทิ การใช้ประโยชน์งานวิจัย การพัฒนาสื่อเพื่อการสื่อสารภายในชุมชนและสังคม เป็นต้น 

ส่วนที่ 6 ติดตามการดำเนินงานแบบเสริมพลัง และถอดบทเรียนการดำเนินงานเพื่อรวบรวมความรู้สำหรับพัฒนาชุมชนในอนาคต รวมถึงสื่อสารความรู้และศักยภาพของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ให้กับสังคม 

ผลผลิตการวิจัย:

    1) ชุดความรู้การประเมินของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน
     2) แนวทางส่งเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหารชุมชน
     3) แผนและผลดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ แรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย

ชุมชน
1) ชุดความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน
2) แผนการดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ แรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน ที่อาจนำไปเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
3) เครื่องมือและกระบวนการทำงานประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาชุมชนในด้านอื่น ๆ
4) เครือข่ายการดำเนินงาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ให้ชุมชนได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนในอนาคต

นักวิจัยและองค์กร (สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)
          1) ความรู้และแนวทางจากเครือข่ายในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบอาหารของชุมชน เพื่อปรับใช้การวิจัยในอนาคต
          2) เครือข่ายการวิจัยเพื่อร่วมดำเนินงานในอนาคต
          3) การดำเนินงานขององค์กรเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ  

SDGs 13 Climate Action 
เป้าประสงค์ 13 b ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ

 SDGs  2 Zero Hunger 
เป้าประสงค์ 2.5 คงความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้เพาะปลูก สัตว์ในไร่นาและที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์เหล่านั้น รวมถึงให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์และพืชที่มีการจัดการที่ดีและมีความหลากหลาย ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์เกิดจากการใช้ทรัพยากรทางพันธุกรรมและองค์ความรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ตามที่ตกลงกันระหว่างประเทศ ภายในปี 2573

4) การดำเนินงานขององค์กรเพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายทางสังคม
            โปรแกรมที่ 7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการเกษตร มีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ
                        -O2.7 ใช้ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

            โปรแกรมที่ 9 สังคมคุณภาพและความมั่นคง
                   -O2.9 สร้างสังคมที่มีการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและมีการเสริมพลังทางสังคม
                        KR 2.9.1 สร้างองค์ความรู้ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก

การระบุผลงานร่วมระหว่างภาคี: การวิจัยร่วมระหว่างชุมชนและภาคีเครือข่าย ภายใต้งานวิจัย 2 เรื่อง ประกอบด้วย โครงการพลิกฟื้นวิถีสังคมและระบบนิเวศสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิโอกาศโลก ดำเนินงานโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ โครงการกู้วิกฤติโลกร้อนด้วยชุมชนและประชาสังคม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   

ผู้พัฒนาเอกสารเชิงหลักการ: บุคลากรหน่วยส่งเสริมโภชนาการและสุขภาวะ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย
1) น.ส.สินี โชติบริบูรณ์
2) น.ส.ณัฐพัชร์ ทองคำ
3) น.ส.ประภา  คงปัญญา


บรรณานุกรม

FAO and Alliance of Bioversity International and CIAT. (2021). Indigenous Peoples’ food systems: Insights on sustainability and resilience from the front line of climate change. Rome. 

Hallström, L. K., Hvenegaard, G., & Dipa, S. J. (2019). Citizen engagement in sustainability

planning: patterns and barriers from Hinton and Wood Buffalo, Alberta, Canada.

Indigenous Peoples’ Foundation for Education and Environment (IPF) and Indigenous Knowledge and Peoples Foundation (IKAP). (2018). Synthesis Report: Marginalization of vulnerable Peoples in Thailand.  

Kuhnlein, H. V., & Chotiboriboon, S. (2022). Why and How to Strengthen Indigenous Peoples’ Food Systems With Examples From Two Unique Indigenous Communities. Frontiers in Sustainable Food Systems, 173.

Von Braun, J., Afsana, K., Fresco, L., Hassan, M., & Torero, M. (2021). Food Systems–definition, concept and application for the UN food systems summit. Sci. Innov, 27.

กุลวดี แก่นสันติสุขมงคล. (2565). ภูมิคุ้มกันระบบนิเวศ-สังคม. นครปฐม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล.

กฤษฎา บุญชัย, ประสาท มีแต้ม, สมศักดิ์ สุขวงศ์, ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, ระวี ถาวร, เรวดี ประเสริฐเจริญสุขและคณะ. (2565). พลเมืองตื่นรู้ กู้โลกร้อน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

Scroll to Top