THAI CLIMATE JUSTICE for All

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ การปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานการจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้ กรณีศึกษา: ป่าชุมชนบ้านพร้าว ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

โดย: รีคอฟ

หลักการและเหตุผล

จากการรายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report: AR6) ของคณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (International Panel of Climate change) ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ.2564) ระบุว่าอุหภูมิเฉลี่ยของโลกมีการเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปี ค.ศ. 1850-1900 ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงจนเป็นวิกฤติสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ โดยพบว่าในระดับโลกมีผลกระทบที่ชัดเจนอย่างทั้งน้ำแข็งขั่วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปะการังฟอกขาว พายุที่รุนแรงและมีความถี่มากขึ้น น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ภัยแล้งยาวนานขึ้น และไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้น-ปัจจุบันประชาคมโลกภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความพยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสประเทศไทยมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนร้อยละ 0.9 และอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ทั้งนี้พบว่ามีความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอันดับที่ 9 ของโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.04 องศาเซลเซียส ซึ่งเกิดผลกระทบโดยพบว่าป่าไม้ไม่ผลัดใบจะสูญเสียสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ ผลผลิตของป่าบางชนิดลดลงจากภาวะความแห้งแล้งยาวนาน มีเกิดไฟป่าที่จะมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ปริมาณน้ำท่าจากป่าในช่วงฤดูแล้งน้อยลง และส่งกระทบต่อชุมชนในการดำรงชีพทั้งเป็นแหล่งอาหาร รายได้ และบริการจากป่า เช่น น้ำเพื่อการเกษตร และยังเผชิญความเสี่ยงกับภัยพิบัติธรรมชาติมากขึ้นโดยเฉพาะดินโคลนถล่มบริเวณที่ลาดชั้น และน้ำท่วมหลากในราบลุ่มน้ำในเขตป่า มาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นแบ่งออกเป็น 2 มาตรการหลัก กล่าวคือ การป้องกันและแก้ไข (mitigation ) ซึ่งมีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการลดการปลดปล่อยและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก และอีกมาตรการหนึ่งที่สำคัญคือ การปรับตัว (adaptation) ซึ่งป่าชุมชนมีบทบาทมากในการเป็นฐานในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งเป็นแหล่งเก็บหาผลผลิตที่เป็นอาหารทั้งพืช สัตว์และแมลงต่างๆ นอกจากนี้ป่าชุมชนหลายแห่งยังให้บริการทางนิเวศที่เป็นปัจจัยสำคัญในระบบการผลิตโดยเฉพาะน้ำท่าที่ไหลหล่อเลี้ยงการเกษตร ปศุสัตว รวมทั้งการใช้ในครัวเรือนผ่านระบบประปาภูเขา ดังนั้นการสร้างรูปแบบการจัดการป่าที่รองรับปรับตัวจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะขยายผลทั้งองค์ความรู้ บทเรียนสำคัญสู่ป่าชุมชนอื่นๆในประเทศไทยซึ่งมีป่าชุมชนมากกว่า 11,000 แห่ง จึงได้ทำการศึกษาวิจัยครั้งนี้ขึ้น

วัตถุประสงค์การศึกษา

  1. มุมมองของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ และผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรท้องถิ่น และความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านพร้าว
  2. วิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเปราะบางจากผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในอนาคต
  3. วิเคราะห์ทางเลือกและแนวทางการปรับตัวของชุมชน ที่เชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรท้องถิ่น และป่าชุมชน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ผลกระทบความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อชุมชนและทรัพยากรท้องถิ่นในปัจจุบัน มุมมองความรู้ ความเข้าใจของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  2. ความเสี่ยง พื้นที่และกลุ่มเปราะบางต่อผลกระทบจากสภาพอากาศในอนาคต
  3. ทางเลือกในการปรับตัวและแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชน และแผนการจัดการป่าชุมชนที่รองรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วิธีการศึกษา

          การศึกษาวิจัยครั้งนี้จะใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยชุมชนมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) โดยจะมีการตั้งโจทย์วิจัยร่วมกับชุมชน พร้อมกับการสร้างทีมวิจัยชุมชน โดยการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์อย่างมีส่วนร่วมโดยมีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้

  1. จัดประชุมพัฒนาโจทย์วิจัย และทีมวิจัยร่วมกับชุมชน
  2. รวบรวมและทบทวนข้อมูลมือสองของพื้นที่ทั้งกายภาพ วิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจสังคม ทรัพยากรท้องถิ่น และงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  3. จัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ครอบคลุมทั้งขอบเขต พื้นที่ป่าชุมชน แหล่งน้ำ พื้นที่เกษตร ที่ตั้งชุมชน สถานที่และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
  4. รวบรวมข้อมูลสภาพภูมิอากาศทั้งอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝนอย่างน้อย 10 ย้อนหลังถึงปัจจุบันในพื้นที่จากสถานีเก็บข้อมูลที่ใกล้ที่สุด หรือแหล่งข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  5. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อวิถีชิวต ระบบการผลิต และทรัพยากรกรท้องถิ่น ทั้งในมุมมองของท้องถิ่นกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยใช้ลำดับเหตุการณ์สำคัญ (timeline) และตารางแมทริกซ์เพื่อรวบรวมข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติที่สำคัญ ควบคู่กับระบบการผลิต และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน รวมทั้งรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนในการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  6. เก็บข้อมูลสถานการณ์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติมโดยใช้แบบสอบถามเพื่อให้ครอบคุลมทุกกลุ่มอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย
  7. ประเมินคุณภาพภูมิทัศน์ (Landscape quality assessment: LQA)  โดยใช้แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทรัพยากรท้องถิ่นมาจำแนกองค์ประกอบย่อยของภูมิทัศน์ เช่น ป่าชุมชน ลำห้วย แหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรที่ปลูกพืชแต่ละประเทศ ที่อยู่อาศัย เพื่อทำการประเมินคุณภาพขององค์ประกอบย่อยของภูมิทัศน์  
  8. สำรวจและประเมินป่าชุมชนทั้งพืชอาหาร สมุนไพร บริการทางนิเวศที่เป็นฐานสำคัญของการปรับตัว
  9. ประชุมกลุ่มย่อย (focus group) กับกลุ่มผุ้พึ่งพิง เก็บหา และใช้ประโยชน์จากป่า
  10. รวบรวมข้อมูลนโยบาย แผนการพัฒนา ผังเมืองและโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนและฐานทรัพยากรท้องถิ่น
  11. ประสานหน่วยงานและจัดหาข้อมูลคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคต (Climate modelling) อย่างน้อย 10 ปีข้างหน้า
  12. วิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต รวมทั้งพื้นที่และกลุ่มเปราะบางโดยใช้เครื่องมือ VACA จัดเวทีแลกเปลี่ยนกับชุมชน และร่วมประเมินศักยภาพของการปรับตัวของชุมชน
  13. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาทางเลือกในการปรับตัวและแผนการปรับตัว โดยการนำเสนอข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการเก็บเพื่อกำหนดเป้าหมาย ทางเลือก และแผนงานหลักในการปรับตัวของชุมชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานการจัดการทรัพยากร
  14. ปรับปรุงแผนการจัดการป่าชุมชนให้เชื่อมโยงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้รับผิดชอบ

          ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ภายใต้โครงการการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานการจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้ กรณีศึกษา: ป่าชุมชนบ้านพร้าว ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว สนับสนุนโดย สสส. ภายใต้บริหารโครงการโดยมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)

องค์กรร่วมวิจัย

  1. ทีมวิจัยชุมชนบ้านพร้าว
  2. มหาวิทยาลัยบูรพา
  3. สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้จังหวัดสระแก้ว
  4. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC)
Scroll to Top