THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ภูริณัฐ เปลยานนท์
กลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม

ประชาธิปไตย

  • ยกเลิกโทษอาญากฎหมายหมิ่นประมาท: ป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (SLAPP) 
  • ปลดล็อคท้องถิ่นและชุมชนดูแลทรัพยากรร่วม สวัสดิการ: เพิ่มอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่น ชุมชนจัดสรร พัฒนา ดูแล และฟื้นฟูที่ดิน ป่าไม้ น้ำ พลังงาน แร่ อาหาร สาธารณูปโภคพื้นฐานและสวัสดิการ รับประกันและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำงานร่วมกันตั้งแต่ชุมชน ระดับผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาลกลางไปถึงระดับภูมิภาค 
  • เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเพิ่มหมวดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ หมวดสิทธิของธรรมชาติ และหมวดสิทธิในที่ดิน

ภูมิอากาศและพลังงาน

  • ทบทวนและยุติสนับสนุนโครงการที่ไม่ยั่งยืน ทำลายนิเวศ ละเมิดสิทธิประชาชน: รัฐบาลทบทวนและยุติแผนพัฒนาและสนับสนุนการเงินแก่โครงการเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า ฝาย เขื่อน กำแพงกั้นคลื่น โครงการอนุรักษ์ และโครงการภัยพิบัติที่ไม่ยั่งยืน ทำลายระบบนิเวศ ละเมิดสิทธิชุมชน ประชาชน สร้างผลกระทบข้ามพรมแดน และความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เพศสภาพ ชาติพันธุ์และทุกมิติ
  • ยุติการฟอกเขียว โดยทบทวนนโยบายตลาดคาร์บอน คาร์บอนเป็นกลาง คาร์บอนเครดิต ที่กำลังนำไปสู่กระบวนการฟอกเขียว โดยไม่ลดผลกระทบอย่างแท้จริง และเปลี่ยนนโยบายที่สร้างความรับผิดชอบที่แตกต่าง
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและชนบทในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ระบบผังเมือง ขนส่งสาธารณะ ระบบพลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะและของเสีย ระบบความมั่นคงอาหาร การสร้างพื้นที่สีเขียว การจัดการสภาพอากาศ การจัดการทรัพยากร การศึกษา ฯลฯ โดยพัฒนาให้เป็นสวัสดิการสาธารณะที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงเป็นธรรม

เศรษฐกิจและงาน

  • สร้างงานสีเขียว งานดูแลนิเวศต้องได้ค่าตอบแทน: รัฐสนับสนุน สร้างการจ้างงานใหม่สำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม คุ้มครองความมั่นคงในการทำงาน และงานดูแลสังคมและนิเวศเป็นงานที่มีคุณค่า ต้องได้รับค่าตอบแทน
  • สนับสนุนเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ โดยชุมชนเป็นเจ้าของร่วม เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม: รัฐลงทุน สนับสนุนโครงการเศรษฐกิจ ภาคการเกษตร บริการ และอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับชุมชนและแรงงานเป็นเจ้าของร่วม คำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เท่าเทียม เป็นธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริงเหนือการสะสมผลกำไร 

สุขภาพ

  • เปิดเจรจาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ระดับภูมิภาค และผลักดันพ.ร.บ. อากาศสะอาด: คุ้มครองคุณภาพชีวิตทุกชีวิต เจรจาและร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในประเด็นสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ควบคุมดูแลเกษตรพันธะสัญญาในประเทศใกล้เคียง
  • กำจัดมลพิษที่ต้นตอ ควบคุมนำเข้าขยะ: ผลักดันกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) เข้มงวดกฎหมายและมาตรการมลพิษจากการกำจัดขยะ  และการนำเข้าขยะพลาสติก 

สิ่งแวดล้อมและอาหาร

สิ่งแวดล้อม

  • ทบทวนนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า ไม่นำภาคป่าไม้ไปแบกรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคทุน การเพิ่มพื้นที่ป่าต้องไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงอาหาร ต้องคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการป่าในทุกประเภทอย่างยั่งยืน โดยปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับ ให้รับรองสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 5 ตุลาคม 2565 และระเบียบของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรชายฝั่งฯ โดยไม่เปิดทางให้เอกชนมาใช้พื้นที่ป่าของรัฐและชุมชนไปฟอกเขียวด้วยคาร์บอนเครดิต
  • ฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพ: จัดโซนนิ่งการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ธรรมชาติ มีการเปิด-ปิดตามฤดูกาล ควบคุมปริมาณการใช้ประโยชน์และจำนวนนักท่องเที่ยว บังคับใช้กฎหมายควบคุมการนำเข้าและเพาะเลี้ยงชนิดพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศท้องถิ่น มีบทลงโทษกับผู้กระทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม และมีการดูแลเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น
  • ปฏิรูปกฏหมาย EIA EHIA: ปรับปรุงกฏหมาย EIA EHIA และกระบวนการทั้งหมด ให้โปร่งใส ดำเนินการโดยบุคคลที่ไม่ใช่บริษัทเจ้าของโครงการ เพิ่มกลไกและอำนาจประชาชนตรวจสอบได้ 
  • ศึกษาและเสนอกฎหมายพิจารณาการก่อตั้งทรัสต์ที่ดิน: นำที่ดินทิ้งร้างที่ไม่ก่อประโยชน์แก่สาธารณชน เป็นสมบัติร่วม เพื่อให้สิทธิและกระจายอำนาจแก่ชุมชนในการเข้าถึง จัดการ และดูแลที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ ความเป็นธรรมต่อธรรมชาติและสังคม
  • การศึกษาสีเขียว ปลดปล่อยศักยภาพ ยึดโยงชุมชน วัฒนธรรม นิเวศ: พัฒนาหลักสูตรเพื่อเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน วัฒนธรรมและนิเวศ ต้องพัฒนามนุษย์ให้เติบโตโดยมีสุขภาวะที่ดีรอบด้าน โดยไม่กลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อาหาร

การเกษตรนิเวศเพื่ออนาคต ปฏิรูประบบผลิตอาหารปลอดภัยและยั่งยืน : เปลี่ยนผ่านจากเกษตรเชิงเดี่ยวที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไปสู่เกษตรนิเวศภายในปี 2030 ลดใช้สารปราบศัตรูพืช โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มคนเมืองมีบทบาทดำเนินการ อันจะเป็นการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างภูมิคุ้มกันการปรับตัว รักษาความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น สร้างความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ


Social Share