THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ดร.กฤษฎา บุญชัย
Thai Climate Justice for All

ปมปัญหา

  1. แผนลดก๊าซเรือนกระจกของไทยขาดความจริงจังไม่รับผิดชอบต่อโลก จากการเตือนล่าสุดของ IPCC ได้ออกรายงานล่าสุดพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ยังไม่เพียงพอในการคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาฯ แต่จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงไปถึง 3.2 องศาฯ ในปี 2100 IPCC จึงเสนอให้โลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ตามลำดับขั้น คือ ปี 2030 ลดลงให้ได้ร้อยละ 48 (จากปี 2019), ปี 2035 ลดให้ได้ร้อยละ 65, ปี 2040 ลดให้ได้ร้อยละ 80, และปี 2050 ลดให้ได้ร้อยละ 99 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแผนลดก๊าซเรือนกระจก (NDC) ของไทยที่กำหนดเป้าหมายแบบไม่จริงจัง คือ กำหนดเป้าหมายการปล่อยไว้สูงเกินจริงคือ 555 ล้านตันคาร์บอนฯ ในปี 2030 (ทั้งที่ปัจจุบันปล่อยเพียง 345 ล้านตันฯ) และค่อยๆ ลดลงร้อยละ 40 (เหลือ 333 ล้านตันคาร์บอนฯ น้อยกว่าการปล่อยในปัจจุบันเล็กน้อยเท่านั้น) และลดสู่คาร์บอนเป็นกลางในปี 2050 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ ในปี 2065
  2. รัฐขาดนโยบายและมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งการชดเชยความสูญเสียและเสียหาย และการปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือผลกระทบภาวะโลกร้อน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบภาวะโลกร้อนเป็นอันดับ 9 ของโลก แต่รัฐไม่ได้มีนโยบาย และมาตรการที่ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือ ชดเชย ฟื้นฟูประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เผชิญความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤติโลกร้อนให้สามารถตั้งรับ ปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกัน และออกแบบอนาคตตนเองในการเผชิญกับความผันผวนของภูมิอากาศอย่างไร
  3. รัฐขาดความจริงจังในการลดเลิกพลังงานฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน จากแผนลดก๊าซเรือนกระจกของรัฐ การลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนฯ จากภาคพลังงานอุตสาหกรรมมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมาก ไม่ชัดเจนว่าจะลดเลิกการใช้พลังงานถ่านหินในเวลาอันสั้นเท่าใด แต่มีความย้อนแย้งด้วยการอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะหน่วยที่ 8 และ 9 และรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา จาก สปป.ลาว โดยเป็นการลงทุนจากกลุ่มทุนไทยที่รัฐสนับสนุน อีกทั้งยังส่งเสริมการขยายกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติระดับเอเชีย แม้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่ก็ไม่ได้ลดพลังงานฟอสซิลอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้สวนทางกับแผนลดก๊าซเรือนกระจกที่รัฐประกาศ และยังขัดแย้งกับข้อเสนอของ IPCC ที่ต้องลด เลิกพลังงานฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดโดยเร็ว
  4. นโยบายรัฐด้านตลาดคาร์บอนกำลังนำไปสู่การฟอกเขียวให้กับผู้สร้างความเสียหายกับภูมิอากาศ รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการสร้างตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจและจะพัฒนาไปสู่ภาคบังคับ โดยการบุกเบิกขององค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จะมีการออกกฏหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมารองรับ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้มีกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบที่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ด้านพลังงาน อุตสาหกรรม เกษตร ให้ลดก๊าซเรือนกระจกในการผลิตหรือกิจกรรมของตนเองเป็นอันดับแรก โดยไม่ไปเอาการลงทุนในกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกที่อื่นๆ หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย อันจะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความรับผิดชอบในการลดก๊าซฯ ในกิจกรรมของตนเอง และรัฐไม่ได้มีการกำหนดให้ชัดเจนไปว่า การลงทุนในคาร์บอนเครดิตจะจำกัดวงการสร้างแรงจูงใจเฉพาะการช่วยเหลือเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ลดก๊าซฯ หรือปรับตัวกับสภาวะโลกร้อนได้ ไม่ใช่การเอาไปส่งเสริมหรือชะลอการลดการปล่อยก๊าซฯ ของตน เมื่อขาดการแยกแยะ เราจึงเห็นตลาดคาร์บอนเติบโตอย่างคึกคักโดยมีกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซฯ เป็นตัวเล่นหลัก โดยที่ไม่ได้ส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกจริง แต่กลับเป็นการฟอกเขียวให้ธุรกิจที่ทำลายระบบนิเวศสร้างปัญหาโลกร้อนให้ยังคงดำเนินต่อไป
  5. การเอาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของรัฐและชุมชนมาฟอกเขียวกับกลุ่มทุนด้วยคาร์บอนเครดิตโดยไม่คำนึงความเสียหายทางนิเวศและการละเมิดสิทธิชุมชน จากการที่รัฐไม่เอาจริงในการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม แต่หันไปทางทางลัดด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 11 ล้านไร่เพื่อดูดก๊าซคาร์บอนเพิ่มจาก 90 ล้านตันฯ เป็น 120 ล้านตันฯ ในปี 2037 จริงอยู่การเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นสิ่งที่ดีต่อระบบนิเวศ แต่ควรมีฐานะเป็นส่วนเสริมหรือตัวช่วย เพราะถึงแม้จะปลูกป่าเท่าใดก็ไม่สามารถรองรับคาร์บอนจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรมได้เพียงพอ รูปธรรมนโยบายขณะนี้คือ กรอบนโยบาย BCG ที่ส่งเสริมให้เอกชนรายใหญ่ที่มาร่วมขับเคลื่อน BCG ปลูกป่า มติคณะรัฐมนตรี 5 ตุลาคม 2565 ให้เอกชนเช่าพื้นที่ปลูกสวนป่าคาร์บอนเครดิต ระเบียบของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรชายฝั่ง กรมอุทยานฯ ในการให้เอกชนเข้ามาลงทุนปลูกป่าคาร์บอนเครดิต จนเอกชนแห่กันมาจับจองพื้นที่ป่าเพื่อปลูกป่าคาร์บอนเครดิต ปัญหาที่กำลังจะตามมามีหลายอย่าง ได้แก่ ระบบนิเวศธรรมชาติจะเสียหาย สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงอาหารจากการปลูกป่าเชิงเดี่ยว พื้นที่ป่าในขณะนี้ส่วนใหญ่มีชุมชนอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ รัฐกำลังจำกัดสิทธิชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรป่า เพื่อเอาป่ามาให้เอกชนปลูก และให้เอกชนเข้ามามีสิทธิเหนือทรัพยากรของชุมชน ชุมชนกำลังถูกบังคับหรือชี้นำให้เป็นแรงงานปลูกป่าให้กับเอกชน หรือไม่ก็ขายคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนให้กับเอกชน โดยที่ไม่ได้รับทราบเลยว่า เอกชนจะซื้อคาร์บอนเครดิตไปเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบในการลดคาร์บอนฯ จากการผลิตของตนเอง และยังเกิดปัญหาความย้อนแย้งสิทธิ เมื่อป่าเป็นทรัพยากรของสาธารณะที่รัฐและชุมชนดูแล แต่การให้เอกชนเข้ามาลงทุนเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นการส่วนตัวเป็นปัญหาสิทธิที่ย้อนแย้ง เพราะเท่ากับเปิดให้เอกชนมาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ข้อเสนอต่อรัฐ พรรคการเมือง และสาธารณะ

1. ปรับเปลี่ยนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก

  • แผนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก (NDC) ฉบับล่าสุดของไทย ยังขาดความจริงจังในการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะใช้วิธีคาดการณ์การปล่อยก๊าซฯ ในอนาคต (BAU) ที่สูงเกินจริง (จากปัจจุบัน 345 ล้านตันฯ คาดการณ์ไปถึง 555 ล้านตันฯ ในปี 2030) แม้จะอ้างว่ามุ่งมั่นจะลดการปล่อยก๊าซฯ จากการคาดการณ์ลงมาร้อยละ 40 เหลือ 333 ล้านตันฯ ภายในปี 2030 ก็เพียงแต่ลดลงจากปัจจุบันเล็กน้อยเท่านั้น และการตั้งเป้าหมายบรรลุคาร์บอนเป็นกลางในปี 2050 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์โดยสุทธิในปี 2065 ก็ช้าเกินไป ดังนั้น ควรปรับแผนเป้าหมายเรือนกระจกเสียใหม่ ให้ลดลงร้อยละ 40 จากปี 2019 โดยให้บรรลุคาร์บอนเป็นกลางในปี 2040 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิในปี 2050

2. ลด ละ เลิก พลังงานฟอสซิล และแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียน

  • รัฐควรเร่งปลดระวางถ่านหินภายในปี 2580 โดยการยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ และทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิม หรือสามารถเร่งปลดระวางถ่านหินให้หมดภายในปี 2570 โดยการยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าบางฉบับก่อนครบกำหนด ในขณะที่สามารถคงความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในระดับกำลังผลิตสำรองมากกว่า ร้อยละ 15 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้ตลอดช่วงปี 2564-2580
  • รัฐควรมีนโยบายลดการพึ่งพาพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยหยุดการสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ ๆ หยุดเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หยุดการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ไม่ออกใบอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลอีกภายในปี 2050
  • รัฐควรสร้างระบบธรรมาภิบาลพลังงาน ด้วยการสร้างระบบการตัดสินใจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความพร้อมรับผิด กระจายอำนาจสู่ประชาชนและชุมชนในการจัดการพลังงานหมุนเวียนให้มีสิทธิ เสรีภาพทั้งการผลิต ซื้อ ขาย พลังงานที่มีความรับผิดชอบต่อโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม
  • รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนผลิตพลังงานหมุนเวียนเช่น โซลาเซลล์ ในฐานะเป็นสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้คนยากจนเข้าถึงพลังงาน และได้รายได้จากพลังงานหมุนเวียนด้วย

3. การป้องกันการฟอกเขียว[1]

  • รัฐควรมีนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเพื่อ Net Zero ต้องกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนและปฏิบัติได้สำหรับทุกภาคส่วน ปิดกั้นการฟอกเขียว และขจัดความเสี่ยงที่ผู้ไม่มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาจะเข้าครอบงำตลาด
  • รัฐควรกำหนดกฎหมายและมาตรฐานด้านการให้คำมั่นสัญญา การวางแผนปรับโครงสร้างสู่ Net Zero และการเปิดเผยข้อมูล โดยเริ่มจากกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจที่มีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
  • รัฐควรมีนโยบายห้ามมิให้ภาคเอกชนอ้างว่าองค์กรบรรลุเป้าหมาย Net zero ในขณะที่ยังสร้างหรือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผลิตพลังงานฟอสซิล ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณทั้งหมด และ Net Zero ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในพลังงานฟอสซิล เช่นเดียวกับกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อย่างการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น
  • รัฐควรมีนโยบายห้ามมิให้ภาคเอกชนซื้อคาร์บอนเครดิตแทนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรมในกระบวนการผลิตของตน ดังแนวทางที่ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจที่มีมาตรฐานสูงได้ให้ไว้ว่าผู้ซื้อจะนำคาร์บอนเครดิตมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีการลดก๊าซอย่างจริงจังเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C เสียก่อน ร่วมกับการเพิ่มทุนในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่นช่วยลดปริมาณคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนา
  • รัฐควรมีนโยบายห้ามมิให้ภาคเอกชนลดความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อย แทนการลดการปล่อยก๊าซที่แท้จริง หรือรายงานปริมาณก๊าซเพียงบางส่วนแทนการรายงานปริมาณก๊าซที่เกิดจากทั้งกระบวนการผลิต
  • รัฐควรมีนโยบายกำหนดให้ภาคเอกชนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของตนเป็นอันดับแรก การซื้อเครดิตเพื่อนำมาใช้ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ควรกระทำหลังจากที่ได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของตนแล้ว และไม่ควรนำมาใช้ทดแทนกันโดยเด็ดขาด
  • ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจภายใต้มาตรการป้องกันการฟอกเขียวแล้ว จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเที่ยงตรง เคารพ และรับรองสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งรวมไปถึงการเชิญสมาชิกชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่มีบทบาทพิทักษ์ป่าและระบบนิเวศชนิดอื่นๆเข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการชดเชยคาร์บอน

4. การสร้างความรับผิดชอบที่เป็นธรรมในการลดก๊าซเรือนกระจก

  • รัฐควรมีนโยบายกำกับสถาบันการเงินไม่สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและหยุดการลงทุนและการให้กู้ยืมในภาคเกษตรที่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2025 ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero
  • แผนปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของรัฐและภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลมาจากการใช้ที่ดิน จะต้องรวมถึงแผนการดำเนินกิจกรรมของตนโดยหยุดตัดไม้ทำลายป่าและหยุดการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำภายในปี 2025 เป็นอย่างช้าและไม่พยายามที่จะนำระบบนิเวศอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ออกมาใช้หาผลประโยชน์อีกภายในปี 2030

5. การกระจายอำนาจสู่สังคมและท้องถิ่น

  • ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากที่รวมศูนย์อยู่ที่ราชการ และผู้เชี่ยวชาญ ให้กระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ
  • รัฐต้องกระจายอำนาจทั้งด้านงบประมาณ อำนาจหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการวางแผนบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิออากาศทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยเหลือผู้ประสบความสูญเสีย เสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ และสนับสนุนชุมชนออกแบบปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน

6. ช่วยเหลือ และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเปราะบาง ชุมชนท้องถิ่นในการรับมือภาวะโลกร้อน

  • รัฐต้องมีนโยบาย จัดสรรงบประมาณ ตั้งกองทุน และสร้างกลไกการช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ คนจนเมือง และอื่นๆ ที่ประสบความสูญเสียและเสียหายจากภาวะโลกร้อนโดยเร่งด่วน และสร้างกระบวนการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเปราะบางในการตั้งรับ ปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันในการดำรงชีพภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเท่าทันสถานการณ์

7. การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิชุมชนและความร่วมมือประชาชนข้ามพรมแดน

  • มีนโยบายคุ้มครองส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการป่าในทุกประเภทอย่างยั่งยืน โดยปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับให้รับรองสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 5 ตุลาคม 2565 และระเบียบของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรชายฝั่งฯ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยไม่เปิดทางให้เอกชนมาใช้พื้นที่ป่าของรัฐและชุมชนไปฟอกเขียวด้วยคาร์บอนเครดิต
    • พัฒนาส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาค เช่น ภูมิภาคแม่น้ำโขงภูมิภาคอาเซียน ในการเรียนรู้ ร่วมขับเคลื่อนนโยบายและปฏิบัติการ รับมือภัยพิบัติเยียวยาและสร้างภูมิคุ้มกันในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

8. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ปรับปรุงร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนด บทบาทให้ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ส่งเสริมความเข้มแข็งและ คุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน และสร้างกระบวนการประชาธิปไตยในทางสิ่งแวดล้อมและการเมือง
    • สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำแผน และร่วมเป็นกลไกปฏิบัติการตามแผนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกด้าน

9. สร้างนโยบายฟื้นฟู คุ้มครองนิเวศและสังคม และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

  • เปลี่ยนผ่านจากเกษตรเชิงเดี่ยวที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไปสู่เกษตรนิเวศภายในปี 2030 โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มคนเมืองมีบทบาทดำเนินการอันจะเป็นการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างภูมิคุ้มกันการปรับตัว รักษาความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น สร้างความมั่นคงอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ
    • ทบทวนนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า ไม่นำภาคป่าไม้ไปแบกรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคทุนการเพิ่มพื้นที่ป่าต้องไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงอาหาร ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชน
    • เพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว (ไม่เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต) โดยส่งเสริมสร้างแรงจูงใจ และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกร ประชาชนในเมือง เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่ส่วนตัว ชุมชน และพื้นที่สาธารณะ และได้ประโยชน์ทั้งความมั่นคงอาหาร รายได้ และบริการนิเวศอื่นๆ จากพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว
    • ทบทวนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำลายระบบนิเวศ เช่น โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม เขื่อน ท่าเรือ และอื่นๆ ที่ทำลายระบบนิเวศ ความหลากหลายชีวภาพ แม้หลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าขยะ ชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังน้ำ นิวเคลียร์ ฯลฯ จะอ้างว่าเป็นโครงการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
    • ทบทวนโครงการที่ออกแบบมาเพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างผิดพลาด เช่น การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนกั้นตลิ่งชายฝั่ง เพราะโครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ยังซ้ำเติมวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

10. ออกแบบนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ทบทวนและประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมแก่โครงการของภาครัฐและเอกชนทั้งพัฒนา โครงการอนุรักษ์ และโครงการภัยพิบัติ และอื่นใดที่อ้างการจัดการปัญหาหรือเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศและข้ามพรมแดน โดยให้อยู่บนหลักการคุ้มครองสิทธิชุมชน สิทธิประชาชน ความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม
    • พัฒนาแผนประเมินและออกแบบอนาคตเพื่อเตรียมป้องกัน และปรับตัวปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ประชาชนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมโดยทันที เช่น พื้นที่ที่จะจมน้ำขาดแคลนน้ำ เจอภัยพิบัติ ความเปราะบางด้านอาหาร สุขภาพ ที่อยู่อาศัย การทำกิน ฯลฯ โดยอยู่บนหลักความยั่งยืน ความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
    • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและชนบทในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ระบบผังเมือง ขนส่งสาธารณะ ระบบพลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะและของเสีย ระบบความมั่นคงอาหาร การสร้างพื้นที่สีเขียว การจัดการสภาพอากาศ การจัดการทรัพยากร การศึกษา ฯลฯ โดยพัฒนาให้เป็นระบบสวัสดิการสาธารณะที่ประชาชนได้รับการคุ้มครอง ได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงเป็นธรรม

11. ลดความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้าง เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดการสภาพภูมิอากาศ

  • มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เพศ สังคม การเมือง เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ดำรงอยู่โดด ๆ แต่สัมพันธ์กับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ผูกขาดอำนาจ ทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม อันทำให้สังคมเผชิญความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม และไม่ยั่งยืน โดยเร่งเปลี่ยนผ่านสังคมไทยสู่สังคมวิถีนิเวศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

[1] ประมวลจากข้อเสนอบางส่วนของคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน สหประชาชาติ, INTEGRITY MATTERS: NET ZERO COMMITMENTS BY BUSINESSES, FINANCIAL INSTITUTIONS, CITIES AND REGIONS, 18 พฤศจิกายน 2022,


Social Share