THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Rachel Hartnett
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.nationalgeographic.org/…/assessing…/
อ้างอิง https://orcid.org/0000-0002-2610-6570

(ต่อจากวันพฤหัสบดี)
นอกจากความเสี่ยงที่เกิดจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและพายุที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นแล้ว ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากโรคระบาดอีกด้วย ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนส่วนใหญ่มักขาดทรัพยากรที่ใช้เพื่อรับมือกับโรคสายพันธุ์ใหม่ ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้น นำไปสู่การเติบโตที่ดีของเชื้อโรคและการแพร่พันธุ์จากการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ และชุมชนที่เสี่ยงต่อการติดต่อก็ขาดทั้งวัคซีนและภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาติ เมื่อภาวะโลกร้อนนำมาซึ่งโรคติดต่อ จะมีผู้คนประมาณ 220-400 ล้านคนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคมาเลเรีย รองลงมาได้แก่ไข้เหลือง ไข้เลือดออก และไลม์ และในประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มที่เปราะบางต่อโรคติดต่อมากที่สุดได้แก่คนยากจน จะเห็นได้อีกครั้งว่าภาวะโลกร้อนนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมทางด้านผลกระทบที่ได้รับ แม้ว่าโรคติดต่อบางโรคก็เคยระบาดในประเทศจักรวรรดิเช่นเดียวกัน แต่ประเทศอาณานิคมย่อมประสบความลำบากมากกว่าในระยะสั้นและระยะกลาง ประเทศยากจนที่ขาดแม้กระทั่งทรัพยากรอย่างไฟฟ้าและน้ำประปาคงไม่ต้องกล่าวถึงวัคซีนป้องกันโรค

ความขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรงนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการถูกปล้นชิงทรัพยากรในอดีตและโลกกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน โดยมีบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์และภาระหนี้สินกดให้ประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในฐานะของความเป็นประเทศอาณานิคมเช่นเดิม ภูมิภาคแคริบเบียนที่สูญเสียทรัพยากรไปในยุคอาณานิคมยังคงต้องสูญเสียอย่างต่อเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่นำมาซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแคริบเบียนมากกว่าผู้ปล่อยซึ่งได้แก่สหรัฐอเมริกา ลัทธิอาณานิคมปล้นชิงทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ไปจากแคริบเบียนและประเทศตามแนวเส้นศูนย์สูตรเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ประเทศตะวันตก และผลของความไม่เท่าเทียมกันนี้กำลังก่อให้เกิดโรคระบาดใหม่เมื่ออุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น แม้ในปัจจุบันลัทธิอาณานิคมยังคงทำหน้าที่ของมันแต่ในรูปแบบใหม่ซึ่งได้แก่การทำให้ประเทศภายใต้อาณานิคมต้องประสบภาวะยากลำบากจากภาวะโลกร้อน

ในขณะที่ประเทศตะวันตกกำลังพยายามลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลก ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โชคไม่ดีที่ระบบกรผลิตและจำหน่ายพลังงานของประเทศพัฒนาแล้วจึงกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการบริโภคพลังงานมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องนี้ไว้ว่า “ประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรนำเอาแบบอย่างในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาและสาธารณสุขจากประเทศพัฒนาแล้วมาใช้ เพราะเป็นแบบอย่างที่บริโภคพลังงานและวัตถุดิบสูงมาก ” อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ได้รับการต่อต้านจากประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่มองว่าเรื่องรักษ์ธรรมชาตินั้นคือลัทธิอาณานิคมรูปแบบใหม่ที่จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศกำลังพัฒนาตกเป็นของประเทศตะวันตกในที่สุด

ข้อระแวงเช่นนี้มิใช่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มาก่อน ในประเทศอินเดีย เมื่อชาวอินเดียพัฒนาประเทศมาถึงจุดที่จะสามารถแข่งขันกับเจ้าอาณานิคมได้ อังกฤษจึงออกกฎหมายห้ามมิให้อินเดียพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เพราะระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิลของอังกฤษจะต้องกีดกันมิให้แรงงานของตนพัฒนาระบบเดียวกันขึ้นมาเอง ด้วยการใช้กำกลังบังคับหากจำเป็น จึงเป็นที่เข้าใจได้ถ้าประเทศอดีตอาณานิคมจะไม่ไว้ใจชาติตะวันตกแม้ว่าความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องจริงใจก็ตาม นอกจากนี้ ความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนมิได้ลดลงเพราะตำแหน่งที่ตั้งของประเทศหรือผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกันของภาวะโลกร้อนในแต่ละภูมิภาค และการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามเช่นนี้ เราจะต้องเข้าใจสาเหตุของความเปราะบางดังกล่าวที่เกิดจากการตกอยู่ภายใต้ลัทธิอาณานิคมในอดีต หากเราไม่นำความเสียเปรียบนี้มาร่วมพิจารณา ก็หมายความว่าเราปล่อยให้ชาติจักรวรรดิเพิกเฉยต่อความเสียหายที่ตนเองเคยก่อไว้ในอดีตแก่ประเทศอื่น

ความไม่เท่าเทียมกันนี้คือเหตุผลว่าทำไมเหล่าประเทศกำลังพัฒนาจึงเร่งหาวิธีลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ความเปราะบางจากการที่เคยเป็นเมืองขึ้น ทรัพยากร และแรงงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดสภาพเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา และจักรวรรดินิยมก็เป็นตัวกำหนดความรวยความจน ความได้เปรียบและเสียเปรียบของแต่ละประเทศ ณ จุดเริ่มต้นของการพัฒนา

แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์และนักรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมกันด้านสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา นักเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้าต่างก็ลงความเห็นว่าประเทศตะวันตกติดค้างหนี้สินทางด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศโลกที่สามจากการยึดครองที่ดินและบริโภคทรัพยากรธรรมชาติของตนมานานนับศตวรรษ และประเทศโลกที่สามที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมควรต้องได้รับการชดเชย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหากประเทศตะวันตกต้องการให้ประเทศโลกที่สามสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จักรวรรดิเคยปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศอื่นเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุผลที่จะจ่ายค่าชดเชยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประเทศกำลังพัฒนาถูกบีบอัดอยู่ตรงกลางระหว่างภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน (ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อประเทศยากจน) และความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อปากท้องของประชากรของตน (ซึ่งต้องอาศัยแหล่งพลังงานราคาถูกได้แก่ปิโตรเลียม ที่ทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลงอีก) และเนื่องจากความยากจนในภูมิภาคนี้เกิดจากการยึดครองและปล้นชิงทรัพยากรโดยจักรวรรดิมาอย่างยาวนาน จักรวรรดิจึงต้องชดเชยคืนให้แก่ประเทศที่ตนเคยยึดครองเพื่อนำไปพัฒนาประเทศโดยไม่ต้องบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น

(อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share