THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)
ถึงแม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วจะยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมแล้วก็ตาม ณ เวลานี้อุณหภูมิผิวโลกของเราได้ผ่านจุดที่จะแก้ไขได้แล้ว และเนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาที่เคยตกเป็นอาณานิคมจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนี้มากที่สุด เราจึงต้องพิจารณาว่าผลกระทบนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากลัทธิอาณานิคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิล

พลังงานฟอสซิลทำให้จักรวรรดิเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของจักรวรรดิก็ยิ่งทำให้ต้องการพลังงานมากขึ้น ถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลในรูปแบบแรกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลกตะวันตก และการค้าทาสก็เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญเท่า ๆ กัน

เมื่อรัฐสภาอังกฤษมีมติให้เลิกทาสในปี 1833 และจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายทาสต่อความสูญเสียทรัพย์สิน (ทาส) ของตน การกลับกลายเป็นว่าค่าชดเชยที่สมควรจ่ายให้ผู้เสียหาย (ทาส) นั้นตกอยู่แก่ผู้กระทำผิด (นายทาส) เสียเอง และค่าชดเชยที่มีมูลค่าประมาณ 20 ล้านปอนด์นี้เองได้กลายเป็นทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนด้วยถ่านหินที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างทางรถไฟ โรงงาน และเรือกลไฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิ

ถ่านหินและสังคมอุตสาหกรรมมิได้ทำให้เกิดลัทธิอาณานิคมหรือความเหลื่อมล้ำในโลกโดยตรง แต่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศตะวันตกรุกรานดินแดนของประเทศอื่นและแม้แต่อากาศของประเทศอื่น

เมื่ออุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศโลก จักรวรรดินิยมกับภาวะโลกร้อนเหมือนกันตรงที่เป็นสิ่งที่ทำลายคุณภาพชีวิตของคนยุคหลังจากความละโมบและเห็นแก่ตัวของคนยุคก่อน

ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและการเมืองเรื่องภาวะโลกร้อนแสดงให้เห็นลักษณะร่วมสมัยของลัทธิอาณานิคมและผลลัพธ์ที่ลัทธิอาณานิคมและจักรวรรดินิยมฝากไว้ และเป็นไปได้ว่าการพัฒนาสังคมแบบเสรีนิยมใหม่โดยการสนับสนุนจากการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นการฟื้นคืนชีพจักรวรรดินิยมขึ้นมาอีก

ลัทธิเสรีนิยมใหม่คือความเสี่ยงที่จะทำให้ผลลัพธ์ที่จักรวรรดิทิ้งไว้ในประเทศเมืองขึ้นเลวร้ายลงอีกด้วยเครื่องมือทางเศรษฐกิจ การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมจะถูกบรรษัทการเงินข้ามชาตินำมาใช้ต่อรองผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และตลาดเสรีก็จะได้ประโยชน์จากประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกอีกครั้งหนึ่ง

เนื่องจากเครื่องมือทางการเงินนี้ถูกออกแบบเพื่อกำไร มิใช่เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน

งานส่วนใหญ่ที่มุ่งลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริงมักเกิดขึ้นในแวดวงวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและชีวภาพ เพราะในที่สุดแล้ว เราจะได้เห็นการฟื้นคืนชีพของจักรวรรดิจากภาวะโลกร้อนเนื่องจากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะมาพร้อมกับลัทธิอาณานิคม

การอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาในรูปแบบของการกำหนดพื้นที่อุทยานเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการกำหนดพื้นที่อุทยานเกิดจากแนวคิดในอุดมคติที่ว่า “อุทยานที่บริสุทธิ์ปลอดมนุษย์ควรได้รับการรักษาไว้เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดของชาวอเมริกัน ” และแนวคิดเรื่องป่าไร้มนุษย์นี้พบว่ายังมีสิ่งไม่พึงประสงค์อยู่ประการหนึ่งได้แก่ชนพื้นเมืองที่ “ล่าสัตว์และก่อไฟ” ดังนั้นในการอนุรักษ์ด้วยการกำหนดพื้นที่อุทยานจึงจำเป็นที่จะต้องขับไล่ชนพื้นเมืองเหล่านี้ออกไปจากพื้นที่ป่าเพราะ “จะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมนุษย์เสียก่อนจึงจะทำการอนุรักษ์ได้ “

อุทยานแห่งชาติที่สำคัญๆอย่าง Yosemite, Yellowstone, และ Glacier มีนโยบายห้ามชนพื้นเมืองใช้เป็นที่อยู่อาศัย แม้ว่าเมื่อเริ่มต้นโครงการจะอนุญาตให้อยู่ก็ตาม การกระทำเช่นนี้ส่อถึงลัทธิอาณานิคม ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการกำหนดพื้นที่อุทยานที่ปราศจากมนุษย์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยดังกล่าวกำลังแผ่ขยายออกไปทั่วโลก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ

เป็นที่น่ากังวลว่าแนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติยุคใหม่กำลังก้าวไปสู่ความเป็นลัทธิอาณานิคม

เมื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติกลายเป็นจักรวรรดินิยมเช่นนี้แล้ว พื้นฐานของการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมจึงเกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันและมีแนวโน้มสนับสนุนการอนุรักษ์แบบจักรวรรดินิยมโดยมีชาวอเมริกันเป็นศูนย์กลาง ทำให้งานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย

เนื่องจากขาดความหลากหลายของมุมมองที่มาจากนักวิชาการต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติที่เคยตกเป็นเมืองขึ้น ยกตัวอย่างเช่นนาย Ken Saro-Wiwa นักเขียนและนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนชาวไนจีเรียที่ถูกจำคุกจากการรณรงค์เรียกร้องในเรื่องดังกล่าว หลังจากที่เขาเสียชีวิตลงในเรือนจำ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผู้พลีชีพเพื่อสิ่งแวดล้อม” แต่งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของนาย Saro-Wiwa กลับได้รับการกล่าวถึงน้อยมากเนื่องจาก

“การรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นงานของนักอนุรักษ์ชาวอเมริกัน” ทำให้ความเป็นไปได้ที่งานวิจัยกระแสหลักจะเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ สิ่งแวดล้อมสำหรับคนยาก และความเปราะบางด้านภูมิอากาศที่เกิดจากการเป็นเมืองขึ้นนั้นยังคงมีน้อยมาก

หากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังคงมีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง อคติต่อเชื้อชาติและละเลยชนพื้นเมืองก็ยังจะมีอยู่ทำให้การต่อสู้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบจักรวรรดินิยมนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

(อ่านตอนจบในวันพฤหัสบดี)


Social Share