THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Rachel Hartnett
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.nbcnews.com/…/puerto-rico-sees-more-pain…
อ้างอิง https://orcid.org/0000-0002-2610-6570

(ต่อจากวันอังคาร)
ในเดือนกันยายน 2017 เฮอริเคนมาเรียทำลายล้างภูมิภาคแคริบเบียน โดยขึ้นชายฝั่งเปอโตริโกในวันที่ 20 ด้วยความเร็วลม 155 ไมล์ต่อชั่วโมงและความกดอากาศ 917 มิลลิบาร์ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง Climate Nexus ลงความเห็นว่าเฮอริเคนมาเรียและพายุที่รุนแรงระดับนี้ลูกอื่นๆเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนเพราะอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่สูงขึ้นทำให้ระดับความรุนแรงของพายุเพิ่มขึ้น โดย Climate Nexus ระบุว่า “ปริมาณฝนที่ทำลายสถิติและอุมกภัยที่เกิดจากเฮอริเคนมาเรีย เฮอริเคนฮาร์วีย์ และเฮอริเคนเออร์ม่าแสดงให้เห็นถึงผลในระยะยาวจากปัญหาโลกร้อน ” แม้ว่าพายุอาจเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติชนิดหนึ่ง แต่ความรุนแรงและความถี่ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นส่อให้เห็นถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน

ความเสียหายอย่างรุนแรงในเปอโตริโก้และหมุ่เกาะแคริบเบียนได้ซ้ำเติมความเปราะบางที่มีอยู่ก่อนแล้วจากการยึดครองของจักรวรรดิ เมื่อปลายปี 2017 กว่า 660,000 ครัวเรือนในเปอโตริโก้ดำรงชีพโดยไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลากว่าสามเดือนจากผลของพายุ ในปี 2021 การเคหะและพัฒนาเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯได้ทำการสอบสวนและเปิดเผยว่ารัฐบาลทรัมป์จงใจที่จะถ่วงเวลาสภาคองเกรสในการอนุมัติเงินเยียวยาจำนวนทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านดอลล่าร์แก่เปอโตริโก้ ในขณะที่สหรัฐฯฟื้นตัวจากความเสียหายที่พายุทิ้งไว้อย่างรวดเร็ว เปอโตริโก้ต้องประสบภาวะยากลำบากในการฟื้นฟูประเทศด้วยงบประมาณเพียงน้อยนิด จะเห็นได้ว่าประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนน้อยกว่าประเทศที่ตนเองเคยยึดครอง และทำให้เห็นว่าการทำเป็นลืมในความเสียหายที่ตนเองเคยทำไว้ เป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วมักนำมาใช้อยู่เสมอ สหรัฐอเมริกาสามารถลืมเฮอริเคนมาเรียได้อย่างรวดเร็ว แต่เปอโตริโก้ไม่สามารถทำได้ ความแตกต่างนี้ทำให้เราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างจักรวรรดิกับประเทศอาณานิคมได้เป็นอย่างดี แม้ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์เช่นนี้ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น

ความเสียหายที่เฮอริเคนมาเรียก่อขึ้นในเปอโตริโก้และหมู่เกาะแคริบเบียนก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่า ภาวะโลกร้อนกำลังเปลี่ยนไปจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆเป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่หรือไม่ ความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งในชีวิตและทรัพย์สินเช่นนี้ทำให้ภาวะโลกร้อนกลายมาเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงเฉียบพลันหรือไม่ Nixon ให้เหตุผลว่าสื่อมวลชนมักจะ “ให้ความสนใจกับความรุนแรงที่ตื่นตาตื่นใจ” ความรุนแรงที่ตื่นตาตื่นใจเช่นนี้ตรงกันข้ามกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆตรงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและความสูญเสียสูงมาก ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆนั้นไม่ค่อยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจเพราะว่า “ในยุคแห่งการบูชาความน่าตื่นเต้นหรือตื่นตาตื่นใจนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆนั้นไม่สามารถเรียกร้องความสนใจได้เท่ากับเทคนิคพิเศษที่น่าตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจในโรงภาพยนตร์” อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบเรื่องดังกล่าวกับโรงภาพยนตร์นั้นเป็นการอธิบายการตอบสนองของสื่อมวลชนต่อเหตุการณ์เฮอริเคนมาเรียในเปอโตริโก้ ซึ่งหมายความว่าเฮอริเคนมาเรียและอาจรวมถึงภาวะโลกร้อนด้วยจะไม่ถูกมองว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนำเสนอข่าวความเสียหายจากเฮอริเคนมาเรียในเปอโตริโก้จะเข้มข้นในช่วงแรกๆแต่ก็จางลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะของการเสนอข่าวความรุนแรงที่ตื่นตาตื่นใจตามปกติ แม้ว่าเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกร้อนบางเหตุการณ์จะเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้ แต่ก็จะไม่คงอยู่นานตามธรรมชาติของการนำเสนอข่าว และกลับไปเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆเช่นเดิม

นอกจากนี้ นิยามของคำว่าภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆยังมีความเป็นสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเฮอริเคนมาเรีย ที่สื่อมวลชนชี้ว่าเป็น “เหตุการณ์เดี่ยวที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ที่สื่อมวลชนอาจนำเสนอข่าวผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับและความเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนที่ชัดเจนขึ้น” ดังนั้น แม้ว่า ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆอาจได้รับความสนใจจากสังคมโลกมากขึ้น แต่การที่จะให้กระแสคงอยู่ในระยะยาวทั่วโลกก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก

นอกจากนี้ การตอบสนองของรัฐบาลสหรัฐฯต่อเฮอริเคนมาเรียในเปอโตริโก้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ต่อประเทศที่ตนเองเคยยึดครอง การปฏิเสธที่จะส่งความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ประสบภัยพิบัติและการตอบสนองที่ล่าช้าทำให้ชาวเปอโตริโก้ต้องประสบทุกข์ได้ยากนานนับเดือน เป็นการแสดงนัยยะอย่างชัดเจนว่าชาวอเมริกันผิวสีที่พูดภาษาสเปนนั้นมีฐานะด้อยกว่าคนผิวขาว รัฐบาลสหรัฐฯยังคงตอบสนองต่อเฮอริเคนมาเรียราวกับว่าเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ นอกจากนี้ การดูแลผู้ได้รับผลกระทบยังใช้วิธีจัดการภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆอีกด้วย รายงานผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการนับได้ 64 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขความสูญเสียอย่างเฉียบพลันเท่านั้น ยังไม่นับความสูญเสียที่เกิดขึ้นตามมาในระยะยาวจากการขาดบริการทางการแพทย์ ผลข้างเคียงจากอาการบางเจ็บ ผลกระทบจากการไม่มีไฟฟ้า อาหาร และน้ำใช้ New York Times พบว่า “42 วันหลังจากที่เฮอริเคนมาเรียสงบลง มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1,052 คน และเมื่อนับจนสิ้นสุดแล้วพบว่ามีถึง 2,975 คน ซึ่งคิดเป็น 50 เท่าของรายงานผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 64” การนับจำนวนผู้เสียชีวิตเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า หากการเสียชีวิตจำนวนนี้เกิดขึ้นในวันเดียว สังคมโลกคงหันมาให้ความสนใจมากกว่านี้มาก การเสียชีวิตแบบทบทวีเช่นนี้ไม่มีน้ำหนักเท่ากับการเสียชีวิตในครั้งเดียว ดังนั้น หากไม่นับความตื่นตาตื่นใจในเหตุการณ์ ภาวะโลกร้อนและผลกระทบยังคงเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆในสายตาของชาวโลกอยู่ (อ่านต่อวันเสาร์)


Social Share