THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

แม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนรวมนับล้านจากภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน แต่เป็นที่น่ากังวลว่าการเสียชีวิตเหล่านี้อยู่ในช่วงเวลาที่ยาวนานเกินกว่าจะทำให้พวกเราที่เหลือตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา หากจำนวนผู้เสียชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ภาวะโลกร้อนจะกลายเป็นภัยพิบัติที่ดึงความสนใจจากทุกคนได้ทันที แต่เมื่อภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นอย่างช้าๆแตกต่างจากภัยคุกคามแบบเก่าอย่างความขัดแย้งทางทหารหรือการล่าอาณานิคม เป็นไปได้ว่าภาวะโลกร้อนก็จะก่อตัวขึ้นเรื่อยๆโดยไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไข ทำให้ภัยที่จะเกิดขึ้นตามมามีความแตกต่างจากภัยคุกคามแบบเก่าที่จักรวรรดินิยมเคยก่อขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงต้องพิจารณาภาวะโลกร้อนโดยมุ่งไปที่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดอันได้แก่ประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรก่อน เนื่องจากเป็นภัยที่ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยประเทศยากจนใกล้เส้นศูนย์สูตรจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วและประเทศส่วนมากที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกก็ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร โดยลัทธิอาณานิคมดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสผู้ซึ่งบังเอิญขึ้นฝั่งที่หมู่เกาะแคริบเบียนได้ค้นพบเส้นทางเดินเรือสินค้าเส้นที่สองสู่ทวีปเอเชีย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรก็กลายมาเป็นประเทศในอาณานิคม เป็นแหล่งอาหาร สินค้าและแรงงานทาสแก่ชาติตะวันตกเกือบทั้งหมด และรับเอาความเสื่อมโทรมที่เป็นผลข้างเคียงจากการผลิตไว้ด้วย

“สิ่งแวดล้อมของสังคมคนยากจน” นี้สั่งสมมาจนกลายเป็นภัยแก้ประเทศเขตร้อนเหล่านี้เพราะว่าคนในประเทศขาดทรัพยากรที่จะต่อกรกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ความยากจนที่ถูกมองข้ามบวกกับภัยที่มองไม่เห็นได้คร่าชีวิตคนเหล่านี้ไปมากมาย สาเหตุที่ประเทศเหล่านี้ยากจนกว่าประเทศพัฒนาแล้วก็เพราะว่าพวกเขาถูกปล้นชิงทรัพยากรไปและโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศเจ้าของอาณานิคมได้สร้างไว้ก็เป็นไปเพื่อความสะดวกในการโยกย้ายทรัพยากรของประเทศอาณานิคมเหล่านี้ไปยังประเทศของตน มิได้สร้างไว้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด ดังที่นาย Albert Memmi ได้ประเมินไว้ว่า “ลัทธิอาณานิคมทำให้ประเทศราชอ่อนแอ และความอ่อนแอนั้นก็นำไปสู่ความเปราะบาง ความที่ไม่มีพัฒนาการทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศราชเหล่านี้พังทลายลงอย่างช้าๆ”

นอกจากนี้ อารยธรรมตะวันตกยังเป็นผุ้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อจำนวนประชากรในปริมาณที่สูงที่สุดด้วย โดยมีแคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรปดำรงอยู่ในอันดับที่สูงที่สุดตามลำดับหรือได้แก่สองเท่าของค่าเฉลี่ย ส่วนกลุ่มประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรนั้นมีอัตราคาเฉลี่ยที่ต่ำที่สุด นอกจากนี้ หากเราต้องการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อชะลอภาวะโลกร้อนลง เราจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซลงถึง 3 กิกะตันคาร์บอนต่อปี หรือประชากรทุกๆคนในจำนวนทั้งหมด 6 พันล้านคนจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณ 500 กิโลกรัมต่อปี ยกตัวอย่างเช่นประชากรของประเทศเมาลีที่ตั้งอยู่แถบเส้นศูนย์สูตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 10 กิโลกรัมต่อปี ในขณะที่ชาวฝรั่งเศสปล่อยถึง 2.7 ตันต่อปีและชาวอเมริกันปล่อย 6.8 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับเป็นชาวเมาลี มิใช่ชาวฝรั่งเศสหรืออเมริกัน

ในขณะที่ประเทศตะวันตกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวมากที่สุดได้แก่ประเทศที่เป็นอดีตอาณานิคมนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์เอลนินโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งในบางประเทศ และน้ำท่วมในบางประเทศตามแนวเส้นศูนย์สูตร นอกจากนี้ อุณหภูมิผิวโลกที่สูงขึ้นสี่องศาจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1- 2 เมตรภายในปี 2100 ซึ่งจะทำให้ประเทศหมู่เกาะอย่างมัลดีฟและตูวาลูจมอยู่ใต้น้ำ และพื้นที่ติดแนวชายฝั่งอย่างเอกวาดอร์ไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย เนเธอร์แลนด์ และอาเซียนถูกน้ำท่วม

จะเห็นได้ว่าหลายประเทศที่แบกรับความเสี่ยงนี้เป็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แม้ในปัจจุบัน ประเทศเหล่านี้ก็ยังคงต้องดิ้นรนด้วยความยากลำบากจากผลกระทบที่เจ้าของอาณานิคมได้ทิ้งไว้ ความเสื่อมโทรมที่เป็นผลมาจากการยึดครองของจักรวรรดินี้ทำให้อดีตประเทศอาณานิคมเหล่านี้อยู่ในสภาวะที่เปราะบางต่อปัญหาโลกร้อน ในขณะที่ประเทศตะวันตกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นครั้งคราว แต่อดีตประเทศอาณานิคมจะประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่นหมู่เกาะแคริบเบี้ยนที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิงจากภาวะโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องประสบกับพายุที่รุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นเฮอริเคนมาเรียที่ขึ้นฝั่งเมื่อเดือนกันยายนปี 2017 ที่ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ประเทศเปอโตริโก้ โดมินิกัน เฮติ และหมุ่เกาะเวอร์จิ้น ซึ่งประเทศเหล่านี้มีประวัติยาวนานภายใต้การครอบครองของลัทธิอาณานิคมทั้งสิ้น เปอโตริโก้นั้นถูกยึดครองโดยสเปนหลังการเยือนทวีปอเมริกาครั้งที่สองของโคลัมบัส ส่วนคิวบาก็ถูกยึดครองโดยสหรัฐอเมริกาหลังสงคราม Spanish-American War ในปี 1898 สงครามและการถูกยึดครองอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคแคริบเบี้ยนนี้ทำให้แหล่งทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเสื่อมโทรมลงและเกิดความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเฮอริเคนมาเรีย (อ่านต่อวันพฤหัสบดี)


Social Share