THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Sisilia Nurmala Dewi
วันที่ มิถุนายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://th.boell.org/en/2022/06/20/youth-climate-movement
อ้างอิง https://th.boell.org/en/2022/06/20/youth-climate-movement

(ต่อจากวันอังคาร)

คนมีความสามารถรุ่นใหม่ๆในประเทศกำลังพัฒนา

ลักษณะพิเศษของคนรุ่นใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาได้แก่อุปนิสัยในการต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆในชีวิตประจำวัน เป็นยุคที่ผู้คนต้องเผชิญกับความแออัดของประชากร การแข่งขันที่สูง รายได้ที่ลดลง การว่างงาน ความไม่เป็นธรรมของสังคม คุณภาพชีวิตที่ต่ำ และการใช้ความรุนแรงของรัฐ เหล่านี้มิได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ประสบกับสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ว่าความรุนแรงของปัญหาอาจเบาบางกว่า ยกตัวอย่างเช่น ประชากรเพียงร้อยละ 2 ในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียมีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลล่าร์ต่อวัน ในขณะที่เอเชียและอาฟริกามีถึงร้อยละ 40 ช่องว่างที่ห่างมากเช่นนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศกำลังพัฒนามีเครื่องมือในการต่อสู้กับอุปสรรคที่น้อยกว่ามาก

ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศกำลังพัฒนาจึงมักจะมาจากครอบครัวชั้นกลางที่มีการศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นแต่ยังขาดทรัพยากรที่ต้องใช้ในการเคลื่อนไหว คนเหล่านี้มักได้รับการศึกษาในสถาบันและอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ทำให้เราต้องระวังที่จะไม่ประเมินพวกเขาสูงเกินไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจนและไม่มีสิทธิมีเสียง ดังนั้นจึงมักถูกกีดกันออกจากสื่อและการเมืองปกระแสหลัก ประการที่สอง เราละเลยอิทธิพลที่แท้จริงของคนรุ่นใหม่เพราะความคุ้นเคยกับการปรับตัวกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าแทนที่จะวางแผนล่วงหน้าในระยะยาว

ทางแยกของความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนะธรรม

ในปัจจุบัน การรณรงค์เคลื่อนไหวโดยคนรุ่นใหม่มักนำโดยคนมีการศึกษาดีที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่ต้องการมีตัวตนและอัตลักษณ์ คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่านักรณรงค์ที่ต้องการต่อสู้กับนายทุนที่เข้ามารุกรานชุมชนของตนอย่างจริงจัง เราต้องเปลี่ยนอัตราส่วนนี้ให้เป็นไปตามกฎแห่ง 3.5 ให้ได้ เพราะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆกันด้วย การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องเกิดขึ้นควบคู่กับการต่อสู้เรื่องชนชั้นและการละเมิดสิทธิเหนือที่ดินโดยชาวนาและชนพื้นเมือง การต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีและคนชายขอบกลุ่มอื่นๆ แกนนำกลุ่มชาวเมืองจะต้องรวมเอาคนเหล่านี้เข้ามาไว้ในขบวนการของตนด้วย การต่อสู้เพื่ออนาคตก็คือการต่อสู้เพื่อขจัดความอยุติธรรมที่ชนชายขอบกลุ่มต่างๆกำลังเผชิญอยู่

เราได้เห็นว่าคนชายขอบมักเป็นเหยื่อของเครือข่ายของระบบที่อยุติธรรม ภาวะโลกร้อนคือผลพวงของความไม่เป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ดังนั้นเราจะต้องหาแนวทางในการแก้ไขจากมุมมองที่แตกต่างหลากหลายมุมมองและใช้การรณรงค์ที่มีความหลากหลาย แนวทางนี้เรียกว่า intersectionality ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในปีที่ผ่านมาในประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความแตกต่างของแนวทางนี้ในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ในประเทศพัฒนาแล้วนั้น Intersectionality มุ่งเน้นไปที่สิทธิพลเมืองและสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา Intersectionality มักใช้ในการเรียกร้องทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ต้องการการสนับสนุนด้านทุนจากรัฐเป็นจำนวนมากกว่า การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการอนุรักษ์ป่าที่ใช้วิธีให้สิทธิเหนือที่ดินแก่ชนพื้นเมืองที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นนักอนุรักษ์ชั้นยอด ดังนั้นแนวทางการอนุรักษ์ป่าในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นมักประสบความล้มเหลว

ก้าวต่อไปการรณรงค์โดยคนรุ่นใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาจะต้องไม่เป็นเพียงแค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นธรรม และลงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของประชากรของประเทศ เนื่องจากหายนะทางภูมิอากาศกำลังจะมาถึง เราจะต้องสร้างสังคม ที่ต่อต้านการใช้พลังงานฟอสซิลและใช้แนวทางแก้ปัญหาที่ชุมชนทั่วประเทศมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะ COVID-19 ทำให้ช่องว่างระหว่างฐานะยิ่งถ่างกว้างขึ้น และอิทธิพลของชนชั้นร่ำรวยกลุ่มน้อยก็แผ่ขยายกว้างขึ้น การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมระหว่างชนชั้นจะต้องขจัดการคอรัปชั่นและความละโมบของคนซึ่งเป็นต้นเหตุของการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเกินขอบเขตและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ดังนั้น การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยคนรุ่นใหม่จะต้องรวมเอากลุ่มคนชายขอบเข้ามาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง

การรณรงค์ในประเทศกำลังพัฒนามีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อการรวมกลุ่มเป็นขนาดที่ใหญ่พอ ดังนั้น องค์กรพัฒนาเอกชนจะต้องบ่มเพาะความสามัคคีในชุมชนและสร้างการรับรู้เป้าหมายและแผนงานร่วมกัน รูปแบบของการรณรงค์จะต้องเป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขทางสังคมซึ่งไม่มีสูตรตายตัว แกนนำจะต้องทำการประเมินผลและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่มอยู่ตลอดเวลา ท้ายที่สุดแล้ว การรวมกลุ่มก็คือการสร้างความสัมพันธ์กันในระหว่างผู้คนที่มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงเดียวกัน นอกจากนี้องค์กรพัฒนาเอกชนจะต้องให้การสนับสนุนด้านทุนแก่คนรุ่นใหม่เพื่อช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ เพราะมันเป็นไปได้ยากที่คนรุ่นใหม่จะรณรงค์เพื่อสังคมในขณะที่ท้องยังหิว ไม่มีงานทำ หรือมีหนี้สิน ส่วนในการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนานั้น แกนนำจะต้องพิจารณาปัญหาทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน (จบ)


Social Share