THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Ibrahim Al-Marashi
วันที่ 20 สิงหาคม 2019
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Pacific Council
อ้างอิง https://www.pacificcouncil.org/newsroom/climate-orientalism-and-middle-east?fbclid=IwAR3msJ5myekeC2Qo1bnsu0hV1tNrK8AowD9n_t6XoUD05VNhSJqfUTJxdv8

คลื่นความร้อนในปี 2019 เป็นคำเตือนจากธรรมชาติแก่เราอีกครั้งหนึ่งว่าสภาพภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และทำให้เราต้องทบทวนแนวคิดด้านตะวันออกคดีศึกษาของ Edward Said เกี่ยวกับมุมมองของโลกตะวันตกที่มีต่อภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเพิกเฉยของอเมริกาและยุโรปที่มีต่อปัญหาเพราะมองว่าเป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อน

สำนักข่าวต่าง ๆ ของยุโรปอาจนำเสนอข่าวคลื่นความร้อนในยุโรปให้มากเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักว่าภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนมิได้เกิดเพียงในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวคลื่นความร้อนในยุโรปโดยสื่อตะวันตกก็ยังขาดความรอบด้าน โดยละเว้นที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่าภูมิอากาศในทะเลทรายสะฮาร่าและตะวันออกกลางมีอิทธิพลต่อภูมิอากาศของยุโรปอย่างไร และหลายประเทศในตะวันออกกลางต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนในเดือนมิถุนายนอย่างไรบ้าง

เส้นแบ่งระหว่างยุโรปและตะวันออกกลางได้แก่ลักษณะภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่างกันเป็นตรงกันข้าม แต่สภาพภูมิอากาศโลกไม่สนใจเส้นแบ่งนี้และบอกเราเป็นนัยว่าเราจะต้องทบทวนเส้นแบ่งทางการเมืองและวัฒนธรรมเสียใหม่เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้สำเร็จ

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในตะวันออกกลาง
ภาวะโลกร้อนในตะวันออกกลางทำให้ภูมิภาคขาดแคลนแหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูกกลายเป็นทะเลทราย พืชผลเสียหาย และระดับน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งทำให้ชุมชนตามแนวชายฝั่งตั้งแต่กรุงเบรุตไปจรดโดฮาตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อน้ำท่วมและสูญเสียพื้นที่จากการกัดเซาะชายฝั่ง

จากมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์พบว่าหลายประเทศในตะวันออกกลางบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองอย่างไม่เหมาะสม เช่นที่ซีเรียพยายามจัดการกับภัยแล้งในประเทศในปี 2006 ส่วนประเทศอย่างเยเมนก็เปราะบางเสียจนไม่สามารถป้องกันผลกระทบได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนแสดงปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค

สำหรับตะวันออกกลางนั้น ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้ภูมิภาคมีความเปราะบางและยากที่จะป้องกัน แต่บางประเทศอย่างอิรักที่ประชาชนต้องพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก แต่ประเทศเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลนั้น เป็นการยากที่กลุ่มคนชายขอบจะได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากภาครัฐ

ปัจจัยลบต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดวิกฤติอาหาร การอพยพย้ายถิ่น และความรุนแรง ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงและหันไปหาแหล่งรายได้อื่นอย่างการรับจ้างก่อความไม่สงบแทน ในที่สุดแล้ว นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังทำให้เกิดโรคติดต่อต่าง ๆ มากขึ้นในประเทศเขตร้อนชื้นอย่างเช่นอัตราการติดเชื้อมาเลเรียที่เพิ่มสูงขึ้นในเยเมน

ภาวะโลกร้อนและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
ภูมิอากาศในวิธีคิดตะวันออกคดีศึกษาแสดงออกได้ในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นได้แก่การทำให้ภูมิภาคหนึ่ง ๆ ตกอยู่ในความล้าหลัง ด้วยสมมติฐานที่ว่าบางประเทศในตะวันออกกลางที่กำลังประสบความไม่สงบทางการเมืองนั้นขาดความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ประชากรในประเทศเหล่านี้จึงสนใจกับสภาวะปากท้องในชีวิตประจำวันมากกว่าจะมองไปถึงภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนที่ยังมาไม่ถึง

อย่างไรก็ตามวิกฤติสงครามในซีเรียก็ทำให้ตุรกี จอร์แดน และเลบานอนที่รับผู้อพยพจากซีเรียเข้าประเทศมากที่สุดมีความสามารถในการจัดการผู้อพยพจำนวนมากได้ดีที่สุด เราได้แต่หวังว่าการอพยพหนีภาวะโลกร้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจะไม่สร้างปัญหาให้แก่ภูมิภาค แต่ประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ไว้เป็นการล่วงหน้า

ประเทศตะวันออกกลางไม่จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรที่มาเชื่อมความเข้มแข็งด้านการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะที่ผ่านมานั้นองค์กรเหล่านี้เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์แต่ล้มเหลวในเชิงปฏิบัติ อย่างเช่นองค์กร Arab NATO เป็นต้น แต่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางจะต้องขจัดความไม่ลงรอยทางการเมืองและหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหา เช่นการแบ่งปันทรัพยากรน้ำ

อย่างไรก็ตามองค์กรรักษาความปลอดภัยในระดับภูมิภาคอย่าง Arab League หรือ Gulf Cooperation Council ถูกเข้ามาแทนที่โดยกลุ่ม Arab Spring ที่เกิดขึ้นในปี 2011

ภาวะโลกร้อนและเครือข่ายภาคตะวันออกกลาง
ตะวันออกคดีศึกษาทำให้ชาวตะวันออกกลางมักถูกชาวโลกมองว่าเกียจคร้านและไม่สนใจที่จะร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม การสายตาที่มองชาวตะวันออกกกลางว่าเหมือน ๆ กันไปหมดนี้ก็สะท้อนกลับไปที่ชาวตะวันตกเองเช่นเดียวกันว่าได้มีความพยายามที่เป็นรูปธรรมไปแค่ไหนแล้วในการแก้ปัญหาที่จะนำมาสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

“เรายังคงดำเนินธุรกิจแบบ Business-as-usual ไปตามปกติและหลอกลวงตัวเองว่าทุกอย่างไม่มีอะไรผิดปกติและมนุษย์ยังใช้ชีวิตอย่างผาสุกเหมือนในภาพยนตร์ แต่เรากำลังเดินหน้าไปสู่ความบันเทิงจนตัวตาย ตามที่ Neil Postman ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาเมื่อปี 1985”

มีตัวอย่างมากมายของชายและหญิงในตะวันออกกลางที่สร้างกลุ่มเครือข่ายของคนในอาชีพต่าง ๆ เช่นแพทย์ วิศวกร และองค์กรภาคประชาสังคม และนำเสนอวิธีการบรรเทาปัญหาโลกร้อนแก่รัฐและสังคม

ในประเทศอิรัก นาย Azzam Alwash วิศวกรพลังน้ำและนักสิ่งแวดล้อมได้พยายามฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเป็นหนองบึงในอิรักตอนใต้ที่แห้งไปเพราะซัดดัม ฮุสเซนสูบน้ำทิ้งเพื่อไล่กลุ่มกบฏออกจากพื้นที่ แต่หลังการฟื้นฟูสำเร็จ สภาพของหนองน้ำก็ยังคงไม่สมบูรณ์อันเนื่องมาจากสภาพอากาศแปรปรวนและการบริหารจัดการน้ำอย่างไม่ถูกวิธี ต่อมาจึงได้มีองค์กร NGO ข้ามชาติอย่าง Waterkeeper’s Alliance ที่มีสำนักงานอยู่ที่นิวยอร์คเข้ามาช่วยอนุรักษ์แหล่งน้ำนี้ไว้

องค์กรข้ามชาติเหล่านี้จะต้องเข้ามาร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ในการแก้ปัญหาอย่างจริงใจ อย่างเช่นที่ประเทศอาหรับเอมิเรตส์มีนาย Habiba Al Marashi ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งร่วมและประธานของ Emirates Environmental Group ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และยังนั่งอยู่ในคณะกรรมการสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ในบทความของนาย Joshua Busby ที่มีชื่อว่า “Warming World” อธิบายว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ด้วยวิธีที่รัฐเป็นศูนย์กลางแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างหน่วยงานท้องถิ่น บริษัทเอกชน NGO และปัจเจกชนเข้ามามีส่วนร่วมภายใต้ข้อตกลงและเครือข่ายความร่วมมือเดียวกัน

แน่นอนว่ากลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและต้องการก้าวเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา ประเทศตะวันตกและองค์กรข้ามชาติจะต้องเข้ามาร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ในการแก้ปัญหาอย่างจริงใจ มิใช่เข้ามาอย่างผู้ล่าอาณานิคมอย่างที่เคยเป็นมา (จบ)


Social Share