THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Peter Veit
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Ulet Infanstati/CIFOR
อ้างอิง https://www.wri.org/…/land-matters-how-securing…

(ต่อจากวันอังคาร)

การถือครองที่ดินและการชะลอภาวะโลกร้อน : โอกาสทอง

ในระดับสากลแล้ว ประโยชน์อย่างหนึ่งของการประกันการถือครองที่ดินโดยชุมชนคือการชะลอภาวะโลกร้อน การจัดการป่าเพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเป็นปัจจัยหนึ่งในการบรรลุเป้าหมาย SDG 13 เพราะหนึ่งในสามของปริมาณก๊าซเรือนกระจกมาจากการตัดไม้ทำลายป่าและการใช้ที่ดิน เช่นการเปลี่ยนที่ป่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรทำให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ทวีปละตินอเมริกาผลิตขึ้น

เมื่อเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนแล้ว การประกันการถือครองที่ดินโดยชุมชนเพื่อชะลอภาวะโลกร้อนถือเป็นวิธีการที่ต้นทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูงมาก จากการศึกษาที่เผยแพร่ในเดือนกันยายน ชุมชนในเขตร้อน 52 ชุมชนจัดการป่าที่ดูดซับคาร์บอนเป็นปริมาณร้อยละ 22 และที่ดินที่ดูดซับคาร์บอนเป็นปริมาณร้อยละ 17 ตามลำดับ หากป่าถูกทำลายและปราศจากการเก็บกักคาร์บอนดังกล่าว ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจะมากถึง 33 เท่าของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในโลกที่ปล่อยโดยภาคอุตสาหกรรมในปี 2017 ซึ่งจะก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสามของพื้นที่ป่านี้อยู่ในที่ดินของชุมชนที่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกทำลายในอนาคต

จากรายงานต้นทุนเรื่องที่ดินในโบลิเวีย บราซิล และโคลอมเบียของ WRI ประโยชน์ของการเก็บกักคาร์บอนโดยต้นไม้บนที่ดินของชนพื้นเมืองคิดเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 2.5 – 3.4 หมื่นล้านดอลล่าร์ในช่วงเวลา 20 ปีจากนี้เป็นต้นไป และเมื่อนับรวมมูลค่าของบริการด้านระบบนิเวศ มูลค่าป่าจะพุ่งสูงขึ้นถึง 6.79 แสนล้านดอลล่าร์หรือเท่ากับ 4 หมื่นถึง 1 แสนดอลล่าร์ต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ต้นทุนที่รัฐต้องจ่ายเพื่อรับรองสิทธิเหนือที่ดินป่าชุมชนนั้นต่ำมาก คือประมาณ 450 ดอลล่าร์ต่อตารางกิโลเมตรในโบลิเวีย 680 ดอลล่าร์ต่อตารางกิโลเมตรในบราซิล และ 60 ดอลล่าร์ต่อตารางกิโลเมตรในโคลอมเบีย ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของมูลค่าผลตอบแทน ทำให้การลงทุนในป่าชุมชนของชนพื้นเมืองเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs

ในทางตรงข้าม การดูดซับและกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการอื่นมีราคาแพง ยกตัวอย่างเช่นต้นทุนในการดูดซับคาร์บอนด้วยวิธี Carbon Capture and Storage (CCS) ในโรงงานมีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 19-91 ดอลล่าร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินและอยู่ระหว่าง 66-138 ดอลล่าร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ้าเราใช้ค่าเฉลี่ยที่ 58 ดอลล่าร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ค่าใช้จ่ายของ CCS จะสูงกว่าต้นทุนที่ชนพื้นเมืองในโบลิเวีย บราซิล หรือโคลอมเบียใช้ถึง 29 เท่า ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ค่าเฉลี่ยต้นทุนการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนจะอยู่ที่ 5 ดอลล่าร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนที่ชนพื้นเมืองใช้ 7 เท่า

การปกป้องสิทธิเหนือที่ดินชุมชนช่วยแก้ไขภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

การปกป้องสิทธิเหนือที่ดินทำกินช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมาย SDG13 ทั้งในด้านการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการปฏิบัติตามเป้าหมายของแต่ละประเทศ (NDCs) ภายใต้ข้อตกลงปารีส รัฐบาลของหลายประเทศรับทราบถึงบทบาทของตนเองในด้านการเก็บกักคาร์บอน อนุรักษ์ป่าโดยการลดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่า อย่างไรก็ตาม มาจนถึงปัจจุบัน มีเพียง 21 ประเทศที่มีพื้นที่คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 13 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนทั้งหมดของโลกที่ให้คำมั่นสัญญาที่ชัดเจนในการรับรองสิทธิของชนพื้นเมืองเหนือที่ดินชุมชนและสนับสนุนให้ชุมชนบริหารจัดการป่าด้วยตนเอง และมีเพียงประเทศกัมพูชาที่ตั้งเป้าหมายในเรื่องนี้ที่สามารถชี้วัดได้ ส่วนบราซิลและอินโดนีเซียที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงประสบความล้มเหลว ความล้มเหลวนี้จะยิ่งทำให้ประเทศเหล่านี้บรรลุเป้าหมายด้านโลกร้อนและเป้าหมาย SDGs ได้ยากขึ้น ตัวอย่างเช่นคำมั่นสัญญาของประเทศกัมพูชาที่จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 67 เมกะตันคาร์บอนภายในปี 2030 หรือการรับรองสิทธิเหนือที่ดินชุมชนของชนพื้นเมืองในป่าอเมซอนของประเทศโคลอมเบียจะนำไปสู่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกถึง 3-4.6 เมกะตันคาร์บอนต่อปีและช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนที่ให้จนถึงปี 2030 ได้ถึงร้อยละ 69 เป็นต้น.

การรับรองสิทธิเหนือที่ดินชุมชน : แผนที่นำทาง

มีหลักฐานที่ชัดเจนมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรับรองสิทธิเหนือที่ดินชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชน การรับรองสิทธิเหนือป่าชุมชนเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูงแก่รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาและภาคเอกชนและนักลงทุน นอกจากนี้ การรับรองสิทธิเหนือป่าชุมชนยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการต่อสู่กับภาวะโลกร้อนเมื่อเทียบกับวิธีดูดซับและเก็บกักคาร์บอนที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ในขณะที่ประเทศต่างๆมีแนวทางในการรับรองสิทธิเหนือที่ดินชุมชนของตนเองตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เราขอแนะนำมาตรการที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์และทุกเงื่อนไขสภาพแวดล้อมดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการมีกฎหมายที่ดินชุมชน ควรปฏิรูปกฎหมายที่ไม่สามารถปกป้องที่ดินชุมชนได้อย่างแท้จริง เช่นกฎหมายของโบลิเวียและโคลอมเบียที่รับรองสิทธิเหนือที่ดินชุมชนแต่ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างพอเพียง

2. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับกระบวนการขึ้นทะเบียนที่ดินชุมชน กฎหมายและการบังคับใช้จะต้องชัดเจนและอำนวยความสะดวกแก่ชุมชนด้วยการออกแบบกระบวนการที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ลดขั้นตอนที่เป็นภาระไม่จำเป็นลง และจัดหาทรัพยากรให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อการขึ้นทะเบียนและอนุรักษ์ที่ดินชุมชน

3. สร้างความเสมอภาคระหว่างชุมชนและนายทุน รัฐบาลควรกำกับดูแลนายทุนที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ใกล้เคียงที่ดินชุมชนว่าได้รับอนุญาตจากชุมชนในการดำเนินกิจกรรมใดๆก็ตามที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือไม่ นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องไม่ออกสัมปทานให้แก่นายทุนบนที่ดินชุมชนในช่วงที่การขึ้นทะเบียนที่ดินอยู่ในระหว่างการดำเนินการ.

เมื่อที่ดินชุมชนทั่วโลกได้รับการปกป้องดูแลโดยภาครัฐแล้ว ประเทศนั้นก็จะสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมาย SDGs และเป้าหมายด้านการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้ และเมื่อทั้งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนากำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเราจึงต้องปกป้องสิทธิของชุมชนเหนือที่ดินชุมชนเสียตั้งแต่ตอนนี้ (จบ)


Social Share