THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Benjamin Habib
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2015
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.singhaestate.co.th/…/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0…
อ้างอิง https://www.e-ir.info/…/climate-change-and-the-re…/

(ต่อจากวันพฤหัสบดี)

อำนาจอธิปไตยตกอยู่ในความเสี่ยง

ในโลกที่แผ่นดินถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆตามขอบเขตอำนาจปกครองนั้น เป็นเรื่องง่ายที่เราจะระบุขอบเขตความรับผิดชอบของรัฐที่มีเหนือแผ่นดินโดยดูจากเครื่องมือที่ใช้แบ่งเขตอย่างรั้ว กำแพง หลักบอกเขต และที่ตั้งทางทหาร นอกจากนี้รัฐยังสามารถอ้างสิทธิในเขตแดนทางทะเลได้อีกด้วย ทว่าในบริบททางทะเลนั้น เป็นเรื่องที่ยากกว่าในการกำหนดขอบเขต เขตแดนทางทะเลจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่เสมอ

การอ้างสิทธิเหนือเขตแดนทางทะเลอยู่ภายใต้สนธิสัญญา United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS ภายใต้สนธิสัญญา UNCLOS นี้นั้น รัฐอาจอ้างสิทธิเหนือเขตแดนทางทะเลได้ 4 ระดับ กล่าวคือในระยะ 12 ไมล์ทะเลแรกจากชายฝั่งเป็นเขตแดนทางทะเลของรัฐนั้น และรัฐก็มีอำนาจอธิปไตยเต็มที่เหนือเขตแดนและทรัพยากรธรรมชาติในเขตแดนนี้เช่นเดียวกับที่มีเหนือเขตแดนทางบก ระดับต่อมาได้แก่ระยะ 12 ถึง 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ซึ่งเรียกว่า Contiguous Zone ระยะเขตแดนนี้รัฐมีอำนาจอธิปไตยเต็มที่เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีอากร ผู้อพยพ และมลภาวะ ระยะต่อมาคือ 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งนั้น UNCLOS กำหนดแนวทางในการอ้างสิทธิไว้สองวิธี วิธีแรก รัฐสามารถอ้างสิทธิใน Exclusive Economic Zone หรือ EEZ ไปจนถึง 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติในน้ำทะเล บนพื้นทะเล และใต้ดินในทะเล วิธีการที่สอง รัฐสามารถอ้างสิทธิเหนือไหล่ทวีปไปจนสิ้นสุดขอบลาดทวีป ที่ซึ่งแผ่นดินสิ้นสุดลงไปสู่ทะเลลึก การอ้างสิทธิเหนือไหล่ทวีปนี้สามารถขยายไปได้อีกจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งหรือจนสุดขอบไหล่ทวีป ขึ้นอยู่กับว่าระยะไหนจะไกลกว่า แตกต่างจาก EEZ ที่การอ้างสิทธิเหนือไหล่ทวีปทำให้รัฐได้ทรัพยากรธรรมชาติเพียงบนพื้นทะเลและใต้ดินในทะเล แต่ไม่ได้ทรัพยากรธรรมชาติในน้ำทะเล

ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 3.4 มิลิเมตรต่อปีมาตั้งแต่ปี 1992 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกต่อไปหลายศตวรรษ ความสูง 3.4 มิลิเมตรนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนมนุษย์ริมชายฝั่งทะเล ส่วนในด้านอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้น ผลกระทบที่เกิดจากระดับน้ำทะเลทำให้รัฐต้องกำหนดเส้นชายฝั่งใหม่ เนื่องจากการอ้างสิทธิเหนือเขตแดนทางทะเลมีจุดเริ่มต้นจากเส้นชายฝั่ง การเปลี่ยนแปลงของเส้นชายฝั่งจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงจึงส่งผลต่อเขตแดนทางทะเลของรัฐเช่นกัน และเนื่องจากผลประโยชน์และจุดยุทธศาสตร์เหนือเขตแดนทางทะเลมีความสำคัญต่อรัฐมาก การเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาททางทะเลจึงใช้เวลานับสิบปี และข้อพิพาทส่วนมากก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ รัฐจึงมักใช้วิธีแสดงแสนยานุภาพทางทหารเพื่ออ้างสิทธิเหนือเขตแดนทางทะเล ซึ่งมักนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของเส้นเขตแดนทางทะเลที่เกิดจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ซับซ้อน การล้มเลิกข้อตกลงในเส้นเขตแดนและแหล่งทรัพยากรเดิม เพราะการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ย่อมหมายถึงการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ทางทรัพยากรใหม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มประเทศหมู่เกาะนั้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นมาก

การประชุม Underwater Cabinet Meeting ที่จัดขึ้นโดยประเทศมัลดีฟส์ในปี 2009 ก่อนการประชุม COP15 ณ กรุงโคเปนฮาเกนแสดงให้เห็นว่าสำหรับกลุ่มประเทศหมู่เกาะแล้ว การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นความเสี่ยงร้ายแรงต่อความอยู่รอดของรัฐและประชาชนของรัฐ รัฐเหล่านี้จะยังสามารถอ้างสิทธิหน้าที่แห่งรัฐได้อยู่หรือไม่หากประเทศต้องจมทะเลไป? รัฐเหล่านี้จะยังได้รับการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศในความเป็นรัฐอยู่หรือไม่? ยังจะมีเสียงโหวตในเวทีสหประชาชาติและเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆอยู่อีกหรือไม่? อะไรจะเกิดขึ้นกับสนธิสัญญาต่างๆที่ประเทศเหล่านี้ได้กระทำไว้? ประชากรของประเทศเหล่านี้ยังคงสถานะประชากรอยู่หรือไม่ หรือจะต้องถือสถานะผู้อพยพ? คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบเนื่องจากสังคมโลกยังไม่เคยประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน นอกจากนี้คำถามเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการเมืองและกฎหมาย ที่ซึ่งบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมด้านการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ตัวอย่างเช่น สถานะความเป็นรัฐประเภทใหม่ ได้แก่ The Nation Ex-Situ ที่คงสถานะความเป็นรัฐแก่ประเทศที่จมทะเล และรัฐบาลพลัดถิ่นของประเทศดังกล่าวก็ยังสามารถกำกับดูแลประชาชนของตนที่อพยพมาอยู่ในประเทศอื่นได้

อำนาจอธิปไตยรูปแบบใหม่

รัฐเป็นจุดอ้างอิงที่อยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในระบบโลกที่พลวัติ รัฐคือสถาบันทางสังคมที่จับต้องไม่ได้และดำรงอยู่ในระบบนิเวศทางธรรมชาติ ซึ่งแบ่งแยกตามอำนาจอธิปไตยมิได้ ทำให้เกิดปัญหาการใช้อำนาจอธิปไตยในเขตแดนขึ้น ในกรณีของภาวะโลกร้อน รัฐจะต้องทบทวนแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเสียใหม่ และจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของสังคมมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ เราไม่สามารถละเลยความสำคัญของระบบนิเวศในระดับของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อีกต่อไป เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงและอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อเวทีนานาชาติและประเทศสมาชิก


Social Share