THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Peter Veit
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Ulet Infanstati/CIFOR
อ้างอิง https://www.wri.org/…/land-matters-how-securing…

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)

ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหากชุมชนสูญเสียที่ดินให้แก่นายทุน

ในปี 2006 บริษัทพลังงานสะอาด Bioshape ที่มีที่ทำการอยู่ ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เช่าที่ดินชายฝั่งตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียขนาด 8,000 ตารางกิโลเมตรเพื่อใช้ปลูก Jatropha เพื่อนำมาผลิตพลังงานชีวภาพ รัฐบาลแทนซาเนียยึดที่ดินจากชุมชนมาให้บริษัทเช่า เกษตรกรที่พึ่งพารายได้จากการปลูกผลไม้และไม้ทำฟืนมิได้รับการชดเชยและต้องตกอยู่ในภาวะยากจน บางรายโชคดีที่ถูกบริษัทจ้างไปดูแลไร่ Jatropha แต่สุดท้ายก็ต้องตกงานเมื่อ Bioshape ยื่นคำร้องต่อศาลขอฟื้นฟูกิจการเนื่องจากล้มละลายในปี 2011 ก่อนที่จะละทิ้งโครงการไป บริษัทได้ถางที่ดินบางส่วนเพื่อนำรายได้จากการขายไม้มาใช้ในโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ปลุกเพื่อดูดซับคาร์บอน ชะลอภาวะโลกร้อน และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตามวัตถุประสงค์เดิม ดังนั้น การลงทุนที่ล้มเหลวของ Bioshape จึงส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม และส่งผลเสียต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่

การได้รับการหนุนหลังจากรัฐเป็นพิเศษทำให้บางบริษัทใช้ทางลัดในการระดมที่ดิน บ้างก็เริ่มกระบวนการทางการตลาดและการขายก่อนที่รัฐจะอนุมัติโครงการ ตั้งแต่โมซัมบิคไปจนถึงโบลิเวียและฟิลิปปินส์ กฎหมายของประเทศระบุให้นักลงทุนชาวต่างชาติต้องปรึกษากับชุมชนก่อนตั้งโครงการ ในขณะที่บางโครงการมีการปรึกษาชุมชนอย่างจริงจัง แต่บางโครงการก็เพียงจัดประชุมกับชุมชนเล็กน้อยเป็นการบังหน้า ทำให้บริษัทประเภทหลังได้เปรียบเหนือบริษัทที่ทำถูกต้องจริงจังในด้านการประหยัดเวลาและเงินทุน

การอนุรักษ์ที่ดินชุมชนทำให้ชุมชนท้องถิ่น ประเทศ และสังคมโลกได้ประโยชน์อย่างไร

ในขณะที่รัฐบาลของหลายๆชาติประสบความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิของชุมชน ทำให้ที่ดินของชุมชนตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ชุมชนท้องถิ่นทั่วโลกก็กำลังเดินหน้าด้วยตนเอง บ้างก็อาศัยอำนาจศาล บ้างก็เดินขบวนประท้วงรัฐบาลของตน บ้างก็ทำแผนที่ที่ดินของตนเองเพื่อนำไปต่อสู้กับข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ บ้างก็ถึงกับจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตระเวนตรวจตราและดูแลที่ดินกันเองเพื่อขับไล่ผู้บุกรุก

ความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเหนือที่ดินทั่วโลกเหล่านี้มีนัยที่สำคัญ กล่าวคือที่ดินชุมชนมิได้เพียงแค่ให้ประโยชน์แก่ชุมชนเอง แต่ยังอำนวยประโยชน์แก่ภูมิภาคนั้นและสังคมโลกด้วย

ผลตอบแทนด้านการพัฒนา

ประโยชน์ด้านการพัฒนาที่สังคมได้รับจากการปกป้องที่ดินชุมชนได้แก่ทำให้ชุมชนและประเทศบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การปกป้องที่ดินชุมชนกระตุ้นให้สมาชิกชุมชนกล้าที่จะลงทุนในที่ดินในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่ผลกำไรที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่า และรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนในช่วงต้นของการลงทุนเช่นซื้อบริการทางระบบนิเวศหรือให้เทคโนโลยีแก่ชุมชน ที่จะทำให้เกิดการลงทุนและอนุรักษ์ที่ดินในระยะยาวและผลการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ในทางตรงข้าม การขาดหลักประกันทางที่ดินทำให้ชุมชนไม่กล้าลงทุนในระยะยาวแต่จะเร่งหาประโยชน์จากที่ดินโดยไม่ดูแลรักษาเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น

นอกจากนี้ เมื่อมีการถือครองที่ดินอย่างมั่นคง ชุมชนมีแนวโน้มที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาพัฒนาที่ดินของตนเองอย่างยั่งยืน สถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนย่อมให้ความสำคัญกับการถือโฉนดที่ดินมากกว่าระบบถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นทางการของชุมชนเพราะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า ตัวอย่างเช่น ในขณะที่รัฐบาลเม็กซิกันให้การสนับสนุนวิสาหกิจป่าชุมชน แต่ชุมชนที่ไม่มีโฉนดที่ดินก็จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

มีหลักฐานที่แสดงชัดเจนว่าชุมชนที่มีโฉนดที่ดินมีผลลัพธ์จากการพัฒนาที่สูงกว่า เช่นมีประสิทธิภาพการใช้ที่ดินที่สูงกว่าและชาวนามีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีกว่า รายได้จากการขายไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าอื่นๆนำมาใช้ในการติดไฟฟ้าส่องสว่างและท่อน้ำประปา สร้างถนน ตั้งร้านอาหาร ตั้งกองทุนสำหรับสตรีและผู้ป่วย และตั้งกองทุนการศึกษา นอกจากนี้ป่าชุมชนยังสร้างงานให้แก่เยาวชน สตรี และผู้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หลายชุมชนลงทุนปรับปรุงธุรกิจค้าไม้ให้ครบวงจรขึ้นและยังต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆเช่นการท่องเที่ยว อย่างเช่นในประเทศเนปาล อินเดีย แทนซาเนีย และเม็กซิโก วิสาหกิจป่าชุมชนในประเทศเหล่านี้ก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสิงคมเป็นอย่างมาก

ผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อม

สิทธิเหนือที่ดินชุมชนทำให้เกิดผลดีต่อวาระสำคัญของปี 2030 กล่าวคือ ในระดับชุมชนและภูมิภาคนั้น สิทธิเหนือที่ดินชุมชนทำให้มีการกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศท้องถิ่นและวงจรน้ำเพื่อแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรเพื่อการใช้สอย การเกษตร การบำรุงดิน การพักผ่อนหย่อนใจ และการท่องเที่ยว ชุมชนที่มีโฉนดที่ดินสามารถทำประโยชน์ให้แก่ชนพื้นเมืองกว่า 350 ล้านคนใน 70 ประเทศ และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ของที่ดินทั้งหมดในโลก ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพถึงร้อยละ 80 ของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมดในโลก

นักวิจัยได้บันทึกหลักฐานจากหลายประเทศที่ปรากฏว่าชุมชนที่มีโฉนดที่ดินให้ผลกระทบเชิงบวกแก่สิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่นนักวิจัยจาก WRI และ InterAmerican Development Bank พบว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในป่าชุมชนของโบลิเวีย บราซิล และโคลอมเบียในช่วงปี 2000-2012 นั้นน้อยกว่าอัตราในป่าที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาโดยชนพื้นเมืองถึง 2-3 เท่า ดังนั้นการประกันการถือครองที่ดินโดยชนพื้นเมืองจึงเกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว เช่นในป่าอเมซอนในประเทศเปรู การออกโฉนดที่ดินให้แก่ชนพื้นเมืองในปี 2002 ลดอัตราการทำลายป่าลงถึงหนึ่งในสามและสองในสามในอีกสองปีถัดมา และในขณะที่ชุมชนต้องการเป็นเจ้าของที่ดิน การให้เช่าที่ดินในระยะยาวก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการใช้งานที่ยั่งยืนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นในประเทศกัวเตมาลา ชุมชนได้รับสัมปทานเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่า Maya Biosphere Reserve เป็นเวลา 25 ปี (ต่อสัมปทานได้) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าถ้าชุมชนได้รับสิทธิที่มั่นคงแล้วก็จะมีบทบาทที่สำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการบรรลุเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน


Social Share