THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Benjamin Habib
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2015
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.the101.world/world-order-and-geopolitics-2022/
อ้างอิง https://www.e-ir.info/…/climate-change-and-the-re…/

(ต่อจากวันอังคาร)

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการเลือกที่รักมักที่ชังร่วมกันเกิดขึ้นเมื่อผู้มีส่วนได้เสียระบุผลประโยชน์ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์อย่างหนึ่ง แม้ว่าจะมีความไม่ลงรอยกันในผลลัพธ์ที่ต้องการและกลยุทธ์ในการปฏิบัติงาน ระบอบที่รับมือกับภาวะเช่นนี้จะต้องประสานทุกฝ่ายให้เกิดความก้าวหน้าโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการประกันผลลัพธ์ ระบอบที่ตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการเลือกที่รักมักที่ชังร่วมกันมักตั้งขึ้นเพื่อประกันผลลัพธ์เช่นมาตรฐานของกฎหมายด้วยเช่นกัน ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความซับซ้อนของผลประโยชน์ร่วมที่สูงกว่า ทำให้แม้แต่บรรษัทข้ามชาติเองก็ยากที่จะระดมทุนได้ ความสำคัญของภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของผลประโยชน์ร่วมอยู่ที่แรงจูงใจที่จะหลีกเลี่ยงการร่วมมือของทั้งสองฝ่าย เมื่อราคาของการหลีกเลี่ยงสูงกว่าราคาของการร่วมมือ ในกรณีเช่นนี้การหลีกเลี่ยงที่จะให้การร่วมมือโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นทางเลือกที่สมเหตุผลที่ในท้ายที่สุดแล้วกลับส่งผลดีต่อทุกฝ่าย

ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นปัญหาร่วมกันในระดับนานาชาติเพราะสาเหตุและผลกระทบของมันที่มีต่อสังคมมนุษย์นั้นแผ่กระจายข้ามพรมแดนแห่งรัฐ ทุกฝ่ายจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในการจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากหลักการเรื่องผลประโยชน์ของชาติแล้ว รัฐทุกรัฐยังมีผลประโยชน์ร่วมจากการป้องกับภาวะโลกร้อนเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่าง GDP การบริโภคพลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องบริโภคทรัพยากรธรรมชาติและปล่อยคาร์บอนไปพร้อมๆกัน ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานฟอสซิลนั้นเราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกย่อมจะต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ประเทศจีนที่เร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในสามทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้นในระบบเศรษฐกิจเช่นนี้จึงเป็นการยากที่จะนำเอาพลังงานสะอาดมาใช้แทนที่พลังงานฟอสซิลเนื่องจากแหล่งพลังงานที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจนี้จะรวมศูนย์อยู่ที่ห่วงโซ่การผลิตต่างๆ

ในขณะที่ชาติต่างๆพยายามเข้าร่วมเจรจาเรื่องภาวะโลกร้อนในการประชุม UNFCCC ทว่าผลดีที่รัฐได้รับจากการเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้นมีมากกว่าผลดีที่ได้รับจากการร่วมมือกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ทำให้ราคาของการหลีกเลี่ยงที่จะให้การร่วมมือสูงกว่าราคาของการทำตามวัตถุประสงค์ร่วม รัฐๆหนึ่งอาจหลีกเลี่ยงการให้ความร่วมมือ ถ้าผลที่ได้มีค่าน้อยกว่าผลประโยชน์ของชาติ ความแตกต่างระหว่างผลประโยชน์เช่นนี้ยิ่งมีความสำคัญภายใต้บางเงื่อนไขแวดล้อมอย่างเช่น ประการที่หนึ่ง เมื่อความเหลื่อมล้ำทางผลประโยชน์เช่นนี้มีแนวโน้มที่จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อเกิดความร่วมมือต่างๆเพิ่มขึ้น โดยผลประโยชน์ของชาติเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าผลประโยชน์จากความร่วมมือ ประการที่สอง เมื่อรัฐที่เป็นสมาชิกความร่วมมือมีจำนวนน้อยดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูง ประการที่สาม เมื่อรัฐที่มีศักยภาพในการเข้าเป็นสมาชิกเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจหรือการเมือง มิใช่พันธมิตร ประการที่สี่ เมื่อบรรษัทให้ความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงปลอดภัย และประกาสุดท้าย เมื่อความแตกต่างในอำนาจของบรรษัทที่มีศักยภาพในการเข้าเป็นสมาชิกนั้นมีน้อย ผลประโยชน์ร่วมเกิดจากความร่วมมือและการแบ่งปันอำนาจอธิปไตยเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์และลดทอนแรงจูงใจที่จะหลีกเลี่ยงการร่วมมือ

สิทธิในการพัฒนาทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะหลีกเลี่ยงการร่วมมือในกระบวนการเจรจา UNFCCC ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกกลุ่มเจรจา 77 อ้างว่าประเทศมหาอำนาจควรรับผิดชอบในประเด็นเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลกมากที่สุดเพราะกิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมากว่า 200 ปี ภาระที่ประเทศพัฒนาแล้วสร้างขึ้นในอดีตนี้ทำให้เกิดประเด็นสำคัญขึ้นสองประการ ประการแรก ประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ให้เหตุผลว่าประเทศพัฒนาแล้วควรรับบทบาทผู้นำและรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมีการปล่อยก๊าซมาเป็นเวลานานแล้วในกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้นควรได้รับโอกาสที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปจนกระทั่งประเทศมีการพัฒนาเท่าเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว จึงค่อยลดปริมาณก๊าซ นอกจากนี้เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมไปก่อนเป็นเวลานาน จึงทำให้มีศักยภาพทางการเงินและเทคโนโลยีที่สูงจนสามารถช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ความล้าหลังของประเทศโลกที่สามเป็นอุปสรรคสำคัญของประเทศเหล่านี้ในการตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อน หลักการรับผิดชอบร่วมกันแต่ต่างระดับกันนี้ได้รับการบรรจุเข้าไว้ในมาตรา 3.1 แห่ง United Nations Framework Convention on Climate Change และสนธิสัญญาสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติอื่นๆเพื่อเป็นแนวทางในการกระจายอำนาจอธิปไตยผ่านทางความร่วมมือระหว่างรัฐที่มีระดับศักยภาพที่ต่างกัน


Social Share