THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

กฤษฎา บุญชัย
Thai Climate Justice for All

“ระเบิดเวลาด้านสภาพภูมิอากาศกำลังจะมา”

IPCC ได้เผยแพร่รายงานสังเคราะห์ประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสหภาพภูมิอากาศครั้งที่ 6 เมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญคือ เตือนว่า นี่คือโอกาสสุดท้ายแล้วที่โลกจะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้ทะลุ 1.5 องศาฯ ในปี 2030-2035 ข้างหน้า

ปมที่ควรต้องพิจารณามีดังนี้

  1. ก๊าซเรือนกระจกยังคงพุ่งสูง โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก เลยระดับปลอดภัยที่ 350 ppm มาตั้งแต่ปี 1990 จนในเดือนมีนาคม 2023 คาร์บอนฯ พุ่งสูง 418.5 ppm ทำให้อุณหภูมิโลกสูงกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (1850) มาถึง 1.1 องศาฯ และจะแตะ 1.5 องศาฯ อันเป็นเพดานที่ทำให้โลกรวนวิบัติในปี 2030-2035
  2. ในปัจจุบันโลกปล่อยคาร์บอนฯ 47 กิ๊กกะตันคาร์บอนเทียบเท่า คาดการณ์ว่าจะยังสูงขึ้นไปถึง 60 กิ๊กกะตันฯ ในปี 2045 ด้วยมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ในเวลานี้ ระดับคาร์บอนฯ จะยังคงสูงต่อไป ถึงแม้จะลดคาร์บอนฯ ลงอย่างรวดเร็วในปี 2037 (ตามที่หลายประเทศตั้งเป้าหมายไว้) อุณหภูมิโลกในปี 2100 ก็ยังสูงเฉลี่ย 3.2 องศาฯ ภายในปี 2100
  3. ปัญหาคือในขณะนี้ระบบการเงินภาครัฐและเอกชนในปัจจุบันยังสนับสนุนพลังงานฟอสซิลมากกว่าการปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจก
  4. การสูญเสียและเสียหายจะสร้างผลกระทบที่เหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกระทบต่อคนจนที่สุดและประชากรที่เปราะบางที่สุด ในแอฟริกาและประเทศด้อยพัฒนาจะเผชิญความยากจนเพิ่มขึ้น
  5. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ยังแยกส่วน ไม่เท่าเทียม เกิดช่องว่างโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อยที่ปรับตัวได้ยากลำบาก
  6. มีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกถึงนโยบายและมาตรการปรับตัวที่ผิดพลาด และทำให้กลุ่มคนเปราะบางและชายขอบได้รับผลกระทบมากที่สุด
  7. ผลกระทบต่อภาวะโลกรวนเกิดขึ้นแล้ว (ไม่ต้องรอถึง 1.5 องศาฯ) ในหลายด้าน ที่ปรากฏชัดคือ
    1. ด้านอาหาร ผลผลิตการเกษตรและประมงลดลง
    1. ด้านสุขภาพ การแพร่ระบาดเชื้อโรค ความร้อน ทุพโภชนาการ ภัยจากไฟป่าและฝุ่น สุขภาพจิต และการย้ายถิ่นฐาน
    1. ด้านเมือง การตั้งถิ่นฐานและโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาน้ำท่วมเมือง น้ำท่วมและพายุทำลายชายฝั่ง โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย และกระทบเศรษฐกิจ

ข้อเสนอ

  1. การบรรลุเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาฯ ต้องปรับเป้าหมายและทำโดยทันที
  2. ในปี 2030 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกจากฐานปี 2019 ลงร้อยละ 43 โดยลดคาร์บอนฯ ลงร้อยละ 48
  3. ในปี 2035 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงไปถึงร้อยละ 60 โดยลดคาร์บอนฯ ลงร้อยละ 65
  4. ในปี 2040 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 69 โดยลดคาร์บอนฯ ลงร้อยละ 80
  5. ในปี 2050 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 84 โดยลดคาร์บอนฯ ลงร้อยละ 99
  6. ต้องให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางสังคม การสร้างการมีส่วนร่วมและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมด้วยปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาการปรับตัวที่เอาจริง
  7. เพิ่มการสนับสนุนการเงินเพื่อการลดก๊าซด้วยเป้าหมายรักษาอุณหภูมิ 1.5-2 องศาฯ
  8. ท่ามกลางมาตรการอื่นๆ ในการจัดการพลังงานสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ เราต้องการลดพลังานฟอสซิล ใช้พลังงานฟอสซิลให้น้อยที่สุด และมีมาตรการดึงคาร์บอนฯ จากพลังงานฟอสซิลที่เหลืออยู่ และมีมาตรการอนุรักษ์และใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ

โลกมีความหวังหรือไม่ที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวไว้ว่า

เป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศาฯ นั้นสามารถบรรลุได้ แต่ต้องทำเพิ่มขึ้นอย่างมากและทันทีทันใด โลกจำเป็นต้องทำทุกทาง ทุกสิ่ง ทุกี่ และทั้งหมดต้องทำทันทีทันใด

ดูแล้ว แผนของประเทศไทยทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเป็นกลางในปี 2050 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิในปี 2065) และการปรับตัวต่อผลกระทบโลกร้อน (ที่ไม่มีรูปธรรมและไม่มีส่วนร่วม) ยังห่างไกลจากที่การช่วยโลกและประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน เปราะบาง ตามที่ IPCC เรียกร้องเป็นครั้งสุดท้าย

ประเทศไทยควรมีนโยบายอย่างไร เตรียมรับฟังข้อเสนอในเวทีประชาสังคมเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมต่อพรรคการเมืองในวันที่ 30 มีนาคมนี้ครับ


Social Share