THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่  25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

(ต่อจากวันพฤหัสบดี)

สมการที่กล่าวมาก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบที่น่าเป็นกังวลในการแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้า

ประการแรก สมการลดก๊าซและสิทธิในการปล่อยก๊าซที่ซื้อขายได้นั้นทำให้เป้าหมายของตลาดคาร์บอนหนีห่างออกไปจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของนโยบายสภาพภูมิอากาศไปมาก เมื่อการใช้พลังงานฟอสซิลมีแนวโน้มกลายเป็นระบบที่เอื้อให้ผู้ปล่อยมลภาวะได้ประโยชน์ การมุ่งอยู่แต่โอกาสในการทำกำไรจากส่วนต่างของราคาทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆลืมเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมไปเสีย และเป็นธรรมดาที่ภาคเอกชนจะต้องเลือกแนวทางที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และถ้าเรายังไม่มีวิธีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในระยะยาวแล้วละก็ แม้แต่โอกาสในการทำกำไรที่ดีที่สุดหรือต้นทุนที่ต่ำที่สุดก็ไม่สามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาสนใจได้ ในทางตรงกันข้าม พวกเขาน่าจะปรับตัวเข้าหาระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีอยู่มากกว่า จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสหภาพยุโรปยังมิได้กระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนในพลังงานสะอาดเลยแม้แต่ภาคธุรกิจเดียว

ประการที่สอง ในการนำสมการดังกล่าวมาใช้กับตลาดคาร์บอนนั้นเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมต่างๆปัดความรับผิดชอบของตนที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมถูกขอให้ซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซเป็นพิเศษจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซที่เป็นรูปธรรม แทนที่จะถูกปรับเมื่อปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่เกินกว่าพิธีสารเกียวโตกำหนด ในขณะเดียวกันรัฐบาลของประเทศอย่างไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ อาฟริกาใต้ กาน่า และประเทศอื่นๆในซีกโลกใต้ก็ได้รับสินบนจากตลาดคาร์บอนมิให้บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะบ่งชี้ตัวผู้กระทำความผิด และปล่อยให้ประเทศเต็มไปด้วยมลภาวะเพื่อสร้างเหตุในการผลิตและจำหน่ายคาร์บอนเครดิต เช่นเดียวกับกลไกชดเชยและกำหนดส่วนต่างของราคาคาร์บอนที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนร่ำรวยที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และทิ้งชุมชนยากจนไว้กับแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีพิษภัยเพื่อลดช่องว่างระหว่างงานที่เป็นการทำลายและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญ นักการธนาคาร เทรดเดอร์ นักกฎหมาย นักการบัญชี ที่ปรึกษาธุรกิจ และข้าราชการนับหมื่นคนกำลังเร่งมือทำงานในส่วนของตนเพื่อให้เกิดตลาดคาร์บอนมูลค่านับแสนล้านดอลล่าร์ด้วยการกำหนดเพดานปริมาณก๊าซ ออกแบบโครงการเก็บกักคาร์บอน กำหนดกฎเกณฑ์และตารางเวลาในการจ่ายเงินให้แก่โครงการอนุรักษ์ป่า ยื่นคำขอแก่คณะกรรมการกำกับดูแลตลาดคาร์บอนของ UN วางเงินลงทุน ซื้อที่ดิน นับโมเลกุลคาร์บอน ทำบัญชีงบดุล กำหนดราคาเครดิตและความเป็นเจ้าของเครดิต และผลิตเครดิตเพื่อปัดความรับผิดชอบให้แก่ภาคธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อเครดิต

ด้วยการนี้เอง ประเทศพัฒนาแล้วจึงแปลงตัวเองจากผู้ที่ต้องรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ ลัทธิอาณานิคมจึงถือกำเนิดขึ้นใหม่จากเถ้าถ่าน มิใช่ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ สำนึกในตรรกะเหตุผล วิทยาศาสตร์ที่ผิดเพี้ยน หรือด้วยวิธีการขู่เข็ญหรือติดสินบนใดๆ แต่ด้วยการดำเนินการผลิตนิเวศบริการอย่างแพร่หลายทั่วโลก และการสนับสนุนโดยระบบยุติธรรมที่เสื่อมทรามและบทลงโทษที่ไม่รุนแรง ไม่น่าประหลาดใจที่การฟื้นคืนชีพของลัทธิอาณานิคมใหม่นี้ก่อให้เกิดแรงต้านอย่างรุนแรงต่อนิเวศบริการจากภาคประชาสังคมทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

บทสรุป : กฎหมายและปัจจัยภายใน

กระบวนการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าที่ประกอบไปด้วยการกำหนด Concept การวางกฎเกณฑ์ การนับจำนวน และการกำหนดความเป็นเจ้าของเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่สมการได้ก่อโครงสร้างชั้นสูงเพื่อ “เปลี่ยนปัจจัยภายนอกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เป็นปัจจัยภายใน” ซึ่งเป็นลักษณะของตลาดสิ่งแวดล้อมในยุคเสรีนิยมใหม่ กระบวนการเหล่านี้มีการตีความและเปลี่ยนแปลงอุปสรรคที่เข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อรับความท้าทายจากภายนอกเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบโดยกระบวนการที่นำมาใช้แก้ปัญหาของมันเอง ในกรณีของภาวะโลกร้อนนั้นการเปลี่ยนปัจจัยภายนอกให้เป็นปัจจัยภายในโดยการออกแบบสินค้านั้นทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นผลกำไรก็จริง แต่การที่เกิดมีปัจจัยภายนอกขึ้นมาใหม่ตลอดเวลามากเสียจนทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม

จากมุมมองนี้เอง การนำเอากฎหมายเข้ามาแก้ปัญหาจะต้องมีความชัดเจนว่ากฎหมายจะนำมาซึ่งการทบทวนและอธิบายสมการที่กำหนดโครงสร้างพื้นฐานให้แก่การผลิตสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีความชัดเจนสำหรับตลาดคาร์บอนหรือไม่? หรือจะหมายความถึงการยกเลิกสมการบางข้อหรือทั้งหมด? ในกรณีของตลาดนิเวศบริการ การยกเลิกสมการจะเป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่าเมื่อพิจารณาในแง่ของสิ่งแวดล้อม หากมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อขาดเกณฑ์ทางเทคนิคหรือกระบวนการเฝ้าระวังเพื่อดูว่าโครงการเก็บกักคาร์บอนนั้นยังมีความเป็นธุรกิจหรือ “business as usual” อยู่หรือไม่และสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในตัวเองในสมการต่อไปนี้ได้หรือไม่ :

การลดปริมาณก๊าซ CO2 อย่างเป็นรูปธรรม = การลดปริมาณก๊าซ CO2 ด้วยการใช้เครดิตมาชดเชย

ในทางตรงกันข้าม เมื่อพิจารณาถึงภารกิจของสมการในการพิสูจน์การใช้คาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสมการมีแต่จะเปิดโอกาสให้ความขัดแย้งนี้เคลื่อนย้ายตัวเองไปรอบๆ ซึ่งการสร้างผลกระทบดังกล่าวก็เพื่อส่งเสริมการผลิตเครดิตในตลาดคาร์บอนของบริษัทผู้ปล่อยมลภาวะขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในฐานะที่เอื้อต่อการอุทิศทรัพยากรเพื่อการกำหนดนโยบายและแผนที่ริเริ่มการใช้พลังงานทดแทนที่นำไปสู่การชะลอภาวะโลกร้อน

คุณสมบัติประการหนึ่งของการจัดหมวดหมู่นิเวศบริการออกเป็นหน่วยย่อยๆโดยใช้สมการได้แก่ทำให้เกิดสินค้า (และการยกเลิกสินค้า) ในหลายรูปแบบและหลายระดับ เช่นเดียวกับโครงสร้างภายในที่หลากหลาย นอกจากนี้การจัดหมวดหมู่ดังกล่าวยังช่วยซ่อนกฎเกณฑ์ที่จะกระตุ้นให้เกิดการยกเลิกสินค้า ซึ่งมีประโยชน์สำหรับนักอนุรักษ์ในการเลือกใช้กลยุทธ์ เนื่องจากแม้แต่รัฐบาลที่มีนโยบายแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสินค้ายังถูกชักจูงให้ดำเนินการที่ทำให้เกิดการยกเลิกสินค้าเพียงเล็กน้อย เพราะหากสนับสนุนก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้น ตัวอย่างเช่นเมื่อสหภาพยุโรปตัดสินใจที่จะยกเลิกการใช้สมการต่อไปนี้ในปี 2011 :

HFC-23 = 11,700 × CO2

ด้วยการห้ามใช้ HFC-23 เครดิตที่ขายมาจนถึงปี 2013 เหตุผลเบื้องหลังการนี้นั้นค่อนข้างซับซ้อน ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเหตุอื้อฉาวเรื่องการออกใบอนุญาตปล่อยมลภาวะที่ไร้ค่าในอุตสาหกรรมก๊าซ แต่ยังเป็นที่หวั่นเกรงว่าอุตสาหกรรมที่ไม่โปร่งใสในยุโรปอาจย้ายฐานการผลิตมาตั้งในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อหากำไรจากการขายคาร์บอนเครดิตเสียเอง หรือไม่ก็ลดต้นทุนในการทำธุรกรรมซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยการเหมาซื้อทั้งอุตสาหกรรมแทนที่จะซื้อจากทีละโครงการ หรือไม่ก็คาร์บอนเครดิตที่ล้นตลาดจะทำให้ตลาดล่ม อย่างไรก็ตาม ความยับยั้งชั่งใจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะชะลอการแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้าแทนที่จะเร่งการผลิต เช่นเดียวกับที่นักอนุรักษ์กำลังรณรงค์คัดค้านแนวทางชดเชยคาร์บอน ดังนั้นจึงยกเลิกสมการนี้ :

EUA = CER ในการแตกกระบวนการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่โดยใช้สมการปลายเปิดเป็นแนวทางหนึ่งที่แสดงถึงการวิเคราะห์กลยุทธ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสโลแกน “โลกไม่ได้มีไว้ขาย” เช่นเดียวกับการแปลงทรัพยากรให้เป็นทุนตามความหมายเชิงวิชาการ/เชิงนามธรรม ในการอธิบายพัฒนาการของตลาดนิเวศบริการนั้นอาจช่วยเรากำหนดและขยายขอบเขตของเครือข่ายพันธมิตรที่กำลังรณรงค์ต่อต้านการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าที่น่าเคลือบแคลงไม่ว่าจะเป็นภูมิอากาศ น้ำ ไฟฟ้า บริการสาธารณสุข ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือพันธุกรรม และสนับสนุนสิทธิเหนือที่ดินและแรงงาน พลังงานทางเลือก อธิปไตยทางอาหาร และการควบคุมภาคการเงินโดยรัฐ (จบ)


Social Share