THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://shorturl.at/gnCO8

แน่นอนว่าระบบ Cap and Trade ยังให้ประโยชน์อื่นๆอีกมากแก่อุตสาหกรรม B รวมถึงพวกที่ปล่อยมลภาวะแต่น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าถ้าเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ยังทำให้ธุรกิจอิสระหันมาพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเพื่อขายให้แก่ A ที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลเต็มตัว ทว่านวัตกรรมเหล่านี้มักมุ่งเป้าไปที่การทำให้อุตสาหกรรม A มีข้ออ้างในการใช้พลังงานฟอสซิลต่อไปเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจอาจรับประกันได้ว่าผลกระทบของ Cap and Trade จะช้าลง เมื่อร่วมกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมที่ไม่มีความสำคัญพอที่จะทำให้เกิดการลงทุนและการออกกฎหมายใหม่ๆ ธุรกิจที่ฉลาดที่พยายามจะทำกำไรจากการขายคาร์บอนเครดิตจะมุ่งเน้นไปที่การหาวิธีที่ต้นทุนต่ำที่สุดในการลดก๊าซ โดยไม่สนใจว่าจะเป็นผลดีต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาวหรือไม่ แน่นอนว่าเป้าหมายของ Cap and Trade ที่จะบรรลุเป้าหมายลดก๊าซขั้นต่ำด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดไม่ใช่เป้าหมายของการบรรเทาภาวะโลกร้อนที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิล

ส่วนในแง่ของเศรษฐศาสตร์นั้น Cap and Trade ไม่สนใจสภาวะเส้นทางบังคับหรือ Lock-in และความจำเป็นที่จะต้องก้าวข้ามการประนีประนอมทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีที่จำเป็นหรือนำเสนอวิธีการที่คุ้มทุนเพื่อบรรลุผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ออกแบบระบบ Cap and Trade ระบบแรกมาเพื่อสร้างโมเดลที่ประหยัดต้นทุนในการลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สำหรับนำเสนอต้นแบบแก่พิธีสารเกียวโตและออกแบบระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นโมเดลที่เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับนักออกแบบนโยบาย การซื้อขายซัลเฟอร์ไดออกไซด์อาจประหยัดต้นทุนในการลดก๊าซหรือไม่ประหยัดก็ได้ แต่ที่แน่นอนก็คือมิได้สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ตลาดอากาศสะอาดของลอสแองเจลิส ที่ดูเสมือนว่าจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์พลังงานและเทอร์ไบน์เผาไหม้ต่ำที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมขนส่งทางบกจากรายได้ที่ได้จากการจดทะเบียนยานพาหนะ ทว่าหนึ่งในความล้มเหลวของเทคโนโลยีนี้คือการออกแบบวิธีการลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เพื่อนำไปขายในตลาดและทำให้เกิดความยืดหยุ่นเชิงพื้นที่ด้วยการซื้อขาย ทำให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะไม่ต้องการนวัตกรรมที่มีราคาแพง

จะเห็นได้ว่านวัตกรรมภายใต้ฟองสบู่แห่งตลาดมลภาวะของอเมริกานั้นมุ่งไปที่การนำเหล้าเก่ามาใส่ขวดใหม่เสียมากกว่าจะเป็นการพัฒนาประดิษฐ์กรรมใหม่ที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับ ETS ของสหภาพยุโรปที่มิได้ก่อให้เกิดการลงทุนที่มีนัยสำคัญพอสำหรับการสร้างเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การลดต้นทุนไม่ได้ทำให้เกิดแรงจูงใจที่มากพอสำหรับการสร้างนวัตกรรม การออกกฎหมายกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดมากกว่าระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่สนใจความคุ้มทุนในระยะสั้นมากกว่าประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ความแตกต่างระหว่าง Cap and Trade และประสิทธิภาพในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยิ่งชัดเจนขึ้นอีกในปี 2007 เมื่อมีข้อมูลลับรั่วไหลออกมาว่ารัฐบาลอังกฤษไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาดเพราะพิจารณาแล้วว่าเป็นแนวทางที่มีต้นทุนสูงกว่าระบบ ETS ซึ่งมีความหมายระหว่างบรรทัดว่าการสนับสนุนพลังงานสะอาดอาจทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตตกต่ำลงและบ่อนทำลายตลาดคาร์บอนลอนดอนเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของอังกฤษ นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสะอาดของรัฐบาลอังกฤษมิได้มีการกล่าวถึงการกำกับให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่หาแนวทางในการเปลี่ยนถ่ายการใช้พลังงานหรือแม้แต่ลดก๊าซเรือนกระจกเพราะว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ “อยู่ในระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของ ETS อยู่แล้ว” โดยสรุปก็คือระบบ Cap and Trade ที่ดีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิลเล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเหล่านี้หาทางเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน และถ้าเป้าหมายมิใช่การแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว ประสิทธิภาพในด้านอื่นๆก็เป็นการหลงประเด็นไป

การที่ระบบ Cap and Trade ละเลยความสำคัญของวิธีการลดก๊าซ (ตราบเท่าที่มีต้นทุนต่ำที่สุด) ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลดปัญหาโลกร้อนที่เป็นรูปธรรม แล้วยังสร้างความคลุมเครือต่อสถานที่ที่มีการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซ เพราะแนวคิดหลักประการหนึ่งได้แก่การกระจายมลภาวะไปตามพื้นที่ต่างๆเพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อีกครั้งหนึ่ง แต่แนวคิดนี้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงประการหนึ่งได้แก่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มักเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มคนเปราะบางได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ขอยกตัวอย่างตลาดซื้อขายซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของสหรัฐอเมริกามาเพื่อพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์โดยรวมของประเทศลดลงร้อยละสิบในช่วงปี 1995-2003 แต่โรงไฟฟ้าที่ปล่อยมลภาวะมากที่สุดในประเทศจำนวนกว่าครึ่งได้เพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต่อปีในระยะเวลาเดียวกัน ทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ใต้ลมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากอากาศที่เป็นพิษ ระบบ Cap and Trade ที่ไม่พิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อื่นๆย่อมทำให้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นตามไปด้วย (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share