THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย DREW PENDERGRASS และ TROY VETTESE
วันที่ 2 มิถุนายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://www.noemamag.com/planning-an-eco-socialist-utopia/

สำหรับศาสตราจารย์ Leonid Kantorovich แล้ว คณิตศาสตร์เป็นเรื่องของความเป็นความตาย

ในปี 1941 กองทัพเยอรมันเข้ายึดครองเลนินกราดซึ่งเป็นเมืองเกิดของ Kantorovich ในยุทธการบาบาร์รอสซ่า ตัดเส้นทางขนส่งลำเลียงทางรถไฟและถนนออกจากตัวเมืองเพื่อปิดล้อมให้ทหารรัสเซียยอมแพ้ แต่ยังมีเส้นใยแห่งการขนส่งกำลังบำรุงของรัสเซียอีกเส้นหนึ่งที่เหลืออยู่ที่กองทัพนาซีคาดไม่ถึง ได้แก่ทะเลสาบ Ladoga ติดด้านตะวันออกของเมือง ที่เรือท้องแบนของกองทัพรัสเซียสามารถส่งกำลังบำรุงกองทัพได้ในฤดูร้อนและใช้เลื่อนลากและรถบรรทุกข้ามผิวทะเลสาบที่เป็นน้ำแข็งนี้ไปแนวหน้า “เส้นทางแห่งชีวิต” นี้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ทหารและพลเรือนรัสเซียนับล้านที่ติดอยู่ในเลนินกราดดำรงชีพและต่อสู้กับทหารเยอรมันต่อไปได้ แต่เส้นทางนี้เต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่ง รถบรรทุกกว่า 40 คันตกทะลุพื้นน้ำแข็งลงไปในทะเลสาบที่เย็นจัดในช่วงแรกๆของการขนส่งที่แผ่นน้ำแข็งยังไม่หนาพอ ยังไม่นับเครื่องบินตรวจการณ์ฝ่ายเยอรมันที่บินตรวจอยู่เหนือศีรษะ งานของ Kantorovich ได้แก่ลดความเสียหายต่อกองทัพรัสเซียในด้านนี้ และถ้าเขาทำไม่สำเร็จ เมืองทั้งเมืองก็จะอดตาย

ทะเลสาบในเหตุการณ์นี้อุปมาได้กับโจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่เร่งด่วน ความหนาของน้ำแข็ง อุณหภูมิของอากาศ และความเร็วลม Kantorovich จะสามารถส่งรถบรรทุกออกไปได้กี่คัน ระยะห่างของแต่ละคันเป็นเท่าใด และแต่ละคันบรรทุกน้ำหนักได้เท่าใด สภาพอากาศที่แปรปรวนและเครื่องบินของฝ่ายเยอรมันเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้โจทย์นี้ยากขึ้นไปอีก แม้ผิวทะเลสาบจะเต็มไปด้วยอันตราย แต่ศาสตราจารย์หนุ่มท่านนี้ยืนยันที่จะออกไปสำรวจเหตุการณ์ด้วยตนเองเพื่อให้เห็นกับตาว่าขบวนรถบรรทุกจะวิ่งผ่านผิวน้ำแข็งไปในสภาพเช่นไร ความพยายามของ Kantorovich ทำให้เชื้อเพลิง อาหาร และกระสุนนับพันตันถูกส่งเข้าไปในเลนินกราดและนำพลเมืองกว่า 1.5 ล้านคนลี้ภัยสงครามออกจากเลนินกราดได้สำเร็จ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์คิดว่าเขาจะยึดเลนินกราดได้ภายในหกสัปดาห์ แต่พอสามปีต่อมา กองทัพเยอรมันก็เริ่มถอยกลับออกมาทางตะวันตก

เมื่อยามว่างจากการคำนวณน้ำหนักของรถบรรทุกที่จะข้ามทะเลสาบ Ladoga ศาสตราจารย์ Kantorovich จะคร่ำเคร่งอยู่กับงานเขียนชิ้นสำคัญของท่านที่ชื่อ The Best Use of Economic Resources หรือ “การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ” ในขณะที่ผลงานทางคณิตศาสตร์ในยุคต้นๆของท่านนั้นมักเป็นงานเชิงนามธรรม เชิงวิเคราะห์ และเชิงโครงสร้าง แต่หนังสือ The Best Use of Economic Resources นี้ถือได้ว่าเป็นคู่มือแห่งการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยอธิบายการใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์มาวางแผนระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่ Kantorovich  ย้ำว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไม่มีทำได้ และกล่าวว่า “งบขาดดุลเป็นผลจากความล้าหลังของเศรษฐศาสตร์ที่ตามไม่ทันความจำเป็นในการสร้างรัฐสังคมนิยม”

นักคณิตศาสตร์ท่านนี้พยายามสร้างสมดุลให้แก่สังคมนิยมเช่นเดียวกับที่ท่านเคยพาขบวนรถบรรทุกข้ามผิวน้ำแข็งมาแล้ว “Best Use of Economic Resources” เป็นความพยายามที่จะสร้างทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนการสร้างสังคมในอุดมคติของสหภาพโซเวียต แทนที่จะให้หน่วยงานวางแผนกลางตัดสินใจและเสี่ยงต่อการผิดพลาดหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน Kantorovich มองว่าการใช้อัลกอริธึมวางแผนเศรษฐกิจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนตั้งแต่โรงงานถึงประชาชน

นวัตกรรมทางคณิตศาสตร์ของ Kantorovich นี้เริ่มทดลองใช้กับโรงงานไม้อัดเป็นเวลาสามปีเพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ซับซ้อน โดยวิศวกรของโรงงานขอให้ Kantorovich ช่วยหาวิธีการที่ดีที่สุดในการใช้เครื่องจักรแต่ละเครื่องในโรงงานที่มีอัตราการทำงานที่แตกต่างกันเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุด แม้จะดูเหมือนง่าย แต่ Kantorovich ตระหนักดีว่าการแก้ปัญหานี้ต้องใช้สมการนับล้านข้อ ดังนั้นท่านจึงได้พัฒนาอัลกอริธึมที่เรียกว่า “Linear Programming” และในบ่ายวันหนึ่งด้วยกระดาษและดินสอ อัลกอริธึมนี้นอกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานไม้อัดแล้ว ยังนำไปใช้กับสถานการณ์ต่างๆที่ต้องการเพิ่มหรือลดค่าที่มีแนวโน้มเชิงเส้น ยกตัวอย่างเช่นนำไปออกแบบตารางเดินรถไฟที่ใช้เวลาน้อยที่สุดเป็นต้น

Linear Programming มิได้เป็นเพียงคณิตศาสตร์แบบสังคมนิยมเพราะว่ามีความทับซ้อนระหว่างทฤษฎีและภาคปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นไปตามหลักเหตุและผลมากขึ้น Kantorovich เริ่มคิดที่จะขยายผลจากโรงงานไม้อัดสู่เศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับโลก ตามลำดับ

แต่ดูเหมือนว่าท่านจะไม่คุ้นเคยกับงานของนักเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมรุ่นก่อนๆที่มีชื่อเสียงเป็นพหูสูตอย่าง Otto Neurath สารัตถะของปรัชญา Neurath นั้นได้แก่การปฏิเสธไม่ยอมรับตรรกะปลอมหรือ Pseudorationality ที่เชื่อว่าเมตริกซ์เชิงเดียวใดๆก็ตามอย่างเช่นเงินตราจะสามารถชักจูงการตัดสินใจทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจหรือระบบใดๆได้ เช่นทุนนิยมเป็นระบบที่ขาดเหตุผลเนื่องจากเป้าหมายกำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆนั้นนำสังคมไปสู่หายนะอย่างภาวะโลกร้อนและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่หก Otto Neurath ได้ศึกษาระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมและให้ความเห็นว่าระบบที่เป็นทางเลือกใหม่นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมดุลสากล (เช่นเวลาและแรงงานเป็นต้น) ซึ่งขาดกลไกควบคุมจิตสำนึกที่ใช้ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียทางศีลธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และสุนทรียะในกระบวนการตัดสินใจ Neurath ให้เหตุผลว่าสังคมนิยมไม่อาจตั้งอยู่บนกลไกตลาดได้ ดังนั้นการที่นักสังคมนิยมที่ต้องการคงไว้ซึ่ง “ระเบียบทางการเงินซึ่งไม่สามารถควบคุมได้และความเป็นสังคมนิยมไปพร้อมๆกันนั้นเป็นความขัดแย้งภายในตัวมันเอง (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share