THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ภาคประชาสังคมนำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for All (TCJA) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีช ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ร่วมกันจัดเวทีสาธารรณะที่หอศิลปะวัตนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ผลสำรวจ แหล่งมลพิษที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหา PM2.5 และวิกฤตสภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และแลกเปลี่ยนข้อเสนอทางออกปัญหาฝุ่นกทม. ตลอดจนบทเรียนในต่างประเทศ โดยมีผู้ดำเนินรายการ คุณณัฐพร สร้อยจำปา และวิทยากรรับเชิญ 3 ท่าน ได้แก่ คุณวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENET) คุณธารา บัวคำศรี กรีนพีช ประเทศไทย และคุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ปัจจุบัน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นายกฤษดา บุญชัย ผู้จัดงานเสวนาในครั้งนี้ กล่าวถึงปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ ต้นตอการเกิดฝุ่นเป็นปัญหาที่เรามองข้ามและมักจะจัดการปัญหาที่ปลายทาง เช่น การควบคุมการใช้รถ ซึ่งหากมองให้ลึก สาเหตุใหญ่กว่านั้นคือเรื่องการปล่อย อีกทั้งปัญหาฝุ่นไปเชื่อมโยงกับความเป็นธรรม ขณะที่ไปไล่จับชาวบ้านจากการเผาพื้นที่เกษตร ความเป็นธรรมที่เค้าเป็นแหล่งผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อผลกำไร เพื่อความมั่นคั่ง เรากลับเพิกเฉยไป

คุณวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENET)

ผมขอใช้คำว่าวิกฤตมลพิษทางอากาศ แทนการใช้คำว่า PM2.5 เพราะจริง ๆ มันยังมีสารพิษตัวอื่นที่มากับ PM2.5 ด้วย ผมจะนำเสนอโดยใช้กรณีศึกษาจากโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ “มีคนถามว่าผมไม่กลัวเขาจะฟ้องเหรอ ผมจึงตอบกลับไปว่ากลัวปอดเป็นมะเร็งตายมากกว่า” เพราะจากที่ผมทำงานด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่นักศึกษามา 40 ปี ไม่มีกรณีไหนใกล้ตัวมากขนาดนี้ ดังนั้นวันนี้ผมจึงมาในฐานะเหยื่อที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งหากตรวจดูจากแผนที่จะเห็นว่ามีฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นเป็นกลุ่มโดยกลุ่มที่หนาแน่นที่สุดในประเทศไทยมีการกระจุกอยู่บริเวณกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และอาจจะลามไปจนถึงบริเวณอยุธยาและสระบุรี ผมจึงอยากจะบอกว่ามันเป็นลักษณะของสภาพอากาศที่ถูกครอบเอาไว้เหมือนกับฝาชีทำให้มลพิษถูกเก็บสะสมเอาไว้

          โดยทั่วไปมลพิษเหล่านี้มีแหล่งที่มา 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) Point source (แหล่งกำเนิดอยู่กับที่) เช่น โรงงานอุตสาหกรรม 2) Moving source หรือ Mobile source (แหล่งที่มาเคลื่อนที่) เกิดจากการจราจรในท้องถนน และ 3) Area source (แหล่งที่มาจากพื้นที่) เกิดขึ้นตั้งแต่การใช้แก๊สหุงต้มในครัว ผมจึงจะชี้ให้เห็นว่าของเขตพื้นที่ที่เป็นจังหวัดหรือเขตการปกครองนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย ดังนั้นเวลาที่กรุงเทพฯบอกว่าผู้ว่าหรือฝ่ายปกครองจะเป็นคนดูแลนั้นไม่ได้ เพราะมลพิษมีที่เกิดขึ้นมีการเคลื่อนที่ข้ามพรมแดนจังหวัด และหากดูจากทิศทางลมจะมีการพัดมาจากอ่าวไทย มลพิษที่อยู่รอบ ๆ กรุงเทพฯโดยเฉพาะสมุทรปราการ ฉะเชิงเทราจะพัดเข้ามาในกรุงเทพฯได้ด้วย

           ผมได้นำเอาบทความหน้าหนึ่งจากฝ่ายกิจการต่างประเทศกรุงเทพมหานครมา ชื่อว่า A Success Story in Solving ความสำเร็จในการแก้ปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพฯ ข้อหนึ่งพูดถึงควบคุมสถานประกอบการธุรกิจในพื้นที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินที่มาตรฐานกำหนด และพูดถึงชนิดของแหล่งมลพิษเหล่านั้น แน่นอนว่าไม่ได้การถึงโรงงานกลั่นหรือโรงงานไฟฟ้า เพียงพูดถึงโรงงานเฟอร์นิเจอร์หรืออะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น แต่ที่สำคัญคือเขาใช้คำว่า “ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด” หมายความว่า เขาจะดูแต่เฉพาะที่โรงงานที่ปล่อยเกินมาตรฐานกำหนดซึ่งใช้ไม่ได้ เพราะหนึ่งมาตรฐานของประเทศไทยมีความล้าสมัยมาก สองในภาวะวิกฤตปัจจุบันนี้ คำว่า “ปล่อยไม่เกินมาตรฐาน” มันก็คือปล่อย และโรงงานใหญ่ก็มีการปล่อยจำนวนมากด้วย เพราะฉะนั้นมาตรการที่กรุงเทพฯทำที่ผ่านมาคือใครที่ไม่ผิดกฎหมายก็ไม่แตะต้อง อันนี้ก็ใช้ไม่ได้ ผมจึงอยากจะบอก 3 ข้อ คือ หนึ่งไม่ใช่ดูแค่ PM2.5 สองไม่ใช่ดูแค่ในขอบเขตของกรุงเทพฯ และสามไม่สามารถจะบอกว่าอะไรที่ไม่เกินมาตรไม่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหา

          ผมอยากจะให้ทุกคนได้เห็นจากจุดที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จุดที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมันบางจาก และจุดที่ต้องของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โดยโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนืออยู่นอกกรุงเทพ แต่อยู่ตรงขอบชายแดนของกรุงเทพฯพอดี เพราะฉะนั้นเราจะพบว่าโรงงานจำนวนมากอาจจะเป็นเพราะเรื่องการขออนุญาตจึงตั้งอยู่ขอบ ๆ ไม่ได้อยู่ภายในโดยตรง แต่ผมต้องไฮไลท์ 3 โรงงานนี้เป็นพิเศษ เพราะว่านี้เป็นศูนย์กลางที่จะมาบรรจบกันที่กันที่กรุงเทพฯพอดี และอย่าลืมว่าแหล่งกำเนิดทั้งสามนี้เป็นแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ และมีการใช้ปล่องที่อยู่สูงซึ่งมันไม่ได้ปล่อยควันมารอบบริเวณนั้น แต่มันเพิ่มความเข้มข้นให้กับฝาชีที่ครอบอยู่เป็นจำนวนมาก

          เพราะฉะนั้นผมจะลงรายละเอียดให้เห็นว่า 3 โรงนี้ปล่อยเยอะขนาดไหน เริ่มต้นด้วยโรงกลั่นน้ำมันบากจาก เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าบางจากคือที่ตั้งอยู่แถวพระโขนง ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตอนก่อตั้งในปี 2527 ตอนนั้นอาจจะมองว่ายังไกล แต่ปัจจุบันนับได้ว่าเป็นศูนย์กลาง และโรงกลั่นนี้เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ผมจำได้ว่าตอนเป็นนักศึกษาได้ร่วมเคลื่อนไหวในการคัดค้านก่อตั้งในกรุงเทพฯ หลังจากมีการตั้งก็มีอุบัติเหตุเรื่อยมา แต่ผมอยากจะบอกว่าโรงกลั่นนี้ได้เช่าที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งในปัจจุบันกำลังจะหมดสัญญาของการเช่าที่ ผมจึงมีความมั่นในการที่กำลังเรียกร้องอยู่ขณะนี้ จริง ๆ แล้วโรงกลั่นน้ำมันจากนั้นหมดเวลาแล้ว และวิธีแก้ง่าย ๆ คือไม่ต่ออายุในการเช่าที่ และบางจากเองก็ไปมีกิจการเพิ่มที่ซื้อจากเอสโซที่มีกำลังผลิตที่สูงกว่าที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็มีทางออกอยู่แล้วในตัว แต่ผมจะบอกว่านอกจากที่ตั้งที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในการกำจัดความร้อน ของเสีย และอื่น ๆ โรงกลั่นนี้มีกำลังผลิตสูงสุด 120,000 บาร์เรลต่อวัน และปล่อย CO2 ปีละ 900,000 ตัน เป็นข้อมูลที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ แต่ผมก็พยายามจะหาว่า PM2.5 NO2 SO มีเท่าไรซึ่งบางจากไม่ได้ระบุ แต่ก็ยังมีข้อมูลที่ซ่อน ๆ ไว้อยู่ ผมคิดว่าตัวเลขของ PM2.5 ที่ถูกซ่อนไว้คือ 387 ตันต่อปี ซึ่งผมขอไม่ยืนยันเพราะไม่หลักฐาน แต่ผมขอใช้การศึกษาเทียบเคียงจากกรณีของโรงกลั่น Chevron ในแคลิฟอร์เนียร์ ซึ่งมีลักษณะที่ผมคิดว่ามีความเข้มข้นของกฎหมายที่สูงกว่าและมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า ในโรงกลั่น Chevron มี 119 จุดที่ปล่อย PM2.5 และจุดที่สำคัญที่สุดคือ จุด FCCU เป็นจุดที่มีกระบวนการเผ่าถ่านโค้ก จุดนี้จุดเดียวปล่อยเกือบครึ่งของที่ปล่อยทั้งหมด ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โรงกลั่น Chevron ปล่อย PM2.5 473 ตันต่อปี ถ้าคิดง่าย ๆ ก็เท่ากับ 1 ตันต่อวัน เป็นการเทียบเคียงให้เห็นว่าโรงกลั่นน้ำมันบางจากในกำลังผลิตขนาดนี้การปล่อย PM2.5 น่าจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 300 ตันต่อปี และจุดต่าง ๆ ที่มีการปล่อยอาจไม่ได้มีแค่ปล่องอย่างเดียว

          ต่อไปที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ที่ตั้งก็ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในปัจจุบันมีกำลังผลิต 1,930 เมกะวัตต์ ที่ผมต้องยกขึ้นมาเพราะว่ากำลังมีการดำเนินการจะสร้างโรงใหม่อีก 3 โรง โรงละ 830 เมกะวัตต์ ซึ่งทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ผมได้ไปดูและพบว่าไม่การพูดถึงเรื่อง PM2.5 ไม่ได้มีบริบทว่าหากมีวิกฤต PM2.5 โรงไฟฟ้าที่กำลังสร้างจะมีการมาตรการป้องกันอย่างไร นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการ EIA ที่มีอยู่เป็นเรื่องของการทำในห้องทดลองโดยไม่สะท้อนความจริงเลย และอยากจะบอกว่าถ้ามีการสร้างโรงใหม่ที่พระนครใต้เพิ่ม 3 โรง จะทำให้มีกำลังผลิตรวมกัน 4,519.4 เมกะวัตต์ คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่ามากขนาดไหน คิดง่าย ๆ เทียบกับเขื่อนภูมิพล 700 เมกะวัตต์ และเขื่อนแม่เมาะ 2,500 เมกะวัตต์ นี่จึงจะเป็นเรื่องใหญ่มากที่จะเกิดขึ้นตรงคอหอยของคนกรุงเทพฯ ที่นี้มาดูกันถ้าสร้างแล้วจะใช้แก๊สหรือน้ำมันดีเซล ถ้าใช้แก๊สจะใช้วันละ 357.31 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถ้าเป็นน้ำมันจะใช้ 8.64 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่ง 3 ปล่องที่สร้างเพิ่มจะปล่อย NO2 70 ppm เทียบกับมาตรฐานของไทยอยู่ที่ 120 ในขณะที่เกาหลีค่ามาตรฐานอยู่ 10 ส่วนถ้าเป็นน้ำมันดีเซลจะปล่อยสูงกว่าและมีมาตรฐานที่สูงตามกัน ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าเป็นไปได้ยังไงที่มลพิษตัวเดียวกันแต่มีค่ามาตรฐานไม่เท่ากัน ผมจึงอยากจะชี้ให้เห็นว่าใน EIA มีการจำกัดการปล่อยในเชิงอัตราการระบายเป็นกรัมต่อวินาที ทำให้พบว่าถ้าสร้าง 3 โรง กำลังผลิตรวม 2,490 เมกะวัตต์ มี 3 ปล่อง การปล่อย 1 ปล่อง 11.33 กรัมต่อวินาที เพราะฉะนั้นจะตกประมาณ 978 กิโลกรัมต่อวันต่อปล่อง ถ้า 3 ปล่องก็จะเป็น 2,936 กิโลกรัมต่อวัน กรณีใช้แก๊สซึ่งถ้าใช้น้ำมันก็จะหนักกว่านี้อีก ทีนี้ถ้ารวมกับ 2 โรงที่สร้างไว้แล้ว เป็น 5 ปล่อง แต่ไม่ได้ให้ตัวเลขของ 2 โรงนั้นมาทำให้ผมสันนิษฐานได้ว่าอย่างน้อยฝุ่นละอองประมาณ 4.6 ตันต่อวันที่จะปล่อยออกจากแหล่งผลิตนี้ NO 6.4 ตันต่อวัน และ SO 32 ตันต่อวัน

          เปรียบเทียบจากการศึกษาของเกาหลีมีมาตรฐานการปล่อย NO ของโรงงาน ปี 2020 และหลังจากนี้ไม่เกิน 10 ppm ในขณะที่ประเทศไทย 120 ppm เพราะฉะนั้นการยึดว่าถูกกฎหมายผิดกฎหมายนั้นไม่ได้ และอยากจะชี้ให้ว่าจากการบันทึกของเกาหลีพบว่าคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องมาจากโรงไฟฟ้าที่กำลังสร้าง 80% มาจาก NO2 และอีก 20% มาจากฝุ่น PM2.5 โดยสรุปจึงอยากจะชี้ให้เห็นว่าถ้าประเทศไทยใช้มาตรฐานจากเกาหลีแล้วจะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีที่กำลังจะสร้างใหม่ก็ยังต่ำกว่าของเกาหลีอีกมาก

          ต่อไปที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือตรงสะพานพระราม 7 ซึ่งอยู่ตรงคอหอยเหมือนกัน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า 2 โรง กำลังผลิตรวม 1,645 เมกะวัตต์ ใช้แก๊สทั้งหมดและกำลังสร้างเพิ่มอีก 2 โรงรวม 1,400 เมกะวัตต์ รวมกับของพระนครใต้กำลังรวมกว่า 8,000 จะอยู่ในกรุงเทพฯ จากเว็บไซต์ของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือแสดงมาตรฐานของโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้ว NO อยู่ที่ 90 ppm และฝุ่นPM2.5 54 ppm ซึ่งเกินมาตรฐานของสากล นอกจากนี้ยังบอกว่ายังมีการตรวจวัดปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดเดือนพฤษภาคมและตุลาคม เป็นเดือนที่ไม่ใช่ฤดูฝุ่นประเทศไทยไม่ได้เจอวิกฤตฝุ่นใน 2 เดือนนี้ ฤดูฝุ่นปกติจะอยู่ในเดือนธันวาคมถึงมีนาคม นี่จึงเป็นตัวอย่างในการตรวจตอนที่ไม่เป็นปัญหา และโรงงานเหล่านี้ยังมีการหยุดซ่อมปีละ 45 วัน ซึ่งก็ไม่ตรงกับวิกฤตฝุ่นเช่นกัน แต่จะหยุดซ่อมในช่วงที่เศรษฐกิจจะทำกำไรให้น้อยที่สุดในตอนนั้น และทั้งหมดที่ชี้ให้เห็นนี้เป็นของรัฐ

          ผมจะขอชี้ให้ชัดลงไปอีก ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่า PDP2018 ทบทวนครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นแผนปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ว่าปี 2568 – 2580 กรุงเทพฯในเขตนครหลวงมีการกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าแก๊สรวม 11,183 เมกะวัตต์ จากที่ผมได้กล่าวก่อนหน้าว่ามีแล้ว 8,000 เมกะวัตต์ หมายความว่าจะมีการสร้างที่ยังไม่ระบุตำแหน่งอีก 700 เมกะวัตต์ และอย่างอื่นที่ไม่ระบุอีก ผมจึงมีคำถามว่า เราจะยอมให้มีการสร้าง 11,183 เมกะวัตต์ อยู่ในกรุงเทพฯเหรอครับ? ทำไมต้องสร้างในกรุงเทพ? และทำไมต้องใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง? ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพูดถึงการลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งไม่ใช่เลย แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเยียวยาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหามลพิษทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จ

ข้อเสนอในการจัดการแหล่งปล่อย PM2.5 รายใหญ่

มาตราการณ์ระยะสั้น

  • ลดหรืองด การเดินเครื่องในช่วงที่มีอากาศปิด และPM2.5 มีระดับวิกฤต
  • ระบบตรวจวัด PM ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ควรสุมตรวจได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงปีละสองครั้งตามที่กำหนดเวลาและมาตรฐานทั่วไปไว้ใน EIA ซึ่งเป็นการวัดบริเวณปากปล่องและช่วงเวลาตายตัวไม่ตรงกับช่วงวิกฤต (เป็นคนละส่วนกับจุดตรวจและการแสดงคุณภาพอากาศ ณ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า)
  • ให้ชะลอ และ ทบทวน โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยาย เพิ่มกำลังผลิตหรือทดแทนกำลังผลิตเดิมที่หมดอายุ ในบริเวณเดิม (หรือในเขตกทม.และปริมณฑล) อนึ่งการทำ EIA และ HEIA ของโครงการพระนครใต้ไม่ได้อยู่ในบริบทที่มีวิกฤต PM2.5 แต่อย่างใดเลย

มาตราการณ์ระยะกลาง

  • วางแผนการเดินเครื่อง และการซ่อมบำรุงประจำปี ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศ เช่น การหยุดซ่อมบำรุงประจำปี 45 วัน เป็นช่วงเดียวกับฤดูที่มีวิกฤติ
  • ติดตั้งเทคโนโลยี WGS ที่ FCCU กรณีโรงกลั่นน้ำมัน
  • ติดตั้งเทคโนโลยี ระบบควบแน่น และระบบกรอง ที่ระบบไอเสียก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ กรณีโรงไฟฟ้า

มาตราการณ์ระยะยาว

  • ให้ย้ายแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ออกจากกทม.และปริมณฑล
  • ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะต้องดูผลกระทบเชิงสะสมกับแหล่งปล่อยมลพิษอื่นที่อาจจะก่อวิกฤตคุณภาพอากาศต่อพื้นที่ได้ โดยต้องเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไข ทั้งนี้ต้องให้อำนาจตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและฝ่ายปกครองในการยับยั้งการปล่อยมลพิษหรือสั่งยุติการดำเนินการตามสมควรแก่เหตุ โดยไม่อยู่ภายภายใต้ข้อจำกัดด้านเขตปกครองและ การปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากสถานการณ์เป็นที่ประจักษ์ชัด
  • ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว เช่น กรุงเทพและปริมณฑล ให้การกำหนดมาตรฐานการควบคุมมลพิษและเทคโนโลยี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรฐานสูดสุดตามมาตรฐานสากล
  • ให้กฎหมายกำหนดแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่แจ้งข้อมูล การปล่อยมลพิษเชิงปริมาณ (กรัม/วินาที) และคุณภาพ (องค์ประกอบอนุมูลสาร) เพิ่มจากข้อมูลความเข้มข้น (The Toxics Release Inventory (TRI) data or Emissions inventory data)
  • ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ในภาพรวมของกทม.และปริมณฑล ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) และวิกฤตคุณภาพอากาศ (โดยใช้ค่ามาตรฐาน PM และ AQI ที่เป็นสากล) เพื่อเป็นแม่บทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต
  • ปรับปรุง และ ออกกฎหมาย โดยใช้มาตรฐานที่เป็นสากลและได้ผล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กติกาและวัฒนธรรมประชาธิปไตย

คุณธารา บัวคำศรี กรีนพีช ประเทศไทย (Greenpeace Thailand)

          นี้จะเป็นประเด็นเสริมของคุณวิฑูรย์ในเรื่อง Nitrogen Dioxide (NO2) คือมันไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Precursor หรือสารตั้งต้น ซึ่งมันอาจจะดูยาก ผมเลยขอใช้คำว่ามันเป็นคู่หูกัน มันมาด้วยกัน ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกับเรื่องฝุ่นที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้

          มีการศึกษาทั่วโลกว่าคนที่ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ โดยที่มีการเจาะลึกไปที่การศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการสัมผัสมลพิษ NO2 ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ระหว่างปี 2543 – 2562 จะมีผู้ป่วยเฉพาะโรคหืดหอบรายใหม่ทั่วโลกประมาณเกือบ 2 ล้านคน ที่เป็นผลกระทบโดยตรงที่สัมผัสเอา NO2 เข้าไป และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรในเขตเมือง เป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าเราจำเป็นจะต้องให้ความสนใจเรื่องคู่หูวายร้ายที่มากับฝุ่น PM2.5

          ถ้าอยู่ในบริบทของกรุงเทพและปริมณฑล พบว่าจะมีแหล่งกำเนิดหลายแหล่งและมักจะโฟกัสไปที่แหล่งอื่น ๆ แทนแหล่งที่เป็นแหล่งใหญ่ 3 จุด โรงกลั่นน้ำมันบางจาก โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งไม่ได้ถูกรวมเข้าไป แม้กระทั่งในร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดก็ไม่ค่อยพูดถึงเรื่อง Point source เท่าไหร่ จะเป็นการพูดถึงเรื่องการจัดการในบรรยากาศทั่วไป ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นบริบทที่ผมคิดว่า ถ้าจะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญเอา 7 ร่างของร่างพ.ร.บ.มารวมตัวกัน จะต้องมีการหยิบยกประเด็นนี้เข้ามาด้วย

            ผมจะชี้ให้ดูจากข้อมูลเก่า ที่สามารถเป็นตัว Reference ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2537 ข้อมูลกำลังจะชี้ให้เห็นว่าถ้าเราดูกราฟแท่งสีส้มเหลืองจะเห็น Nitrogen Oxide (Nox) หรือ NO2 ซึ่งจะเห็นว่าจากการขนส่งอาจจะดูเยอะ 240,000 ตันต่อปี แต่ถ้าเรารวมเอาการผลิตไฟฟ้ากับอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมเข้าไป 227,000 กับ 222,000 เข้าไป ซึ่งคือ Point source เป็น 500,000 มันจะเยอะที่สุดแล้ว เยอะกว่าการขนส่ง เยอะกว่ารถ และเยอะกว่าการเผาในที่โล่ง ถ้าพูดถึงเรื่อง Noxเพราะฉะนั้นมันก็มีความสำคัญที่จะดูว่า ถ้าเราจะจัดการมลพิษทางอากาศ ควรจะไปเน้นที่ตรงไหน ในกรณีของการเกิด PM มันจะมาจากหลายที่มา ในกรณีของโรงกลั่นและโรงไฟฟ้าอาจจะปล่อยฝุ่นไม่เยอะมากถ้าเทียบกับ NO2 ทั้งนี้ Nox ในหลาย ๆ ครั้งเนี่ยไม่ได้มีการพูดถึงการเกิดฝุ่นในฐานะฝุ่นทุติยภูมิ หรือฝุ่นขั้นที่สองที่เมื่อปล่อยออกมาแล้วจะไปรวมตัวกันในบรรยากาศ ซึ่งจริง ๆ แล้วเมื่อกฎหมายอากาศสะอาดไม่ได้พูดถึง Point source เท่าที่ควร มันก็ไปละเลย Nox ที่มาจาก Point source ซึ่งเป็นสาเหตุของมลพิษในบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น

          จะเห็นว่ากระบวนการเกิดมลพิษทางอากาศขั้นที่สองมันมีความซับซ้อน พูดให้ง่ายขึ้นคือมี NO2, Nox ออกจากแหล่งกำเนิดจากโรงไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ทำไมต้องพูดถึง Nitrogen เพราะว่าถ้าดูองค์ประกอบของอากาศ มี Nitrogen ในบรรยากาศ 70% ซึ่ง NO2 มีการเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันเป็นเหตุผลที่ต้องมีมาตรฐานเหมือนอย่างในเกาหลี เพราะว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ ขณะโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีดี ๆ ที่มีการเผาไหม้ Nox ต่ำ ก็ยังมีการกล่อย NO2 อยู่ดี ดังนั้นเมื่อมันปล่อยออกไปจึงนำไปสู่การเกิดฝุ่นอีกครั้งหนึ่งในชั้นบรรยากาศ

                นี่เป็นประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าด้วยเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะดาวเทียม มีดาวเทียมดวงหนึ่งเป็นดาวเทียมขององค์การอวกาศสหภาพยุโรป ชื่อ Sentinel6 ซึ่งปล่อยสู่วงโคจรประมาณ 4 – 5 ปีที่แล้ว และ Sentinel6 มีเซนเซอร์ตัวหนึ่งที่วัด Nox โดยเฉพาะ และจากภาพนี้เป็นการ ตรวจจับ Nox ของประเทศไทย จะเห็นว่ามันมี Hot Spot อยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือบริเวณ อ.แม่เมาะ ตรงติ่งนิดนึงเป็นของโรงไฟฟ้าหงสาประเทศลาว แล้วถ้าดูแบบใกล้ ๆ ที่กรุงเทพฯจะเห็นว่าข้าง ๆ ไปทางตะวันตกคือ โรงไฟฟ้าราชบุรี ไปทางเหนือหน่อยเป็นอยุธยา สระบุรี คือ โรงไฟฟ้าก๊าซ ทาง Eastern Seaboard คือ มาบตาพุด แหลมฉบัง และบางประกง ถ้าจะมีการสร้างใหม่เป็น 11,000 ตามที่คุณวิฑูรย์ได้กล่าวไว้ จะจินตนาการได้เลยว่า NO2 ที่จะเห็นมันจะแตกต่างไปจากเดิม

          ตามภาพผมอยากให้ดูว่าตามจุดสีชมพูโรงไฟฟ้าก๊าซที่กระจายอยู่รอบ ๆ เขตปริมณฑลในกรุงเทพฯ ตอนเหนือของกรุงเทพและ Eastern Seaboard ซึ่งนอกจากบริเวณขอบกรุงเทพฯแล้ว ช่วงจะหวะที่ NO2 ปล่อยออกมาตามภาพก่อนหน้ามันกว้างกว่านั้นเยอะ โดยมีศูนย์กลางเป็นกรุงเทพฯ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากยานยนต์ แต่แหล่งกำเนิด NO2 จริง ๆ คือภาคการผลิตไฟฟ้ากับโรงงานอุตสาหกรรมที่เยอะกว่ามาก ๆ

          สุดท้ายผมจะชี้ให้เห็นข้อมูลล่าสุดจากดาวเทียม Sentinel6 ที่ได้ตรวจจับ NO2 ตามเวลาที่ผ่านไป ตั้งแต่ประมาณธันวาคม 2566 – 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้เห็น NO2ที่มีศูนย์กลางอยู่รอบ ๆ กรุงเทพฯ Eastern Seaboard ราชบุรี อยุธยา และสระบุรี จะเข้มข้นช่วงธันวาคม – มีนาคม บางเวลาจะเห็น NO2 มาจากการเผาในที่โล่ง แต่ถ้าเทียบกับตัว Point Source จะต่างกันเยอะมาก นี่จึงเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งเปรียบเหมือนดวงตาบนท้องฟ้าที่สามารถตรวจจับผู้ก่อมลพิษ NO2 ว่าคือใคร ตรงไหนบ้าง

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ

แหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญนั้นมีที่มาจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของภาคกลางและปริมณฑล ที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นนั้นมาจากการใช้เชื้อเพลิง การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ความร้อน และเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ที่ส่วนใหญ่เป็นสารเคมี การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดปัญหากลุ่มหลัก ๆ ที่เป็นสารอันตรายซึ่งหลุดมาจากภาคอุตสาหกรรม ตัวแรก คือ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน รวมถึงคาร์บอนมอนออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สองคือ โลหะหนัก อาทิ สารหนู โดยในปัจจุบันมีอนุสัญญาที่ว่าด้วยสารปรอท ซึ่งมีความอันตรายมาก อีกทั้งสามารถอยู่ได้นาน และเดินทางได้ไกล ซ้ำยังเป็นสารก่อมะเร็ง และยังส่งผลโดยตรงต่อการทำลายระบบประสาทส่วนกลาง สามคือ ไดออกซินฟิวแรน ปัจจุบันมีอนุสัญญาสตอร์กโฮม ควบคุมการปล่อย สาเหตุสิ่งตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม อีกกลุ่ม คือ สารอินทรีย์ระเหยง่าย อันตรายอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากเคยเป็นปัญหามลพิษอากาศมาแล้วในครั้งอดีต

          ในอเมริกา US -EPA (องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของอเมริกา) ได้จัดให้มีการควบคุมสารอันตรายประมาณ 189 ชนิด โดยจะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย 150 ชนิด ทำให้เห็นว่าแหล่งใหญ่ ๆ อุตสาหกรรมปล่อยมาเป็นสารที่อันตรายมากทั้งขั้นปฐมภูมิ และทุติยภูมิ ในขณะที่ประเทศไทยได้มีการควบคุมเพียง 15 ชนิด มีกฎหมายที่อยู่ในรูปแบบประกาศกระทรวงออกภายใต้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมจำนวน 18 ฉบับ ใช้คุมการปลดปล่อยจากปล่องโดยตรง 20 ลำดับกิจการ แยกย่อยเป็น 42ประเภท ตัวกฎหมายจะควบคุม 2 source เป็นหลัก หนึ่งคือตัวหม้อต้ม และสอง คือ กระบวนการผลิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังขาดค่ามาตรฐานการปล่อย pm2.5 จากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่ส่งผลเยอะเสียเป็นอย่างมาก จำเป็นให้ต้องมีการผลักดันกฎหมาย PRTR ที่กำหนดให้ทุกแหล่งการปล่อยต้องรายงานปริมาณอย่างชัดเจน ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่แม่นยำในการแก้ไขปัญหา

          คุณเพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า เราอยู่ภายใต้การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยมลพิษโดยที่กฎหมายไทยยังไม่ควบคุมอีกหลายชนิดซึ่งมีความอันตรายมาก

ได้มีการตั้งข้อสังเกตุถึงการเกิดไฟไหม้โรงงานรีไซเคิลที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งไม่ใช่เหตุปกติ ในปริมาณที่มีกากของเสีย กากวัสดุเยอะ ก็จะเกิดไฟไหม้ เป็นลักษณะของการเผาทำลายทิ้งหรือไม่ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการตรวจสอบ

          คุณเพ็ญโฉม ได้ยกตัวอย่างโครงการซึ่งเป็นกรณีศึกษา 2 ชิ้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ pm2.5 จากทั้งหมดที่ได้ทำการศึกษาเรื่องของมลพิษภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครนั้นเรียกได้ว่า เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดอีกหนึ่งแห่งของประเทศไทย มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 1 ใน 10 จังหวัด โดยโครงการแรก คือ ”“โครงการสมุทรสาครสีเขียว“ สมุทรสาครเป็นแหล่งที่มีความหนาแน่นของมลพิษค่อนข้างมาก โดยที่รัฐบาลได้ชี้แจงถึงสาเหตุและที่มาของ pm2.5 ไว้ว่ามีต้นเหตุมาจากการเผาในที่โล่ง และการขนส่งและจราจรเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษานั้นคือ จากทั้งหมด 3 อำเภอ บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร กระทุ่มแบน ที่มีโรงงานเพียงเล็กน้อย และอำเภอเมือง ของจังหวัดซึ่งภาคอุตสาหกรรมใหญ่อย่างหนาแน่นนั้นพบว่า การทำอุตสาหกรรมนั้นสร้างมลภาวะมากกว่าการเผาและการขนส่งหลายเท่าตัว ทั้ง pm10 และpm2.5 โดยที่ pm10 จะปล่อยทั้งปีประมาณ 70000 ตัน และpm2.5 ประมาณอีก 44000 ตัน อ้างอิงจากพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่การศึกษา เมื่อรวม 3 อำเภอพบว่าทั้งปี ปล่อยpm10 ที่ 76000  ตัน และpm2.5 46000 ตัน เกิดการตั้งคำถามว่าภาคขนส่งและอื่น ๆ ปล่อยเท่าไหร่ ในการศึกษานั้นทางมูลนิธีได้ทำการศึกษา 4 ส่วน คือ 1ภาคอุตสาหกรรม 2การจราจร 3การเผาในที่โล่ง 4การเผาขยะ พบว่าการเผาขยะจาก 3 อำเภอ pm10 จะอยู่ที่เพียง 196ตัน  และ pm2.5 64ตันต่อปี ซึ่งหากเทียบกับภาคอุตสาหกรรมจะเห็นความต่างอย่างเทียบไม่ติด ต่อมา คือ การเผาในที่โล่ง ซึ่งถือเป็นจำเลยสำคัญที่รัฐได้ให้ข้อมูลว่าส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก แต่กลับพบว่าการปล่อยฝุ่นจากการเผานั้นพบ pm10 เพียง42ตัน และ pm2.5 37ตัน ทำให้ทราบว่าแม้การเผาในที่โล่งจะมองเห็นได้ง่าย แต่ผลกระทบนั้นน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง ในส่วนการขนส่งและจราจรซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่เช่นกันของสังคมไทย อ้างอิงข้อมูลจากการขนส่งและการคำนวณ pm10 อยู่ที่226ตัน และ pm2.5 ที่220 ตันต่อปี ทั้งที่พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีการจราจรคับคั่ง และรถติด โครงการต่อมาเกี่ยวข้องกับสารโลหะตกค้างที่มีขนาดเล็กกว่า pm 2.5 ซึ่งเกาะอยู่ใน pm2.5ในจังหวัดสมุทรสาคร และปราจีนบุรี จากการศึกษาและตรวจสอบจากการอ้างอิงเครื่องมือตรวจวัดของบริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมือง โดยกำหนดจุดเก็บจากพื้นที่ที่มีการทำรีไซเคิล และหล่อหลอม พบว่าในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เช่นอากาศในบริเวณโรงเรียน วัด และสถานที่อื่น ๆ รวม 9 แห่ง พบสารโลหะหลายชนิดปะปนอยู่อย่างหนาแน่นซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรง

          คุณเพ็ญโฉม ยังได้กล่าวต่อว่าประเทศไทยนั้นไม่มีค่ามาตรฐานในการตรวจวัดที่ชัดเจน ทำให้บอกได้ยากแล้ว เมื่อลองนำไปเทียบกับค่าสากลพบว่าเกินค่ามาตรฐานทั้งสิ้นในการนำมาเทียบกับแคนาดา และญี่ปุ่น ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่มีความแน่นอนในการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน ส่งผลต่อคนไทยทุก ๆ ทิศทางที่รับฝุ่น มลพิษอย่างเลี่ยงไม่ได้ เหตุที่ต้องเน้นย้ำในเรื่องของฝุ่นที่มาจากภาคอุตสาหกรรมนั้นเนื่องมาจากระบบที่มีอยู่ไม่สามารถดักจับการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองได้หมด อาจเกินการรั่วไหลระหว่างกระบวนการ นอกเหนือจากนั้นแล้วค่ามาตรฐาน ไม่ได้บอกถึงปริมาณฝุ่นที่พวกเราสัมผัส ตกค้างอยู่ในอากาศ ซึ่งมีความแตกต่างกัน เพราะค่ามาตรฐานจะตรวจสอบเป็นรอบ แต่ปริมาณการปล่อยนั้นเกิดขึ้นทุกวัน จึงนับได้ว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายไทย และถึงแม้ว่าจะมีการปรับแก้ พ.ร.บ แรงงาน 2535 เป็นฉบับ 2562 ที่เปลี่ยนนิยามของโรงงานโดยเพิ่มกำลังขนาดของการผลิตเพื่อกำหนดให้มีโรงงานน้อยลงแล้ว แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งยังสร้างช่องว่างที่ทำให้เกิดการดูแบ กำกับ ตรวจสอบได้อย่างกว่าเก่า เพราะแม้จะไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานแต่ก็ยังสามารถประกอบกิจการและปล่อยสารพิษได้เช่นเดิม องค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องดูแลก็อาจไม่มีศักยภาพที่เพียงพอ หรือมีเครื่องมือวัดที่ตรงตามมาตรฐาน ดังนั้นทางคุณเพ็ญโฉม ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงได้เสนอและเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง กฎหมาย PRTR ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติให้ทุกประเทศใช้เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ โดยกำหนดให้ทุกโรงงานต้องแจงรายละเอียดเชื้อเพลิงที่ใช้และปล่อยออกมา รายงานเป็นข้อเท็จจริงสู่สาธารณะโดยปราศจากการปิดบัง เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทยทุกคน โดยความคืบหน้าในปัจจุบันนั้นอยู่ในขั้นตอนการเสนอร่าง และผ่านการขอความร่วมมือลงชื่อจากประชาชนมากกว่า หนึ่งหมื่นรายชื่อเรียบร้อย โดยจะดำเนินการเสนอเข้าสู่สภาในเดือน กุมภาพันธ์ ต่อไป

ข้อเสนอมาตรการเฉพาะสำหรับโรงกลั่นน้ำมันและไฟฟ้าของกทม.

  • วางแผนให้มีการเดินเครื่องและการซ่อมบำรุงประจำปี สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศ อาทิ การหยุดซ่อมบำรุง 45  วันในช่วงที่เป็นฤดูฝุ่น
  • ติดตั้งเทคโนโลยี WGS ที่ FCCU กรณีโรงกลั่นน้ำมันบางจาก
  • ติดตั้งเทคโนโลยีระบบควบแน่นและระบบกรองที่ระบบไอเสียก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศกรณีโรงไฟฟ้า

ข้อเสนอมาตรการระยะสั้น ควบคุมการปล่อยมลพิษ

  • รัฐและรัฐบาลสนับสนุน (ร่าง) พระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารพิษ พ.ศ. …. (PRTR)
  • ตรวจสอบระบบการบำบัดอากาศเสียและปริมาณการปล่อยทิ้งอากาศเสียของโรงงานในเขต กทม. และปริมาณที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
  • กำกับให้โรงกลั่นน้ำมัน-โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงโรงงานปิโตรเลียมขนาดใหญ่ และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยฝุ่นลดหรืองดการเดินเครื่องในช่วงที่มีอากาศปิด และมี pm 2.5 วิกฤต
  • ระบบตรวจวัดฝุ่น pm2.5 ทั้งเชิงปริมาณแบะคุณภาพของภาครัฐต้องพร้อมสุ่มตรวจสอบตลอดเวลา
  • ชะลอและทบทวนโครงการการก่อสร้างส่วนต่อขยาย การเพิ่มกำลังผลิต หรือทดแทนกำลังผลิตที่กำลังหมดอายุบริเวณเดิม (เขตกทม. และ ปริมณฑล) การทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันโครงการโรงงานไฟฟ้าพระนครไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาเกิดวิกฤตฝุ่นพิษ

ข้อเสนอมาตรการระยะยาว

  • ย้ายแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่ออกจากกรุงเทพ และปริมณฑล และการนำหลักผังเมืองมาบังคับใช้ให้เข้มข้น
  • ให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ในภาพรวมของกรุงเทพ และปริมณฑลในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตคุณภาพอากาศ เพื่อเป็นแม่บทในการแก้ไขและพัฒนาในอนาคต
  • ปรับปรุงและออกกฎหมายโดยใช้มาตรฐานที่มีความเป็นสากลและได้ผล โดยมีเป้าหมายที่คุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมภายใต้กติกาและวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เกิดวิกฤตฝุ่น pm 2.5

เก็บตกประเด็น

          คุณวิฑูรย์…ผมคิดว่าปัญหาที่กำลังพูดถึงกันชี้ให้เห็นว่าสังคมโดยเฉพาะรัฐหลีกเลี่ยงที่จะชี้เป้าไปที่แหล่งใหญ่ คือ ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ปล่อยรายใหญ่เพราะประเด็นทางการเมือง เมื่อเราไปดูประเทศที่แก้ปัญหาได้สำเร็จ คนอาจจะมองว่าเพราะเขาพัฒนามานานแล้วจึงสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา แต่ถ้าไปดูประเทศจีนที่เพิ่งได้ไม่นานใกล้เคียงกับไทย หรือแม็กซิโกที่เมืองใกล้เคียงกับไทยก็สามารถประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งประเด็นเขาเน้นกัน คือ Political will เรื่องของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจมีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหนในการแก้ปัญหา

          และอีกหนึ่งประเด็นที่ผมอยากจะพูดคือ “เคยสังเกตไหมว่าสังคมไทยกลัวโควิดมากกว่าฝุ่น” ทั้งที่จริง ๆ ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากฝุ่นมีมากกว่ากันเยอะมาก ผมจึงอยากขอให้มีคำว่า “อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม” ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายของประเทศไทย เพราะข้อมูลการคุยนี้เป็นการคุยในทางเทคนิค แต่ในความจริงการพูดคุยครั้งนี้ยังไม่ได้เอาเรื่องสาธารณะสุขมาพูด เพราะข้อมูลทางสาธารณะสุขได้ประกาศออกมาแล้วว่ามีคนเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นในทุกเขตที่มีฝุ่น เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องพูดเรื่องอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม

          คุณธารากล่าวเสริมต่อว่า พ.ร.บ อากาศสะอาดที่เข้าสภา 7 ร่าง ที่กำลังติดตามอยู่ ความท้าทาย คือ 7 ร่างพ.ร.บ.นี้จะประกันอย่างไร หลังจากที่ผ่านการรับการและมีการตั้งคณะกรรมาธิการ ก็คงต้องใช้กระบวนการอีกยาว แต่จากการปรึกษาหารือได้ว่าอาจจะกลับไปหากฎหมายบางฉบับที่ประชาชนเคยเสนอไปก่อนหน้านี้ เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อ 10 ปีก่อนที่ได้การบัญญัติไว้แต่ก็ไม่ตอบโจทย์การถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นั่นหมายถึงภาคีของเราก็ต้องทำงานต่อ ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเรากฎหมายแล้วจะแก้ปัญหาได้

          และอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อพูดถึงปัญหามลพิษทางอากาศอีกตัวหนึ่งที่เกิดควบคู่ไปด้วยคือ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน จากข้อมูลของ Berkeley Earth อุณหภูมิโลกได้ทะลุขีดจำกัด 1.5 องศา เป็น 1.54 องศา เมื่อเทียบกับอุณหภูมิยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อเป็นอย่างนี้จะทำให้โลกพบเจอกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพภูมิที่เดิมก็แย่อยู่แล้ว ทำให้มีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมทั่วโลก โดยของไทยบอกว่าจะลดการปล่อยเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 เข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเป็น Net zero ในปี 2065 ซึ่งไม่ได้พูดถึงมลพิษในบรรยากาศ และมีกลุ่มหนึ่งได้ทำคะแนนของนโยบายแต่ละประเทศทั่วโลกเปรียบเทียบการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษทางอากาศ คะแนนเต็ม 15 ไทยได้เพียง 2 คะแนน ในขณะที่นโยบายสภาพภูมิอากาศพูดในเรื่องมากแต่กลับไม่มีการพูดถึงนโยบายที่จะเข้ามาช่วยลดวิกฤตคุณภาพอากาศ เราจึงต้องติดตามเรื่องนโยบายและวิกฤตให้มันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

           คุณวิฑูรย์เพิ่มเติมว่า รัฐไทยมีความอนุรักษ์นิยมในปัญหาเรื่องโลกร้อน แทนที่จะกระโจนเข้าไปในกระแสโลกร้อน มองเห็นเศรษฐกิจสีเขียว มองเห็นโอกาสของการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว แต่ไทยกำลังกลัวว่ากระแสสีเขียวจะทำให้สูญเสียโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างเช่น แผนพัฒนาโรงงานไฟฟ้า 11,380 เมกะวัตต์ หรือการเป็น Net zero เพราะกลัวจะทำไม่ได้จึงรีบสร้างก่อน ผมจึงคิดว่าความอนุรักษ์นิยมนี้ ยกตัวอย่างเช่น การที่นายกไปงาน Road show ไปชวนอุตสาหกรรมที่เป็นฟอสซิลทั้งนั้น หรือแม้แต่การประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งจริง ๆ ภาษีเกิดขึ้นเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะช่วยควบคุมไม่ให้คนใช้น้ำมันเยอะเกินไปเพราะสร้างมลพิษ และนำภาษีไปใช้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความย้อนแย้งอย่างมากเมื่อมีการลดภาษีในขณะที่มีการบอกว่ามลพิษมาจากการจราจรเป็นหลัก เป็นปัญหาจากการไม่คิดรวบยอดแต่ละหน่วยงานก็มองแต่เรื่องของตนเอง ผมคิดว่าตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ จีนเมื่อถึงจุดที่เขตปักกิ่งและปริมณฑลกำลังไม่ไหวแล้ว รัฐบาลกลางจึงตัดสินใจเด็ดขาด เช่น ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในปักกิ่งให้หมด

          คุณเพ็ญโฉมกล่าวเสริมจากคุณวิฑูรย์ เรื่องของจีนเพราะผลการติดสินใจใดกล่าวมันส่งผลมาถึงไทยให้แย่ลง เนื่องจากมีโรงงานจีนในการคัดแยกขยะและรีไซเคิลในไทยเยอะมาก และกำลังทำให้ชาวบ้านไทยในปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองกำลังเดือนร้อนจากอุตสาหกรรมรีไซเคิล ตลอดจนสมุทรสาครที่มีโรงงานรีไซเคิลเยอะ พูดง่าย ๆ คือจีนเอาขยะมาทิ้งให้ไทยทำแทน จึงต้องสู้กันว่าเรื่องนโยบายการห้ามนำเข้าขยะที่รัฐมีมติ ครม. ออกมาแล้วจะมีผลจริงไหมในปีหน้า ในขณะเดียวกันมีการลักลอบเข้ามาไหม แต่เรื่องขยะภายในประเทศเองก็เป็นเรื่องใหญ่ จึงเป็นประเด็นที่ 2 ที่ตามว่าถ้าเชื่อมโยงกับเรื่องโรงไฟฟ้าที่มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะพุ่งสูงเร็วมากทั้งขยะอุตสาหกรรมมาเป็นเชื้อเพลิง และขยะจากชุมชนมาเป็นเชื้อเพลิง ต้องยอมรับว่าการเผาขยะเพื่อเป็นไฟฟ้า มันมีการปล่อยมลพิษทางอากาศสูงมากโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า เถ้าเบา และในเถ้าเบาก็มีสารกลุ่ม POPs สูงมาก ซึ่งมีผลทำลายสุขภาพคนสูง ด้วยกำลังไฟฟ้าของไทยที่มีเหลือเฟือ แต่ไม่มีเพดานการผลิต ไม่รู้ว่าผลิตไปทำอะไร ขณะเดียวกันคนในประเทศก็จ่ายสูงขึ้น แต่พร้อม ๆ กันนั้นคนในชุมชนกำลังต่อสู้ มันจึงเชื่อมโยงถึงกันที่ไม่เพียงแต่ความอนุรักษ์นิยม แต่ยังเป็นเรื่องของความทุจริต ความไม่โปร่งใส การเกาะผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และอีกหลาย ๆ อย่าง หรือจะเป็นความสิ้นคิดก็ไม่แน่ใจ

          ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยตั้งแต่ที่ทำงานมารู้สึกว่ามันแย่ลง แต่ในความแย่ลงมลพิษมันมีความซับซ้อนมากขึ้น สถิติผู้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมก็มากขึ้นด้วย จึงเป็นเรื่องน่าห่วงที่ไทยต้องเปลี่ยนความคิดอย่างจริงจัง ซึ่ง Political will ที่มีการพูดถึงไปเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะนำมาซึ่งนโยบายที่ยั่งยืน “อุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สุดท้ายมันย้อนจะกลับมากระทบตัวเอง” เพราะประชาชนจะต่อต้าน คัดค้าน และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างความไม่ยั่งยืนให้สังคมก็จะถูกทำลายจากทางตรงและทางอ้อม


ภาพในงานเสวนาปัญหาฝุ่นกทม.ใหญ่กว่าที่คาด


Social Share