THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมกับศักดิ์และน้องกะติ๊บได้รับการชักชวนจากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ และมูลนิธิรักษ์ไทย ให้มาดูการประเมินผลกระทบและการส่งเสริมการปรับตัวของเกษตรกรที่บ้านเพ็กใหญ่ อ.พล และบ้านโนนหนองลาด อ.น้ำพอง ขอนแก่น ซึ่งทั้งสองพื้นที่แม้อยู่จังหวัดเดียวกัน แต่ผลกระทบจากโลกร้อนต่างกันมาก

ที่บ้านเพ็กใหญ่ที่เราไปเป็นที่แรก เป็นพื้นที่แม้จะแล้งโดยธรรมชาติ แต่ชาวบ้านก็ดำรงชีพทำนา ปลูกผักได้อยู่ แต่ชาวบ้านเห็นภูมิอากาศผิดปกติมาพักใหญ่ไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว ที่อากาศร้อนแบบแรงขึ้นมาก บ่อน้ำที่มีอยู่ก็ไม่พอเพียง ทำให้ผลผลิตข้าวลดไปถึงครึ่ง ส่วนพืชผักซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญก็เหี่ยวเฉา ใบไหม้ ตายเสียมาก ครั้นจะเจาะน้ำบาดาลมาใช้ น้ำก็เค็มทำให้ต้นไม้ตาย

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเหล่านี้คาดการณ์ได้ยากมาก วิธีสังเกตธรรมชาติตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การดูรังมด ก็ใช้ได้ไม่มาก

แต่ชาวบ้านทุกคนยืนยันไม่ท้อ พวกเขาปรับตัวทุกด้าน หาข้อมูลภูมิอากาศจาก app อุตุฯ ลงทุนวางระบบน้ำ ขุดลอกคลอง ติดโซล่าเซลล์สูบน้ำ เชื่อมน้ำเพื่อให้หล่อเลี้ยงพืชผล คัดพันธุ์ผัก เอาดินมาลงเพิ่ม ทั้งหมดนี้มาจากการประเมินความเสี่ยงและออกแบบวางแผนของชุมชนที่ทางนักพัฒนาในพื้นที่ และมูลนิธิเกษตรฯ มาช่วยสนับสนุน ทุกคนยืนยันด้วยภาวะดำรงอยู่ว่าเราเป็นชาวนา และบทเรียน กระบวนการเรียนรู้ที่ชาวบ้านศึกษาปรับตัวอย่างเข้มข้นว่า พวกเขาและเธอมีหวังเต็มเปี่ยมว่าจะไปรอด แม้ภูมิอากาศโลกจะผันผวนอย่างไรก็ตาม

จากพื้นที่ขาดน้ำมาสู่พื้นที่น้ำท่วมที่บ้านโนนหนองลาด อ.น้ำพอง ที่มีพี่สวาท แกนนำเครือข่ายชาวบ้าน น้องอ้อมลูกสาวแกนนำรุ่นใหม่ได้พาชุมชนต่อสู้กับปัญหา

ด้วยนิเวศที่เป็นที่ลุ่มต่ำ (ต่ำกว่าแม่น้ำ) ประกอบกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่ไม่แจ้งชาวบ้านล่วงหน้า ทำให้น้ำท่วมไร่นาเสียหายตลอดมา

แต่ชาวบ้านก็บอกว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาภูมิอากาศผิดปกติ ร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ ฝนเลื่อนตก จากต้น มค.ที่มีฝนชะช่อมะม่วงก็หายไป ฤดูฝนจากเริ่ม พค.ก็เลื่อนออกไป ประกอบกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณฝนและน้ำจากภูมิอากาศ แต่ไม่สัมพันธ์กังการวางแผนผลิตของชาวบ้าน ทำให้น้ำท่วมรุนแรง และท่วมอยู่นาน แต่ในยามแล้ง ก็แล้งจัดเช่นกัน

ชาวบ้านต้องเสี่ยงว่าตนเองจะทายถูกหรือไม่ราวกับเสี่ยงหวยว่าน้ำจะมาช่วงไหน จะได้ปลูกข้าวให้เหมาะสม ถ้าลงข้าวไว้แล้ว น้ำไม่มาซักที ข้าวก็ตายหมด แต่ถ้าเพิ่งลงแล้วน้ำท่วมหนัก ข้าวก็ตายเช่นกัน

ฟ้าฝนและน้ำแปรปรวนทั้งจากธรรมชาติและเขื่อนเช่นนี้ ภูมิปัญญาสังเกตฟ้าฝนก็ใช้ไม่ได้ ทุกคนเก่งหาข้อมูลจาก app อุตุฯ ส่วนเรื่องเขื่อน ชาวบ้านเคยไปชุมนุมเรียกร้องให้แจ้งข้อมูลปล่อยน้ำล่วงหน้าให้ชาวบ้าน

ยามน้ำท่วมหนัก นาเสียหาย ชาวบ้านก็พลิกวิกฤติมาหาปลา หลายรายเริ่มซื้อเรือ แหเพื่อชดเชยความเสียหาย

พวกเธอและเขา (ส่วนใหญ่เป็นแม่หญิง) เล่าว่า นับตั้งแต่มูลนิธิเกษตรฯ กับรักษ์ไทยมาช่วยอบรมเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและออกแบบปรับตัว ชาวบ้านประเมินภูมิอากาศและวางแผนปรับตัวได้ละเอียดขึ้นมาก

โดยกิจกรรมที่เขาเพิ่งทำคือ การขุดคูคลองจัดการน้ำ นำเอาพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชผักหลายชนิดจากทุกสารทิศมาทดลองปลูกเพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมกับภูมิอากาศแปรปรวนแต่ละแบบให้ได้มากที่สุด และการทำแปลงผักรวมร่วมกันในช่วงหลังนา (ทำมากน้อยและผลผลิตที่ได้ตามกำลังแรงงาน)

ผมและน้อง ๆ ได้ไปเยี่ยมเยียนแปลงผักรวมที่ชาวบ้านทำขึ้น เอาหน้าดินมาลง วางระบบสูบน้ำ

แม้จะมีน้ำ แต่ความร้อยก็เริ่มทำให้ใบผักหงิก ชาวบ้านเตรียมเอาสแลนมากางในโอกาสต่อไป

การเยี่ยนเยียนชุมชน ทำให้ผมและน้อง ๆ เข้าใจขึ้นมากว่า จะเข้าใจเรื่องโลกร้อน แค่ดูข้อมูลวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ภาพรวมจากงานวิชาการ จากสื่อ ก็ยังไม่เข้าใจดีพอ และไม่แผนการปรับตัวไหนที่ออกแบบมาจากภายนอกจะมาใช้ได้ หากไม่สนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูล ประเมินความเสี่ยง ออกแบบปรับตัวด้วยตัวเอง

เราต้องมาเรียนรู้กับชาวบ้านที่มีประสบการณ์และบทเรียนการปรับตัวจากชีวิตจริงของชุมชนมาระดับหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรทุกพื้นที่ล้วนตระหนักดี แต่จะมีสักกี่ชุมชนที่ตั้งหลักเรียนรู้ สู้ปัญหา ปรับตัว จัดการความเสี่ยง แม้จะไม่นาน แต่พวกเขาก็มั่นใจว่าไปรอด

เราจากมาด้วยคำมั่นว่า เราจะร่วมกันเรียนรู้และขับเคลื่อนให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกัน และมีความยืดหยุ่นปรับตัวในทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้นไป เริ่มด้วยการช่วยชุมชนเขียนแผนปรับตัวเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานท้องถิ่น และขับเคลื่อนให้บรรลุผล

สู้ไปด้วยกันครับ
แม้โลกจะเดือดหรือรวน เราต้องไม่หมดหวัง

กฤษฎา บุญชัย TCJA


Social Share