THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Jonathan Watts
วันที่ 4 เมษายน 2024
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

จากฐานข้อมูลงานวิจัย Carbon Majors Database ชื่อดังของโลกพบว่ามีเพียง 57 บริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และซีเมนต์ที่มีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของปริมาณทั้งหมดมาตั้งแต่โลกบรรลุความตกลงปารีสในปี 2016 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนมากเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทรงอิทธิพลและบรรษัทข้ามชาติทุนหนาที่มีส่วนรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อน

แม้ว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆได้ให้คำมั่นในความตกลงปารีสที่จะลดก๊าซเรือนกระจก แต่นักวิจัยรายงานว่าบรรดาบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างก็เพิ่มกำลังการผลิตของตน ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซมีแต่เพิ่มขึ้นในช่วง 7 ปีหลังความตกลงปารีส เมื่อเทียบกับ 7 ปีก่อนหน้า และในจำนวน 122 บริษัทที่ปล่อยมลภาวะมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกก็ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจถึงร้อยละ 65 และภาคธุรกิจอีกร้อยละ 55 ตามลำดับ ซึ่งรวมถึง ExxonMobil ของสหรัฐฯที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.6 กิกะตันคาร์บอนในช่วงเวลาดังกล่าวหรือคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของปริมาณทั้งหมด ตามด้วย Shell, BP, Chevron และ TotalEnergies ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 1 ของปริมาณทั้งหมดเป็นอย่างต่ำ

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการปล่อยก๊าซพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดได้แก่กิจการถ่านหินในเอเชียที่รัฐเป็นเจ้าของ การขยายตัวในอุตสาหกรรมนี้เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับคำเตือนของ International Energy Agency ที่ว่าจะต้องไม่ขุดเจาะก๊าซและน้ำมันเพิ่มอีกหากเราต้องการรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นระดับที่เป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อมและไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนดังเดิมได้

“เป็นความไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่งของบริษัทที่ยังสำรวจและขุดเจาะพลังงานฟอสซิลทั้งๆที่รู้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสังคมโลก” นาย Richard Heede ผู้สร้างฐานของมูลวิจัย Carbon Majors Dataset ในปี 2013 ให้สัมภาษณ์ “อย่าชี้นิ้วโทษผู้บริโภคที่ถูกบังคับให้ต้องพึ่งพาก๊าซและน้ำมันโดยทั้งภาครัฐและเอกชน”

ทีมวิจัย Carbon Majors ได้ช่วยกำหนดนิยามใหม่แห่งการรับผิดในปัญหาโลกร้อนด้วยการวัดปริมาณคาร์บอนที่ภาคธุรกิจปล่อยออกมาจากพื้นดินแทนที่จะวัดจากการเผาไหม้เพื่อการบริโภคโดยปัจเจกบุคคล งานวิจัยชิ้นนี้ถูกอ้างอิงในการฟ้องคดีจำนวนหนึ่งและเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ The Guardian ใช้ในปี 2019 เพื่อระบุตัวผู้ทำผิดจำนวน 20 บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหนึ่งในสามของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก ในปัจจุบันฐานข้องมูลนี้ได้รับการปรับให้ทันสมัยและเปิดใช้อีกครั้งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาทางเว็บไซต์ของ InfluenceMap ฐานข้อมูลดังกล่าวรวมถึงการเปรียบเทียบระหว่างแนวโน้มการปล่อยมลภาวะในระยะยาวเริ่มตั้งแต่ปี 1854 กับแนวโน้มระยะสั้นที่เริ่มตั้งแต่ความตกลงปารีสในปี 2016

บันทึกการปล่อยก๊าซในระยะยาวพบบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและซีเมนต์จำนวน 122 รายที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72 นับตั้งแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาหรือเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 1,421 ตันคาร์บอน ในการคำนวณข้อมูลระยะยาวนี้ บริษัทถ่านหินของรับบาลจีนมีส่วนรับผิดชอบต่อปริมาณก๊าซที่ปล่อยคิดเป็นร้อยละ 14 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด หรือสูงกว่าปริมาณที่อดีตสหภาพโซเวียตปล่อยถึงสองเท่าและมากกว่าปริมาณที่ Saudi Aramco ปล่อยถึงสามเท่า ตามมาด้วย Chevron (ร้อยละ 3), ExxonMobil (ร้อยละ 2.😎, Gazprom ของรัสเซีย, National Iranian Oil Company ของอิหร่าน, BP และ Shell (ร้อยละ2) และ Coal India ของอินเดีย

การพัฒนาอุตสาหกรรมชองเอเชียอย่างก้าวกระโดดในศตวรรษที่ 21 แสดงให้เห็นชัดเจนเมื่อเราเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงปี 2016-2022 ที่บริษัทถ่านหินของจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นจนเกินหนึ่งในสี่ของปริมาณทั้งหมด ในขณะที่ Saudi Aramco เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ 10 อันดับแรกเปลี่ยนมือมาเป็นบริษัทสัญชาติจีน รัสเซีย อินเดีย และอิหร่าน ส่วนกลุ่มอำนาจเก่าแห่งโลกตะวันตกนั้นตกไปอยู่อันดับที่ 11 นำโดย ExxonMobil ที่สัดส่วนการปล่อยก๊าซลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยเดิมหรือเท่ากับร้อยละ 1.4

ข้อเท็จจริงเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้อีกในอนาคต ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลกแม้ว่ากิจการพลังงานจะกระจัดกระจายอยู่ในมือบริษัทต่างๆหลายรายแทนที่จะเป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่รายเดียว และประธานาธิบดีไบเด็นก็ได้ออกใบอนุญาตสำรวจแหล่งน้ำมันให้แก่ผู้ผลิตหลายราย นอกจากนี้กลุ่มโอเปคก็วางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก

บริษัท ExxonMobil, Chevron, BP และ Shell ต่างก็มีเป้าหมาย Net Zero แม้ว่านิยามของเป้าหมายและวิธีการที่ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นจะแตกต่างกันไป และหลายบริษัทเริ่มลงทุนในพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม นาย Daan Van Acker ผู้จัดการด้านโปรแกรมของ InfluenceMap กล่าวว่าหลายบริษัทในฐานข้อมูล Carbon Majors Database เดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไปอย่างผิดทิศผิดทาง “ผลการวิเคราะห์ฐานข้อมูลใหม่ของ InfluenceMap แสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง หรือแม้แต่เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกภายหลังความตกลงปารีส งานวิจัยนี้ได้เชื่อมโยงบริษัทพลังงานเข้ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้”

นาย Richard Heede ชี้แจงว่าบริษัทพลังงานฟอสซิลมีพันธะทางจริยธรรมที่จะต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นการกลยุทธ์การเตะถ่วงเช่นนี้ และได้อ้างอิงข้อเสนอของนาง Mia Mottley นายกรัฐมนตรีของบาร์บาดอสให้บริษัทน้ำมันจ่ายค่าชดเชยอย่างน้อย 10 เซ็นต์ต่อทุกดอลล่าร์ที่ได้มาจากการขายพลังงานฟอสซิล และได้อ้างถึงข้อความในบิลบอร์ดในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัสหลังเหตุการณ์เฮอริเคนนิโคลัสว่า “เรารู้ว่าใครเป็นคนที่มีส่วนรับผิดชอบ” ต่อด้วยชื่อของบริษัทน้ำมัน หรือแคมเปญในเวอร์มอนต์ที่ขอให้ตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย และคลื่นความร้อนจากเงินทุนของบริษัทที่ปล่อยมลภาวะ

“ภัยธรรมชาติเหล่านี้คือความเสี่ยงต่ออารยธรรมมนุษย์” เขากล่าว “ถ้าเรายังคงทำธุรกิจกันไปแบบเดิมๆ เราจะไม่มีโลกที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้เหลือไว้ให้ลูกหลาน เราจะต้องรวบรวมพลังทั้งจากภาคธุรกิจและการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่กำลังจะมาถึง และเราสามารถทำได้”

เมื่อ The Guardian สอบถามความคิดเห็นไปยังภาคธุรกิจพลังงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โฆษกของบริษัท Shell ประกาศว่า “Shell มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สนับสนุนเป้าที่สำคัญกว่าได้แก่การรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมของความตกลงปารีส และเรามีความก้าวหน้าในการดำเนินงานไปมาก และภายในปี 2023 เราจะบรรลุถึงร้อยละ 60 ของเป้าหมายที่จะลดปริมาณมลภาวะลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2016”


อ้างอิง : Just 57 companies linked to 80% of greenhouse gas emissions since 2016


Social Share