THAI CLIMATE JUSTICE for All

เมื่อนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพถูกมองมิติความเป็นธรรม

เมื่อวาน (28 เมษายน 2567) สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจัดอบรมเรื่อง “ความเป็นธรรมความหลากหลายทางชีวภาพ” ต่อเนื่องจากความเป็นธรรมสภาพภูมิอากาศเมื่อวานนี้ โดยมี TCJA โดยกฤษฎา บุญชัย และณัฐธิดา รัตนสวัสดิ์ จัดกระบวนการ

จากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสู่ข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออล (KMGBF)

จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาสิทธิการเข้าถึง ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของชุมชน และการแบ่งปันผลประโยชน์ว่าจะเป็นธรรมหรือไม่

เป็นที่มาที่เกิดพิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพ พิธีสารนาโงย่าเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์

และล่าสุดข้อตกลง KMGBF ที่กำหนดเป้าหมายโลกให้ภายใน 2050 โลกต้องเปลี่ยนสู่ความสมดุลย์กับธรรมชาติ ด้วยหลักการสำคัญคือการคุ้มครองส่งเสริมสิทธิชนพื้นเมือง สิทธิชุมชนในการจัดความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานผู้มีบทบาทหลักรักษาความหลากหลายชีวภาพของโลก และเป็นผู้เชื่อมโยงความหลากหลายวัฒนธรรมว่าคือกุญแจสำคัญของการอนุรักษ์ชีวภาพ

KMGBF มีเครื่องมือนโยบายหลายด้าน เช่น การคุ้มครองพื้นที่ชีวภาพบกและทะเล 30×30, พื้นที่อนุรักษ์อื่นที่ไม่ใช่รัฐ (OECMs) ไปจนถึง biodiversity offset&credit จะกลายเป็นปมขัดแย้งใหม่ยิ่งไปกว่า carbon credit

ท่ามกลางการเมือง ผลประโยชน์ความหลากหลายชีวภาพ

วิทยากร โดย รศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทย์ฯ จุฬา ได้ชี้ให้เห็นพันธุกรรมพื้นบ้านในฐานะขุมทรัพย์ที่ชุมชนควรได้รับสิทธิเข้าถึงพัฒนาและคุ้มครองส่งเสริม

ส่วนพี่วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ BIOTHAI ชี้ให้ปมปัญหาที่มาการกำหนดนโยบายระดับโลกที่มีทุนข้ามชาติผลักดัน และปัญหาช่องโหว่ ร่าง กม.ความหลากหลายชีวภาพที่ยังไม่คุ้มครองสิทธิชุมชน และปกป้องการแย่งพันธุ์กรรม และป้องกันปัญหา GMOs และ GE เท่าที่ควร

แม้เรื่องจะสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่ด้วยกระบวนการโต้วาทีที่ให้แบ่งฝ่ายโต้ในประเด็น 30×30, OECMs, Biodiversity credit ได้ทำให้ผู้เข้าอบรมได้สร้างข้อถกเถียงเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างลุ่มลึก สนุกสนาน

การอบรมจบลงด้วยบทสรุปว่า ได้ความเป็นธรรมความหลากหลายชีวภาพอะไรที่เผยออกมา ทั้งสิทธิชุมชนที่ถูกละเลย การค้าและผลประโยชน์กลุ่มทุนที่ผูกขาดนโยบาย และการสร้างความธรรมจากประชาชนด้วยการเรียนรู้ ร่วมมือ ส่งเสียง สร้างเครือข่าย ผลักดัน

เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังของคนรุ่นใหม่ต่อความเป็นธรรมสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายชีวภาพได้ถูกบ่มเพาะแล้ว และกำลังเติบโต ขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน

ขอบคุณผู้เข้าอบรมทุกคน สคส. กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ที่ทำให้เราได้สร้างกิจกรรมเรียนรู้ที่มีความหมาย

#climatejustice#การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ#โลกร้อน#โลกเดือด#ความหลากหลายทางชีวภาพ#biodiversity

Scroll to Top