THAI CLIMATE JUSTICE for All

ร้อนจัด โลกเดือด คนจนยากลำบาก แล้วไงต่อ

กฤษฎา บุญชัย

อุณหภูมิกว่า 40 องศาฯ ในเวลานี้ เป็นภูมิอากาศที่ร้อนที่สุดทำลายสถิติที่เคยมีมา ทำให้สังคมเริ่มตื่นตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น กสื่อออนไลน์หลายสื่อต่างรายงานเนื้อหาถึงวิกฤติความร้อนที่กระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน ดังที่มีการประเมินว่าจะทำให้รายได้ของประชาชนตกต่ำลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

 เสียงของคนยากจนต่าง ๆ ทั้งคนทำมาหาเช้ากินค่ำ แม่ค้าพ่อขาย แรงงาน คนชรา เด็กและเยาวชน ที่เดือดร้อนจากสุขภาพ การทำมาหากิน เศรษฐกิจจึงได้ถูกเผยแพร่ออกมา หลังจากที่ถูกมองข้ามเป็นเวลานาน

ในแง่ธรรมชาติ ภาวะโลกเดือดได้กระทบต่อระบบนิเวศต่าง ๆ อย่างรุนแรง เช่น ปะการังฟอกขาว ไฟไหม้ป่าที่ยังคงรุนแรง ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ

กล่าวได้ว่า ภาวะร้อนจัดที่ไม่เคยประสบมาก่อนได้ทำให้สังคมในระดับบนได้เริ่มตื่นตัวว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะ “โลกเดือด” ไม่ใช่เป็นปัญหาอันดับท้าย ๆ อีกต่อไป

แต่ทั้งสื่อออนไลน์ หน่วยงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่แค่ระดับเตือนให้สังคมตระหนักปัญหาภาวะโลกเดือด เห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง แนะนำพฤติกรรมปรับตัว แต่สิ่งที่ไปไม่ถึงคือ ตรวจสอบว่ารัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือภาวะสูญเสียและเสียหายของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างไร จะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและการปรับตัวให้กับประชาชนต่าง ๆ เช่น เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงาน คนไร้บ้าน คนจนเมือง ผู้สูงวัย เด็กและเยาวชน และอื่น ๆ อย่างไร

การปรับตัวนั้นไม่ใช่ว่าคนยากจน คนเปราะบางจะสามารถทำได้เอง เช่น เกษตรกรที่ผลผลิตต่ำเสียหายต้องการเข้าถึงข้อมูลสภาพภูมิอากาศล่วงหน้าที่เหมาะกับพื้นที่อย่างแม่นยำ ระบบการจัดการน้ำที่ดี จัดการดินให้เหมาะสม มีการพัฒนาพันธุ์พืชที่เหมาะสม มีการปรับแปลงเพาะปลูก จัดการระบบนิเวศเกษตรให้เกื้อกูล มีกองทุนประกันภัยภาวะโลกร้อนและอื่น ๆ ซึ่งเกษตรแต่ละภูมินิเวศก็เผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน ต้องออกแบบอย่างเฉพาะจง

ไม่ต่างจากชาวประมงทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มที่เผชิญภาวะแม่น้ำและทะเลกำลังจะตายทั้งจากโครงการ กิจกรรมการพัฒนา และจากภาวะโลกร้อนที่กระทบนิเวศน้ำอย่างรุนแรง จนทำให้พันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ลดน้อยถอยลง การปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นคงอาหาร ฟื้นฟูนิเวศน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายชุมชนและหน่วยงานรัฐ

มาสู่คนจนเมืองหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนไร้บ้าน ชุมชนแออัด แรงงาน ที่ขาดที่พักอาศัยที่จะหลบอุณหภูมิร้อนจัด และต้องทำงานกลางแจ้ง เผชิญความร้อน ฝุ่นควัน และอาจเจอฝนตกรุนแรง น้ำท่วม โรคระบาด อาหารเน่าเสีย และยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยค่าครองชีพที่แสนแพง ราคาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูง ราคาอาหารที่กำลังสูงตามภาวะโลกเดือด

ด้วยการกระหน่ำซ้ำเติมของภาวะโลกเดือดในโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมที่เหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม การพังทลายทางเศรษฐกิจสังคมของคนฐานรากที่ผลิตอาหาร เป็นแรงงาน จะกลายเป็นคลื่นกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง แล้วระบบช่วยเหลือ ฟื้นฟู ป้องกันในยามฉุกเฉิน และเปลี่ยนผ่านในระยะกลางและระยะยาวของรัฐอยู่ตรงไหนในนโยบายของนรัฐ

สื่อ นักวิชาการ ประชาสังคมต้องทำให้สังคมรู้ว่า โครงสร้างและกลไกสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ตรงไหน นโยบายเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม พลังงาน ทรัพยากร เกษตรของรัฐรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนแค่ไหน อิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่ในการกำหนดนโยบายรัฐเป็นอย่างไร เช่น แผนกำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่กำลังจะจัดรับฟังความคิดเห็นในเดือนหน้า เขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการแลนบริดจ์ ธุรกิจของรัฐและเอกชนด้านก๊าซฟอสซิล และอื่น ๆ ที่ต่างก็เข้ามาอ้างเรื่อง NET ZERO แต่กลับเร่งการเติบโตอุตสาหกรรม เพิ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังใช้ตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิตมาครอบครองผูกขาดทรัพยากรของชุมชน เปลี่ยนผืนป่าและชุมชนให้ทำหน้าที่ผลิตคาร์บอนเครดิตให้กลุ่มทุนเบี่ยงเบนความรับผิดชอบในการลดก๊าซฯ และจับตารัฐที่กำลังผลักดันร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเอาตลาดคาร์บอนมาสนับสนุนผลประโยชน์กลุ่มทุน

หวังว่าฤดูกาลร้อนจัดในประวัติศาสตร์ชาติที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในเวลานี้ จะทำให้สังคมตื่นตัวกดดันรัฐ กลุ่มทุนให้รับผิดชอบช่วยเหลือประชาชน เร่งการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เกื้อกูลนิเวศและมีภูมิคุ้มกันในภาวะโลกร้อน และลดก๊าซเรือนกระจกของตนอย่างตรงไปตรงมา

Scroll to Top