THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

บทวิจารณ์โดย : จอห์น เกรย์ วันที่ 22 กันยายน 2014


โดยรวมแล้วหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับจิตวิทยาการปฏิเสธปัญหาโลกร้อนเท่าๆกับที่เกี่ยวกับตัวปัญหาเอง โดยนาโอมิ ไคลน์ได้ระบุว่า “มันง่ายที่จะปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าลัทธิสตาลินที่ตายยากนั้นกำลังกลับมามีอำนาจพร้อมๆกับลัทธิเสรีนิยมที่ปฏิเสธการมีอยู่ของปัญหาสภาพภูมิอากาศ แทนที่จะปล่อยให้โลกทัศน์ (ด้านสิ่งแวดล้อม) ของเรานั้นแตกสลาย” เนื้อหาของหนังสือส่วนใหญ่แสดงให้เห็นถึงลัทธิขวาจัดที่ทรงอิทธิพลทางการเงินและอำนาจและนักล็อบบี้ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิเสธปัญหาสภาพภูมิอากาศในช่วงที่ผ่านมา ทั้งๆที่เรานั้นเถียงทฤษฎีโลกร้อนที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับไม่ได้เลยว่ากิจกรรมต่างๆของมนุษย์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าหากเราปล่อยให้เหตุการณ์นี้ดำเนินต่อไป โลกที่เราใช้เป็นที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนแปลงไป แม้กระนั้นเรายังมองไม่เห็นความชัดเจนทางฝั่งการเมือง หลายประเทศเริ่มถอยออกจากข้อตกลงทางภูมิอากาศล่าสุด และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้ตกหล่นไปจากนโยบายจนกลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการดำเนินการในทางปฏิบัติ

สำหรับไคลน์แล้ว เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยปราศจากสาเหตุ จากหนังสืออีกเล่มหนึ่งของเธอได้แก่ The Shock Doctrine หรือลัทธิการรักษาโรคด้วยการช็อตไฟฟ้า ซึ่งระบุถึงการเปิดตัวที่ถูกที่ถูกเวลาของหายนะทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นจากนโยบาย “การรักษาโรคด้วยการช็อตไฟฟ้า” แนวเสรีนิยมใหม่ ไคลน์ได้แปลความการลดความสำคัญของปัญหาสภาพภูมิอากาศในนโยบายทางการเมืองของประเทศต่างๆว่าเป็นผลจากการล็อบบี้ของภาคเอกชน กลุ่มทุนเหล่านี้ “เข้าใจถึงความสำคัญที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศดีกว่าพวก ‘warmists’ หรือพวกที่เชื่อว่าหายนะทางสภาวะภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นจริง แต่เห็นว่าต้องแก้ไขปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างไม่กระทบกระเทือนผู้ใด เสียอีก ผู้ที่ปฏิเสธเรื่องหายนะทางสภาวะภูมิอากาศอาจได้รับข้อมูลผิดๆ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องขอบเขตและความลึกของมาตรการในการแก้ปัญหาทางสภาวะภูมิอากาศแล้ว เขาเป็นฝ่ายถูกเกี่ยวกับเรื่องเงิน

สามบทแรกของหนังสืออธิบายรายละเอียดว่าวิกฤติการณ์ทางการเงินและผลพวงของนโยบายทางการเงินแบบรัดเข็มขัด ผนวกกับแนวคิดปฏิเสธเรื่องหายนะทางสภาวะภูมิอากาศที่โหมกระพือโดยกลุ่มทุน เป็นอุปสรรคต่อการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในลักษณะใด และในสามบทสุดท้ายของหนังสือ ไคลน์ได้อธิบายถึงกลุ่มรณรงค์ต่างๆหลากหลายที่เกิดขึ้นเพื่อท้าทายระบอบเสรีนิยมใหม่ ในบทที่สองกล่าวถึงสิ่งที่ไคลน์เรียกว่า “magical thinking” หรือการคิดเชิงปาฏิหาริย์ เหล่านี้ประกอบกันเป็นแก่นสำคัญของหนังสือ

ไคลน์ได้กล่าวถึงเทคนิควิธีการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงระบบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม หนึ่งในแผนการที่ยอดเยี่ยมนั้นได้แก่วิธีการลดความแรงของรังสีจากดวงอาทิตย์โดยการใช้เรือเหาะขึ้นไปพ่นซัลเฟตในบรรยากาศ ซึ่งเป็นการเลียนแบบปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของบรรยากาศลดลงหลังภูเขาไฟระเบิด  อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของเทคโนโลยีขนาดมหึมานี้ก็เห็นได้ชัดเจนดังที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคนไหนๆก็สามารถบอกคุณได้ ว่าเราไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับระบบการทำงานของดาวเคราะห์โลกที่จะเข้าไปขับเคลื่อนมันด้วยตัวของเราเองอย่างปลอดภัย ถึงกระนั้น ไคลน์ก็ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าเราต้องเตรียมพร้อมที่จะนำเอาวิธีการสุดระห่ำนี้มาใช้เมื่อสภาพอากาศตกอยู่ในภาวะวิกฤติจริงๆ

ไคลน์เป็นนักเขียนที่มีไฟและกล้าหาญ ที่นักอ่านทุกคนควรอ่านผลงานของเธอ หนังสือเล่มนี้ทั้งทรงพลังและทันสมัยสำหรับผู้ที่เป็นห่วงเป็นใยในสภาพอากาศโลก  แต่ก็เป็นการยากที่จะปฏิเสธว่าบทสรุปที่เธอย่อมาจากขนาดที่แท้จริงของปัญหานั้นมันเล็กเกินไป เมื่อผมได้อ่านหนังสือ The Shock Doctrine ผมเชื่อว่านักการเมืองและนายทุนเข้าใจว่าผลของความพยายามที่จะโปรโมตระบบทุนนิยมที่นำมาใช้เป็นข้อได้เปรียบอย่างมโหฬารนั้นกำลังจะระเบิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แนวคิดที่ว่ากลุ่มทุนเข้าควบคุมบทบาทของโลกนั้นน่าเชื่อถือน้อยลงทุกที ลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก และถึงกับมีความมั่นคงเป็นอย่างยิ่งในบางประเทศ แต่ก็ก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความเพ้อฝันของตลาดการค้าเสรีโลกถอยให้แก่การเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบปัญหาจากการแก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติระหว่างประเทศมหาอำนาจ โลกกำลังตกอยู่ในอันตราย ไม่ใช่เพราะว่าโลกตกอยู่ภายใต้การควบคุมของประเทศมหาอำนาจ ไม่มีประเทศใดที่แย่งชิงความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลาง ยูเครน หรือทะเลจีนใต้สามารควบคุมหรือทำนายถึงผลลัพธ์ของการกระทำของตนได้ ไม่มีใครเป็นใหญ่จริงๆในความขัดแย้งบนเวทีโลก

อีกปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับการชี้นิ้วไปที่นายทุนเมื่อเกิดปัญหาโลกร้อนได้แก่ความจริงที่ว่ามนุษย์ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมมาก่อนจะมีระบบทุนนิยม ดังที่ไคลน์ได้ให้ความเห็นต่อสิ่งที่เธอเรียกว่า “ลัทธิเกาะกิน” หรือโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ถือว่าโลกเป็นเพียงแหล่งทรัพยากรที่รอการขุดขึ้นมาใช้ กิจกรรมของมนุษย์นั้นได้เริ่มเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นศตวรรษแล้ว  “เราเริ่มใช้บรรยากาศโลกเป็นเสมือนที่ทิ้งขยะตอนที่เราเริ่มใช้ถ่านหินในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในยุค 1700 และได้ทำลายระบบนิเวศน์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าไคลน์ไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงเอาไว้ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องระลึกไว้เสมอว่าลัทธิเกาะกินนั้นถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตและจีนในช่วงสงครามเย็น โดยในช่วงนั้นเราจะเห็นว่าเกิดหายนะด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง

ไคลน์และนักสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายคนไม่พูดถึงภาวะประชากรล้นโลก แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจำนวนประชากรมนุษย์ที่ล้นหลามนั้นสร้างแรงกดดันต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก เศรษฐกิจแบบลัทธิเกาะกินนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มทำเกษตรกรรม เพื่อตอบสนองจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แม้แต่ในยุคก่อนการขยายตัวของไร่นา นักเก็บของป่าล่าสัตว์ก็ได้กระจายถิ่นที่อยู่ไปจนทั่ว ทำให้สัตว์บางชนิดสูญพันธ์ ถึงแม้ว่าการเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนประชากรนั้นได้ถดถอยลงในบางประเทศ แต่ยังมีคนจำนวนถึง 8-9 พันล้านคนบนโลกใบนี้ ซึ่งจะยิ่งสร้างความกดดันต่อแหล่งทรัพยากรในช่วงชีวิตของพวกเรา

ถึงแม้ว่าไคลน์ได้ระบุว่าลัทธิทุนนิยมที่กำลังเบ่งบานอยู่ในปัจจุบันคือต้นเหตุของวิกฤติการณ์ทางสภาพภูมิอากาศ แต่เธอก็ไม่ได้กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือก แต่มุ่งเน้นที่ภาวะความยากลำบากที่ชุมชนท้องถิ่นต่างๆกำลังประสบจากปัญหาโลกร้อนและระดับทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังหมดไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ถ้ามองสิ่งแวดล้อมในระดับทั่วทั้งหมดในโลกที่ความขาดแคลนทรัพยากรเป็นปัญหาที่รุนแรงนั้น การให้ความสำคัญแก่ความต้องการในระดับท้องถิ่นนั้นไม่ก่อให้เกิดความร่วมมือกันในภาคส่วนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นคองโกในช่วงปี 1960 หรืออิรักในยุคปัจจุบัน ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์เหนือแหล่งทรัพยากรระหว่างประเทศมหาอำนาจได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสงครามขึ้นในพื้นที่

โดยสรุปแล้ว หนังสือ This Changes Everything ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าวิกฤติการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศว่าเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างทุนนิยมและดาวเคราะห์โลก ซึ่งอาจไม่ถูกต้องตรงตัวนัก ไคลน์ควรกล่าวถึงวิกฤติการณ์ว่าเป็นการปะทะกันระหว่างอุปสงค์ของมนุษยชาติและโลกในบริบทที่มีขอบเขตจำกัด อย่างไรก็ดี ไม่ว่าความขัดแย้งนี้จะเกิดจากอะไรก็ตาม ใครคือผู้ชนะนั้นชัดเจนมาก โลกนั้นเก่าแก่และแข็งแกร่งกว่ามนุษย์มาก ถึงแม้จะพ่นกรดซัลฟุริกในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ก็ไม่สามารถทำอันตรายโลกไปได้นานนัก ในคณะที่ภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง โลกเองก็ได้พยายามปรับตัวเข้าหาสมดุลอยู่เช่นกัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะดำเนินต่อไปเป็นศตวรรษหรือสหัสวรรษแล้วแต่ลักษณะของปัญหา แทนที่เราจะปฏิเสธการมีอยู่ของความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้นี้ เราควรคิดหาวิธีที่จะอยู่กับมัน

ที่มา : Guardian News & Media Limited


Social Share