THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share



ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อประเทศไทย

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นพร้อมกันแล้วทั่วโลก  ทั่วทุกภูมิภาค ทั่วทุกประเทศ ประเทศไทยก็เช่นกัน… จากรายงานและผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายๆ ฉบับ เราสามารถสรุปผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ ดังนี้ 

ในภาพรวมผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นแล้ว

– ภายใน 30-50 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคนี้คือ ร้อนขึ้น ฝนหนักขึ้นในหน้าฝน และแล้งมากขึ้นในหน้าแล้ง น้ำท่วมฝนแล้งรุนแรงขึ้น และผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง (เข้ามาในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ)

– ผลกระทบจากเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา เป็นภัยคุกคามมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงแล้วในตอนนี้ ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การแพร่พันธุ์และอพยพของปลา ฯลฯ .. ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยภาวะโลกร้อน

– ประเทศไทย เป็น 1/20 ประเทศที่ระบุว่าคนจนจะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด

– เมื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการปรับตัว สำหรับทวีปเอเชีย เฉพาะจากความเสียหายต่อภาคเกษตรและชายฝั่งภายใน 2020 หรืออีก ไม่ถึง 7 ปี จะสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จำนวนเงินเหล่านี้ เป็นเฉพาะมูลค่าที่ประเมินได้ทางการเงินเท่านั้นและยังไม่รวมถึงความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ เช่น วัฒนธรรมชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพ และที่สำคัญที่สุดการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นมีขีดจำกัด หาเพิ่มด้านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งผลกระทบชองภาวะโลกร้อนต่อประเทศไทยตามผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ได้แก่ ความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม

ผลกระทบจากความร้อน

– จำนวนวันที่มีอากาศร้อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค หมายความว่าตั้งแต่นี้ไปอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า เราจะมีวันที่อากาศร้อน (อุณหภูมิมากกว่า 35 C) เกือบครึ่งหนึ่งของปี (47%) เช่น จากเดิมในช่วงปี พ.ศ.2513-2532 ไทยเคยมีวันที่อากาศร้อน (อุณหภูมิมากกว่า 35 C) ประมาณ 38% โดยเฉลี่ยต่อปี ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 47% (171 วันใน 1 ปี) ในช่วงปี พ.ศ.2553-2582 และจำนวนวันที่มีอากาศเย็น มีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน (วันที่มีอุณหภูมิต่ำว่า 15 องศาเซลเซียส) <- หน้าหนาวหายไป

– ความร้อนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้คนทำงาน แรงงาน ทำงานในสภาพการทำงานที่ลำบากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานคนจน ในโรงงาน เกษตรกร/ภาคเกษตร

– รายงานสถิติอัตราการเสียชีวิตของไทยเพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับเมื่ออากาศร้อนขึ้น

– ประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะลดลงประมาณ 16% เนื่องจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึ่งนำไปสู่การขาดงานเนื่องจากความเหนื่อยอ่อน คลื่นเหียน อาเจียน และในกรณีรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานสูงที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย คือ 25% และ 24% ตามลำดับ ในขณะที่อินโดนีเซียลดลง 21% กัมพูชาและฟิลิปปินส์ 16% และไทยและเวียดนามลดลง 12%

– เมืองในไทยติดอันดับ 50 เมืองที่มีความเสี่ยงที่สูงสุด 

– เวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย จะต้องเจอกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น 4-6 องศสเซลเซียส ภายในปี 2593

ผลกระทบจากภัยแล้ง 

– จำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ยรายปีลดน้อยลงในทุกภาค

– ภาวะน้ำแล้ง ทำให้เราเห็นการแย่งชิงน้ำ ระหว่าง เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประสบการณ์ น้ำท่วมปี 54 เป็นตัวอย่าง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรม จะมากแค่ไหน

– อยู่แบบพอเพียง ไม่เพียงพออีกต่อไป ดังเช่น กรณีศึกษา: ความมั่นคงทางอาหารของประเทศปาปัวนิวกินี (ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับไทย เนื่องจากอยู่ติดกับประเทศอินโดนีเซีย) แม้ประเทศนี้จะพึ่งตัวเองด้านอาหาร 83% แต่เมื่อเกิดภัยแล้งจากเอลนิญโญ่ทำให้แทบทั้งประเทศไม่สามารถทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารได้ โดย Dr. Simon Bradshaw ที่ปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำ Oxfam ออสเตรเลีย กล่าวว่า หลายพื้นที่ของปาปัวนิวกินีจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหารภายในสองถึงสามเดือน แต่ในบางพื้นที่อาจมีอาหารเพียงพอแค่สำหรับหนึ่งเดือน และมีทางนำอาหารเข้าไปเพิ่มในพื้นที่น้อยมาก” (เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขา)

ผลกระทบจากน้ำท่วม  

– แม้ว่าจำนวนวันที่ฝนตกในแต่ละปีมีจำนวนลดลง แต่ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีจะเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าฝนจะตกหนักขึ้นแต่จำนวนวันที่ฝนตกจะลดลง ซึ่งทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราพร้อมรับน้ำท่วมฉับพลันหรือไม่?

– อุณหภูมิบนพื้นผิวน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลมมรสุมมีกำลังรุนแรงเพิ่มขึ้น (ความเร็วลมและความสูงของคลื่นเพิ่มขึ้น) เกิดพายุรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ จึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพายุรุนแรงฝั่งอ่าวไทยได้

– กรุงเทพฯ อยู่ในโซนเสี่ยงต่อ ระดับน้ำทะเลหนุนสูง (Sea Level Rise) ทั้งยังซ้ำเติมด้วยปัญหาดินทรุดที่มีอยู่แล้วจากการสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก

– ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างซึ่งมีประชากรกว่า 100 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว และในบางพื้นที่อาจมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นถึง 20% (เสี่ยงเจอน้ำท่วมและน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น) ส่งผลให้ผลผลิตจากข้าวและพืชอื่นๆ ซึ่งเป็นอาหารหลักของภูมิภาคลดลง คาดว่าจำนวนเด็กขาดสารอาหารในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะเพิ่มขึ้นเป็น 9-11 ล้านคน ภายในปี 2050

– ผลกระทบจากการระดับน้ำทะเลที่เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจนในประเทศไทย เช่น ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในพื้นที่ชายฝั่งบ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จากการที่ที่ดินทำกินถูกพัดหายไปในทะเลอย่างต่อเนื่อง

– องค์การสหประชาชาติคาดว่าภายในปีพ.ศ. 2593 ประชากรโลกมากกว่า 6 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง กว่าครึ่งหนึ่งของเมืองใหญ่ๆ ในโลกนี้คือเมืองท่า เมืองท่ากว่า 130 แห่งทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นน้ำท่วมฉับพลันจากพายุ ลมพายุรุนแรง อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ตลอดจนปัญหาดินทรุด และกรุงเทพฯ ติดอันดับ 10 ของเมืองชายฝั่งทั่วโลกที่เสี่ยงที่สุด โดยประเมิณระดับความเสี่ยงของกรุงเทพฯ ว่าจะมีมูลค่าทรัพย์สินที่ตกอยู่ในความเสี่ยง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปีพ.ศ.2613 จะมีมูลค่าทรัพย์สินที่ตกอยู่ในความเสี่ยงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ


Social Share