THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share



แผนที่ผลกระทบโลกร้อนทั่วโลก

เอเชีย

1. ไฟไหม้ป่าพรุ อินโดนีเซีย (กาลิมันตันและสุมาตรา)

ปี 2558 ปรากฎการณ์เอลนินโญ่ที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ไฟไหม้ป่าพรุอินโดนีเซียที่เริ่มขึ้นราวเดือนสิงหาคมมีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ภายใน 2 เดือนแรก ไฟป่าที่อินโดนีเซียปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วเท่ากับที่ประเทศเยอรมันนีปล่อยทั้งปี

หมอกควันจากไฟป่าส่งผลกระทบไกลไปถึงภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ภายในเดือนตุลาคม 2558 คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบทุกประเทศรวมกันแล้วถึง 40 ล้านคน มีรายงานชาวอินโดนีเซียต้องไปหาหมอเนื่องจากหมอกควันดังกล่าวแล้วถึง 500,000 ราย และสถิติผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจตอนบนจากหมอกควันในอินโดนีเซีย สูงเกิน 75,000 รายแล้ว

วิกฤตไฟป่าในครั้งนี้จะยาวนานไปถึงต้นปี 2559 เนื่องจากไฟป่าที่เกิดขึ้นในป่าพรุเป็นไฟไหม้อยู่ใต้ดิน ต้องการฝนและน้ำท่วมในการดับ แต่ปรากฎการณ์เอลนินโญ่ทำให้ฝนแล้งต่อเนื่อง ทำให้ดับไฟได้ยากขึ้น

2. ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน – ฟิลิปปินส์

ปี 2557 พายุไห่เยี่ยนขึ้นฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยความรุนแรงที่ทำลายสถิติพายุหมุนเขตร้อนชนิดขึ้นฝั่งทุกลูก เท่าที่มีการบันทึกตัวเลขมา

ยอดผู้เสียชีวิตจากมหาพายุไห่เยี่ยนล่าสุดอยู่ที่ 6,340 ราย สูญหาย 1,061  ราย ทรัพย์สินเสียหาย 2,860 ล้านเหรียญ และทำให้ประชากรนับล้านไม่มีที่อยู่อาศัย

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่อยู่ในเขตไต้ฝุ่นอยู่แล้ว แต่ภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้น ส่งผลโดยตรง ทำให้พายุรุนแรงสูง (super storm) เช่นไห่เยี่ยนเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

3. ไซโคลนนาร์กิส – พม่า/ บังคลาเทศ

ฤดูร้อน 2551 ไซโคลนนาร์กิสก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอลและขึ้นฝั่งที่ประเทศเมียนมาร์ใกล้กับบังคลาเทศ ด้วยความเร็วลมกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดการณ์ว่ามีประชาชน ได้รับความเดือดร้อนรุนแรงถึง 1.5 ล้านคน ยืนยันว่าเสียชีวิต 84,537 คน และสูญหาย 53,836 คน และสร้างความเสียหายถึง 10,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

4. ภัยแล้งกับอาหาร – ปาปัวนิวกินี

พ.ศ. 2558 จากวิกฤตภัยแล้ง ทำให้ชาวปาปัวนิวกินีตายไปแล้ว 24 คน จากขาดอาหารและน้ำดื่มสะอาด

คาดว่าวิกฤต เอลนิญโญ่ (ภัยแล้ง) ในช่วงปี-สองปีนี้ จะรุนแรงถึงขึ้นทำให้ประชากรกว่า 4 ล้านคนในเขตแปซิฟิกเสี่ยงต่อการขาดอาหารและน้ำ ซึ่งสถานการณ์อาจเลวร้ายเท่าภัยแล้งปี 2540-41 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 23,000 คนทั่วโลก

แม้ปาปัวนิวกินีจะผลิตอาหารเองได้ถึง 83% ของที่บริโภคในประเทศ แต่ขณะเดียวกันภัยแล้งจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชาวปาปัวฯ อย่างมากเพราะประชากรส่วนใหญ่ทำการเกษตรเพื่อยังชีพเป็นหลัก

ยุโรป

5. คลื่นความเย็นคุกคามยุโรป – ยูเครน

                พ.ศ.2555 คลื่นความเย็นเฉียบพลันพาดผ่านทวีปยุโรปส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเกิดอาการช็อคจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยอุณหภูมิลดลงต่ำที่สุดถึง -23 องศาเซลเซียส ประเทศยูเครนมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 112 คน และอีกหลายร้อยคนบาดเจ็บเนื่องจากเนื้อเยื้อถูกทำลายเพราะความเย็น เจ้าหน้าที่จึงต้องเปิดสถานสงเคราะห์กว่า 1,500 แห่ง เพื่อแจกจ่ายอาหารและให้ผู้คนมาพักเพื่อหลบอากาศหนาว และยังมีผู้คนกว่า 17,000 ที่ร้องขอความช่วยเหลือจากสถานสงเคราะห์

แอฟริกา

6. ภัยแล้งและการขาดแคลนอาหารในแอฟริกาตะวันออก (เอธิโอเปีย เคนย่า จิบูติ และโซมาเลีย)

                พ.ศ.2554 แอฟริกาตะวันออกแระสบกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 10 ล้านคน โดยภัยแล้งส่งผลกระทบโดยตรงกับพืชผลทางการเกษตร เกิดการขาดแคลนอาหารเป็นวงกว้าง ประชาชนเกือบ 400,000 คนต้องอพยพไปยังค่ายผู้ลี้ภัยดาดับในประเทศเคนย่า ซึ่งสามารถรองรับผู้ลี้ภัยได้เพียง 90,000 คน

อเมริกาเหนือ

7. ภัยแล้งในแคลิฟอร์เนีย แล้งสุดในรอบ 1,200 ปี

                ปี 2558 เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากหิมะที่ปกคลุมยอดเขาเซียราเนวาดา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้ำที่สำคัญของรัฐนี้ มีปริมาณต่ำกว่าปกติต่อเนื่องนานถึง 4 ปีติดต่อกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำผิวดินลดลง เชื่อกันว่าเป็นภาวะแล้งที่สุดในรอบ 1,200 ปี

โดยนาซ่าเชื่อว่า แคลิฟอร์เนียเหลือน้ำใช้อีกไม่ถึงปีเท่านั้น แน่นอนว่าภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประมาณความเสียหายถึง 45,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

อเมริกาใต้

8. บราซิลแล้งที่สุดใน 84 ปี

                ช่วงมกราคม 2558 บราซิลประสบภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ โดยปริมาณน้ำที่เก็บสำรองของเขื่อนใหญ่ในกรุงรีโอเดจาเนโรแห้งขอดลงจนเหลือระดับ 0 เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนแห่งนี้มา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อวิถีชิวิตของประชาชนแล้ว ยังส่งผลอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

อาร์คติค – ขั้วโลกเหนือ

9. อาร์กติก – น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายเร็วจนน่ากลัว

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกในฤดูหนาวทุบสถิตืใหม่เหลือน้อยเป็นประวัติการณ์ คือเหลือเพียงแค่ 14.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าสถิติต่ำสุดเมื่อ 4 ปีก่อนถึง 130,000 ตร.กม. – เทียบได้กับพื้นที่ประเทศกรีซทั้งประเทศ หรือกว่า 80 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯมหานคร

ภายในช่วงเวลา 35 ปีที่ผ่านมา ปริมาตรน้ำแข็งขั้วโลกเหนือลดลงไปแล้วถึง 80% ซึ่งประมาณว่าภายในอีก 15 ปีข้างหน้า (ปี 2573) ฤดูร้อนของอาร์กติกอาจไม่มีน้ำแข็งในทะเลเหลืออยู่เลย

การละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนืออย่างรวดเร็วเช่นนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผนวกกับความผันผวนของสภาพอากาศ

การที่น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกเหลือน้อยลงส่งผลต่อสัตว์ขั้วโลกโดยตรง

ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา วอลรัส หรือสิงห์โตทะเลเริ่มอพยพมาเกยตื้นที่ชายฝั่งอลาสกามากขึ้น เนื่องน้ำแข็งในทะเลซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่และหาอาหารมีปริมาณลดลงมาก ในปี 2557 รายงานว่าวอลรัสเกยตื้นชายฝั่งอลาสกาถึง 40,000 ตัว และในปี 2558 ปรากฎการณ์นี้ก็กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง

10. น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลาย

ระหว่างปีพ.ศ. 2540-2553 อุณหภูมิเฉลี่ยทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติคเพิ่มขึ้นแล้ว 1 องศาเซลเซียส และช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2555-2558 นี้ ธารน้ำแข็ง Zachariae ละลายไปแล้วถึงปีละ 125 เมตร เท่ากับ 3 เท่าของอัตราการละลายในปี 2543

เนื่องจากอุณหภูมิของทั้งน้ำและอากาศที่สูงขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้ธารน้ำแข็งละลายลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อรวมกับธารน้ำแข็ง Nioghavfjerdsfjorden ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในกรีนแลนด์ ถ้าธารน้ำแข็งทั้งสองแห่ง (12% ของแผ่นน้ำแข็งทั้งหมดของประเทศ) ละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรโลก 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ห่างจากทะเลไม่เกิน 60 กิโลเมตร

แอนตาร์ติค ขั้วโลกใต้

11. ขั้วโลกใต้น้ำแข็งละลายหนักมาก

หลังจาก พ.ศ.2551เป็นต้นมา ขั้วโลกใต้สูญเสียน้ำแข็งถึง 5.6 หมื่นล้านตันต่อปี พื้นผิวน้ำแข็งบริเวณตอนใต้ของแหลมแอนตาร์คติคบางลงอย่างเห็นได้ชัด ในบางพื้นที่ลดลงถึง 4 เมตร ปริมาณน้ำแข็งที่สูญเสียไปในแต่ละปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเกือบเท่ากับปริมาณการใช้น้ำของประเทศไทยทั้งประเทศ


Social Share