THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share


เขียนโดย Larry Lohmann แห่ง The Corner House
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์



บทนำ

การรณรงค์เรื่องโลกร้อนและเรื่องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานถ่านหินนั้นก่อให้เกิดคำถามใหม่ขึ้นว่าเราจะผลิตและแจกจ่ายพลังงานอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร? หรือเราจะเปลี่ยนแปลงการบริโภคพลังงานจากพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไร?

แต่สิ่งหนึ่งที่มักถูกละเว้นไม่พูดถึงได้แก่คำถามที่ว่าพลังงานนั้นไม่ยุติธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยในตัวของมันเองหรือไม่? และพลังงานนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในตัวของมันเองหรือไม่? ถ้าพลังงานตามความหมายที่เราเข้าใจกันนั้นมีส่วนร่วมในการทำลายสิ่งแวดล้อมในยุคล่าอาณานิคม เราคงไม่มีเหตุผลที่จะพูดถึงพลังงานราวกับว่าเป็นสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทุกคนต้องการมีสิทธิที่จะใช้ หรือเป็นสิ่งที่สักวันหนึ่งเราสามารถที่จะนำมาใช้โดยไม่มีผลกระทบด้านลบและแจกจ่ายแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

แทนที่เราจะนำเอาทฤษฎีและข้อปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 มาใช้อย่างมืดบอด เราจะต้องทบทวนอย่างระมัดระวังและตั้งข้อสังเกตจากมุมมองของนักสิทธิสตรี นักต่อต้านการแบ่งแยกเชื้อชาติ และนักต่อต้านลัทธิอาณานิคม เพราะการรณรงค์ด้านพลังงานไม่ควรอยู่ในขอบเขตของการต่อสู้เพื่อการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน การขุดเจาะและผลิตถ่านหิน น้ำมัน กาซธรรมชาติ และยูเรเนียมอย่างเป็นธรรม การควบคุมการใช้ประโยชน์จากพลังงานอย่างเป็นประชาธิปไตย หรือการผลิตพลังงานที่ยั่งยืนแต่เพียงด้านเดียว ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ขัดแย้งกันเอง เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศในโลกที่สามหรือแรงงานทุนนิยม พลังงานตามความหมายที่เราเข้าใจกันตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่ง แต่เป็นกระบวนการของลัทธิล่าอาณานิคมที่จัดระเบียบมนุษย์และพื้นที่รกร้างเสียใหม่ในรูปแบบของการสะสมทุน

ความอยุติธรรมในกระบวนการนั้นไม่ใช่ข้อผิดพลาด แต่เป็นส่วนหนึ่งของตัวมันเอง ในแง่หนึ่งนั้น มันคือหัวใจหลักในเรื่องพลังงาน เราไม่สามารถขจัดความอยุติธรรมได้โดยไม่ปราบอำนาจที่ควบคุมพลังงานอยู่ ความอยุติธรรมเป็นสิ่งที่ตามมาจากการเก็บสะสมที่จำเป็นต้องทำในการผลิตพลังงานต้นทุนต่ำ ในขณะที่โยนของเสียจากการผลิตไปให้ผู้อื่นโดยใช้ระบบมาเฟีย ลัทธิอาณานิคม ลัทธิอารยัน และความเสื่อมสลายของระบบนิเวศน์ เข้ามาบังคับ เมื่อกล่าวถึงความอยุติธรรมเหล่านี้ เราต้องพิจารณาจากมุมมองที่กว้างขึ้น ดังเช่นการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาประเทศและแรงงานทุนนิยม

การตั้งชื่อที่ผิดพลาด
ตลกร้ายก็คือกลศาสตร์ความร้อนแห่งศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ทำให้พลังงานครองโลกในทุกวันนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจพลังงานจากมุมมองทางการเมืองได้มากขึ้น

ทุกวันนี้ กลุ่มทุนอุตสาหกรรมมักกล่าวว่าพลังงานคือสสารที่ต้องมีการเติมใหม่อยู่เสมอเพราะมีแต่จะหมดลงไปทุกวันๆ ดังนั้น การออกล่าแหล่งน้ำมันหรือที่ดินสำหรับสร้างเขื่อน ทุ่งพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นการกระทำเพื่อสังคม นักเศรษฐศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม นักสังคมสงเคราะห์ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และผู้ต่อต้านระบบทุนนิยมส่วนมากมักยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวอ้างซ้ำๆโดยไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดความเป็นธรรมด้านพลังงานขึ้น เพื่อให้เกิดการแบ่งปันสิ่งที่สามารถวัดปริมาณได้อย่างเท่าเทียมกัน


แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง สิ่งที่ทุนนิยมอุตสาหกรรมต้องการไม่ใช่พลังงาน เนื่องจากพลังงานอยู่รอบตัวเราอยู่ตลอดเวลาในทะเลสาบที่เงียบสงบ ในเมฆทุกก้อน และในหินทุกกอง ซึ่งไม่เคยถูกนำออกมาใช้ ไม่มีวันหมด และไม่ต้องสรรหา พลังงานนั้นไม่มีวันหมด เพียงแต่ต้องแปรสภาพไปเรื่อยๆ
.
ดังนั้นในขณะที่ถ่านหินกำลังลุกไหม้และก่อให้เกิดเถ้าและคาร์บอนไดออกไซด์นั้น พลังงานมิได้สูญหายไป บางส่วนเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานความร้อน และความร้อนยังสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานกลหรือไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้นอีก

โดยนัยเดียวกัน เมื่ออนุภาคโฟตอนจากแสงอาทิตย์ตกกระทบผิวโลก พลังงานของมันไม่ได้สูญหาย แต่สะท้อนกลับไปยังบรรยากาศในรูปของความร้อนที่ปลดปล่อยจากอนุภาคที่เย็นลง ถึงแม้ว่าในยุคหลังๆมานี้ความร้อนดังกล่าวจะไม่สะท้อนกลับไปยังบรรยากาศ แต่ถูกเก็บกักไว้กับผิวโลก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

สรุปว่าถ้าพลังงานเป็นสิ่งเดียวที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมต้องการจากถ่านหินและฟาร์มชีวมวล มันก็คงจะไม่เกิดปัญหาการแก่งแย่งทรัพยากร เพราะมีพลังงานอยู่ในทุกที่ และเราคงไม่ต้องตามหาแหล่งพลังงานเพื่อนำออกมาใช้

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือสิ่งที่นายทุนต้องการ ถ้าไม่ใช่พลังงาน?
นายทุนอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยนำเอาเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคน เพื่อเพิ่มผลผลิตและควบคุมการทำงานของมนุษย์ ลดค่าแรง เร่งผลงาน และบริหารจัดการสต็อก จากมุมมองของทุนนิยมนั้น เครื่องตอกบัตรเข้างาน เซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรสำหรับเคลื่อนย้ายสินค้า และกังหันไฟฟ้าพลังน้ำนั้นมีไว้สำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทว่าเครื่องจักรเหล่านี้ไม่มีตัวไหนเลยที่ดูดกลืนพลังงาน มันแค่เปลี่ยนรูปพลังงานจากรูปหนึ่งไปอีกรูปหนึ่ง

ในเครื่องจักรพลังงานไอน้ำ ความร้อนเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานกล ในแบตเตอรี่ ปฏิกิริยาเคมีก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าและในทางกลับกัน กระแสไฟฟ้าก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมี ในใบพัดและกังหันลม พลังงานกลเปลี่ยนรูปเป็นกระแสไฟฟ้า ในมอเตอร์ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานกล ในฟาร์มโซลาร์เซลล์ แสงอาทิตย์เปลี่ยนรูปเป็นความร้อนหรือกระแสไฟฟ้า ในหลอดไฟส่องสว่างและคอมพิวเตอร์พกพา ไฟฟ้าเปลี่ยนรูปเป็นความร้อนและแสงสว่าง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อแรงงานยังคงอุทิศชีวิตให้แก่ทุนนิยมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เป้าหมายในการการสงวนพลังงานให้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุนนิยมอุตสาหกรรมและทุนนิยมดิจิทัลทุกรูปแบบ

ความเป็นไปได้ของการแปรสภาพดังกล่าวได้รับการยืนยันไว้ในกฎข้อแรกของกลศาสตร์ความร้อน โดยกฎข้อแรกนี้เป็นหนึ่งใน “เอกสารแห่งความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์” ที่วอลเตอร์ เบนจามิน กล่าวถึงในส่วนอ้างอิงของหนังสือ และก็เป็น “เอกสารแห่งความป่าเถื่อน” ด้วยเช่นกัน โดยแสดงให้เห็นถึงลำดับสูงต่ำของพื้นที่หนึ่งๆ ด้วยลำดับเช่นนี้ พลังงานเล็กๆน้อยๆในสรรพสิ่งทั่วไป เช่นฟืนที่เก็บมาจากป่า น้ำมันที่ฝังตัวอยู่ใต้ดิน แม่น้ำที่ไม่มีเขื่อน ถูกมองว่าเป็นเรื่องรอง เมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานหลักแห่งศตวรรษที่ 19
.
จากกฎข้อแรกของกลศาสตร์ความร้อนนั้น กระบวนการแปรสภาพของพลังงานจะเกิดการสูญเสียพลังงานไปส่วนหนึ่งอย่างไม่สามารถนำกลับมาได้ ซาดี้ คาร์โน นักกลศาสตร์ความร้อนคนแรกเรียกการสุญเสียนี้ว่า “ตก” โดยนำไปเทียบกับน้ำตก เมื่อคุณเปิดประตูน้ำให้น้ำตกลงมาบนกังหันน้ำและหมุนกังหัน เราไม่สามารถนำน้ำกลับขึ้นไปบนยอดน้ำตกเพื่อทำกระบวนการเดิมซ้ำได้อีกถ้าไม่ใช้พลังงานในปริมาณที่มากกว่าเข้าช่วย
.
โดยนัยเดียวกัน เมื่อเราเผาถ่านหิน เราไม่สามารถนำถ่านหินกับมาใช้ใหม่ได้ถ้าไม่ใช้พลังงานที่มากกว่าการเผาในการนำถ่านหินกลับมา ในการเปลี่ยนรูปทุกครั้ง พลังงานส่วนหนึ่งจะสูญไปเมื่ออนุภาคของพลังงานในสถานะใหม่มีขนาดเล็กลง นี่คือกฎข้อที่สองของกลศาสตร์ความร้อน หรือเรียกว่าการเพิ่มขึ้นของเอนโทรปี้
.
สิ่งที่นายทุนต้องการสำหรับเครื่องจักรของตนไม่ใช่พลังงาน แต่เป็นการ “ตก” ในธรรมชาติ หรือความแตกต่างระหว่างเอนโทรปี้ต่ำกับเอนโทรปี้สูง ระดับที่แตกต่างกันระหว่างความร้อนและความเย็นในเครื่องทำความร้อน ระดับที่แตกต่างกันระหว่างแรงยึดเหนี่ยวอิเลคตรอนในพันธะโมเลกุลกับความร้อนที่เกิดขึ้นในปฏิกิริยาเคมี ระดับที่แตกต่างกันระหว่างรังสีความร้อนคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ที่อุณหภูมิ 5,760 องศาเคลวินกับรังสีความร้อนคลื่นยาวที่สะท้อนจากผิวโลกที่อุณหภูมิ 255 องศาเคลวินสู่อวกาศที่อุณหภูมิ 2.7 องศาเคลวิน และอื่นๆ เมื่อนายทุนเผาน้ำมัน เก็บรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ หรือเก็บเกี่ยวพลังงานจากฟาร์มพลังงานชีวมวล มันไม่ได้เป็นการใช้พลังงานให้หมดไป แต่เป็นการเปิดประตูพลังงานให้ไหลลงมาตามทางลาดและค่อยๆกัดเซาะทางลาดเดียวกันนั้นให้หมดไปในระหว่างกระบวนการ
.
โดยธรรมชาติแล้ว ลำดับและรูปแบบของการเปิดประตูนั้นจะต้องเหมาะสมกับการทำงานของเครื่องจักร มันคงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะสร้างประตูน้ำถ้าเราไม่เปิดปิดประตูในเวลาที่เหมาะสม คงไม่มีประโยชน์ที่จะซื้อถ่านหินจำนวนมากถ้าเราไม่สามารถใส่ความร้อนและออกซิเจนและระบายคาร์บอนไดออกไซด์ในจังหวะเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ยิ่งนายทุนเปลี่ยนรูปพลังงานมากเท่าใด เอนโทรปี้ในระบบก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้าระบบเป็นระบบปิด เอนโทรปี้ต่างๆจะเป็นอุปสรรคขัดขวางกันเอง ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่าสมดุลเอนโทรปี้ที่ก่อให้เกิดขีดจำกัดต่อแรงของเครื่องจักร ลำดับสูงต่ำของพื้นที่ของเครื่องจักรแปรรสภาพพลังงานตามกฎข้อที่หนึ่งของกลศาสตร์ความร้อนทำให้ “การสูญเสีย” ในกฎข้อที่สองเพิ่มสูงขึ้น นี้คือความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ที่ได้จากพลังงานและสิ่งที่ต้องสูญเสียไป ที่เกิดขึ้นจากลำดับสูงต่ำของพื้นที่


.
ภาพประกอบจาก EK0energy.org

อ้างอิง http://www.thecornerhouse.org.uk/sites/thecornerhouse.org.uk/files/ENGLISH%20VERSION%20OF%20HEAT%2C%20TIME%20AND%20COLONIALISM.pdf
.


Social Share