THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย David Knowles
วันที่ 24 มิถุนายน 2564
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์


รายงานโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสหประชาชาติ (IPCC) บ่งชี้ว่ามนุษย์จะประสบกับหายนะในอนาคตอันใกล้หากเรายังไม่ลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร่งด่วนที่สุด งานวิจัยอื่นบางงานถึงกับระบุว่าโลกได้ก้าวผ่านจุดที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนไปแล้ว และเสนอแนวคิดว่าสรรพชีวิตในโลกนี้จะสามารถอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ด้วยวิธีการกลายพันธ์ และสร้างระบบนิเวศน์แบบใหม่ขึ้นมา แต่นั่นไม่รวมถึงมนุษย์

จุดแตกหักดังกล่าวรวมไปถึงการละลายของชั้นดินเยือกแข็งและปล่อยก๊าซมีเธนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกเลวร้ายขึ้น และการละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ก็ทำให้รังสีอุลตร้าไวโอเล็ตส่องทะลุบรรยากาศลงมาถึงผิวโลกได้มากขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นไปอีก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลในบรรยากาศต้องใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะสลายตัว ดังนั้นเราจึงยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ เพราะระบบภูมิอากาศโลกจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวมันเองเข้ากับระดับก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นไปอีก ดังนั้นมาตรการต่างๆที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะไม่เพียงพอสำหรับปัญหาในอนาคต

ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา โลกร้อนขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส รายงานของ IPCC ในปี 2018 เตือนว่าโลกจะประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมส่วนมากเชื่อว่าโลกไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันการณ์เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน เพราะการแก้ปัญหาที่ได้ผลได้นั้น มนุษย์จะต้องปรับตัวอย่างรุนแรงมาแล้วอย่างน้อยสิบปี และต้นทุนของการปรับตัวดังกล่าวนั้นสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่ทรัพยากรขาดแคลน ยกตัวอย่างเช่น จะต้องใช้ทุนสำหรับอาฟริกาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะโลกร้อนเป็นจำนวนเงินถึงหมื่นๆล้านดอลล่าร์สหรัฐฯถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส

จุดแตกหักอีกจุดหนึ่งได้แก่การตัดไม้ทำลายป่าอเมซอน ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งดูดซับคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ป่าเขตร้อนชื้นนี้อาจกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าซาวันน่าห์ในเร็ววัน

นอกจากนี้ รายงานยังได้ระบุอีกว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและพายุไซโคลนกำลังรุกรานพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วโลก ทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและไฟป่าทั่วโลกจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นทุกวัน ทำให้ชีวิตลูกหลานของเราในอนาคตจะประสบกับความยากลำบากอย่างยิ่ง และโอกาสในการแก้ไขปัญหากำลังจะหมดลง เพราะการแก้ปัญหานั้น เราจะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการ พฤติกรรม และการบริโภคในชีวิตประจำวันทั้งหมดตั้งแต่ระดับปัจเจก ชุมชน ธุรกิจ องค์กร และรัฐบาล ซึ่งสามารถประสบความสำเร็จได้ยากเป็นอย่างยิ่ง


ภาพโดย Image of the Day
อ้างอิง https://news.yahoo.com/climate-change-tipping-points-are-upon-us-draft-un-report-warns-the-worst-is-yet-to-come-185803244.html


Social Share