THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Akshat Rathi
วันที่ 18 สิงหาคม 2563
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์


เมื่อเร็วๆนี้ มีกลุ่มของนักเศรษฐศาสตร์ นักนิเวศวิทยา และนักมานุษยวิทยาได้รวมตัวกันเพื่อหาจุดร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้มนุษย์มีความสุขขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น และลดช่องว่างระหว่างชนชั้นลงด้วย กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “Degrowth” หรือแปลว่า การรณรงค์เพื่อชะลอการเติบโต ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้โลกทบทวนระบบการวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ GDP เนื่องจากเราคงเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่า GDP จะเติบโตขึ้น ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าสวัสดิภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์จะดีขึ้นตามไปด้วย ประการที่สอง กลุ่ม Degrowth เสนอว่าโลกมีขีดจำกัดในการรองรับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ความเป็นกรดของน้ำทะเล และการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ และประเทศร่ำรวยกำลังก้าวข้ามขีดจำกัดนี้โดยการบริโภคทรัพยากรมากเกินไป ประการที่สาม กลุ่ม Degrowth ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับภูมิปัญญาและศีลธรรมทางแนวคิดในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่จะรักษาอุณหภูมิที่กำกลังเพิ่มสูงขึ้นไว้ไม่ให้เกิน 1.5°C ที่จะใช้เทคโนโลยีในการดึงคาร์บอนจากอากาศที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Degrowth ก็พบว่ายังมีช่องว่างในทฤษฎีที่ตนเองเสนอขึ้น ยกตัวอย่างเช่นนักเศรษฐศาสตร์ยืนยันว่าสวัสดิภาพของมนุษย์พัฒนาตามตัวเลข GDP จริง และผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีก็ชี้ว่าในปัจจุบันเราสามารถทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้จากการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง นักวิชาการบางกลุ่มโต้แย้งว่าทฤษฎีของกลุ่ม Degrowth ขัดแย้งกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินการตามแนวคิด Degrowth นี้จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบของโลกที่เป็นอยู่ทั้งหมด โดยประเทศร่ำรวยจะต้องนำเอาเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนของประชากรส่วนใหญ่มาใช้แทนที่เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสนอให้ประเทศในกลุ่มที่ยากจนนั้นยังคงใช้อัตราการเติบโตของ GDP เป็นเป้าหมายเช่นเดิมจนใกล้ขอบเขตจำกัดของสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมตามประเทศที่ร่ำรวย

เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าแนวคิดของ Degrowth นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว?

กลุ่ม Degrowth เสนอว่าอัตราการเติบโตไม่ควรเป็นเป้าหมายของสังคม แต่ความยั่งยืนต่างหากที่ควรเป็น และการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องมีการจัดสมดุลเสียใหม่ กล่าวคือ ถ้าประเทศยากจนในซีกโลกใต้ต้องการใช้พลังงานและทรัพยากรมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากร ประเทศร่ำรวยจะต้องลดการบริโภคเพื่อปรับสมดุล ความท้าทายคือถ้าประเทศที่ร่ำรวยยังบริโภคทรัพยากรในอัตราเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ต่อไป ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจะทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลต่อประเทศยากจนในซีกโลกใต้มากกว่าประเทศร่ำรวยในซีกโลกเหนือ และแนวโน้มในความเป็นจริงก็คงจะเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือยอมรับว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงจะดำเนินต่อไปจนถึงจุดอันตรายทางสิ่งแวดล้อม และทำการตัดสินใจร่วมกันที่จะชะลอการเติบโตดังกล่าวก่อนที่หายนะจะเกิดขึ้น

สิ่งที่ผู้คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Degrowth?

ครั้งแรกที่เราได้ยินเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว เราอาจนึกไปถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว Degrowth มีความหมายตรงกันข้าม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจหยุดการเติบโต ประชาชนตกงาน ไม่มีรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ยากจน แต่ Degrowth คือการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่ต้องการการเติบโต แต่ให้ความเป็นอยู่ที่ดีแก่มนุษย์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางฐานะสูงมาก และอัตราการว่างงานทะยานสูง ในขณะที่ระบบ Degrowth นั้นลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ทุกคนมีงานทำโดยใช้วิธีลดจำนวนวันทำงานให้สั้นลงและรับประกันการจ้างงาน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ควรนำมาใช้ในประเทศที่ร่ำรวยเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานลง

Degrowth เป็นคำที่มีความหมายในแง่ลบ

เรามีตัวอย่างคำที่มีความหมายในแง่ลบมากมายอย่างเช่น Decolonization แต่เราทราบกันดีว่ามันก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวก

ประเทศต้นแบบทางวัฒนธรรมอย่างโลกตะวันตกเชื่อว่าการเติบโตเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นจึงคิดว่า Degrowth น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งพวกเขาควรทบทวนแนวความคิดนี้เสียใหม่ เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏให้เห็นหลายคราวว่าคำทีมีความหมายในแง่ลบกระตุ้นให้คนเราเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

หากเราจะละทิ้งแนวคิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเก่า เราจะต้องเขียนกระบวนการของระบบโลกขึ้นมาใหม่ คำถามที่สำคัญคือแนวคิดนี้มีแรงสนับสนุนเพียงพอหรือไม่? การระบาดของไวรัสโควิด 19 นั้นอาจทำให้การเปลี่ยนถ่ายกระบวนการง่ายกว่าที่เราเคยคิด ผู้คนเริ่มเห็นด้วยว่าการรุกรานธรรมชาตินั้นก่อให้เกิดผลเสียที่รุนแรงอย่างไร และการที่ได้เห็นนักการเมืองที่ไม่ยอมใช้มาตรการทางสุขอนามัยเพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อีกต่อไป และเราสามารถอยู่กับระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้วัดผลด้วยอัตราการเติบโตหรือการสะสมของทุน แต่ด้วยสวัสดิภาพของมนุษย์

การปฏิวัติทางเศรษฐกิจนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการทดลองใช้ระบอบคอมมิวนิสต์กับโลกที่หนึ่ง แต่เราเรียกร้องการวิวัฒน์ข้ามข้อจำกัดของระบบทุนนิยมสู่สิ่งใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ยังอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ที่จะทำให้แนวคิด Degrowth นี้ได้รับแรงสนับสนุนตามที่ต้องการ


ภาพโดย Gary Hershorn
อ้างอิง https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-08-18/why-degrowth-may-be-necessary-to-prevent-climate-catastrophe


Social Share