THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

10 กรกฎาคม 2021
กฤษฎา บุญชัย

ที่มาภาพ : http://www.cp-enews.com/news/details/cpinternal/3499

ความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรรม ความมั่นคงอาหารกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลกระทบที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คือ ระบบความมั่นคงอาหารทั้งที่มีฐานจากธรรมชาติและการผลิตกำลังพังทลาย เพราะเกษตรกรรมเป็นวิถีที่พึ่งพาสภาพภูมิอากาศ เมื่อระบบนิเวศผันผวนสุดหยั่งคาด เช่น ความแห้งแล้งสลับอุทกภัย ฝนตกไม่ต้องตามฤดูกาล อุณหภูมิเพิ่มสูง ดินเสื่อมสภาพ น้ำใต้ดินลด วัชพืช โรคและแมลงศัตรูพืชระบาด พันธุกรรมอาหารเสื่อมสูญไม่เติบโต ทั้งหมดนี้กำลังทำให้เทคโนโลยีการผลิตอาหารทั้งสมัยใหม่และพื้นบ้านเผชิญแรงกดดันปรบตัวไม่ได้ นั่นจะทำให้ปัญหาความมั่นคงอาหารจากการขาดแคลนอาหาร ปัญหาคุณภาพและความปลอดภัยอาหารกลายเป็นปัญหาใหญ่ กระทบต่อชีวิตเกษตรกรที่ต้องยากจนทิ้งการผลิต ผู้บริโภคที่ต้องเผชิญความเสี่ยงด้านราคาและคุณภาพอาหาร และทำให้เกิดความโกลาหลอย่างรุนแรง

นอกเหนือจากในด้านผลกระทบ ภาคเกษตรกรรมยังถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของภาวะโลกร้อนด้วย ก๊าซมีเธนถูกปลดปล่อยมาจากการเก็บเกี่ยวข้าวและปศุสัตว์ และไนตรัสออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากปุ๋ยและปัสสาวะของปศุสัตว์มีส่วนสร้างภาวะก๊าซเรือนกระจกยิ่งกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แม้จะมีปริมาณน้อยกว่า แต่ระบบเกษตรกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกหาใช่เกษตรแปลงย่อยของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่เป็นเกษตรอุตสาหกรรมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ฯลฯ โดยเฉพาะปศุสัตว์ที่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ยาฆ่าแมลง เครื่องจักรเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเกษตรอุตสาหกรรมเหล่านี้สร้างผลกระทบนิเวศมหาศาล ทำลายดิน น้ำ ป่าที่มีศักยภาพดูดซับก๊าซคาร์บอน อีกทั้งระบบขนส่งอาหารทางไกลที่ใช้การแช่แข็ง การขนส่ง และเมื่อถึงการบริโภคของคนเมือง อาหารเหลือทิ้ง (food waste) ที่มีสัดส่วนสูงก็มีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกได้มาก

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาหารและการเกษตร

ที่มาภาพ : https://sandrp.in/2014/03/11/maharashtra-farmers-face-impacts-of-hailstorms-and-states-inaction-plan-on-climate-change/
ที่มาภาพ : https://sandrp.in/2014/03/11/maharashtra-farmers-face-impacts-of-hailstorms-and-states-inaction-plan-on-climate-change/

จากงานศึกษาของ GRAIN องค์กรประชาสังคมนานาชาติด้านความมั่นคงอาหารได้วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอาหารที่ต้องเสียหายไปกว่า 2.32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2019 ผลกระทบเกิดมากในทวีปเอเชียและออสเตรเลียที่เป็นฐานเศรษฐกิจอาหารของโลก อย่างเช่น ประเทศอินเดียสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรทุกปีจากภัยธรรมชาติราวร้อยละ 4-9 รายได้ของเกษตรกรลดลงร้อยละ 15-18 และร้อยละ 25 ในพื้นที่ไม่มีชลประทาน เกิดภัยแล้งในรัฐมหาราษฏระสลับกับเกิดพายุลูกเห็บถล่มเมืองลาเตอร์ทำให้ต้นไม้ถอนราก นกตายเกลื่อน และสัตว์เลี้ยงได้รับบาดเจ็บสาหัส พื้นที่แห้งแล้งในเขตเตลังคานาก็ประสบปัญหาเดียวกันสูญเสียพื้นที่ปลูกข้าวฟ่างไป 16,800 เฮกเตอร์

ประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนผลิตอาหารทั้งข้าว (ร้อยละ 18) เนื้อสัตว์ (ร้อยละ 29) และผัก (ร้อยละ 50) โดยเฉลี่ยรวมร้อยละ 20 ของประชากรโลก จากที่ดินเพียงร้อยะ 8 ของพื้นที่เพาะปลูกโลก และนำเข้าอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสาเหตุฝุ่นควันจากการเผาในภูมิภาคอาเซียนก็ป้อนตลาดหลักที่จีน) ดังนั้นผลกระทบต่อจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนต่อการผลิตอาหารของจีนจึงกระทบต่อความมั่นคงอาหารและราคาอาหารของโลกด้วย

สำหรับประเทศไทยซึ่งถูกจัดเป็นประเทศเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลำดับต้นๆ ของโลก (ลำดับที่ 9-10) ประเทศไทยสูญเสียรายได้ 657-821 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเนื่องจากภาวะฝนแล้งเป็นระยะเวลานานและตามมาด้วยน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ปลูกข้าวทางภาคเหนือและภาคอีสาน ทำลายผลผลิตข้าวปริมาณ 100,000 ตันหรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของปริมาณการส่งออก

เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย การสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรจากฝนตกผิดฤดูกาลและน้ำท่วมกลายเป็นเรื่องปกติ เช่นในเดือนมกราคมปีนี้ อินโดนีเซียถูกภาวะน้ำท่วมสร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรไปแล้วกว่า 209,884 เฮกเตอร์ใน 12 จังหวัด

ผลกระทบไปถึงการทำประมงด้วย เช่น การระเหยของน้ำในสระช่วงฤดูแล้ง, คลื่นความร้อนทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงทำให้ปลาตาย ฯลฯ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ปริมาณปลามีจำนวนลดลงและกระทบต่อกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง ปลาถือเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนสำคัญที่เอื้อให้ประชากรกว่า 3.2 พันล้านคนได้เข้าถึง และเอื้อต่ออาชีพประมงที่ทำให้ให้เกิดการจ้างงานถึง 10% ของประชากรโลก (มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน, 2021)

ภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุของการระบาดของฝูงตั๊กแตน ที่ถล่มนาข้าวในปากีสถานในปี 2020 สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่ผลผลิตในฤดูหนาวและ 2.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่ผลผลิตของฤดูร้อน การระบาดของฝูงตั๊กแตนยังก่อให้เกิดปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารในอินเดียและปากีสถานเช่นกัน

สถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศได้คาดการณ์ว่า จนถึงปี 2593 (เกือบ 30 ปีข้างหน้า) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกลดลงถึงร้อยละ 30 ประชากรโลกประมาณ 50 ล้านคนเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความไม่มั่นคงในสิทธิที่ดินทำกิน ซึ่งร้อยละ 40 เป็นเกษตรกรหญิงที่ต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนักหน่วง (มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ, 2021)

แม้กระแสโดยภาพรวมที่ภาคชนบทลดลง ภาคเกษตรหดตัวลงจากสภาวะความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม แต่เกษตรกรยังถูกซ้ำเติมจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้ศักยภาพการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงในครอบครัวและชุมชน และเพื่อสร้างรายได้ต้องถดถอยอย่างมาก และเมื่อเกษตรกรรายย่อยต้องพังทลาย เกิดภาวะยากจนและย้ายภาคการผลิตไปสู่แรงงานในภาคส่วนอื่นๆ ระบบความมั่นคงอาหารของโลกอาจเข้าสู่หายนะในอีกไม่นาน

การแก้ปัญหาของทุนนิยมเกษตรกรรม

ธุรกิจการเกษตรของโลกต่างตระหนักถึงปัญหาหายนะการเกษตรจากสภาวะโลกร้อน แต่แทนที่จะสร้างระบบเกษตรที่เกื้อกูลนิเวศ แต่ยังคงเดินหน้าตามแนวคิดปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ที่มุ่งควบคุมกำกับธรรมชาติและสังคม เช่น การพัฒนาพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ที่ทนแล้ง พัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และอื่นๆ โดยยังคงระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ที่ใช้สารเคมีและต้นทุนสูง เมื่อยังเป็นระบบที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานสูง ทิศทางเกษตรพาณิชย์ดังกล่าวกลับยิ่งสร้างปัญหาสภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้น

เพราะผลกระทบจากเกษตรเชิงเดี่ยวเหล่านี้จะถูกผลักไปสู่ธรรมชาติที่กำลังเปราะบาง และสร้างความเสี่ยงต่อเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาดิน น้ำ ป่าในการคงรักษาระบบนิเวศความมั่นคงอาหารมากยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ เช่น การนำพืชพันธุ์ที่มีความต้านทางต่อแมลงมาปลูกโดยไม่ต้องมีการไถหว่าน ถูกอ้างว่าเป็นการลดโลกร้อนเนื่องจากเป็นการฝังคาร์บอนไดออกไซด์ลงในดินแทนการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ดี วิธีการเช่นนี้มิได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตรยังสร้างกำไรต่อไป

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมที่เรียกว่า Climate Smart Agriculture (CSA) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลและนายทุนว่าสามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากภาคเกษตรกรรมแบบเบ็ดเสร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็คือระบบปฏิวัติเขียวแบบเดิม โดยคนกลุ่มเดิมที่สร้างปัญหาตลอดมา ธนาคารโลกตอนนี้หันมาสนับสนุน CSA มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มความร่วมมือด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำซึ่ง CSA มีแนวโน้มที่จะใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อให้ทนทานต่อความเค็ม น้ำท่วม และน้ำค้างแข็ง ซึ่งเชื่อกันในแวดวงนักวิชาการและองค์กรระหว่างประเทศว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเสียหายของผลิตผลทางการเกษตรที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ทว่า CSA ไม่ให้ความสำคัญกับวิถีเกษตรกรรมพื้นบ้านและความหลากหลายพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ได้ผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่กลับมุ่งส่งเสริมเกษตรกรใช้พืชตัดต่อพันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพที่สร้างผลกระทบทางสังคมต่อเกษตรกรและชุมชน

บทเรียนของเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก

เกษตรกรรายย่อยทั่วโลกกำลังปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น พัฒนาระบบการจัดการน้ำในไร่นา การใช้เมล็ดพันธุ์ธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ การเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายชีวภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ด้วยการปฏิเสธเกษตรเคมีและ GMOs กลุ่มเกษตรกรได้พัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอกาศ เช่น ทนทานต่อความแห้งแล้ง และฝนตกไม่ตามฤดูกาล และได้กระจายเมล็ดพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวาง สร้างทางเลือกให้กับเกษตรกรจำนวนมากในการเผชิญวิกฤติ

สิ่งที่สำคัญคือ ความสามารถในการพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ เพื่อวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม โดยทั้งนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากระบบข้อมูลพยากรณ์อากาศของหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีความเที่ยงตรง ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ด้วยการพยากรณ์ที่ดี ทำให้เกษตรกรสามารถจัดการการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง เช่น เลือกชนิดพืช เปลี่ยนพันธุ์ เปลี่ยนช่วงเวลาเพาะปลูกที่เหมาะสม จัดการดินให้มีวัสดุคลุมดินป้องกันแสงแดด ปลูกพืชในพื้นที่หัวไร่ปลายนาเพิ่มขึ้น การจัดการแหล่งน้ำด้วยการขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนที่เพียงพอต่อการใช้ในการทำเกษตรตลอดปี ด้วยการสร้างความหลากหลายของกิจกรรมในแปลงเกษตร ทั้งเพื่อการบริโภคและการสร้างรายได้ รวมทั้งเป็นการรักษาระบบนิเวศในแปลงเกษตรให้เกิดสมดุล สามารถกระจายความเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้มาก

การปรับตัวของชุมชนเกษตรกร เช่น ชนเผ่า Kond ในประเทศอินเดีย ที่มาภาพ : https://indiaclimatedialogue.net/2018/12/24/traditional-tribal-farming-shows-way-climate-smart-agriculture-2/

GRAIN ได้รายงานตัวอย่างการปรับตัวของชุมชนเกษตรกรไว้หลายกรณี เช่น ชนเผ่า Kond ในประเทศอินเดีย ใช้ระบบวนเกษตรเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในที่ดินของตน ปลูกข้าวฟ่างที่ทนแล้งและอากาศร้อนจัดได้ดี และข้าวไร่ที่เก็บเกี่ยวเร็ว ใช้น้ำน้อย ชาวนายังได้ทดลองปลูกมันฝรั่งในกองฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งสามารถเก็บความชื้นได้ดี วัชพืชไม่รบกวน ทำให้สามารถลดต้นทุนการเผาตอไม้และไถพรวน ลดการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 80

รายงานของ MASIPAG องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการเกษตรในฟิลิปปินส์พบว่า วิถีเกษตรกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นได้ผลดี มีต้นทุนต่ำ และทนทานต่อสภาพอากาศ โดยการคัดเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่เหมาะกับพื้นที่ทำให้พืชโตเร็ว ทนแล้งหรือน้ำท่วม ชุมชนชาวนาที่ MASIPAG สนับสนุนได้พัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาใหม่กว่า 2,000 พันธุ์ โดยมี 18 พันธุ์ที่ทนความแล้ง 12 พันธุ์ที่ทนน้ำท่วม 20 พันธุ์ที่ทนน้ำเค็ม และ 24 พันธุ์ที่ทนโรคพืช ระบบนิเวศเกษตรของชาวนายังได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยงดใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในนาของตน เพิ่มความหลากหลายของพืช เพิ่มต้นไม้ในไร่เพื่อลดความรุนแรงจากน้ำป่าไหลหลาก ความแล้ง และน้ำเค็มจากพายุไซโคลน ป้องกันการกัดเซาะดิน และเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า วนเกษตรนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังมีส่วนทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอีกด้วย

หรือกรณีองค์กร SEARICE ฟิลิปปินส์ได้ร่วมมือกับชุมชนชาวนาในฟิลิปปินส์และกัมพูชาในการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม โดย SEARICE ได้ตั้งศูนย์ฝึกอบรมชาวนาในประเทศกัมพูชาเพื่อการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมโดยการเพาะปลูกข้าวพันธ์ุที่มีวงจรชีวิตสั้นและปลูกข้าวสองชนิดขึ้นไปในปีเดียวกันถ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง ตามที่ราบสูงชาวนาปลูกข้าวแบบขั้นบันไดเพื่อป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน ตามพื้นที่ใกล้แนวชายฝั่งที่มักถูกน้ำเค็มท่วมถึงชาวนาก็จะปลูกข้าวพันธุ์ที่ทนความเค็ม การที่จะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งทาง SEARICE ได้อนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ไว้ถึง 50 ชนิดในธนาคารเมล็ดพืช มีชาวนากว่า 3,000 รายที่ได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเช่นนี้

ในอินเดียก็มีการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพืชในเมืองโอริสสาซึ่งเก็บรักษาพันธุ์พืชกว่า 1,400 พันธุ์สำหรับทุกสภาพดินฟ้าอากาศ ธนาคารดังกล่าวได้ใช้เวลากว่า 30 ปีในการสะสมและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กับชาวนากว่าร้อยรายทำให้ยิ่งเกิดความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น มีพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกในพื้นที่น้ำท่วมได้ เช่นเมื่อพายุไซโคลน Aila ถล่มหมู่บ้าน Sudarbans ที่ตั้งอยู่ริมอ่าวเบงกอลในปี 2009 พันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่ทนทานต่อน้ำเค็มจึงมีส่วนช่วยชาวนาได้มาก พันธุ์ข้าวดังกล่าวนอกจากจะทนต่อความเค็มแล้ว ยังให้ผลผลิตที่สูง ข้าวบางพันธุ์มีคุณสมบัติเป็นยาด้วยทำให้สมาชิกชุมชนมีสุขภาพที่ดี

ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านและการปรับตัวของชนพื้นเมืองและเกษตรกรรายย่อยทั่วภูมิภาคเอเชีย ได้พิสูจน์ให้เห็นว่านอกจากจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังสามารถความมั่นคงอาหาร เกษตรกรสามารรถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ที่มั่นคง เป็นระบบที่ให้คำตอบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากกว่าเกษตรอุตสาหกรรม

เอกสารอ้างอิง

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), 2021, การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: แนวทางสู่ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น
ให้กับเกษตรกรรายย่อย กรณีพื้นที่แอฟริกา, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, http://sathai.org/category/climate-change/

GRAIN, Agroecology vs. climate chaos: Farmers leading the battle in Asia, 10 Mar 2021, https://grain.org/en/article/6632-agroecology-vs-climate-chaos-farmers-leading-the-battle-in-asia?fbclid=IwAR0g1hrbGyllSE1PvmTbezfS6_qEnXFIHUktZjlBT51tOle6UU9LgGhYYjA
ป้ายคำ : MASIPAGThai Climate Justice for Allกฤษฎา บุญชัย


ที่มา : https://thaipublica.org/2021/07/thai-climate-justice-for-all05/?fbclid=IwAR0tMfwlcR06Oftgpe7tx6KK8Qb11EPGxG_To9zQDH_FFLLUHehZgBQx-eA


Social Share