THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

10 กรกฎาคม 2021
กฤษฎา บุญชัย

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เมื่อระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แปลงใหญ่ ด้วยสารเคมีหรือการตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) เป็นหนึ่งในสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่เกษตรกรที่เพาะปลูกด้วยระบบเกษตรดังกล่าวมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของชนพื้นเมือง เกษตรกรรายย่อย หรือชุมชนเกษตรยั่งยืน ที่เน้นความสมดุลของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงอาหาร และความอยู่ดีมีสุขของเกษตรกรได้รับการพิจารณาว่านอกจากเป็นจะทำให้เกษตรกรรายย่อยมีศักยภาพในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว ระบบเกษตรนิเวศวัฒนธรรมดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในทางออกของระบบอาหารของมนุษยชาติ ด้วยกระบวนการดูดซับก๊าซเรือนกระจก คลี่คลายปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดี พร้อมไปกับสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

อย่างไรก็ตาม ปมปัญหาอยู่ที่นโยบายเกษตรกรรมและอาหารของโลกที่กำกับโดยบรรษัทข้ามชาติ และรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศส่งออกผลผลิตการเกษตรรายใหญ่อย่างไทยกลับยังคงไปในทิศทางเกษตรอุตสาหกรรมที่สร้างภาวะโลกร้อน ด้วยกลไกทุนและนโยบายรัฐได้สร้างความไม่มั่นคงในสิทธิการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรของชุมชน กลไกตลาดได้สร้างความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยอาหาร และทำให้ทางเลือกและขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรลดน้อยลง เราจึงได้ว่า เกษตรกรรายย่อยกำลังเผชิญความลำบากยิ่งขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยลำพัง

บทเรียนการขับเคลื่อนของขบวนการชนพื้นเมือง เกษตรกรรมยั่งยืนทั่วโลกได้สะท้อนให้เห็นว่า วิถีนิเวศเกษตรของเกษตรกรจะมีความเข้มแข็งต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดี จำเป็นต้องมีการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่วิถีนิเวศเกษตรที่เข้มแข็ง ผู้เขียนได้ประมวลข้อเสนอแนวทางต่างๆ จากบทความที่เผยแพร่โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ไว้ดังต่อไปนี้

พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร ฯลฯ ซึ่งเน้นความสมดุลนิเวศ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันดิน น้ำ และอาหารไม่ปนเปื้อนหรือมีการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร เกษตรกรรมยั่งยืนยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารและให้ดินอุดมสมบูรณ์ เอื้อประโยชน์ให้เกิดสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม

เหตุผลเพราะเกษตรอินทรีย์เน้นสร้างอินทรีย์วัตถุในดิน โดยตรึงคาร์บอนในอากาศมาสู่อินทรีย์สารในดิน เกษตรอินทรีย์ไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนทำให้ลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เพราะไม่เผาชีวมวลทำให้ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เมื่อไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนจึงลดก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานฟอสซิลที่ใช้ผลิตปุ๋ย ในด้านการเลี้ยงสัตว์ระบบอินทรีย์ไม่เกิดมูลสัตว์ส่วนเกินที่ปล่อยแก๊สมีเทน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเช่น ฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไป เกษตรอินทรีย์เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินทำให้ดูดซับน้ำได้มากขึ้น ป้องกันการชะล้างหน้าดิน และทนทานต่อความแห้งแล้ง เกษตรอินทรีย์สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ มีภูมิคุ้มกันต่อการระบาดของโรค อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในสภาพพื้นที่

ด้วยระบบการผลิตที่มีความหลากหลายและเกื้อกูลทำให้มีความสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีกว่าระบบการผลิตเชิงเดี่ยว เช่น ช่วยปรับลดอุณหภูมิ เพิ่มความชื้นของพื้นที่ มีการจัดการน้ำที่มั่นคง ลดการพังทลายของหน้าดิน เพิ่มปริมาณผลผลิต สร้างความมั่นคงอาหารและรายได้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

สถาบัน Rodale ได้เก็บข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างเกษตรอินทรีย์กับเกษตรเคมีเป็นเวลา 27 ปี พบว่าพื้นที่เกษตรอินทรย์มีปริมาณคาร์บอนในดินสูงขึ้นเกือบร้อยละ 30 สามารถเก็บกักน้ำได้ดีทำให้พืชทนทานต่อความแล้งและโรคพืช เกษตรอินทรีย์สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 40 ของปริมาณการปลดปล่อยทั่วโลก (GRAIN,2021)

ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานความรู้สมัยใหม่ ของเกษตรกร ผสานองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเกษตร พันธุกรรรมพื้นบ้าน ระบบการผลิตที่หลากหลาย ที่มีความยืดหยุ่นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น ความร้อน ความแห้งแล้ง และโรคพืชต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตภายใต้สภาวะโลกรวน การจัดการดินที่ทำให้ดินมีความสมบูรณ์ด้วยอินทรีย์วัตถุ มีการจัดการแหล่งน้ำให้เพียงพอ การคัดเลือกพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่เหมาะสม การสร้างความหลากหลายในแปลงเกษตรและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หัวไร่ปลายนาสำหรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการสร้างภูมิป้องกันให้ระบบเกษตร การสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้ให้กับครัวเรือนเกษตรกร เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

สร้างระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนที่มั่นคงยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ชุมชนการจัดการน้ำ ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ รูปธรรมของการจัดการทรัพยากร เช่น การฟื้นฟูป่าบริเวณทุ่งหญ้า การฟื้นฟูบริเวณชายฝั่งแม่น้ำ และการปลูกพืชตามแนวพุ่มไม้ รวมถึงการปลูกไม้ยืนต้นที่เอื้อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น เป็นที่พักพิงอาศัยของสัตว์ป่า ดึงดูดแมลงช่วยในการผสมเกสรและช่วยควบคุมศัตรูพืชในแปลงการผลิต นอกจากนี้การปลูกต้นไม้ พุ่มไม้ และแนวไม้ยืนต้นอื่นๆ มีส่วนสำคัญในการเก็บคาร์บอนไว้ในมวลชีวภาพ และช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและช่วยอนุรักษ์น้ำ

  • การจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืน สร้างประโยชน์ได้มาก เช่น ช่วยดักจับก๊าซเรือนกระจกและช่วยดูแลรักษาดิน ตลอดจนเป็นการสร้างศักยภาพเชิงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นโดยผ่านผลิตภัณฑ์จากป่า การฟื้นฟูและการปลูกป่าอาจถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับเกษตรกรในประเทศบราซิลเนื่องด้วยตัวเลขของพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและพื้นที่ที่ถูกตัดไม้ทำลายป่านั้นสูงถึง 131 ล้านไร่ของพื้นที่ป่าประเทศบราซิลที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นพื้นถิ่นถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูสภาพป่าและเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับพื้นที่ในขณะที่เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากพื้นที่ได้เช่นกัน
  • ฟื้นฟูบำรุงดิน เพราะร้อยละ 40 ของคาร์บอนจะถูกเก็บสะสมไว้ในดิน เป็นปัจจัยเสริมสร้างจุลินทรีย์ในดิน เช่น กลุ่มแบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว และไส้เดือนฝอย เป็นต้น โดยกลุ่มจุลินทรีย์นี้มีบทบาทในการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งแปลงการผลิตโดยทั่วไปสามารถเอื้อให้เกิดกระบวนการเก็บกักคาร์บอนเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและสร้างแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตให้กับพืชได้จากกระบวนการเติมปุ๋ยหมัก การปลูกพืชคลุมดิน และลดหรือไม่ไถพรวนดินในการเพาะปลูก
  • การฟื้นฟูสภาพทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เสื่อมโทรม

ส่งเสริมเกษตรกรรวบรวม คัดสรร พัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้านที่เหมาะสม โดยสนับสนุนให้เกษตรกรร่วมทำการวิจัย คัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์พืชที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินการเก็บรวบรวมพันธุ์ทั้งในธรรมชาติ ในแปลงเกษตรของเกษตรกร และจัดตั้งธนาคารพันธุกรรมที่รวบรวมพันธุ์พืชพื้นบ้าน สถาบันส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาพันธุกรรมพืชอาหาร เพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์พืชที่หลากหลาย และเหมาะสมต่อการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็นทนแห้งแล้ง การระบาดของโรค แมลงศัตรูพืชจากโลกร้อน เหมาะกับความร้อนที่สูงขึ้นและความชื้นที่ลดลง รองรับความผันผวนของฤดูกาล สร้างความมั่นคงอาหาร และสามารถเพิ่มผลผลิตได้โดยไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

พัฒนาพลังงานหมุนเวียนในการจัดการระบบการเกษตร ทั้งพลังงานจากชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และอื่นๆ เพื่อใช้เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต อันจะเป็นการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่เป็นสาเหตุก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรด้วย

สนับสนุนตลาดเกษตรกรท้องถิ่น หากเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตด้วยตนเองในตลาดเกษตรกรหรือผ่านช่องทางในระดับพื้นที่ได้ก็จะทำให้ระยะทางการขนส่งอาหารนั้นสั้นลง ประหยัดและอนุรักษ์ทรัพยากรการขนส่ง การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ผ่านตลาดเกษตรกรทำให้การผลิตยังคงอยู่ได้โดยที่เกษตรกรสามารถผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมของพื้นที่

ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ในด้านการพัฒนาคุณภาพและการเข้าถึงน้ำ และช่วยเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนสำหรับการเกิดภัยแล้งในอนาคต โดยการฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อลดภาวะน้ำขาดแคลน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำโดยการสร้างแทงค์เก็บน้ำ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น

การกระจายข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสู่เกษตรกรอย่างทั่วถึงและเท่าทัน เช่น การเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้เข้าใจและวางแผนปรับตัวการจัดการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะทุ่มเทสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้พัฒนาศักยภาพการปรับตัวและฟื้นฟูระบบการผลิตเพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อน แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่ควบคุมกำกับวงจรการผลิตและตลาดของเกษตรกรก็คือ ระบบผูกขาดของกลุ่มทุนการเกษตร รูปธรรมสำคัญคือระบบเกษตรพันธะสัญญา (contract farming) ที่กลุ่มทุนใช้ควบคุมเกษตรกรรายย่อย ดังปรากฏพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีส่วนสร้างปัญหาก๊าซเรือนกระจก ฝุ่นควัน และมลพิษสิ่งแวดล้อม เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยายตัวอย่างมากในภาคเหนือ และประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ก็มาจากระบบเกษตรพันธะสัญญาของกลุ่มทุนการเกษตรไทยที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ป้อนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ส่งออกไปจีน หรือไร่อ้อยขนาดใหญ่ของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัวไปอย่างมาก และยางพารา ปาล์มที่เป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปส่งออกขนาดใหญ่เหล่านี้ คือ ต้นเหตุสำคัญที่สุดของภาคเกษตรกรรมในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นระบบใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาลทั้งการใช้ที่ดิน ทำลายป่า ใช้น้ำ สร้างภาวะฝุ่นควัน และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง อันเป็นการทำลายระบบนิเวศธรรมชาติที่เคยมีบทบาทฟื้นฟู ปรับสมดุลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และดูดซับคาร์บอนได้มากให้เสื่อมไป

ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมจะอยู่รอดได้และมีบทบาทช่วยเหลือการต่อสู้ปัญหาสภาวะโลกร้อน หัวใจสำคัญที่สุดคือ ปฏิรูประบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ผูกขาดให้เกิดการกระจายอำนาจ เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นธรรม และยังเป็นการปลดปล่อยเกษตรกรรายย่อยให้มีอิสระในการพัฒนาการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความมั่นคงอาหาร การจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนเพื่อชุมชนและสังคม นั่นจึงเป็นทางออกของเกษตรกรรมในการกอบกู้วิกฤติโลกร้อนได้อย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), 2021, การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: แนวทางสู่ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น
ให้กับเกษตรกรรายย่อย กรณีพื้นที่แอฟริกา, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), 2021, แนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ยั่งยืน : บทเรียน
จากเครือข่ายเกษตรกรแคลิฟอร์เนีย, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), 2021, การปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ
เกษตรกรประเทศบราซิล, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,

GRAIN, Agroecology vs. climate chaos: Farmers leading the battle in Asia, 10 Mar 2021,


ที่มา : shorturl.at/dpyY9


Social Share