THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย C40 Cities
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขคนจนเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่เปราะบางต่ออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะเพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านคนภายในกลางศตวรรษนี้ และด้วยจำนวนประชากรยากจนและอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคธุรกิจในปัจจุบัน ทำให้คนจนเมืองจำนวน 215 ล้านคนใน 500 เมืองประเทศกำลังพัฒนาจะประสบกับอุณหภูมิในฤดูร้อนที่สูงกว่า 35˚C หรือเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าจากจำนวนปัจจุบัน ตัวเลขนี้จะเป็นอุปสรรคทำให้เป้าหมายการพัฒนาของแต่ละชาติรวมถึง SDG ของสหประชาชาติเกิดขึ้นได้ยากมาก

หากโลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5˚C ตามข้อตกลงปารีส คนจนเมืองจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีการใดๆก็ตามจะต้องคำนึงถึงกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดก่อนให้สามารถปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบกับคนจนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะส่วนมากอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำที่ไม่สามารถป้องกันภัยน้ำท่วม อากาศร้อนจัด หรืออากาศเย็นจัดได้ นอกจากนี้ยังเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคอย่างน้ำมัน ระบบขนส่ง ระบบประกันสุขภาพ ที่ดิน และทรัพย์สิน มีความมั่นคงในหน้าที่การงานต่ำ ขาดทุนสำรอง และในหลายๆพื้นที่ขาดระบบสนับสนุนในช่วงวิกฤติ

เราคงไม่มีวิธีแก้ปัญหาด้านการเคหะและจำนวนคนจนเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและสังคม และความสามารถในการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่นเมือง In Dar es Salaam ในประเทศแทนซาเนีย เทศบาลกำลังทดลองวิธีการต่างๆเพื่อช่วยคนยากจนให้ปรับตัวในสภาวะน้ำท่วม และได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปเนื่องจากความซับซ้อนของปัญหา ในปี 2011 เมือง Dar es Salaam ประสบภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรงจากน้ำในแม่น้ำ Msimbazi ที่ไหลบ่าจนท่วมตลิ่ง ทำลายชุมชนในหุบเขา Msimbazi ทำให้คนจำนวนพันต้องสุญเสียที่อยู่และจำนวน 40 คนต้องเสียชีวิตลง เหตุการณ์ครั้งนี้เร่งให้เทศบาลจัดสรรที่อยู่แก่คนยากจนใหม่โดยย้ายไปยังจุดที่ไม่ถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม การย้ายชุมชนก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย คนส่วนมากจะอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะย้ายกลับไปที่เดิม เพราะต้องการอยู่ใกล้ใจกลางเมืองเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งได้ ดังนั้นจึงเลือกที่จะอยู่ใกล้ตลาด โรงพยาบาล และที่ทำงานของตน จากผลลัพธ์ดังกล่าว เทศบาลเมือง Dar es Salaam จึงได้ริเริ่มโครงการใหม่ด้วยการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิมของคนยากจน ไม่ว่าจะเป็นที่ที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมหรือไม่ก็ตาม ทว่าอุปสรรคของโครงการนี้ได้แก่ เมื่อพื้นที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว คนมีรายได้สูงก็ต้องการจะเข้ามาอยู่อาศัยบ้างและผลักดันคนจนเมืองออกไปยังชายขอบอีก นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของทรัพยากรที่จำกัด ดังนั้น เทศบาลจึงได้พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ โดยการพิจารณาจากมุมมองที่กว้างขึ้น และลงทุนกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญทั้งระบบ โดยหวังว่าจะสามารถทั้งป้องกันภัยธรรมชาติและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แก่เมืองไปพร้อมกัน

ปัจจัยขับเคลื่อนการย้ายถิ่นฐาน

ภาวะโลกร้อนไม่ได้ทำให้คนจนเมืองประสบภาวะยากลำบากแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังผลักดันคนชนบทเข้ามาสู่ฐานะที่ยากจนในเมืองอีกด้วย ในทศวรรษนี้เพียงทศวรรษเดียวพบว่าการเติบโตของประชากรเมืองครึ่งหนึ่งมาจากการอพยพของชาวชนบทเข้าเมือง โดยแยกเป็นหนึ่งในสามในทวีปอาฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่า และสูงกว่าหนึ่งในสามในทวีปเอเชีย

อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและภาวะขาดแคลนน้ำในภูมิภาคชนบททำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง และผลักดันให้เกษตรกรย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองมาหางานทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะหาที่พักในสลัมและพื้นที่เสี่ยง ถึงแม้ว่าผู้อพยพไม่ได้ยากจนทุกคน และการอพยพเข้าเมืองเปิดทางให้คนยากจนได้พบโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วพบว่าจำนวนคนจนเมืองเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้อพยพที่หนีผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเหล่านี้ได้ทำให้เมืองแออัดและแก่งแย่งโอกาสทางเศรษฐกิจและระบบสาธารณูปโภคกัน ทำให้เกิดผลกระทบทางลบทั้งแก่ภาวะเศรษฐกิจของเมืองและความสามารถในการรับมือกับภาวะโลกร้อนของผู้ที่อยู่อาศัย

เมื่ออัตราการย้ายถิ่นฐานเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น ความจุของการเคหะก็มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่นในลิม่า เมืองหลวงของเปรู ประชากรเพิ่มขึ้นถึง 600% ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา การอพยพเข้าเมืองทำให้เมืองต้องขยายตัวเข้าไปในเขตทะเลทรายและเชิงเขา Andean ผู้ที่อพยพมาใหม่บางคนต้องสร้างบ้านเองบนเนินเขาที่ชันและไม่มั่นคง ทำให้เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อน ในเดือนมีนาคมปี 2017 เมืองลิม่าประสบอุทกภัยและดินถล่ม ทำให้ที่อยู่อาศัยที่ผู้ย้ายถิ่นฐานก่อสร้างกันเองนั้นพังทลายลงมาเป็นจำนวนมาก มีผุ้เสียชีวิตกว่า 100 คนและคนเมืองไร้ที่อยู่ 150,000 คน รวมทั่วประเทศแล้วมีบ้านประมาณ 210,000 หลังเสียหายหรือพังทลายลง

การอพยพย้ายถิ่นเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งต่อภาวะโลกร้อน ในอนาคต ผู้คนจำนวนมากจะต้องย้ายถิ่นหนีภัยธรรมชาติ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องวางแผนสนับสนุนการอพยพล่วงหน้าเพื่อลดแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นกับเมือง เช่นรัฐบาลของประเทศบังคลาเทศกำลังทำอยู่ บังคลาเทศมีประชากรราว 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงริมน้ำ ซึ่งจะต้องย้ายถิ่นหนีอุทกภัยและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เมืองหลวงของบังคลาเทศคือดักกา เป็นเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก จะประสบปัญหาการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองอย่างหนัก รัฐบาลจึงได้วางแผนขยายเมืองเล็กจำนวน 12 เมืองเพื่อรองรับผู้อพยพ และสร้างที่อยู่อาศัยและพัฒนาเศรษฐกิจเตรียมพร้อมไว้สำหรับผู้อพยพราว 1 ล้านคน

การสนับสนุนให้คนยากจนปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้ดีขึ้น

ยังมีประเทศอื่นๆนอกเหนือจากบังคลาเทศที่ออกมาตรการมาช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางให้ปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้ดีขึ้นด้วยการวางแนวป้องกันเมืองทั้งเมือง ซึ่งขั้นตอนแรกที่ต้องทำคือการระบุพื้นที่และกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด ในกรุงไคโรเมืองหลวงของประเทศอียิปต์ องค์กร Ecocity Builder ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรได้ทดลองโครงการ Eco-Citizen World Map ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อระบุตัวผู้เปราะบางและถิ่นที่อยู่ เพื่อให้เทศบาลนำไปวางแผนการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่อไป นอกจากจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้แก่เทศบาลเพื่อการพัฒนาเมืองแล้ว ยังเผยแพร่ข้อมูลด้านการจัดการน้ำประปา คุณภาพและปริมาณของน้ำแก่ชาวไคโรด้วย เพื่อกระตุ้นให้ NGO และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระบบส่งน้ำในพื้นที่ต่อไป

โครงการ Eco-Citizen World Map นี้ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกลุ่มเปราะบางและเทศบาลท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้เทศบาลระดมทุนจากแหล่งทุนภายนอกเช่นมูลนิธิและนักลงทุน เนื่องจากสามารถระบุตำแหน่งได้จากการทำ mapping โดยนัยเดียวกัน โครงการที่คล้ายคลึงกันในเมืองอักรา ประเทศกาห์น่าก็ได้เชื่อมต่อกลุ่มเปราะบางกับรัฐบาลเพื่อรับรู้ถึงปัญหาที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ เช่นปัญหาด้านการเคหะที่กำลังดำเนินการแก้ไขอยู่โดยกลุ่มเครือข่ายช่วยชุมชน โครงการดังกล่าวทำให้เกิความร่วมมือระหว่างกลุ่มเครือข่ายและรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความยากจน การว่างงาน และการไร้ที่อยู่อาศัย

โดยสรุปแล้ว คนจนเมืองนั้นมีศักยภาพในการพัฒนาชุมชนของตนเอง และอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการปกป้องถิ่นที่อยู่ของตนจากภาวะโลกร้อน ประเทศที่เปิดรับฟังความเห็นจากกลุ่มเปราะบางมักจะพบนวัตกรรมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจะต้องแน่ใจว่าได้นำชุมชนคนยากจนเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างนโยบายการบริหารจัดการเมืองและการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนด้วย


ภาพโดย C40 Cities
อ้างอิง https://www.c40.org/other/the-future-we-don-t-want-avoiding-the-climate-change-poverty-trap


Social Share