THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Bhavya George
วันที่ 18 กรกฎาคม 2562
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและมลภาวะซึ่งส่งผลต่อจำนวนประชากรปลาในแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม หากสถานการณ์นี้ยังคงอยู่ต่อไป ไม่เพียงแค่เราจะขาดแคลนสัตว์น้ำเพื่อเป็นอาหาร แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงก็จะประสบภาวะยากลำบาก ดังนั้น นักวิจัยแห่งสถาบัน Indian Institute of Technology Bombay (IIT Bombay) จึงได้ทำการศึกษาว่าชาวประมงมีวิธีการพยากรณ์สภาพอากาศและปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนอย่างไร เพื่อรักษาระดับผลผลิตและรายได้ของตนไว้ รวมไปถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของชาวประมงด้วย

ประเทศอินเดียมีหมู่บ้านประมงราว 3,288 หมู่บ้านใน 9 รัฐที่ติดทะเล ผลผลิตจากการประมงคิดเป็น 1.07% ของ GDP ของประเทศ ดั้งนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมงเพื่อช่วยเหลือชุมชนจากผลกระทบภาวะโลกร้อนและร่างนโยบายในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

นักวิจัยได้ทำการสุ่มตัวอย่าง 601 ตัวอย่างจากชุมชนชาวประมงที่อาศัยอยู่ในเมือง ชานเมือง และชนบทในเมืองเพื่อเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ Maharashtra และวิเคราะห์การปรับตัววิธีต่างๆของชาวประมงต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจ พบว่าความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชน ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่เชื่อถือได้จากหน่วยงานรัฐ และระดับการศึกษาและความตระหนักรู้ถึงปัญหาโลกร้อนของชาวประมงคือปัจจัยสำคัญในการปรับตัวที่ดี และยังพบว่าชุมชนประมงในชนบทที่มีเครือข่ายเข้มแข็งมีการกระจายข่าวสารข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพื่อช่วยเหลือกัน ในขณะที่ชุมชนประมงในเมืองพัฒนาเรือประมงของตนเป็นเรือกลเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศมากขึ้น ส่วนปัจจัยอื่นเช่นการแข่งขันทางการค้าและมลภาวะทำให้ชุมชนประมงในเมืองและชานเมืองก็มีอิทธิพลต่อวิธีการปรับตัวของชาวประมงเช่นกัน

ผลการวิจัย

จากการวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัยพบว่าชาวประมงใช้ 6 กลยุทธ์ในการปรับตัวให้เข้ากับภาวะโลกร้อนและประชากรปลาที่ลดลง กล่าวคือปรับปรุงเครื่องมือจับปลา เช่นเรือประมงและอวน เพิ่มชั่วโมงทำงาน ออกทะเลลึกขึ้นกว่าเดิม ซื้อประกันภัย และหารายได้จากแหล่งที่สอง โดยมีปัจจัยอย่างการศึกษา ประสบการณ์ในการประมง เงินออม สินเชื่อและทรัพย์สิน ความตระหนักรู้ถึงปัญหาโลกร้อนที่มีต่อชีวิตของตน เครือข่ายสังคมและการสนับสนุน และมลภาวะเป็นบทบาทสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ในการปรับตัว

การวิจัยพบว่าการศึกษาทำให้ชาวประมงสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับการประมง ประกันภัย และแบบต่างๆของเรือประมง ทำให้มีเครื่องมือที่ดีกว่า และมีข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มากกว่า

ความช่วยเหลือจากรัฐและธนาคารของรัฐก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวประมงทั้งสามกลุ่มเนื่องจากส่วนมากมักเข้าไม่ถึงแหล่งทุนที่ให้กู้ยืมของธนาคารเอกชน หน่วยงานท้องถิ่นจะต้องให้การช่วยเหลือชาวประมงในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสินเชื่อและเงินสนับสนุนเพื่อซื้อเครื่องมือประมงผ่านทางระบบสหกรณ์และสาธารณูปโภคอย่างอ่าวจอดเรือ เป็นต้น

เครือข่ายเพื่อนร่วมอาชีพในชุมชนนั้นเข้มแข็งที่สุดในชนบทและทำหน้าที่เร่งการปรับตัวให้ประสบผลเร็วขึ้น ในทางตรงข้าม ความเชื่อมั่นที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐนั้นลดลง นักร่างนโยบายจะต้องพิจารณาปัจจัยนี้ในการให้ความสนับสนุนการปรับตัว

เป็นที่น่าสนใจว่าชาวประมงเมืองที่มักออกทะเลลึกกว่ากลุ่มชานเมืองและชนบท และสนับสนุนให้บุตรหลานหันไปทำอาชีพอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ในขณะที่ชาวประมงในชานเมืองและชนบทมองว่าประมงเป็นเรื่องที่มากกว่าการทำมาหากิน แต่ยังเป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย ดังนั้นจึงลังเลที่จะเลิกอาชีพเดิม ส่วนในระยะยาวนั้น การศึกษาส่งผลต่อการตัดสินใจในการปรับตัวและเลือกอาชีพอื่น

นักวิจัยพบว่าชาวประมงเข้าใจปัญหามลภาวะทางทะเลในรูปของขยะพลาสติก เศษวัสดุของแข็ง น้ำมันรั่ว น้ำเสียจากเมือง และของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากเศษวัสดุของแข็งทำให้เครื่องมือตกปลาเสียหายและอวนขาด ทำให้ชาวประมงในเมืองและชานเมืองต้องเปลี่ยนมาใช้อวนหลายชั้นและเรือยนต์

การแข่งขันทางการค้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการปรับตัว ชาวประมงที่ประสบกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงที่อาศัยในเมืองมักจะใช้อวนหลายชั้นและทำประกันเรือของตน ความรู้สึกว่าการแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้นนี้มีความสัมพันธ์กับการเลือกใช้อวนแบบต่างๆและการปรับปรุงวิธีการประมงเพื่อให้ได้ปลามากขึ้น เช่นการใช้เรืองประมงที่มีเทคโนโลยีช่วยในการจับ เพิ่มชั่วโมงทำงาน และออกทะเลลึกขึ้น เป็นต้น

การตอบสนองต่อระบบเตือนภัยธรรมชาติ

ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างพายุฝนเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ชาวประมงเมื่อออกเรือ ดังนั้น ระบบเตือนภัยเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ชุมชนประมงมีพฤติกรรมการตอบสนองต่อสัญญาณเตือนภัยที่แตกต่างกันตามปัจจัยต่อไปนี้ : ประสบการณ์ที่มีต่อพายุ การทำประกันทรัพย์สิน ประเภทของเรือ ความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัย ความเชื่อในภูมิปัญญาดั้งเดิม ความเชื่อมั่นในชุมชนและหน่วยงานรัฐ เครือข่ายสังคม การศึกษา และประสบการณ์ในอาชีพประมง

ชาวประมงที่เคยมีประสบการณ์ต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและชาวประมงอายุน้อยจะเอาใจใส่ต่อสัญญาณเตือนภัยมากกว่า นอกจากนี้ชาวประมงชนบทเก้าในสิบคนใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ในขณะที่มีเพียงสองในสามคนในชุมชนชานเมืองและหนึ่งคนจากชุมชนเมืองใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ชาวประมงที่ทำประกันทรัพย์สินจะเอาใจใส่ต่อสัญญาณเตือนภัยมากกว่า ชุมชนประมงที่ขาดการสนับสนุนจากเครือข่ายสังคมจะมีความระมัดระวังและตอบสนองต่อสัญญาณเตือนภัยเนื่องจากขาดความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุร้าย ในทางตรงกันข้าม ชาวประมงที่มีประสบการณ์ในอาชีพสูงหรือมีเรือยนต์จะไม่ค่อยสนใจระบบเตือนภัย สุดท้าย ระดับการศึกษาไม่ได้เป็นปัจจัยในการตอบสนองต่อระบบเตือนภัยธรรมชาติของชาวประมง

งานวิจัยยังพบว่าชาวประมงเชื่อภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เกี่ยวกับพายุไซโคลน ที่สั่งสมมาจากประสบการณ์และความเชื่อที่ส่งผ่านรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นระบบเตือนภัยจึงควรรวมเอาภูมิปัญญานี้ไว้ด้วยเพื่อสร้างความคุ้นเคยและเชื่อมั่นให้ชาวประมง แต่เมื่อภัยพิบัติมาใกล้ตัวมากขึ้น ชาวประมงจะหันมาเอาใจใส่ต่อสัญญาณเตือนภัยมากขึ้นเช่นกัน นักวิจัยจึงได้เสนอให้ใช้วิธีการให้ความรู้แก่ชุมชนถึงอันตรายจากภาวะดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงและฝึกอบรมให้เอาใจใส่ต่อสัญญาณเตือนภัยมากขึ้น นอกจากนี้การอบรมดังกล่าวจะทำให้สมาชิกชุมชนและหน่วยงานที่ให้ข้อมูลพบปะกันและลดช่องว่างระหว่างกลุ่มที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในรายงาน


ภาพโดย Global Center on Adaptation
อ้างอิง https://gca.org/this-is-how-fishermen-are-adapting-to-climate-change/


Social Share