THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย James Dyke
วันที่ 22 เมษายน 2564
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ในขณะที่ความหวังที่จะค้นพบวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนเริ่มสูญสลายไป เพราะขาดเทคโนโลยีที่สามารถลดความเข้มข้นของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้จริง โมเดลเศรษฐกิจและสภาพภูมิอากาศได้รวมเอาปัจจัยด้านการดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติโดยต้นไม้ลงสู่ใต้พื้นดินเข้ามาพิจารณา ซึ่งเทคโนโลยี Bioenergy Carbon Capture and Storage หรือ BECCS นี้ก้าวขึ้นมาเป็นความหวังใหม่ด้านการหยุดยั้งภาวะโลกร้อนให้แก่ผู้คนอย่างรวดเร็ว ด้วยการเผาไหม้ชีวมวลเช่นไม้ ฟาง และของเสียทางการเกษตรแทนถ่านหิน และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากปล่องไอเสียแล้วฝังดิน ระบบ BECCS สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าในขณะที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศโลกได้ด้วย เพราะชีวมวลเช่นต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการสังเคราะห์แสง หากเราปลูกต้นไม้และพืชพลังงานชีวภาพและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะเผาไหม้ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลกก็จะลดลง


แนวทางในการแก้ปัญหาแนวทางใหม่นี้ทำให้นานาชาติหันมาประชุมกันอีกครั้งหลังจากประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยครั้งนี้จัดขึ้นในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 ในปี 2015 ณ กรุงปารีส

ความล้มเหลวในปารีส
ผลลัพธ์ของการประชุมเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่นานาชาติลงความเห็นพ้องต้องกันกับเป้าหมายที่จะรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เพิ่มสูงมากขึ้นไปกว่า 2°C หรือดีที่สุดไม่เกิน 1.5°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หรือที่เรียกกันว่าข้อตกลงปารีส ซึ่งนับเป็นความสำเร็จขั้นสูงในการแก้ปัญหาโลกร้อน ท้ายที่สุดประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก็จริง แต่ประเทศที่เป็นเกาะเล็กเช่นมัลดีฟส์หรือหมู่เกาะมาร์แชลจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก่อนประเทศอื่น ตามที่รายงานพิเศษสหประชาชาติได้ระบุไว้ว่าข้อตกลงปารีสไม่สามารถรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เพิ่มสูงมากขึ้นไปกว่า 1.5°C ได้ ประชากรโลกจะประสบกับหายนะจากพายุ ไฟป่า คลื่นความร้อน ความแล้ง และน้ำท่วม


อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาติต่างๆยังคงมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของข้อตกลงปารีสในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มว่าไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ถึงแม้ว่าจะมีข้อเด่นด้าน Climate Justice ก็ตาม และทำนายว่าโลกจะร้อนขึ้นอีก 3°C ภายในปี 2100 แต่แทนที่จะพยายามหาทางแก้ไขโมเดลเดิม เหล่านักวิทยาศาสตร์กลับคิดค้นสิ่งที่ดูเป็นความเพ้อฝันมากยิ่งขึ้นไปอีก คือการดูดซับคาร์บอนออกจากบรรยากาศโลก หรือเทคโนโลยี BECCS ซึ่งถูกนำขึ้นมาเชิดชูในขณะนั้นเนื่องจากเป็นวิธีเดียวที่สามารถทำให้เราบรรลุข้อตกลงปารีสได้ แต่ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ของ BECCS จะดูดีกว่าความเป็นจริง
โมเดลสภาพอากาศที่สร้างขึ้นโดย Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ที่เพิ่มความเป็นไปได้ในการรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เพิ่มสูงมากขึ้นไปกว่า 1.5°C ให้เกินกว่า 66% ล้วนมีเงื่อนไขว่า BECCS จะต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 1.2 หมื่นล้านตันทุกปี ซึ่งจะต้องปลูกต้นไม้และพืชพลังงานชีวมวลจำนวนมหาศาล แน่นอนว่าดาวเคราะห์โลกต้องการต้นไม้มากขึ้น เพรามนุษย์ตัดไม้ไปประมาณสามล้านล้านต้นตั้งแต่เริ่มยุคเกษตรกรรมเมื่อ 13,000 ปีที่แล้ว แต่แทนที่จะปล่อยให้ป่าฟื้นฟูสภาพด้วยตัวของมันเอง BECCS เสนอให้ปลูกต้นไม้จำนวนมากเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นเชื้อเพลิงในภายหลัง แทนที่จะกักเก็บคาร์บอนไว้ในลำต้น ราก และดิน


ในปัจจุบัน พืชสองชนิดที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้แก่อ้อยที่ใช้ผลิตไบโอเอธานอลและน้ำมันปาล์มที่ใช้ผลิตไบโอดีเซล ซึ่งพืชทั้งสองชนิดเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น แต่การปลูกพืชเพียงสองชนิดเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง เป็นที่คาดการณ์ว่า BECCS ต้องการที่ดินขนาด 0.4-1.2 ล้านเฮกตาร์หรือคิดเป็น 25%-80% ของที่ดินเพื่อการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปได้ยากมากเมื่อคำนึงว่าเราต้องใช้ที่ดินดังกล่าวในการผลิตอาหารป้อนประชากรโลกและการปลูกพืชพลังงานเป็นอันตรายต่อพืชท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากนี้ การปลูกพืชพลังงานจำนวนมากต้องการปริมาณน้ำมหาศาล ในหลายพื้นที่ที่กำลังประสบภัยแล้งอยู่ก่อนแล้ว และการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในซีกโลกเหนืออาจทำให้โลกร้อนขึ้นอีกเพราะต้นไม้จะปกคลุมทุ่งหญ้าทำให้ผิวโลกมืดครึ้มลงและดูดซับอุณหภูมิได้ดีกว่าพื้นที่เปิดโล่ง และการปลูกป่าในประเทศยากจนมีแนวโน้มทำให้ประชาชนถูกไล่ที่ทำกิน
ประการสุดท้าย เราต้องไม่ลืมว่าต้นไม้และผืนดินที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นก็อิ่มตัวจากคาร์บอนอยู่แล้วในกระบวนการดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติ การฝังคาร์บอนลงดินเพิ่มอาจนำไปสู่การดัดแปลงธรรมชาติให้ผิดเพี้ยนและการคำนวณปริมาณการดูดซับคาร์บอนที่ผิดพลาด ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ความนิยมในแนวคิด BECCS เริ่มเสื่อมถอยลง

การฝันกลางวัน
ในขณะที่เราเริ่มตระหนักต่อความเป็นจริงที่ว่าข้อตกลงปารีสเป็นไปได้ยากเพียงใดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาและข้อจำกัดของแนวคิด BECCS ก็เกิดคำใหม่ขึ้นมาและพบบ่อยมากในร่างนโยบายต่างๆ คือคำว่า “overshoot scenario” หรือการทำให้เกินไว้ก่อน หมายความว่าเราอาจปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงมากขึ้นไปกว่า 1.5°C ในระยะสั้น แต่จะต้องกลับมาอยู่ในระดับเดิมด้วยการดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศภายในปี 2100 ซึ่งทำให้ความหมายของเปลี่ยนไปเป็นปริมาณคาร์บอนติดลบ ภายในสิบยี่สิบปีข้างหน้า เราจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก 4 หมื่นล้านตันต่อปีให้เหลือประมาณหนึ่งหมื่นล้านตัน


การปลูกต้นไม้เพื่อใช้เป็นพลังงานชีวภาพและ offset ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นความพยายามสุดท้ายที่ลดการใช้พลังงานถ่านหิน ทว่าเพียงการกระทำเช่นนี้เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงทำให้แนวคิด Direct Air Capture หรือการดักจับคาร์บอนจากอากาศโดยตรงดูจะเป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเพราะใช้พื้นที่น้อยกว่าระบบ BECCS โชคไม่ดีที่เทคโนโลยี Direct Air Capture มีต้นทุนสูงและใช้พลังงานมากในการขับเคลื่อน
ในขณะที่โลกได้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นมานั้นยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถใช้ได้ดีในเชิงปฏิบัติเลย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอทฤษฎีใหม่ที่ฟังดูแล้วน่าจะมีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง ได้แก่ Geoengineering หรือวิศวกรรมธรณีที่มนุษย์เข้าไปควบคุมระบบภูมิอากาศโลกทั้งหมดเสียเอง โดยแนวทางหลักๆได้แก่การบริหารจัดการแสงอาทิตย์ที่ส่องลงสู่ผิวโลกโดยการพ่นกรดซัลฟุริกปริมาณล้านๆตันเข้าไปในบรรยากาศโลก ทำให้สะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปยังอวกาศ แนวคิดนี้ฟังดูบ้าระห่ำ แต่นักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองเป็นจำนวนมากเชื่อว่าสามารถทำได้ เช่นสถาบัน US National Academies of Sciences แนะนำให้สภาสนับสนุนเงินจำนวน 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ

ความจริงที่ยากจะรับฟัง
โดยทางทฤษฎีแล้ว การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศนั้นไม่มีอันตรายอันใด แต่ปัญหาคือการดำเนินการในสเกลใหญ่ ซึ่งเปรียบได้กับการเขียนเช็คเปล่าเพื่อจะได้เผาถ่านหินกันต่อไป ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เทคโนโลยีดูดซับคาร์บอนและวิศวกรรมธรณีควรเป็นทางออกสุดท้ายให้แก่มนุษย์ต่อปัญหาภาวะโลกร้อนในภาวะวิกฤติจริงๆเท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลและภาคธุรกิจพยายามที่จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ออกมาใช้โดยทันที ซึ่งจะทำให้มนุษยชาติตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงอย่างยิ่ง
อันที่จริงแล้ว เหล่านักวิทยาศาสตร์เคยได้แสดงความไม่แน่ใจต่อข้อตกลงปารีส ระบบ BECCS วิธีการ offset คาร์บอน วิศวกรรมธรณี และ Net Zero มาแล้ว แต่ก็เป็นเสียงส่วนน้อยและเกิดขึ้นช้าเกินไป ทำให้ไม่สามารถเอาชนะแนวคิด Net Zero ซึ่งได้กลายเป็นค่านิยมของโลกไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่เราจะตระหนักว่านโยบายและกิจกรรม Net Zero ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันจะไม่สามารถรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เพิ่มสูงมากขึ้นไปกว่า 1.5°C ได้เพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยตรงเพื่อการนั้น แต่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ภาคธุรกิจอย่างที่เคยเป็นมา


โดยสรุปก็คือความจริงเป็นสิ่งเรียบง่าย วิธีการเดียวที่จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลกได้อย่างปลอดภัยก็คือทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซอย่างเท่าเทียมกัน

– จบ –


ภาพโดย Arnd Wiegmann
อ้างอิง https://theconversation.com/climate-scientists-concept-of-net-zero-is-a-dangerous-trap-157368


Social Share